ปลากะมงพร้าว
ปลากะมงพร้าวขนาดโตเต็มวัย
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
วงศ์: Carangidae
สกุล: Caranx
สปีชีส์: C.  ignobilis
ชื่อทวินาม
Caranx ignobilis
(Forsskål, 1775)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง[2]
  • Scomber ignobilis Forsskål, 1775
  • Caranx ignoblis (Forsskål, 1775)
  • Caranx lessonii Lesson, 1831
  • Caranx ekala Cuvier, 1833
  • Carangus hippoides Jenkins, 1903

ปลากะมงพร้าว หรือ ปลากะมงยักษ์ หรือ ปลาตะคองยักษ์ (อังกฤษ: Giant trevally, Lowly trevally[2], Giant kingfish[3]; ชื่อย่อ: GT[4]; ชื่อวิทยาศาสตร์: Caranx ignobilis) ปลาทะเลขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาหางแข็ง (Carangidae)

มีส่วนหัวโค้งลาด ปากกว้าง ลำตัวแบนข้าง ครีบหางเว้าลึก ข้างลำตัวและโคนหางมีเส้นแข็งสีคล้ำ ลำตัวสีเทาเงินหรืออมเหลือง ครีบอกสีเหลือง ครีบหลังยาวและมีแต้มสีขาวที่ตอนปลาย ครีบอื่นสีคล้ำ ในปลาขนาดใหญ่อาจมีจุดประสีคล้ำที่ข้างลำตัว

มีความยาวเมื่อโตเต็มที่ได้ถึง 170 เซนติเมตร น้ำหนัก 80 กิโลกรัม[5]

ปลาขนาดเล็กจะอยู่รวมเป็นฝูง อาจรวมฝูงปะปนกับปลากะมงชนิดอื่น เช่น ปลากะมงตาโต (C. sexfasciatus) หรือมักว่ายคู่กับปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลาฉลามวาฬ หรือ ปลากระเบนแมนตา เมื่อโตขึ้นจะแยกตัวอยู่ตามลำพังเพียงตัวเดียว หรือเป็นฝูงเล็ก ๆ แค่ 2 หรือ 3 ตัว เป็นปลาที่กินเนื้อเป็นอาหาร โดยไล่ล่าปลาขนาดเล็กต่าง ๆ เช่น ปลากะตัก รวมทั้ง หมึก, กุ้ง และปู รวมถึงปลากะมงด้วยกันเป็นอาหาร บ่อยครั้งที่พบเห็นออกล่าเหยื่อแถบน้ำตื้นด้านข้างของเกาะหรือใกล้หาดทราย และยังมีรายงานว่าที่เกาะห่างไกลแห่งหนึ่งในเซเชลส์เคยไล่โฉบนกทะเลที่บริเวณผิวน้ำอีกด้วย[6]

ในปลาขนาดเล็กอาจพบได้ในแหล่งน้ำกร่อยหรือน้ำจืด เช่น ท่าเรือ, ชายฝั่ง และปากแม่น้ำ ปลาขนาดใหญ่อยู่นอกแนวปะการังหรือกองหินใต้น้ำ ในทะเลเปิด ที่แอฟริกาตะวันออก ปลากะมงพร้าวขนาดโตเต็มวัยจะว่ายเป็นฝูงเข้ามาในแม่น้ำที่เป็นน้ำจืด อย่างช้า ๆ และว่ายเป็นวงกลมรอบ ๆ ไปมา โดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุถึงพฤติกรรมเช่นนี้[3]

เป็นปลาที่แพร่กระจายไปในมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย ตั้งแต่ฮาวาย, ญี่ปุ่น, ชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก จนถึงออสเตรเลีย ในน่านน้ำไทยสามารถพบได้ทั้ง 2 ฟากฝั่งทะเล จัดเป็นปลาที่พบได้บ่อย

เป็นปลาขนาดใหญ่ที่นิยมตกกันเป็นเกมกีฬา โดยถือเป็นปลาเกมที่เป็นปลาทะเล 1 ใน 3 ชนิดที่นิยมตกกัน[4] โดยเฉพาะที่คิริบาสหรือหมู่เกาะเซเชลส์ มีชาวตะวันตกที่ชื่นชอบการตกปลายินดีที่จ่ายเงินคนละสามแสนบาท เพื่อที่ล่องเรือไปในทะเลเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ เข้าพักในรีสอร์ตที่สามารถพักได้เพียง 20 คน เพียงเพื่อที่จะตกปลาชนิดนี้ โดยเมื่อตกได้ จะไม่ทำอันตรายใด ๆ ต่อปลา จะเพียงแค่ถ่ายรูปหรือบันทึกสถิติ จากนั้นจึงจะปล่อยลงทะเลไป[6] นอกจากนี้แล้วยังนิยมเลี้ยงกันในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ทั่วโลก[7] [8] ซึ่งปลากะมงพร้าวมีพฤติกรรมพุ่งเข้าอาหารด้วยความรุนแรง ทำให้หลายครั้งสร้างความบาดเจ็บแก่ผู้ให้อาหารแบบที่สวมชุดประดาน้ำลงไปให้ถึงในที่เลี้ยง

อีกทั้ง ยังมีผู้ที่นิยมเลี้ยงปลาสวยงามประเภทปลาใหญ่ หรือปลากินเนื้อ เลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย เช่นเดียวกับปลากะมงตาโต โดยจะนำมาเลี้ยงในน้ำจืดตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ทั้งนี้มีรายงานระบุอย่างไม่เป็นทางการว่า ในหลายพื้นที่ได้พบปลากะมงพร้าวขนาดกลางหรือค่อนไปทางใหญ่ในแหล่งน้ำจืด เช่น ในเหมืองร้างแห่งหนึ่ง ในอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และที่จังหวัดชุมพร สันนิษฐานว่าคงเป็นปลาที่ผลัดหลงมาจากเหตุการณ์สึนามิในปี ค.ศ. 2004 ซึ่งปลามีน้ำหนักประมาณ 2-10 กิโลกรัม นอกจากนี้แล้วที่ประเทศอินโดนีเซีย ยังมีผู้เลี้ยงปลากะมงพร้าวในน้ำจืดได้ในบ่อปลาคาร์ป จนมีขนาดใหญ่ราว 60 เซนติเมตรได้ โดยเลี้ยงมาตั้งแต่ตัวประมาณ 5 เซนติเมตร ซึ่งการจะเลี้ยงปลาให้เติบโตและแข็งแรงจนโตได้ ต้องเลี้ยงในสถานที่ ๆ มีความกว้างขวางพอสมควร และต้องผสมเกลือลงไปในน้ำในปริมาณที่มากพอควร แม้จะมีปริมาณความเค็มไม่เท่ากับน้ำทะเลก็ตาม[4]

อ้างอิง แก้

  1. Smith-Vaniz, W.F. & Williams, I. (2016). "Caranx ignobilis (errata version published in 2017)". IUCN Red List of Threatened Species. 2016: e.T20430651A115377176. doi:10.2305/IUCN.UK.2016-3.RLTS.T20430651A47552431.en.{{cite iucn}}: error: |doi= / |page= mismatch (help)
  2. 2.0 2.1 "Caranx ignobilis". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  3. 3.0 3.1 "สารคดี BBC : ท่องแดนแอฟริกา ตอนที่ 7 คลิป 2/2". สืบค้นเมื่อ 2014-12-10.
  4. 4.0 4.1 4.2 หน้า 123-128, Amphidromous story สุดยอดนักล่า ปลาสองน้ำ คอลัมน์ Wild Ambition โดย ชวิน ตันพิทยคุปต์, กิตติพงษ์ จารุธาณินทร์, นันทวัฒน์ โชติสุวรรณ. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 3 ฉบับที่ 35: พฤษภาคม 2013
  5. กระมงยักษ์
  6. 6.0 6.1 หน้า ๐๙๔-๐๙๕, ปลากะมงพร้าว ในฝูงปลากะมงตาโต. "ท่องโลกใต้ทะเล" โดย นัท สุมนเตมีย์. อนุสาร อ.ส.ท.ปีที่ ๖๐ ฉบับที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓
  7. หน้า 130, London Sea Life Aquarium คอลัมน์ Blue Planet โดย ปิยวุฒิ เดชวิทยานุรักษ์. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 2 ฉบับที่ 24: มิถุนายน 2012
  8. หน้า 123, คู่มือปลาทะเล โดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์ (ตุลาคม, 2551) ISBN 978-974-484-261-9

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Caranx ignobilis ที่วิกิสปีชีส์