ปูรา (อินโดนีเซีย: pura) คือโบสถ์พราหมณ์ตามแบบแผนของบาหลี[1] และศาสนสถานของผู้นับถือศาสนาฮินดูแบบบาหลีในประเทศอินโดนีเซีย การสร้างปูรายึดตามแบบแผนของสถาปัตยกรรมบาหลี ส่วนมากปูรามักพบบนเกาะบาหลี ซึ่งศาสนาฮินดูเป็นศาสนาหลักบนเกาะ อย่างไรก็ตาม ปูราสามารถพบได้ในชุมชนที่ได้รับอิทธิพลจากบาหลีจุดอื่น ๆ ในประเทศอินโดนีเซีย โดยในบรรดาปูราทั้งหมด ปูราเบอซากิฮ์ เป็นปูราที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในบรรดาปูราต่าง ๆ [2]

หอ "เปอลิงกิฮ์เมรู" ห้าหอของ "ปูราเบอซากิฮ์" ปูราศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของบาหลี

องค์ประกอบ แก้

 
บริเวณ 3 บริเวณในการจัดเรียงของปูรา (แต่ละบริเวณเรียกว่าเป็นจักรวาล หรือ มณฑล)

ปูราแตกต่างจากโบสถ์พราหมณ์ในอนุทวีปอินเดีย (กล่าวคือสถาปัตยกรรมฮินดู เช่น สถาปัตยกรรมทราวิฑ สถาปัตยกรรมแบบทมิฬ) ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือหอต่าง ๆ ที่สูงและวิจิตร เช่น หอโคปุรัม ปูราไม่มีลักษณะดังกล่าวเลย หากแต่ปูราออกแบบมาเพื่อเป็นพื้นที่เปิดภายในรั้วอาณาเขตที่ตกแต่งเพื่อกั้นส่วนต่าง ๆ ซึ่งมี หอเมรุ (หอคล้ายเจดีย์), ศาลเจ้า และบาเล (ศาลา) ออกจากกัน

แปลนการสร้างปูรายึดตามหลักการจัดสรรพื้นที่แบบบาหลี ไตรมณฑล (trimandala)[3] คือมณฑลสามอาณาเขตที่จัดเรียงกันเป็นลำดับ ได้แก่

  1. นิสตมณฑล หรือ จาบาปีซัน (Nista mandala; jaba pisan): เขตนอกสุด เป็นทางเข้าของปูรา โดยทั่วไปมักเป็นลานกว้างโล่ง ตกแต่งเป็นสวนขนาดเล็ก มีพื้นที่เว้นไว้สำหรับการร่ายรำในพิธีกรรมต่าง ๆ หรือใช้ในการจัดเตรียมสถานที่สำหรับประกอบพิธีกรรม กล่าวคือเป็นพื้นที่เอนกประสงค์ของปูรา
  2. มัธยมณฑล หรือ จาบาเตองะฮ์ (Madya mandala; jaba tengah): เขตกลาง เป็นบริเวณประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกในการประกอบพิธีกรรม ภายในมักประกอบด้วยบาเล หรือศาลาต่าง ๆ เช่น บาเลกุลกุล คือศาลาหอกลอง, บาเลกง คือศาลานักดนตรี (gamelan), วันตีลัน คือศาลานัดพบ และ บาเลเปอรันเตอนัน คือศาลาครัวของวัด
  3. อุตตมมณฑล หรือ เจโร (Utama mandala; jero): ภายในสุดของวัดที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดคืออจินไตย ซึ่งประดิษฐานบนปัทมาสนะ, หอเมรุ (pelinggih meru) คือหอคล้ายเจดีย์สูงหลายชั้น และศาลาบาเลอีกจำนวนหนึ่ง เช่น บาเลปาเวดัน คือ หอสวดพระเวท, บาเลเปเปลิก คือ ศาลาถวายเครื่องเซ่นไหว้ และ เกอดงเปอญิมเปอนัน คือ ห้องเก็บจารึกและโบราณวัตถุสำคัญของวัด

ประตูทางเข้า แก้

 
ประตูแบบจันดีเบินตาร์ที่มีชื่อเสียงของปูราเบอซากิฮ์
 
ประตูแบบ ปาดูรักซา

ซุ้มประตูทางเข้า มีไว้สำหรับแบ่งมณฑลต่าง ๆ ออกจากกัน แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ

  1. จันดีเบินตาร์ (Candi Bentar) คือประตูแบ่งเขตนิสตมณฑล (ชั้นนอก) ออกจากมัธยมณฑล (ชั้นกลาง) มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมจันดีแบ่งซีก[4]
  2. ปาดูรักซา หรือ โกรีอากุง (Kori Agung) ลักษณะเป็นซุ้มประตูทรงหอคอยคล้ายโคปุรัมในอนุทวีปอินเดีย เป็นประตูแบ่งเขตมัธยมณฑล (ชั้นกลาง) ออกจากอุตตมมณฑล (ชั้นใน)

รูปปั้นและรูปสลัก แก้

มักพบรูปสลักของเทพอจินไตยในลักษณะปัทมาสน์ที่ว่างเปล่า หรือบางครั้งจำหลักเป็นชายลักษณะเปลือยกาย อยู่ในท่าร่ายรำยิ้มแย้ม นอกจากนี้ยังพบลักษณะสำคัญคือการแกะสลักโบมาประดับ คล้ายคติยักษ์ที่ปกป้องวัดของไทย

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "Temples in Bali". Bali Directory. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-11. สืบค้นเมื่อ 2010-07-21.
  2. "Mount Agung and Pura Besakih". Sacred Destinations. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 July 2010. สืบค้นเมื่อ 2010-07-20.
  3. "Traditional Balinese Architecture". School of Architecture, Faculty of Engineering, Udayana University. สืบค้นเมื่อ 2010-07-20.
  4. "Bali:The Land of Temples". Indo.com. สืบค้นเมื่อ 2010-07-20.