ปลากระโห้ เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) เป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นปลาในวงศ์ปลาตะเพียนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอีกด้วย[2] โดยเฉลี่ยมักมีขนาดประมาณ 1.5 เมตร แต่พบใหญ่สุดได้ถึง 3 เมตร หนักได้ถึง 150 กิโลกรัม ในอดีต เกล็ดปลากระโห้สามารถนำมาทอดรับประทานเป็นอาหารที่ขึ้นชื่อ

ปลากระโห้
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: ปลาที่มีก้านครีบ
Actinopterygii
อันดับ: ปลาตะเพียน
Cypriniformes
วงศ์: วงศ์ปลาตะเพียน
Cyprinidae
Boulenger, 1898
สกุล: Catlocarpio
Catlocarpio
Boulenger, 1898
สปีชีส์: Catlocarpio siamensis
ชื่อทวินาม
Catlocarpio siamensis
Boulenger, 1898

ปลากระโห้ จัดเป็นปลาประจำกรุงเทพมหานครของกรมประมง[3]

ลักษณะทางกายภาพ

แก้

ปลากระโห้เป็นปลาเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Catlocarpio[4] มีลักษณะสำคัญคือ ส่วนหัวโต ปากกว้าง ตาเล็ก ไม่มีหนวด ปลาวัยอ่อนหัวจะโตมากและลำตัวค่อนไปทางหาง ทำให้แลดูคล้ายปลาพิการไม่สมส่วน ขอบฝาปิดเหงือกมนกลมและใหญ่กว่าปลาชนิดอื่น ๆ ครีบหลังและครีบหางใหญ่ มีเกล็ดขนาดใหญ่ปกคลุมลำตัว บนเพดานปากมีก้อนเนื้อหนา เหงือกมีซี่กรองยาวและถี่มาก ตัวมีสีคล้ำอมน้ำเงินหรือน้ำตาลเข้ม ครีบมีสีแดงเรื่อ ๆ ด้านท้องมีสีจาง

แหล่งอาศัย

แก้

พบเฉพาะในแม่น้ำสายใหญ่ ตั้งแต่แม่น้ำแม่กลองถึงแม่น้ำโขง โดยเฉพาะในแม่น้ำเจ้าพระยาในแถบที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทยในหลายจังหวัด และยังพบได้บ้างที่แม่น้ำป่าสัก ในต่างประเทศพบได้ที่ลาว กัมพูชา และเวียดนาม[5] ปลาวัยอ่อนมักอยู่รวมเป็นฝูงในวังน้ำลึก ปัจจุบันลดจำนวนลงไปมากเรื่องจากปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและการถูกจับเป็นจำนวนมาก จัดอยู่ในสถานภาพเป็นปลาใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่ง ปัจจุบัน ปลากระโห้สามารถเพาะพันธุ์ได้แล้วเป็นบางส่วนจากการผสมเทียม ในธรรมชาติจะแพร่พันธุ์ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน โดยปลาจะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 7 ปี วางไข่ลอยไปตามกระแสน้ำ ไข่มีสีเหลืองอ่อนลักษณะกึ่งลอยกึ่งจม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.4 มิลลิเมตร ปริมาณไข่จะมีจำนวนมากนับล้าน ๆ ฟอง แต่ไข่ส่วนใหญ่และลูกปลาจะถูกปลาอื่นจับกินแทบไม่มีเหลือ ปัจจุบันกรมประมงได้ปล่อยลูกปลาที่เกิดจากการเพาะขยายพันธุ์คืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติปีละประมาณ 200,000–1,000,000 ตัว แต่ทว่าโอกาสที่ลูกปลาเหล่านี้จะเติบโตจนเต็มวัยในธรรมชาติก็มีโอกาสน้อยมาก

อาหารของปลากระโห้คือแพลงก์ตอนและปลาขนาดเล็ก แต่ก็สามารถกินพืชเช่นสาหร่ายหรือเมล็ดพืชได้

ปลากระโห้นอกจากนำมาทำเป็นอาหารโดยการปรุงสดแล้ว ยังสามารถเลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้อีกด้วย

ชื่อเรียกอื่น

แก้

นอกจากชื่อปลากระโห้แล้ว ในภาษาอีสานจะเรียกปลาชนิดนี้ว่า "ปลาคาบมัน" หรือ "ปลาหัวมัน" หรือ "ปลาหัวม่วง" ภาษาเหนือเรียกว่า "ปลากะมัน" ที่สามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เรียกว่า "ปลาสา"

อ้างอิง

แก้
  1. Hogan, Z. (2011). "Catlocarpio siamensis". IUCN Red List of Threatened Species. 2011: e.T180662A7649359. doi:10.2305/IUCN.UK.2011-1.RLTS.T180662A7649359.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
  2. หนังสือปลาน้ำจืดไทย โดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์ (กรุงเทพฯ, พ.ศ. 2544) ISBN 974-475-655-5
  3. "เกษตรฯอนุรักษ์ปลากระโห้ สัตว์น้ำประจำกรุงเทพฯ". สำนักข่าวไทย. 2015-07-02. สืบค้นเมื่อ 2016-10-12.
  4. "Catlocarpio". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ. สืบค้นเมื่อ 2016-10-12.
  5. "ชาวประมงเวียดนามจับ "กระโห้ยักษ์" หนักกว่า 130 กก. มูลค่ากว่า 3 แสนบาทได้". มติชน. 2014-10-27. สืบค้นเมื่อ 2016-10-12.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้