ปู่ม่านย่าม่าน หรือ หนุ่มกระซิบ[1][2] เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน อันเป็นผลงานของหนานบัวผัน จิตรกรพื้นถิ่นเชื้อสายไทลื้อ ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงานที่ปราณีตและเป็นภาพที่โดดเด่นประจำวัดภูมินทร์ โดยเป็นภาพชายหญิงคู่หนึ่งกำลังกระซิบสนทนา และมีชื่อเสียงว่าเป็นภาพ "กระซิบรักบันลือโลก"[3] และกลายเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของเมืองน่านที่ไปปรากฏอยู่ในสินค้าจำนวนมาก เช่น เสื้อยืด ไปรษณียบัตร หรือแม้แต่ข้าวของแต่งบ้าน[4]

ปู่ม่านย่าม่าน
ศิลปินหนานบัวผัน
ปีพ.ศ. 2410-2417
ประเภทจิตรกรรมฝาผนัง
สถานที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน

ที่มาของชื่อ แก้

หนานบัวผันได้ตั้งชื่อภาพดังกล่าวตามเจตนารมณ์ด้วยการกำกับชื่อด้านบนของภาพว่า "ปู่ม่านย่าม่าน"[5] วินัย ปราบริปู ศิลปินและเจ้าของหอศิลป์ริมน่าน ได้ค้นคว้าเกี่ยวกับที่มาของชื่อ "ปู่ม่านย่าม่าน" แก่ มติชนออนไลน์ ความว่า[6]

"ข้อความที่ เขียนกำกับว่า ปู่ม่าน ย่าม่าน หมายถึงว่า เขาเรียกผู้ชายพม่า ผู้หญิงพม่าคู่นี้ เป็นนัย เป็นสามีภรรยา แล้วการเกาะไหล่กันเป็นธรรมชาติของผู้ชายผู้หญิงที่เป็นสามีภรรยา ถ้าเป็นหนุ่มสาว ถูกเนื้อต้องตัวไม่ได้ และรูปลักษณะการแต่งกายชี้ชัดไปอีกสอดคล้องกับคำว่า ปู่ม่าน ย่าม่าน ม่านคือพม่า ปู่นี่คือผู้ชาย พ้นวัยเด็กผู้ชายเรียกปู่ พ้นวัยเด็กผู้หญิงเรียกย่า ซึ่งที่จริงออกเสียง "ง่า" ไม่ใช่ปู่ย่าตายาย โดย หนานบัวผัน เป็นศิลปินผู้เขียนจิตรกรรมประวัติศาสตร์ทั้งที่วัดหนองบัว และวัดภูมินทร์"

ประวัติ แก้

 
วัดภูมินทร์

ภาพ "ปู่ม่านย่าม่าน" เป็นหนึ่งในงานจิตรกรรมฝาผนังถูกวาดขึ้นช่วงปี พ.ศ. 2410-2417 ระหว่างการบูรณะซ่อมแซมวัดภูมินทร์ในสมัยเจ้าอนันตฤทธิวรเดชครองเมืองน่าน ซึ่งตรงกับปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งภาพจิตรกรรมส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวในชาดก และแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวน่านในอดีต

แต่ภาพ "ปู่ม่านย่าม่าน" เป็นหนึ่งในภาพที่มีชื่อเสียงของงานจิตรกรรมฝาผนังดังกล่าว ด้วยได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่สมบูรณ์แบบที่สุดทั้งด้านองค์ประกอบและอารมณ์ รังสรรค์โดยศิลปินนิรนามที่คาดว่าเป็น หนานบัวผัน ศิลปินชาวไทลื้อที่เคยสร้างงานจิตรกรรมที่วัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ด้วยเปรียบเทียบภาพจิตรกรรมทั้งสองก็พบความเหมือนทั้งลายเส้น, สีสัน, ใบหน้า และฉากกว่า 40 จุด[3] ทั้งยังมีมุมมองและแนวคิดที่ทันสมัย รู้จักนำสีสันมาใช้ เช่น สีแดง ฟ้า ดำ น้ำตาลเข้ม และมีวิธีลงฝีแปรงคล้ายภาพวาดสมัยใหม่[7]

รายละเอียดของ "ปู่ม่านย่าม่าน" เป็นภาพที่แปลกแยกจากรูปอื่น ๆ โดยวาดเหนือภาพพระเนมิราชท่องนรกและสวรรค์ของชาดกเรื่อง เนมิราช[8] แสดงให้เห็นรูปของชายหญิงคู่หนึ่ง โดยบุรุษใช้มือข้างหนึ่งเกาะไหล่สตรีแล้วมืออีกข้างหนึ่งป้องปากคล้ายกับกระซิบกระซาบที่ข้างหูสตรีผู้นั้นด้วยนัยน์ตากรุ้มกริ่มแฝงไปในเชิงรักใคร่[3] บุรุษในภาพสักลายตามตัว ขมวดผมไว้กลางกระหม่อมพร้อมผ้าพันผมแบบพม่า นุ่งผ้าลุนตะยา[9] ส่วนสตรีในภาพแต่งกายไทลื้อเต็มยศ[10] การแสดงท่าทางกระซิบหยอกล้อดังกล่าวมิใช่การเล้าโลมของคู่รักหนุ่มสาว หากแต่เป็นการแสดงความรักของคู่สามีภรรยา การแปลความหมายไปในทางกามารมณ์จึงทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากเจตนารมณ์เดิมของศิลปิน[5]

เคยมีการสันนิษฐานว่าบุรุษในภาพน่าจะเป็นผู้เขียนภาพ คือตัวหนานบัวผันเอง[11] แต่ทว่าได้รับการปฏิเสธในเวลาต่อมาด้วยตัวหนานบัวผันเป็นชาวไทลื้อ[9] ทั้งนี้ได้การแต่งคำบรรยายภาพดังกล่าวเป็นภาษาถิ่นพายัพอันสละสลวย ซึ่งแต่งและแปลโดยสมเจตน์ วิมลเกษม ความว่า[3][7]

คำฮักน้อง กูปี้จักเอาไว้ในน้ำก็กลัวหนาว

จักเอาไว้พื้นอากาศกลางหาว ก็กลัวหมอกเหมยซอนดาวลงมาคะลุม

จักเอาไปใส่ในวังข่วงคุ้ม ก็กลัวเจ้าปะใส่แล้วลู่เอาไป

ก็เลยเอาไว้ในอกในใจตัวชายปี้นี้ จักหื้อมันไห้อะฮิอะฮี้

ยามปี้นอนสะดุ้งตื่นเววา…

แปล:

ความรักของน้องนั้น พี่จะเอาฝากไว้ในน้ำก็กลัวเหน็บหนาว

จะฝากไว้กลางท้องฟ้าอากาศกลางหาว ก็กลัวเมฆหมอกมาปกคลุมรักของพี่ไปเสีย

หากเอาไว้ในวังในคุ้ม เจ้าเมืองมาเจอก็จะแย่งความรักของพี่ไป

เลยขอฝากเอาไว้ในอกในใจของพี่ จะให้มันร้องไห้รำพี้รำพันถึงน้อง

ไม่ว่ายามพี่นอนหลับหรือสะดุ้งตื่น

ด้วยเหตุที่ "ปู่ม่านย่าม่าน" เป็นภาพของการกระซิบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงวาดภาพฝีพระหัตถ์ล้อเลียนเป็นภาพบุรุษตะโกนใส่สตรีผู้หนึ่ง เพื่อล้อเลียนภาพกระซิบ โดยสตรีใช้มือปิดหูเอาไว้สวนผ้าถุงลายน้ำไหลเมืองน่าน ส่วนบุรุษไว้ผมทรงโมฮอว์ก ด้วยทรงให้เหตุผลกับผู้ตามเสด็จว่า "ต้องตะโกนกัน เพราะกระซิบไม่ได้ยินแล้ว อายุมากกันแล้ว"[4] ปัจจุบันภาพฝีพระหัตถ์ดังกล่าวถูกจัดแสดงที่หอศิลป์ริมน่าน[6]

นอกจากนี้ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับปู่ม่านย่าม่าน ภายในสิมของวัดโพธาราม อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ที่มีภาพชายหญิงกระซิบรักเช่นกัน โดยวาดเหนือภาพพระมาลัยโปรดนรก-สวรรค์ ไม่ปรากฏนามผู้วาด สันนิษฐานว่าภาพดังกล่าววาดในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา[8]

อ้างอิง แก้

  1. วินัย ปราบริปู. (7 พฤษภาคม 2551). ""ตัวตนศิลปินหนานบัวผัน" รูปแบบอัตลักษณ์สำคัญบนจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์และวัดหนองบัว จังหวัดน่าน". ศิลปวัฒนธรรม. 29:7, หน้า 51
  2. วินัย ปราบริปู. (11 กันยายน 2551). "อัตลักษณ์ที่แตกต่างของศิลปินนิรนามและภาพประวัติศาสตร์ที่ทำใจลำบาก". ศิลปวัฒนธรรม. 29:11, หน้า 41
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 ""โมนาลิซ่าเมืองน่าน" -"ปู่ม่านย่าม่าน" ฮูปแต้มวัดภูมินทร์ สุดยอดงานศิลป์เมืองน่าน". ASTVผู้จัดการออนไลน์. 4 กรกฎาคม 2554. สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  4. 4.0 4.1 พนิดา สงวนเสรีวานิช (2 เมษายน พ.ศ. 2555). "จาก"กระซิบรัก" ถึง"ตะโกน" พระอารมณ์ขัน สมเด็จพระเทพรัตนฯ". มติชนออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-27. สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  5. 5.0 5.1 วินัย ปราบริปู. (7 พฤษภาคม 2551). ""ตัวตนศิลปินหนานบัวผัน" รูปแบบอัตลักษณ์สำคัญบนจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์และวัดหนองบัว จังหวัดน่าน". ศิลปวัฒนธรรม. 29:7, หน้า 50
  6. 6.0 6.1 "แกะรอย "ตำนานรักบันลือโลกปู่ม่าน ย่าม่าน" แห่งวัดภูมินทร์ ณ หอศิลป์ริมน่าน". มติชนออนไลน์. 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556. สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  7. 7.0 7.1 "มนต์รัก เมืองน่าน… ปู่ย่าม่าน หวานอมตะ ที่ วัดภูมินทร์". เอ็มไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-04. สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. 8.0 8.1 "ปริศนาที่มา "ภาพกระซิบรัก" ฉบับอีสาน". สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส. 10 ตุลาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 30 ตุลาคม 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. 9.0 9.1 พุดน้ำบุษย์ (31 ตุลาคม 2555). "ฮูบแต้ม "กระซิบรัก" ณ วัดภูมินทร์". สกุลไทยออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  10. "วัดภูมินทร์". ไปด้วยกัน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-09. สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. จิรศักดิ์ เดชวงค์ญา. "จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน: การศึกษาครั้งล่าสุด". เมืองโบราณ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-11. สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

ดูเพิ่ม แก้