ปลาก้าง
ปลาก้าง | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Anabantiformes |
วงศ์: | Channidae |
สกุล: | Channa |
สปีชีส์: | C. limbata |
ชื่อทวินาม | |
Channa limbata (Cuvier, 1831) |
ปลาก้าง หรือ ปลากั้ง (อังกฤษ: Dwarf snakehead, Red-tailed snakehead) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาช่อน (Channidae) มีรูปร่างคล้ายปลาในวงศ์นี้ทั่วไป แต่มีส่วนหัวมนกลมและโตกว่า ลำตัวสีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำเงินคล้ำ และมีลายประหรือจุดสีคล้ำ ท้องสีจาง โคนครีบอกมีลายเส้นสีคล้ำเป็นแถบ 4-6 แถบ ครีบหลัง ครีบก้น และครีบหางมีสีเทาหรือน้ำเงินเรือ ขอบมีสีส้มหรือสีจาง
มีการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในพม่า, ไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเชีย, บาหลี โดยอาจพบได้ถึงต้นน้ำหรือลำธารบนภูเขา
ปลาก้าง จัดว่าเป็นหนึ่งชนิดของปลาวงศ์นี้ที่มีขนาดเล็กที่สุด กล่าวคือ มีขนาดโตเต็มที่ได้ไม่เกิน 1 ฟุต นับเป็นปลาที่พบได้ทุกแหล่งน้ำของประเทศไทย โดยอาจจะเรียกชื่อเพี้ยนไปตามถิ่นว่า "ปลากั๊ง" หรือ "ปลาขี้ก้าง" หรือ "ปลาครั่ง" มีพฤติกรรมการวางไข่โดยตัวผู้เป็นผู้อมไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อน ปลาก้างยังถือเป็นปลาเศรษฐกิจ แต่ไม่มีการเลี้ยงในเชิงพาณิชย์เหมือนปลาช่อนชนิดอื่น และยังพบเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย ถือเป็นปลาที่เลี้ยงได้ง่ายมาก ปลาตัวผู้จะเป็นฝ่ายดูแลไข่และอมไข่จนกระทั่งฟักเป็นตัว และเลี้ยงลูกปลาในระยะวัยอ่อนพร้อมกับตัวเมีย โดยปลาที่พบในแหล่งน้ำแต่ละภูมิภาคจะมีความแตกต่างกันด้านสีสัน เช่น ในเทือกเขาสูงในประเทศลาว พบปลาที่มีครีบหลังสีแดงสดเหมือนสีของไฟ
อนึ่ง ปลาก้างโดยมากจะใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Channa gachua เช่นเดียวกับปลาก้างอินเดีย แต่ทว่าข้อเท็จจริงแล้วปลาทั้ง 2 ชนิดนั้นมีความแตกต่างกันพอสมควร แต่ทว่ายังไม่มีเอกสารหรือการยืนยันอย่างถูกต้องในเชิงวิชาการ โดยในทัศนะของนักมีนวิทยาบางท่านเห็นว่า ปลาก้างชนิดที่พบในในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ สมควรใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Channa limbata (Cuvier, 1831) หรือ Channa aff. limbata [1]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ หน้า 102, CHANNA CRAZY คนคลั่งช่อน, "Wild Ambition" โดย ชวิน ตันพิทยคุปต์ และชัยพัทธ์ งามบุษบงโสภิน. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 4 ฉบับที่ 42: ธันวาคม 2013