ปลาหมอโครมายด์เขียว

ปลาหมอโครมายด์เขียว
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
วงศ์: Cichlidae
สกุล: Etroplus
สปีชีส์: E.  suratensis
ชื่อทวินาม
Etroplus suratensis
(Bloch, 1790)

ปลาหมอโครมายด์เขียว (อังกฤษ: Green chromide, Pearlspot cichild; มลยาฬัม:, เบงกอล: കരിമീന്‍‌) ปลาน้ำกร่อยชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Etroplus suratensis ในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae)

เป็นปลาพื้นเมืองที่พบได้ในอินเดียตอนใต้จนถึงศรีลังกา เช่น เมืองสุรัต ในรัฐเกรละ หรือปุทุจเจรี โดยพบได้ในพื้นที่ที่เป็นน้ำกร่อยที่ซึ่งน้ำจืดบรรจบกับน้ำเค็ม เช่น ปากแม่น้ำ เป็นต้น

มีขนาดโตเต็มที่ได้ถึง 30 เซนติเมตร พบขนาดใหญ่สุดถึง 50 เซนติเมตร ปากมีขนาดเล็กแต่มีฟันแหลมคม กินอาหารหลักได้แก่ ตะไคร่น้ำ โดยมักจะเลาะเล็มกินตามโขดหินหรือวัสดุต่าง ๆ ใต้น้ำ และกินแมลงหรือลูกปลาขนาดเล็กบ้างเป็นอาหารเสริม ปลาตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้กว่ามาก มีรูปร่างแบนข้างและกลม พื้นลำตัวเป็นสีน้ำตาลอ่อนอมเขียว มีลายเส้นสีดำพาดตั้งแต่ท้องจนถึงกลางลำตัวประมาณ 5-6 เส้น ไปสิ้นสุดที่ข้อหาง บริเวณช่วงอกเป็นสีดำ บนลำตัวในบางตัวมีจุดสีขาวกระจาย สีบริเวณส่วนหัวเป็นสีเขียวอมเหลือง โดยเฉพาะในตัวผู้ที่เป็นจ่าฝูงจะมีสีดังกล่าวนี้สวยสดกว่าตัวอื่น ๆ

วางไข่ได้มากถึงครั้งละ 1,000 ฟอง โดยในช่วงนี้ปลาตัวผู้จะเปลี่ยนสีให้สวยสดกว่าเดิม เช่นบริเวณส่วนหน้าและครีบต่าง ๆ จะชัดเจนที่สุด ปลาทั้งคู่จะช่วยกันดูแลไข่อย่างใกล้ชิด ไข่ใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 36-48 ชั่วโมง โดยที่ปลาตัวอ่อนในช่วงแรกจะรับอาหารจากถุงไข่แดงที่มีติดตัวมา จนประมาณถึงวันที่ 7 เมื่อถุงดังกล่าวยุบลง และว่ายน้ำได้แข็งแรงแล้ว ลูกปลาจะกินเมือกที่เกาะตามตัวพ่อแม่เป็นอาหารแทน

ปลาหมอโครมายด์เขียว นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ด้วยความเป็นปลาที่มีอุปนิสัยไม่ก้าวร้าว จึงสามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่น ๆ หรือปลาหมอสีด้วยกันเองได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นปลาที่นิยมบริโภคกันในท้องถิ่นอีกด้วย[1]

อ้างอิง แก้

  1. ป.ปลาระเบิด (เกร็ดกระจาย) Etroplus suratensis : สุรัต เขียว เอ๊ย!โครมายด์เขียว คอลัมน์ Cichild Coner นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 18 ปีที่ 2: ธันวาคม 2011 หน้า 74-79

แหล่งข้อมูลอื่น แก้