ประวัติรุ่นของไมโครซอฟท์ วินโดวส์

วินโดวส์ 1.0 แก้

 
ภาพหน้าจอ วินโดวส์ 1.0

วินโดวส์ 1.0 เป็นสภาวะการทำงานรุ่นแรกของวินโดวส์ เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 มีสภาวะการทำงานแบบ 16 บิต ที่เรียกว่า สภาวะการทำงาน (Operating Environments) เพราะ วินโดวส์ 1.0 ยังไม่มีความสามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง จำเป็นต้องมีระบบปฏิบัติการเฉพาะแยกต่างหาก (ระบบปฏิบัติการดังกล่าวคือ ดอส) ซึ่งวินโดวส์จะทำหน้าที่เพียงการติดต่อกับผู้ใช้ เมื่อผู้ใช้ป้อนคำสั่งใดๆ วินโดวส์จะไปเรียกใช้ฟังก์ชันต่างๆ จากดอส เมื่อได้ผลการทำงานออกมา วินโดวส์จะแสดงผลออกมายังผู้ใช้อีกทีหนึ่ง วิสามารถเรียกได้ว่าเป็นระบบปฏิบัติการ แต่เป็นตัวแสดงผลส่วนหน้าของดอส ที่จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ง่ายกว่าการติดต่อกับดอสโดยตรง และตั้งแต่รุ่นแรก วินโดวส์เป็นคู่แข่งกับ แมคอินทอช ผลิตภัณฑ์ลักษณะคล้ายกันจากบริษัท แอปเปิลคอมพิวเตอร์ แต่ในช่วงแรก ภาพการแข่งขันยังไม่ชัดเจนนัก

วินโดวส์ 1.0 อยู่ในระยะการสนับสนุนของไมโครซอฟท์จนถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2544

วินโดวส์ 2.0 แก้

 
ภาพหน้าจอ วินโดวส์ 2.0

วินโดวส์ 2.0 เปิดตัวเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 2.0 ยังต้องอาศัยดอส แต่มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับ 1.0 เช่น สามารถเปิดหลายโปรแกรมซ้อนกันได้ และมีโปรแกรม ไมโครซอฟท์ เวิร์ด (Word) และ เอกซ์เซล (Excel) และได้มีปุ่ม Minimize, Maximize และปุ่มลัดอื่นๆ ขึ้นเป็นครั้งแรก ในช่วงของวินโดวส์ 2.0 ไมโครซอฟท์ วินโดวส์กับแมคอินทอชมีความใกล้เคียงกันมาก จนเกิดคดีฟ้องร้องกันของบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ 2 แห่ง คือ ไมโครซอฟท์ และ แอปเปิล

วินโดวส์ 2.0 ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่ก็ถือว่ามีกระแสตอบรับ และการสนับสนุนจากผู้พัฒนาซอฟต์แวร์มากขึ้นกว่ารุ่น 1.0 และอยู่ในการสนับสนุนของไมโครซอฟท์จนถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2544

วินโดวส์ 2.1 แก้

 
ภาพหน้าจอ วินโดวส์ 2.1

วินโดวส์ 2.1 เปิดตัวในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 ยังเป็นสภาวะการทำงานที่ต้องอาศัยดอส วินโดวส์รุ่นนี้มี 2 รุ่นย่อย คือ 286 และ 386 ซึ่งทำงานกับโปรเซสเซอร์ Intel 80286 และ 80386 ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก

ใน พ.ศ. 2532 ไมโครซอฟท์ได้ออกรุ่นอัปเดตของวินโดวส์ 2.1 คือ วินโดวส์ 2.11 (คล้ายกับระบบ Service Pack ในปัจจุบัน) อยู่ในการสนับสนุนของไมโครซอฟท์จนถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2544

วินโดวส์ 3.0 แก้

 
ภาพหน้าจอ วินโดวส์ 3.0

ดูบทความหลักที่ วินโดวส์ 3.0

วินโดวส์ 3.0 เปิดตัวในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 ยังต้องอาศัยดอส และโปรเซสเซอร์ตัวเดียวกับ 2.1 แต่วินโดวส์ 3.0 ได้มีการออกแบบกราฟิกในการใช้งานคอมพิวเตอร์ใหม่, มีระบบการบริหารจัดการหน่วยความจำรอมและแรมที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ารุ่นก่อน และเปลี่ยนโปรแกรมบริหารจัดการไฟล์และโปรแกรมในดอสใหม่ทั้งหมด การเรียกใช้โปรแกรมต่างๆ ทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งยังมีโปรแกรมใหม่ที่ติดตั้งมาพร้อมวินโดวส์ คือ โน้ตแพด, เกม Solitaire ฯลฯ ทำให้วินโดวส์ 3.0 ประสบความสำเร็จอย่างสูง และเป็นคู่แข่งอย่างชัดเจนกับแมคอินทอชจากแอปเปิล

วินโดวส์ 3.0 ได้รับการสนับสนุนจากไมโครซอฟท์จนถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2544

วินโดวส์ 3.1 แก้

 
ภาพหน้าจอ วินโดวส์ 3.11

วินโดวส์ 3.1 เปิดตัวเมื่อ 6 เมษายน พ.ศ. 2535 ยังต้องอาศัยดอส ในวินโดวส์รุ่นนี้ได้ออกแบบโดยมีแพลตฟอร์มเพื่อการพิมพ์มากขึ้น โดยได้มีฟอนต์ประเภททรูไทป์ และได้มีการลงเกม ไมน์สวีปเปอร์ มาพร้อมกับวินโดวส์เป็นครั้งแรก และได้มีรุ่นปรับปรุง (อัปเดต) คือรุ่น 3.11 ออกมาในวันที่31 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ซึ่งถือได้ว่าวินโดวส์ในช่วงนี้ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง

ในรุ่น 3.1 ได้มีการจำหน่าย Windows for Workgroups ซึ่งเป็นรุ่นที่มีความสามารถสูงกว่าวินโดวส์ 3.1 ทั่วไป เช่น รองรับระบบเน็ตเวิร์ค และโพรโทคอล, เกม Hearts และได้มีการทำวินโดวส์ 3.2 สำหรับวางขายเฉพาะประเทศจีน โดยจะใช้อักษรจีนแสดงตัวย่อ

วินโดวส์ 3.1 ได้รับการสนับสนุนจากไมโครซอฟท์จนถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2544

วินโดวส์ เอ็นที 3.1 แก้

 
ภาพหน้าจอ วินโดวส์ เอ็นที 3.1

วินโดวส์เอ็นที 3.1 เปิดตัวเมื่อ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 เป็นระบบปฏิบัติการรุ่นแรกของวินโดวส์ สามารถทำงานต่างๆได้ด้วยตนเอง คอมพิวเตอร์ที่ลงวินโดวส์นี้ ไม่จำเป็นต้องลงระบบดอสอีกต่อไป เอ็นทีออกแบบมาสำหรับธุรกิจที่ต้องการประสิทธิภาพโดยเฉพาะ อีกทั้งเป็นระบบปฏิบัติการแบบ 32 บิต ซึ่งวินโดวส์ตัวก่อนหน้าทั้งหมด เป็นสภาวะการทำงานแบบ 16 บิต โปรแกรม 32 บิต (ซึ่งในขณะนั้นมักเป็นโปรแกรมขั้นสูง) สามารถใช้งานกับวินโดวส์เอ็นทีได้ แต่ไม่สามารถใช้งานกับวินโดวส์ 3.1 ได้ แต่โปรแกรม 16 บิต สามารถใช้งานกับวินโดวส์ 3.1 และเอ็นที ได้ เพราะเอ็นทีจะมีระบบแปลงไฟล์ ให้สามารถใช้งานในเอ็นทีได้

เอ็นที ย่อมาจาก (New Technology) มีความสามารถในการรองรับระบบสถาปัตยกรรมทางคอมพิวเตอร์ได้หลายประเภท ในช่วงนี้ผู้ใช้วินโดวส์เอ็นทีส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้ใช้ตามบ้าน แต่มักเป็นลูกค้าที่ใช้คอมพิวเตอร์ในระดับสูงและกลุ่มนักธุรกิจ ส่วนผู้ใช้ทั่วไปในช่วงนั้นมักยังใช้ วินโดวส์ 3.1 ธรรมดา

วินโดวส์ เอ็นที 3.1 ได้รับการสนับสนุนจากไมโครซอฟท์จนถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2544

วินโดวส์ เอ็นที 3.5 แก้

 
ภาพหน้าจอ วินโดวส์ เอ็นที 3.5

วินโดวส์ เอ็นที 3.5 เปิดตัวเมื่อ 21 กันยายน พ.ศ. 2537 เป็นรุ่นต่อของวินโดวส์เอ็นที 3.1 จุดประสงค์หลักของไมโครซอฟท์ในการพัฒนาวินโดวส์เอ็นที 3.5 คือ การเพิ่มความรวดเร็วในการทำงานของวินโดวส์ รวมถึงความสามารถอื่นๆ เช่น VFAT ที่จะทำให้สามารถตั้งชื่อไฟล์และต่างๆ ได้ถึง 255 ตัวอักษร และความต้องการขั้นต่ำของระบบได้ลดลงต่ำกว่าเอ็นที 3.1 ด้วย ทำให้สามารถครอบคลุมเครื่องคอมพิวเตอร์ได้มากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม วินโดวส์ เอ็นที 3.5 ไม่สามารถติดตั้งได้ในโน้ตบุ๊คคอมพิวเตอร์ ที่ไม่มีไดรเวอร์สำหรับ PCMCIA อแดปเตอร์การ์ด และไม่สามารถติดตั้งในคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่ใช้โปรเซสเซอร์รุ่นที่ใหม่กว่า Intel P4 ได้

วินโดวส์เอ็นที 3.5 อยู่ในการสนับสนุนของไมโครซอฟท์จนถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2544

วินโดวส์ เอ็นที 3.51 แก้

 
ภาพหน้าจอ วินโดวส์ เอ็นที 3.51

วินโดวส์ เอ็นที 3.51 เปิดตัวเมื่อ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 เอ็นที 3.51 สามารถทำงานบนสถาปัตยกรรม RISC เป็นเพียงวินโดวส์ไม่กี่รุ่นที่สามารถรองรับ RISC ได้ และนอกจากนี้ยังสามารถรองรับไคลเอนต์/เซิร์ฟเวอร์, PCMCIA และระบบบีบอัดไฟล์ หรือ NTFS ได้

เอ็นที 3.51 อยู่ในการสนับสนุนของไมโครซอฟท์ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2544

วินโดวส์ 95 แก้

 
ภาพหน้าจอ วินโดวส์ 95

ดูบทความหลักที่ วินโดวส์ 95

วินโดวส์ 95 หรือ วินโดวส์ 4.0 (ไม่เอ็นที) เปิดตัว 24 สิงหาคม พ.ศ. 2538 เป็นวินโดวส์รุ่นต่อจาก 3.1 เป็นวินโดวส์รุ่นแรกที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใช้ทั่วไป ที่ได้รวมเอาดอสเป็นส่วนหนึ่งของวินโดวส์ (ยังมีดอสอยู่ในวินโดวส์ แต่ไม่ใช่ระบบปฏิบัติการแยก) สามารถทำงานได้ทั้งสถานะ 16 และ 32 บิต มีการใช้สตาร์ทเมนู (ปุ่มสตาร์ทที่มุมซ้ายล่าง) และทาสก์บาร์ (แท่งด้านล่างหน้าจอ แสดงโปรแกรมที่ใช้ และเบ็ดเตล็ดอื่นๆ) เป็นครั้งแรก ซึ่งทั้งสอง จนถึงวินโดวส์รุ่นล่าสุด ก็ยังใช้คอนเซปต์เดียวกับวินโดวส์ 95 เพียงแต่ปรับปรุงรูปลักษณ์ภายนอกให้ทันสมัยขึ้นเท่านั้น ด้วยความสามารถต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดสำหรับผู้ใช้ทั่วไป วินโดวส์ 95 ประสบความสำเร็จอย่างสูง ยอดการใช้วินโดวส์ 95 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของวินโดวส์

วินโดวส์ 95 อยู่ในการสนับสนุนของไมโครซอฟท์จนถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2544

วินโดวส์ เอ็นที 4.0 แก้

 
ภาพหน้าจอ วินโดวส์ เอ็นที 4.0

วินโดวส์ เอ็นที 4.0 เปิดตัวเมื่อ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 โดยเน้นตลาดเน็ตเวิร์กมากขึ้น โดยจะมี interface คล้ายกับวินโดวส์ 95 แต่ว่าระบบมีความเสถียรมากกว่า โดยการเพิ่ม API (Application Programming Interface) เข้ามาทำให้ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ติดต่อกับวินโดวส์ได้อย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน วินโดวส์เอ็นที 4.0 ถือว่าได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับบรรดากลุ่มองค์กรที่ต้องการเครื่อง server ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังพอมีเหลือให้เห็นอยู่บ้างในเครื่อง server รุ่นเก่าๆ

เอ็นที 4.0 มี 2 รุ่นย่อย คือ รุ่น Workstation อยู่ในการสนับสนุนถึง 30 มิถุนายน พ.ศ. 2547 และ รุ่น Server อยู่ในการสนับสนุนถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2547

วินโดวส์ 98 แก้

 
ภาพหน้าจอ วินโดวส์ 98

ดูบทความหลักที่ วินโดวส์ 98

วินโดวส์ 98 หรือ วินโดวส์ 4.1 (ไม่เอ็นที) เปิดตัวเมื่อ 25 มิถุนายนพ.ศ. 2541 เป็นระบบปฏิบัติการรุ่นต่อของวินโดวส์ 95 จุดเด่นของวินโดวส์ 98 คือการใช้มาตรฐานไดรเวอร์แบบ WDM และ VxD ซึ่ง WDM เป็นมาตรฐานใหม่ที่วินโดวส์รุ่นต่อๆ มา ได้ใช้เป็นหลัก ส่วน VxD เป็นมาตรฐานเก่า ซึ่งวินโดวส์รุ่นต่อจาก 98 ไม่รองรับ ซึ่งทำให้วินโดวส์ 98 เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างโปรแกรมสมัยเก่าและใหม่ โปรแกรมสมัยปัจจุบัน แม้จะไม่ได้ออกแบบมาเพื่อวินโดวส์ 98 แต่หลายโปรแกรมก็สามารถใช้กับวินโดวส์ 98 ได้พอสมควร วินโดวส์ 98 Second Edition รุ่นปรับปรุง เริ่มจำหน่ายเมื่อ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2542

วินโดวส์ 98 อยู่ในการสนับสนุนจนถึง 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2549

วินโดวส์ 2000 แก้

 
ภาพหน้าจอ วินโดวส์ 2000

ดูบทความหลักที่ วินโดวส์ 2000

วินโดวส์ 2000 หรือ วินโดวส์ เอ็นที 5.0 เปิดตัวเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 เป็นระบบปฏิบัติการเอ็นที มีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้ใช้ขั้นสูงและกลุ่มธุรกิจ ในช่วงนี้ได้แบ่งเป็น 5 รุ่นย่อย คือ Professional, Server, Advanced Server, Datacenter Server, Advanced Server 64-bit Limited Edition

วินโดวส์ 2000 อยู่ในการสนับสนุนจนถึง 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วินโดวส์ มี แก้

 
ภาพหน้าจอ วินโดวส์ มี

ดูบทความหลักที่ วินโดวส์มี

วินโดวส์ มี (อังกฤษ: Windows Me) หรือวินโดวส์ 4.9 (ไม่เอ็นที) เป็นวินโดวส์รุ่นต่อจาก 98 และเป็นรุ่นสุดท้ายที่ไม่ใช่วินโดวส์เอ็นที รุ่นสุดท้ายที่ทำงานได้ทั้งระบบ 16 และ 32 บิต (เวลาผ่านไป โปรแกรมรุ่นใหม่ ที่เป็นโปรแกรมพื้นฐานสำหรับผู้ใช้ตามบ้าน เริ่มเปลี่ยนจาก 16 เป็น 32 บิต และโปรแกรมชั้นสูง เริ่มเปลี่ยนจาก 32 เป็น 64 บิต) เปิดตัว 14 กันยายน พ.ศ. 2543 วินโดวส์มี ไม่ใช่วินโดวส์เอ็นที จึงยังมีดอสอยู่ในวินโดวส์ ซึ่งวินโดวส์ 95 และ 98 แม้จะรวมดอสเป็นส่วนหนึ่งของวินโดวส์ แต่ยังเปิดให้เข้าถึงดอสได้ แต่วินโดวส์ มี ได้ปิดการเข้าถึงดอสในวินโดวส์ เพื่อให้การบูตเครื่องทำได้เร็ว แต่ทำให้โปรแกรมเฉพาะบางโปรแกรมที่ต้องอาศัยการเข้าถึงดอส ไม่สามารถทำงานได้ในวินโดวส์มี โดยเฉพาะโปรแกรมบริหารจัดการดิสก์

วินโดวส์ มี ได้รับคำวิจารณ์อย่างมากในเรื่องความไม่เสถียรและปัญหามากมายภายในระบบ นิตยสารพีซีเวิลด์จึงจัดว่า Windows ME เป็นหนึ่งในระบบปฏิบัติการที่แย่ที่สุดที่ Microsoft เคยออกมาและเป็นผลิตภัณฑ์ที่เลวร้ายที่สุดอันดับ 4 ของ ณ เวลานั้น

วินโดวส์ มี อยู่ในการสนับสนุนจนถึง 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2549

วินโดวส์ เอกซ์พี และ เซิร์ฟเวอร์ 2003 แก้

 
ภาพหน้าจอ วินโดวส์ เอกซ์พี
 
ภาพหน้าจอ เซิร์ฟเวอร์ 2003

ดูบทความหลักที่ วินโดวส์ เอกซ์พี

วินโดวส์ เอกซ์พี หรือ วินโดวส์ เอ็นที 5.1 และ เอ็นที 5.2 เปิดตัว 25 ตุลาคม พ.ศ. 2544 เป็นวินโดวส์เอ็นทีรุ่นแรก ที่พัฒนาขึ้นโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใช้ทั่วไป พัฒนาขึ้นจาก วินโดวส์ เนปจูน ถูกยุบรวมกับวินโดวส์ Whistler ส่วนวินโดวส์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อผู้ใช้ขั้นสูงและธุรกิจ จะมีแยกต่างหากอีก 2 ตัว ที่ใช้เลข เอ็นที 5.1 และ 5.2 คือ วินโดวส์ ฟันเดเมนทัลส์ ฟอร์ เลกาซี พีซีส์ และ วินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2003 ตามลำดับ โดยคำว่า เอกซ์พี มาจากคำว่า Experience แปลว่า ประสบการณ์ ซึ่งเป็นวินโดวส์ที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างสูง แม้จะเปิดตัวมาแล้วถึง 9 ปี แต่จากข้อมูลในเดือนกันยายน 2553 พบว่า ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ยังใช้วินโดวส์เอกซ์พีมากถึงร้อยละ 60 ของผู้ใช้ทั้งหมด ในขณะที่วินโดวส์รุ่นอื่นๆ ทั้งหมดรวมกัน มีส่วนแบ่งร้อยละ 31 และระบบปฏิบัติการอื่นที่ไม่ใช่วินโดวส์ ประมาณร้อยละ 9 วินโดวส์ เอกซ์พี มีการออกรุ่นปรับปรุงตามหลังมาอีกพอสมควร ซึ่งผู้ใช้สามารถตรวจสอบรุ่นของซอฟต์แวร์ได้เอง โดยกด Start แล้วเลือก Run แล้วพิมพ์ sysdm.cpl หรือ winmsd.exe แล้วกด Run จะขึ้นหน้าต่างข้อมูลให้ผู้ใช้รับทราบ รุ่นปรับปรุงที่ออกมา จะปรากฏคำว่า Service Pack

เอกซ์พีรุ่นแรก ที่ไม่มี Service Pack ไมโครซอฟท์ได้ยุติการสนับสนุนเมื่อ 30 กันยายน พ.ศ. 2547, เอกซ์พีรุ่นปรับปรุง SP1 และ 1a ยุติการสนับสนุน 10 ตุลาคม พ.ศ. 2549, รุ่นปรับปรุง SP2 32 บิต ยุติการสนับสนุน 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ส่วนรุ่นปรับปรุง SP2 64 บิต และ SP3 จะสนับสนุนต่อไปจนถึง 8 เมษายน พ.ศ. 2557 ส่วนวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2003 จะได้รับการสนับสนุนต่อจนถึง 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 และวินโดวส์ ฟันเดเมนทัลส์ ฟอร์ เลกาซี ยังแผนจะยุติการสนับสนุนอีกด้วยและ การสนับสนุน Windows XP ที่มี Service Pack 2 (SP2) ได้หยุดลงในวันที่ 13 กรกฎาคม 2553

วินโดวส์ เอกซ์พี หยุดการสนับสนุนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2557

วินโดวส์ วิสตา และ เซิร์ฟเวอร์ 2008 แก้

 
ภาพหน้าจอ วินโดวส์ วิสตา
 
ภาพหน้าจอ วินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2008
 
ภาพหน้าจอ วินโดวส์ โฮม เซิร์ฟเวอร์

ดูบทความหลักที่ วินโดวส์ วิสตา

วินโดวส์ วิสตา หรือ วินโดวส์ เอ็นที 6.0 ได้รับลิขสิทธิ์ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 แต่เริ่มขายผู้ใช้จริง 30 มกราคม พ.ศ. 2550 ในช่วงของวิสตา วินโดวส์ สำหรับผู้ใช้ขั้นสูงและองค์กรธุรกิจ คือ วินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2008, วินโดวส์ โฮม เซิร์ฟเวอร์ วิสตามีความสามารถสูงกว่าเอกซ์พีหลายประการ เช่น ในการตัดต่อ การพัฒนาแอปพลิเคชัน, การแสดงผลกราฟิก ที่สามารถแสดงผลแบบโปร่งแสง สามารถมองฉากหลังของหน้าต่างที่กำลังเปิดอยู่ได้ ในมุมมองแบบโปร่งแสง ในพื้นที่ที่เหมาะสม เช่น บาร์ด้านบนสุดของโปรแกรม, ความสามารถในการค้นหา, การพิมพ์ ฯลฯ แต่ทว่า วิสตา ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควร สาเหตุหลักๆ ที่เป็นที่วิจารณ์ คือ ความต้องการขึ้นต่ำของระบบ ที่สูงกว่าวินโดวส์เอกซ์พีหลายเท่าตัว ดังตัวอย่างเปรียบเทียบในตาราง

ประเภทความต้องการ ความต้องการขั้นต่ำของเอกซ์พี (SP3) ความต้องการขั้นต่ำของวิสตา
หน่วยประมวลผลกลาง (โปรเซสเซอร์) 233 MHz 800 MHz
แรม 64 MB 512 MB
เนื้อที่ว่างในฮาร์ดดิสก์ 4.2 GB 15 GB
ไดรฟ์ที่ต้องการ CD-ROM DVD-ROM

เครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไปในช่วงนั้น มีความสามารถไม่ถึง หรือ ถึง แต่เกินความต้องการมาเพียงเล็กน้อย ทำให้วิสตาเป็นระบบที่มีขนาดใหญ่มาก ทำให้เครื่องทำงานไม่มีประสิทธิภาพ หรือช้า อีกทั้งยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าซอร์ซโค้ดไม่มีคุณภาพ ผู้ใช้ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่ไม่ได้ใช้คุณสมบัติพิเศษที่เพิ่มมาของวิสตา จึงยังคงใช้เอกซ์พี วิสตาจึงไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

วิสตา รุ่นแรก ที่ไม่มี Service Pack ไมโครซอฟท์ได้ยุติการสนับสนุนลงแล้วเมื่อ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ส่วนวิสตารุ่นปรับปรุง SP1 ได้ยุติการสนับสนุนลงแล้วเมื่อ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ส่วนรุ่นปรับปรุง SP 2 ได้ยุติการสนับสนุนในระยะ mainstream support ลงเมื่อ 10 เมษายน พ.ศ. 2555 และทุกรุ่นหยุดการสนับสนุนในระยะ Extended support อย่างเป็นทางการในวันที่ 11 เมษายน 2560

วินโดวส์ โฮม เซิร์ฟเวอร์ สิ้นสุดการสนับสนุนแล้วเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 วินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2008 จะสนับสนุนต่อไปจนถึง 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

วินโดวส์ 7 และ เซิร์ฟเวอร์ 2008 อาร์2 แก้

 
เว็บไซต์วิกิพีเดียบนวินโดวส์ 7
 
ภาพหน้าจอวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2008 อาร์2

ดูบทความหลักที่ วินโดวส์ 7

วินโดวส์ 7 หรือ วินโดวส์ เอ็นที 6.1 เปิดตัวการขายปลีกเมื่อ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เป็นวินโดวส์ของไมโครซอฟท์ ส่วน เอ็นที 6.1 อีกรุ่นหนึ่ง ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใช้ระดับสูง คือ วินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2008 อาร์2 เปิดตัวในวันเดียวกับวินโดวส์ 7 ในวินโดวส์ 7 ได้มีการแก้ไขข้อบกพร่องที่ทำให้วิสตาไม่ประสบความสำเร็จ และมีความต้องการขั้นต่ำไม่ต่างจากวิสตามากนัก นอกจากแรมและการ์ดจอ ที่ต้องการเพิ่ม แต่ที่ผ่านมา จากการเปิดตัววิสตา ได้กรุยทางส่วนหนึ่งไว้ให้ วินโดวส์ 7 เพราะช่องว่างระหว่างการเปิดตัวนั้น ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์หลายรายได้เพิ่มความสามารถในหลายด้าน คอมพิวเตอร์ในช่วงหลังวิสตา พร้อมจะรองรับวินโดวส์ที่ใหญ่กว่าเอกซ์พีได้ อีกทั้งวินโดวส์ 7 ได้มีการบริหารจัดการดี ทำงานมีประสิทธิภาพสูงกว่าวิสตา ปัจจุบัน มีผู้ใช้วินโดวส์ 7 มากกว่าวิสตาเสียอีก

วินโดวส์ 7 และ เซิร์ฟเวอร์ 2008 อาร์2 จะสนับสนุนต่อไปจนถึง 14 มกราคม 2563

วินโดวส์ 8 และเซิร์ฟเวอร์ 2012 แก้

วินโดวส์ 8 เป็นระบบปฏิบัติการรุ่นต่อไปในตระกูลวินโดวส์ เปิดตัวเมื่อ 22 ตุลาคม 2553 ผ่านทางบล็อกภาษาดัชต์ของไมโครซอฟท์เอง[1] วินโดวส์ 8 มีคุณสมบัติเพิ่มเติมมากมายหลายอย่าง เช่น ไลฟ์ ไทลส์ ช่วยให้เข้าข้อมูลพื้นฐานได้ง่ายขึ้น[2][3], วินโดวส์ เอกซ์พลอเรอร์ ที่ใช้การจัดข้อมูลแบบริบบอนแทนแบบเดิม [4] เป็นต้น ปัจจุบันวินโดวส์ 8 ได้เปิดวางขายเป็นที่เรียบร้อยในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

Windows 8 เป็นระบบปฏิบัติการที่สร้างสรรค์ใหม่ ตั้งแต่ชิปเซ็ตไปจนถึงประสบการณ์ผู้ใช้ และแนะนำส่วนติดต่อผู้ใช้รูปแบบใหม่ที่ทำงานได้อย่างราบรื่นสำหรับทั้งระบบสัมผัสและเมาส์และแป้นพิมพ์ โดยจะทำหน้าที่เป็นแท็บเล็ตเพื่อความบันเทิงและพีซีที่มีคุณลักษณะครบครันเพื่อให้การทำงานสำเร็จลุล่วง Windows 8 ยังประกอบด้วยส่วนปรับปรุงของเดสก์ท็อป Windows ที่คุ้นเคย พร้อมแถบงานใหม่และการจัดการไฟล์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม

Windows 8 มาพร้อมหน้าจอเริ่มที่มีไทล์ซึ่งเชื่อมต่อกับบุคคล ไฟล์ แอป และเว็บไซต์ แอปต่างๆ จะดูโดดเด่นสะดุดตาและสามารถดาวน์โหลดได้อย่างสะดวกจากสถานที่ใหม่ นั่นก็คือ Windows Store ที่อยู่บนหน้าจอเริ่ม

นอกจากนี้ Microsoft ยังเปิดตัว Windows RT ที่ทำงานบนแท็บเล็ตและพีซีบางเครื่อง พร้อมกับ Windows 8 ด้วย Windows RT ออกแบบมาสำหรับอุปกรณ์พกพาแบบเพรียวบางที่มีแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนาน และใช้แอปจาก Windows Store เท่านั้น นอกจากนี้ Windows RT ยังมาพร้อม Office ในตัวที่เหมาะสำหรับหน้าจอสัมผัสด้วย

Windows 8 ได้สิ้นสุดการสนับสนุนจาก Microsoft เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสิ้นสุดการสนับสนุนเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา

วินโดวส์ 8.1 และเซิร์ฟเวอร์ 2012 อาร์2 แก้

 
ภาพหน้าจอวินโดวส์ 8.1

ในวันที่ 18 ตุลาคม 2013 ทาง Microsoft ออกชุดอัปเดตระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ที่ชื่อ Windows 8.1 สนับสนุนการใช้ Skype แอพ Mail XBox Video Office Bing Food and Drink Xbox Music Internet Explorer 11 (IE11)

Windows 8.1 เหมาะสำหรับการทำงานหลายๆ อย่างในเวลาพร้อมกันและการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงการแสดงผลและใช้งานได้สูงสุดถึง 4 แอปพลิเคชัน ในเวลาเดียวกัน สามารถปรับขนาดหน้าต่างของแต่ละแอปพลิเคชันบนหน้าจอได้ ความสามารถสำหรับแอปพลิเคชันหนึ่งที่จะในการเปิดอีกแอปพลิเคชันหนึ่ง และการรองรับหน้าจอหลายๆ จอทำให้ผู้ใช้เห็นเดสก์ท็อป หรือแอพต่างๆ บน วินโดวส์ สโตร์ จากหน้าจอใดหน้าจอหนึ่งหรือทั้งหมดได้

- การทำงานได้ครบวงจรบนคลาวด์ด้วย SkyDrive ทำให้ผู้ใช้สามารถทำงานได้จากทุกที่ สะดวกกว่าแต่ก่อน สามารถเข้าถึงไฟล์ได้เสมอไม่ว่าจะผ่านดีไวซ์หรือสถานที่ใดก็ตาม ด้วย SkyDrive Smart Files ผู้ใช้สามารถสร้าง แก้ไข เก็บรักษา และแชร์ไฟล์ ที่ใดก็ได้ เมื่อใดก็ได้ บนอุปกรณ์ใดก็ตามที่กำลังใช้งานอยู่

- วินโดวส์ สโตร์ ที่ออกแบบใหม่อย่างสวยงาม ดีไซน์ใหม่ของ วินโดวส์ สโตร์ ได้ปรับปรุงวิธีการแสดงแอปพลิเคชันเด่นๆ ทำให้คุณเข้าถึงแอปพลิเคชันที่ต้องการได้ง่ายขึ้น การจัดวางหน้าจอและจัดหมวดหมู่แอปพลิเคชันแบบใหม่ เช่น หมวด ‘New & Rising’ ช่วยให้ง่ายขึ้นในการติดตามแอปพลิเคชันใหม่ๆ ที่กำลังฮอตที่สุด, ระบบการแนะนำแอปพลิเคชันที่ปรับให้เหมาะสมกับผู้ใช้งาน โดยใช้ระบบการแนะนำที่ล้ำสมัยของ Bing และระบบที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยให้ผู้ใช้สามารถค้นหาแอปพลิเคชันโปรดใหม่ๆ, นอกจากนี้ แอปพลิเคชันต่างๆ จะได้รับการอัปเดตโดยอัตโนมัติในWindows 8.1 ดังนั้นผู้ใช้จะมีแอปพลิเคชันเวอร์ชันใหม่ที่สุดและดีที่สุดเสมอ จากนักพัฒนาที่มีชื่อเสียง รวมทั้งมีแอปพลิเคชันอย่างเป็นทางการจาก Facebook และ National Geography พร้อมทั้งนี้จะนำแอปพลิเคชันใหม่ ๆ มาอัปเดตบนวินโดวส์ สโตร์ อย่างต่อเนื่อง

วินโดวส์ 10 และเซิร์ฟเวอร์ 10 แก้

 
ภาพหน้าจอวินโดวส์ 10 ในเวอร์ชันต้นแบบ

เป็นระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์ ใช้สถาปัตยกรรมวินโดวส์เอ็นที โดยประกาศการพัฒนาเมื่อ 30 กันยายน 2557 และวางจำหน่ายเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 โดยจะทำการอัปเดตระบบให้ผู้ใช้วินโดวส์ 8.1 และวินโดวส์ 7 โดยไม่คิดมูลค่า ภายในในปีแรกของการจัดจำหน่าย

 
ภาพหน้าจอวินโดวส์ 10 ในเวอร์ชันปัจจุบันนี้

ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 วินโดวส์ 10 มีแนวทางการออกแบบที่สืบทอดจาก วินโดวส์ 8 โดยมีหน้าต่างแบบจอสัมผัส และแบบดั้งเดิมที่ใช้เมาส์และคีย์บอร์ด สถาปัตยกรรมของระบบเอื้อให้สามารถใช้ได้ทั้งคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือ โดยเพิ่มแอปจากร้านค้าวินโดวส์ เพื่อการรองรับโปรแกรมเพิ่มเติม อัปเดตระบบให้ผู้ใช้ วินโดวส์ 8.1 และวินโดวส์ 7 โดยไม่คิดมูลค่า และได้หมดอายุไปแล้ว เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2559

ในส่วนของ วินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 10 มีรุ่นย่อยออกวางจำหน่ายทั้งหมด 3 รุ่น ได้แก่ วินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2016 เปิดตัวในเดือนกันยายน 2559 มีพื้นฐานมาจาก Threshold 2 วินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2019 เปิดตัวในเดือนมีนาคม 2561 มีพื้นฐานมาจาก Redstone 3 และวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2022 เปิดตัวในเดือนสิงหาคม 2564 หลังจากเปิดตัววินโดวส์ 11 เพียง 2 เดือน มีพื้นฐานมาจาก 21H2 และเป็นวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ตัวแรกที่ตัดการสนับสนุนหน่วยประมวลผลแบบ 32 บิต (ไอเอ-32) ออกไป

ปัจจุบัน ไมโครซอฟท์ ยังให้การสนับสนุนวินโดวส์ 10 ทั้งในแง่การแก้ไขข้อผิดพลาด และการเผยแพร่ฟีเจอร์ใหม่ ๆ ให้กับคอมพิวเตอร์ที่ไม่สามารถอัปเกรดไป วินโดวส์ 11 ได้จนถึงปี พ.ศ. 2568 สำหรับรุ่นทั่วไป และ พ.ศ. 2570 สำหรับรุ่น LTSC สำหรับวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2016 ปัจจุบันอยู่ในระยะการขยายการสนับสนุนจนถึง 12 มกราคม 2570 วินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2019 อยู่ในระยะการสนับสนุนจนถึง 9 มกราคม 2567 และวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ 2022 อยู่ในระยะการสนับสนุนจนถึง 13 ตุลาคม 2569

วินโดวส์ 11 แก้

 
ภาพหน้าจอวินโดวส์ 11

เป็นระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์ ใช้สถาปัตยกรรมวินโดวส์เอ็นที โดยประกาศการพัฒนาเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2564 พร้อมให้ใช้งานเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เริ่มวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในรูปแบบดิจิทัลในวันเดียวกัน และในรูปแบบแพ็คเกจในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 การอัปเกรดแบบอัตโนมัติจะอนุญาตให้คอมพิวเตอร์ที่มีอายุไม่เกิน 4 ปี และใช้วินโดวส์ 10 รุ่น 21H1 ได้สิทธิ์อัปเกรดไปวินโดวส์ 11 โดยอัตโนมัติ

วินโดวส์ 11 เป็นระบบปฏิบัติการที่มีพื้นฐานมาจาก วินโดวส์ 10 ทุกส่วน ส่วนติดต่อผู้ใช้หลักของวินโดวส์ 11 สืบทอดการพัฒนาต่อจาก วินโดวส์ 10เอ็กซ์ ที่ถูกยุบโครงการไป ส่วนติดต่อผู้ใช้ถูกออกแบบให้ใช้งานได้ง่าย ไม่ซับซ้อน เป็นไปตามแนวทางระบบฟลูเอนต์ดีไซน์ของไมโครซอฟท์ โดยมีลักษณะโปร่งแสง เงา ขอบโค้ง และเหมาะสมกับการใช้งานในรูปแบบการสัมผัสหน้าจอมากขึ้น รวมถึงมีฟอนต์ระบบใหม่ที่ถูกออกแบบให้มีสเกลที่ดีขึ้นและรองรับกับหน้าจอที่มี DPI สูงในปัจจุบัน แต่ในด้านระบบหลักแทบไม่ได้เปลี่ยนไปจากวินโดวส์ 10 และสามารถรองรับโปรแกรมประยุกต์ที่ใช้งานบนวินโดวส์ 10 ได้เกือบทั้งหมด

วินโดวส์ 11 ถูกออกแบบโดยคำนึงถึงความปลอดภัยโดยรวมของระบบเป็นหลัก จึงได้มีการปรับความต้องการพื้นฐานจากเดิมขึ้นมาอีกเป็นเท่าตัว กล่าวคือมีการตัดการสนับสนุนหน่วยประมวลผล 32 บิต อันได้แก่ ไอเอ-32 และเออาร์เอ็มวี 7 ออกไป กลายเป็นระบบปฏิบัติการ 64 บิตเต็มรูปแบบ ไม่รองรับโปรแกรมไบออสดั้งเดิม ต้องใช้โปรแกรม UEFI ควบคู่กับซีเคียวบูต และต้องมีอุปกรณ์รองรับ Trusted Platform Module 2.0 หรือ TPM 2.0 ทั้งในรูปแบบฮาร์ดแวร์แบบแยก หรือรวมอยู่ในหน่วยประมวลผล ในทำนองเดียวกัน ระบบปฏิบัติการเรียกแรมและหน่วยความจำมากขึ้น นั่นคือต้องมีแรมขั้นต่ำ 4 กิกะไบต์ และพื้นที่จัดเก็บข้อมูล 64 กิกะไบต์ การปรับความต้องการพื้นฐานที่สูงขึ้น ทำให้วินโดวส์ 11 ได้รับเสียงตอบรับในทางลบจากผู้ใช้งานหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้งานหน่วยประมวลผล อินเทล คาบี้ เลค และเอเอ็มดี เซน ด้วยเหตุผลว่าทำให้อายุขัยคอมพิวเตอร์สั้นลง

อ้างอิง แก้