ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย

ป้อมปราการเก่าแก่ในจังหวัดสมุทรปราการ

ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย หรือ ป้อมสมิงพราย เป็นป้อมปราการ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาในตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ อยู่ภายในสถาบันราชประชาสมาสัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งอยู่ด้านหลังอาคารฟื้นฟู 5 ชั้น มีสภาพทรุดโทรมเนื่องจากพื้นที่ติดกับชุมชนแออัด ปัจจุบันกำลังมีการฟื้นฟูปรับปรุงซ่อมแซมอาคารไม้ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย

ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทป้อมปราการ
เมืองตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
ประเทศประเทศไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2357
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างก่ออิฐถือปูน

ชื่อป้อม แก้

ชื่อของป้อมมาจาก องค์ปู่เจ้าสมิงพราย เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือของชาวมอญคู่ป้อมปู่เจ้าสมิงพรายมาช้านาน ไม่มีผู้ใดทราบประวัติความเป็นมาที่แน่นอน ไม่มีการบันทึกหลักฐานใด ๆ สันนิษฐานว่า เป็นเทพารักษ์ที่ชาวมอญเคารพนับถือเสมือนปู่ มีคำเรียกนำหน้านามว่า "สมิง" ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ของขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายมอญ ส่วนคำว่า "พราย" สันนิษฐานว่าเป็นชื่อเรียก น่าจะมาจากคำว่า "ปลาย" ในภาษามอญแปลว่า "บุรุษซึ่งมีความสง่างาม"[1] ปัจจุบันมีศาลองค์ปู่เจ้าสมิงพรายอยู่บริเวณใกล้ป้อม[2]

ประวัติ แก้

ป้อมปู่เจ้าสมิงพรายสร้างในสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อ พ.ศ. 2357 โดยสร้างพร้อมป้อมปิศาจสิง ป้อมราหูจร และป้อมฝั่งตะวันตกอีก 5 ป้อม คือ ป้อมแผลงไฟฟ้า ป้อมมหาสังหาร ป้อมศัตรูพินาศ ป้อมจักรกรด และป้อมพระจันทร์พระอาทิตย์[3]

มูลเหตุการณ์สร้างป้อมปู่เจ้าสมิงพราย ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกต้องการปรับปรุงให้มีหัวเมืองชายทะเลที่มั่นคงแข็งแรงไว้รับทัพข้าศึก หลังเหตุการณ์ที่องเชียงสือซึ่งเป็นหลานของกษัตริย์ญวน ที่ได้หนีภัยการเมืองเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่ พ.ศ. 2325 ลอบหนีกลับไปหลังจากอยู่ในประเทศไทยมาหลายปีจนรู้จักยุทธศาสตร์เมืองไทยเป็นอย่างดี กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทลงไปสำรวจพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อสร้างเมืองใหม่ขึ้นอีกเมืองหนึ่ง ทรงเลือกบริเวณคลองลัดโพธิ์เป็นที่ตั้งเมือง จึงได้สร้างป้อมขึ้นหลังแรก คือ ป้อมวิทยาคม

จากนั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้สร้างเมืองต่อจนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2358 พระราชทานชื่อว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์ พร้อมทั้งสร้างป้อมดังที่กล่าวเบื้องต้นเมื่อ พ.ศ. 2357 โดยป้อมทั้งหมดชักปีกกาถึงกัน ทำกำแพงล้อมรอบข้างหลัง ตั้งยุ้งฉางตึกดินและศาลาไว้เครื่องศาสตราวุธ ที่ริมน้ำทำลูกทุ่นสายโซ่สำหรับขึงกั้นแม่น้ำ เอาท่อนซุงมาทำเป็นต้นโกลนร้อยเกี่ยวเข้ากระหนาบเป็นตอน ๆ เข้าไปปักหลักระหว่างต้นโกลนทุกช่อง ร้อยโซ่ผูกทุ่นมั่นคงแข็งแรง

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ป้อมคงได้รับการปรับปรุง ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ใช้ป้อมปู่เจ้าสมิงพรายเป็นโรงพยาบาลโรคเรื้อน ปัจจุบันเป็นสถาบันราชประชาสมาลัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ป้อมปู่เจ้าสมิงพรายได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 96 ตอนที่ 97 ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2552

สถาปัตยกรรม แก้

ลักษณะป้อมปู่เจ้าสมิงพรายเป็นป้อมสองชั้น ก่ออิฐถือปูน หลังคาป้อมเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ตัวป้อมเป็นรูปหกเหลี่ยมด้านไม่เท่า มีแนวกำแพงปีกกาต่อออกไปล้อมพื้นที่บริเวณป้อมเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีป้อมรักษาการที่มุมกำแพง พบร่องรอยอยู่สามป้อม ส่วนแนวกำแพงปีกกาเหลือหลักฐานชัดเจนที่สุดคือทางด้านทิศเหนือ ตัวเชิงเทินก่อเว้นช่องเป็นระยะ[4]

มีบันไดขึ้นสู่ลานป้อมชั้นบน ตรงกลางเป็นโรงเรือนห้องพักทหาร ก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องว่าวซีเมนต์ ตรงกลางมีมุขหน้าจั่ว ภายในอาคารกั้นเป็นห้อง ๆ พื้นปูด้วยไม้กระดาน ตัวอาคารมีการตกแต่งด้วยช่องวงโค้งและหัวเสาอิทธิพลศิลปะตะวันตก สันนิษฐานว่าคงต่อเติมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[5]

อ้างอิง แก้

  1. "ตราสัญลักษณ์เทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย". เทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-23. สืบค้นเมื่อ 2021-07-23.
  2. "ปู่เจ้าสมิงพราย". เทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-23. สืบค้นเมื่อ 2021-07-23.
  3. "ป้อมสมิงพราย". หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดสมุทรปราการ.
  4. "ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.
  5. "ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.