ปลาสอดหางดาบเขียว

(เปลี่ยนทางจาก ปลาสอดหางดาบแดง)
ปลาสอดหางดาบเขียว
สีของปลาสอดหางดาบเขียวตามธรรมชาติดั้งเดิม (ไวลด์ไทป์)
ที่เป็นสีแดงเข้ม นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Cyprinodontiformes
วงศ์: Poeciliidae
สกุล: Xiphophorus
สปีชีส์: X.  hellerii
ชื่อทวินาม
Xiphophorus hellerii
Heckel, 1848
ชื่อพ้อง[1]
  • Xiphophorus helleri Heckel, 1848
  • Mollienisia helleri (Heckel, 1848)

ปลาสอดหางดาบเขียว (อังกฤษ: Swordtail fish, Green swordtail[1]; ชื่อวิทยาศาสตร์: Xiphophorus hellerii) ปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาสอด (Poeciliidae)

มีลำตัวยาวเรียว และหัวแหลม มีลักษณะทั่วไปเหมือนกับปลาวงศ์นี้ คือ มีความแตกต่างระหว่างเพศสูง ตัวผู้มีขนาดเล็กและผอมเพรียวกว่าตัวเมีย แต่มีครีบและสีสันต่าง ๆ สวยงามกว่า มีลักษณะที่เด่น คือ ในตัวผู้มีก้านครีบหางตอนล่างยาวเลยขอบหาง มีลักษณะเรียวแหลมคล้ายดาบ อันเป็นที่มาของชื่อสามัญ ขณะที่ชื่อวิทยาศาสตร์ที่เป็นชื่อชนิดถูกตั้งเพื่อเป็นเกียรติแด่นักพฤกษศาสตร์ เวียนเนียส เฮลเลอร์

มีถิ่นกระจายพันธุ์ในแหล่งน้ำที่มีพืชน้ำปกคลุมหนาแน่น ในสภาพแหล่งน้ำที่หลากหลาย ในเม็กซิโก, เบลิซ และฮอนดูรัส กินอาหารจำพวกพืชน้ำและสัตว์น้ำขนาดเล็ก รวมถึงตัวอ่อนของแมลง มีความยาวลำตัวโดยเฉลี่ย 12.5 เซนติเมตร และส่วนปลายหางที่คล้ายดาบมีความยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร ทำให้ตัวผู้มีความยาวประมาณ 14 เซนติเมตร ขณะที่ตัวเมียมีความยาวประมาณ 16 เซนติเมตร แต่บางตัวอาจมีความยาวแค่ 5-6 เซนติเมตร บวกความยาวของดาบประมาณ 3 เซนติเมตร ทำให้มีบางตัวยาว 8-10 เซนติเมตร

ขณะที่สีตามลำตัวมีความหลากหลายมากตามสภาพของแหล่งที่อยู่อาศัย โดยทั่วไปแล้วจะมีสีเขียวและมีแถบตรงกลางลำตัวสีแดงเข้มหรือสีน้ำตาลพาดตามลำตัว และบางทีอาจพบแถบสีเพิ่มอีก 4 แถบ เป็นด้านบน 2 แถบ และด้านล่างแถบกลางลำตัวอีก 2 แถบ ช่วงท้องจะมีสีขาว และที่ครีบหลังจะมีจุดแดง ตัวผู้ที่ขอบครีบหางตอนล่างมีลักษณะคล้ายดาบจะมีสีเหลืองและดำ บางครั้งอาจพบจุดสีดำบนลำตัว เป็นต้น

เป็นปลาอีกชนิดหนึ่งที่นิยมเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงาม ปัจจุบันได้มีการเพาะขยายพันธุ์ด้วยฝีมือมนุษย์จนกลายเป็นสีแดงสดทั้งลำตัว จึงได้ชื่อเรียกชื่อหนึ่งว่า "ปลาสอดแดง" [2] [3]

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Xiphophorus hellerii ที่วิกิสปีชีส์