ประกิต วาทีสาธกกิจ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ประกิต วาทีสาธกกิจ (28 มีนาคม พ.ศ. 2487) นักวิชาการ อาจารย์แพทย์ เป็นอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด และประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ หรือที่เรียกกันว่า คุณหมอนักรณรงค์


ประกิต วาทีสาธกกิจ
เกิด28 มีนาคม พ.ศ. 2487 (80 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
สัญชาติไทย
ศิษย์เก่าคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2512
มีชื่อเสียงจากหมอนักรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
รางวัล- รางวัล Luther L. Terry Awards (2543)

- รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล-บี. บราวน์ (2544)

- รางวัลนักสร้างเสริมสุขภาพดีเด่น สมาพันธ์นานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพและสุขศึกษา (IUHPE) (2556)
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สถาบันที่ทำงานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (มสบ.)

ประวัติ แก้

นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ เกิดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2487 เป็นบุตรคนที่ 1 มีพี่น้องรวม 5 คน เริ่มเข้าเรียนหนังสือตั้งแต่อายุ 8 ขวบ โดยเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 4 ที่โรงเรียนเสริมศิษย์พิทยา ที่สะพานอ่อน ปทุมวัน สอบได้ที่ 1 ของชั้นตลอดสี่ปี หลังจากจบ ป.4 หยุดเรียนไป 4 ปี เพราะต้องช่วยงานบ้าน ต่อมา อายุได้ 15 ก็เริ่มเรียนหนังสือ โดยไม่ได้เรียนในโรงเรียนเหมือนคนอื่น ๆ ใช้วิธีเรียนเองที่บ้าน และไปกวดวิชาตอนเย็น แล้วสอบเทียบคือ

  • อายุ 15 - 16 ปี สอบเทียบได้ชั้น ม.1 ถึง ม.3 (เทียบเท่าประถมศึกษา ปีที่ 5 ถึง 7)
  • อายุ 16 - 17 ปี สอบเทียบได้ชั้น ม.4 ถึง ม.6 (เทียบเท่าประถมศึกษา ปีที่ 1 ถึง 3)
  • อายุ 17 - 18 ปี สอบเทียบได้ชั้น ม.7 ถึง ม.8 (เทียบเท่ามัธยมศึกษา ปีที่ 4 ถึง 5) (สมัยก่อนประถมศึกษาเริ่ม ป.1 ถึง ป.4 มัธยมศึกษาตอนต้น เริ่ม ม.1 ถึง ม.6 มัธยมศึกษาตอนปลายเริ่ม ม.7 ถึง ม.8)
  • อายุ 19 ปี สอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เตรียมแพทย์)

ตอนนั้น ฝันอยากเรียนสูง ๆ เพื่อจะได้มีอาชีพ เพราะที่บ้านไม่มีกิจการอะไร อยากเรียนแพทย์เพราะว่าผลการเรียนดี ใคร ๆ ก็เชียร์ให้เรียนแพทย์ ทางบ้านไม่มีเงินทุนที่จะทำอะไร จึงคิดว่าเรียนแพทย์จบแล้วจะได้มีงานทำเลย

ประวัติการศึกษา แก้

การทำงานด้านการควบคุมยาสูบ แก้

จากการที่เป็นแพทย์เฉพาะทางด้านโรคปอด ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของการสูบบุหรี่แก่นักศึกษาแพทย์ แพทย์และประชาชนทั่วไป ด้วยการบรรยาย เขียนบทความเผยแพร่ ในปี พ.ศ. 2529 ได้รับการชักชวนจาก ศาสตราจารย์นายแพทย์ อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ให้เข้าร่วมเป็นกรรมการโครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ที่สนับสนุนโดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน โดยร่วมกับ น.ส.บังอร ฤทธิภักดี และอีกหลายท่าน เป็นกรรมการโครงการฯ ทำการเผยแพร่ความรู้พิษภัยยาสูบ ผลักดันนโยบายควบคุมยาสูบ และขยายเครือข่ายรณรงค์ จุดเปลี่ยนสำคัญคือ ในปี พ.ศ. 2532-2533 ได้เข้าร่วมเป็นตัวแทนกระทรวงสาธารณสุขในคณะผู้แทนไทย ในการเจรจากับสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา ในกรณีพิพาทการเปิดตลาดบุหรี่ให้แก่บุหรี่ต่างประเทศ ได้ร่วมกับ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ในการเดินทางไปกรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกาในเวทีประชาพิจารณ์ให้การคัดค้านนโยบายส่งออกสินค้าบุหรี่มายังประเทศไทย เป็นนักวิชาการไทยคนเดียว ที่ไปให้การต่อกรรมาธิการสภาคองเกรส และวุฒิสภาสหรัฐอเมริกาเพื่อคัดค้านนโยบายสนับสนุนการส่งออกสินค้าบุหรี่ของอเมริกา ได้ร่วมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการควบคุมยาสูบแห่งชาติต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 และทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาสำนักงานควบคุมยาสูบ กระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมยกร่าง ผลักดันกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และกฎหมายคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ใน พ.ศ. 2535 ผลักดันให้มีการขึ้นภาษีบุหรี่ปี พ.ศ. 2536 พบปัญหาต่อมาว่ากระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณสนับสนุนงานควบคุมยาสูบน้อยมาก จึงร่วมกับนายแพทย์สุภกร บัวสาย และนักวิชาการอีกหลายท่าน ในการขายความคิด และผลักดันการออกกฎหมายให้ธุรกิจยาสูบและสุราเสียภาษีเพิ่มอีกร้อยละ 2 มาเป็นงบประมาณสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผลสำเร็จในปี พ.ศ. 2544 เกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2547 โดยตลอดช่วงเวลาที่ยังเป็นอาจารย์แพทย์ทำหน้าที่สอน บริการรักษาคนไข้ และงานบริหารภาควิชาและคณะแพทยศาสตร์ พร้อมกับทำงานรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในฐานะอาสาสมัคร จนเกษียณอายุราชการ จึงได้ทำงานรณรงค์ไม่สูบบุหรี่เต็มเวลาในสำนักงานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สนับสนุนงานควบคุมยาสูบผ่านการผลักดันนโยบาย ร่วมผ่านกฎระเบียบต่าง ๆ ในการควบคุมยาสูบ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เตรียมคำเตือน/รูปภาพคำเตือนบนซองบุหรี่มาโดยตลอด เปิดโปงกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบ พร้อม ๆ กับการขยายเครือข่ายในภาคประชาสังคม ในด้านต่างประเทศได้รับเชิญ เดินสายแบ่งปันประสบการณ์ และสนับสนุนประเทศในอาเซียนและประเทศอื่น ๆ เกี่ยวกับงานควบคุมยาสูบ และการก่อตั้งองค์กรรูปแบบ สสส. รวมทั้งเป็นกรรมการยกร่างแนวปฏิบัติมาตราต่าง ๆ ของอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ในขณะที่ภายในประเทศไทย ได้มุ่งเน้นการขยายเครือข่ายในวิชาชีพ และแวดวงต่าง ๆ และให้ความสำคัญกับการทำให้เกิดกลไกการควบคุมยาสูบในระดับจังหวัดทั่วประเทศ เป็นผู้ที่ปฏิบัติและพยายามเผยแพร่กระบวนการ “การชี้แนะ” นโยบายสาธารณะ หรือ “Advocacy” for public policy มุ่งมั่นรณรงค์ให้สังคมไทยเข้าใจ การ “สร้างเสริมสุขภาพ” ตามหลักการ Ottawa Charter for Health Promotion ขององค์การอนามัยโลก

การทำงาน แก้

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ประกิตเป็นคนเรียบง่ายไม่ถือตัว มีอัธยาศัยไมตรี มีความเป็นกันเองและเป็นมิตรกับผู้คน เป็นนักบริหารแก้ปัญหาได้รวดเร็ว กล้าตัดสินใจ เสียสละ โดยยึดหลักว่า “Honesty is the best policy”

การรับราชการ แก้

  • พ.ศ. 2519 – พ.ศ. 2520 อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  • พ.ศ. 2520 – พ.ศ. 2523 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  • พ.ศ. 2523 – พ.ศ. 2530 รองศาสตราจารย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  • พ.ศ. 2530 – พ.ศ. 2549 ศาสตราจารย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ตำแหน่งหน้าที่อื่น ๆ และกิจกรรมที่เคยทำ แก้

ข้าราชการการเมือง แก้

  • พ.ศ. 2549 สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร
  • พ.ศ. 2550 – พ.ศ. 2551 ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แก้

  • พ.ศ. 2523 – พ.ศ. 2529 หัวหน้าโครงการอบรมแพทย์ประจำบ้าน ภาควิชาอายุรศาสตร์
  • พ.ศ. 2525 – พ.ศ. 2529 ประธานคณะอนุกรรมการโครงการฝึกอบรมแพทย์ฝึกหัด และแพทย์ประจำบ้าน ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
  • พ.ศ. 2526 – พ.ศ. 2529 กรรมการบริหารหน่วยเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
  • พ.ศ. 2537 – พ.ศ. 2538 ผู้ประสานงานพัฒนาการเรียนการสอนระดับปรีคลินิกและคลินิกคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
  • พ.ศ. 2530 – พ.ศ. 2538 หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี [2]
  • พ.ศ. 2539 – พ.ศ. 2541 กรรมการประจำคณะ จากคณาจารย์ประจำ
  • พ.ศ. 2539 – พ.ศ. 2541 ประธานสภาอาจารย์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
  • พ.ศ. 2541 – พ.ศ. 2547 คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี [3]
  • พ.ศ. 2543 – 2547 กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล

แพทยสภา แก้

  • พ.ศ. 2525 – พ.ศ. 2529 กรรมการในคณะอนุกรรมการกลางฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านของแพทยสภา
  • พ.ศ. 2526 – พ.ศ. 2534 กองบรรณาธิการแพทยสภาสาร
  • พ.ศ. 2541 – พ.ศ. 2547 กรรมการแพทยสภาโดยตำแหน่ง

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย แก้

  • พ.ศ. 2529 – พ.ศ. 2536 กรรมการบริหารราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
  • พ.ศ. 2530 – พ.ศ. 2538 กรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบ สาขาอายุรศาสตร์
  • พ.ศ. 2529 – พ.ศ. 2531 เลขานุการคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย แก้

  • พ.ศ. 2532 – พ.ศ. 2534 กรรมการคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบ สาขาโรคระบบทางเดินหายใจ
  • พ.ศ. 2522 – พ.ศ. 2526 กรรมการสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย
  • พ.ศ. 2523 – พ.ศ. 2525 เลขาธิการสมาคมแพทย์โรคทรวงอกอเมริกันแห่งประเทศไทย
  • พ.ศ. 2523 – พ.ศ. 2532 ผู้ช่วยบรรณาธิการ วารสารวัณโรคและโรคทรวงอก
  • พ.ศ. 2521 – ปัจจุบัน กรรมการกลางสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย

กระทรวงการคลัง แก้

  • พ.ศ. 2539 – พ.ศ.2542 ประธานคณะทำงานจัดหาข้อเสนอมาตรการจัดตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ กระทรวงการคลัง
  • พ.ศ. 2543 รองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ....

ประวัติที่สำคัญอื่น ๆ แก้

กระทรวงสาธารณสุข แก้

  • พ.ศ. 2532 – พ.ศ. 2533 ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขในการเจรจาปัญหานำเข้าบุหรี่ กับสหรัฐอเมริกาภายใต้กฎหมายการค้า มาตรา 301 และที่ประชุมว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า (แกตต์)
  • พ.ศ. 2532 – พ.ศ. 2536 กรรมการคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2536 – พ.ศ.2543 กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบ
  • พ.ศ. 2532 – พ.ศ. 2536 กรรมการบริหาร สมาพันธ์ควบคุมการบริโภคยาสูบภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกส์
  • พ.ศ. 2534 – พ.ศ. 2539 กรรมการคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติด้านยา
  • พ.ศ. 2534 – พ.ศ. 2539 ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมให้มีการใช้ยาที่เหมาะสมคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
  • พ.ศ. 2534 – พ.ศ. 2535 ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ศาสตราจารย์ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
  • พ.ศ. 2536 – พ.ศ. 2538 ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์)
  • พ.ศ. 2541 – พ.ศ. 2543 กรรมการที่ปรึกษาและสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายคำรณ ณ ลำพูน)
  • พ.ศ. 2544 – พ.ศ. 2549 ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการจัดทำแผนควบคุม กำกับดูแลการปฏิบัติ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535
  • พ.ศ. 2544 – พ.ศ. 2549 ประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์การควบคุมการบริโภคยาสูบและเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับโทษพิษภัยของบุหรี่
  • พ.ศ. 2544 – พ.ศ. 2549 อนุกรรมการจัดทำแผนคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535
  • พ.ศ. 2546 – พ.ศ. 2549 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2546 – พ.ศ. 2549 อนุกรรมการพิจารณามาตรการการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ และการดำเนินการติดป้ายผลิตภัณฑ์ยาสูบ
  • พ.ศ. 2546 – พ.ศ. 2549 คณะกรรมการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ
  • พ.ศ. 2547 – พ.ศ. 2549 คณะกรรมการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • พ.ศ. 2550 รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญคนที่สอง ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ พ.ศ.. ...สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2550 – พ.ศ. 2551 คณะที่ปรึกษาอาวุโสนายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  • พ.ศ. 2551 หัวหน้าคณะผู้แทนไทยสำหรับการประชุมภาคีสมาชิกใหญ่กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบครั้งที่ 3
  • พ.ศ. 2552 หัวหน้าคณะผู้แทนไทยสำหรับในการดำเนินการระหว่างประเทศ ตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ กระทรวงสาธารณสุข
  • พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2553 คณะผู้แทนไทยในการเจรจาร่างพิธีสารการควบคุมยาสูบผิดกฎหมายอนุสัญญาควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลก
  • พ.ศ. 2555 - พ.ศ. 2556 เลขาธิการเครือข่ายสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพนานาชาติ (สสส.นานาชาติ)
  • พ.ศ. 2554 - พ.ศ. 2558 ประธานเครือข่ายโรคไม่ติดต่อ (Thai NCD Net)
  • พ.ศ. 2554 – พ.ศ. 2558 ที่ปรึกษาคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและจัดทำร่างกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
  • พ.ศ. 2557 – พ.ศ. 2558 ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน

สำนักนายกรัฐมนตรี แก้

  • พ.ศ. 2541 – พ.ศ. 2543 คณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
  • พ.ศ. 2545 – พ.ศ. 2547 รองประธานกรรมการคนที่สอง คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
  • พ.ศ. 2546 – พ.ศ. 2547 คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนประธานคณะอนุกรรมการด้านการมีส่วนร่วม
  • พ.ศ. 2548 – พ.ศ. 2549 ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
  • พ.ศ. 2550 ประธานคณะทำงานศึกษาการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  • พ.ศ. 2550 ประธานคณะกรรมการอำนวยการ แผนงานส่งเสริมชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ทบวงมหาวิทยาลัย แก้

  • พ.ศ. 2534 – พ.ศ. 2538 กรรมการคณะกรรมการสอบไล่ภายนอก คณะแพทยศาสตร์รังสิต

องค์กรเอกชน แก้

  • พ.ศ. 2529 – พ.ศ. 2539 เลขาธิการโครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ มูลนิธิหมอชาวบ้าน[4]
  • พ.ศ. 2540 – ปัจจุบัน ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่[5]

องค์การอนามัยโลก แก้

  • พ.ศ. 2539 – พ.ศ. 2545 คณะที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านบุหรี่และสุขภาพองค์การอนามัยโลก
  • พ.ศ. 2544 - พ.ศ. 2546 ที่ปรึกษา Bangladesh Anti-Tobacco Alliance (BATA) ประเทศบังคลาเทศ

ผลงานทางวิชาการ แก้

  • งานแต่งและเรียบเรียงตำราทั้งหมด 12 เรื่อง
  • งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร 35 เรื่อง
  • รับเชิญบรรยายวิชาการในการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับบุหรี่และสุขภาพรวมกว่า 60 ครั้ง
  • ได้รับเชิญให้เป็นผู้นิพนธ์ในหนังสือที่จัดพิมพ์โดยธนาคารโลก (พ.ศ. 2546) Tobacco Control Policy Strategies: Success & Setbacks หัวข้อ Tailoring Tobacco Control Efforts to the Country; The Example of Thailand เพื่อเป็นกรณีศึกษาสำหรับประเทศต่าง ๆ ในการควบคุมยาสูบ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

เกียรติประวัติและรางวัลที่เคยได้รับ แก้

  • พ.ศ. 2532 เป็นผู้แทนประเทศไทย การประชาพิจารณ์ที่จัดโดยสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา USTR ที่กรุงวอชิงตันดีซี
  • พ.ศ. 2533 ให้การต่อกรรมาธิการวุฒิสภาและสภาคองเกรสสหรัฐอเมริกา
  • พ.ศ. 2533 ได้รับรางวัลโล่เกียรติยศจากสมาพันธ์ควบคุมการบริโภคยาสูบภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (Asian and Pacific Association for Tobacco Control) ในฐานะเป็นผู้ที่มีผลงานในการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ดีเด่นของประเทศไทยและภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก โดยเป็นบุคคลแรกที่ได้รับรางวัลนี้ (วันที่ 6 เมษายน 2533)
  • พ.ศ. 2534 ได้รับการคัดเลือกจากกองบรรณาธิการนิตยสาร Fitness ให้เป็นบุคคลแห่งปี 2534 ในฐานะที่ได้รณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่อย่างแข็งขัน
  • พ.ศ. 2535 ได้รับรางวัลเหรียญ (Tobacco or Health) จากองค์การอนามัยโลก ในฐานะที่มีผลงานรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ดีเด่นของประเทศไทย
  • พ.ศ. 2536 ได้รับโล่เกียรติยศจากกรมพลศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะที่มีผลงานในการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่เป็นอย่างดียิ่ง (วันที่ 31 พฤษภาคม 2536)
  • พ.ศ. 2536 ได้รับโล่เกียรติยศจากสมาคมศิษย์เก่าสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ในฐานะเป็นนักสาธารณสุขดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิชาการประจำปี 2536 (วันที่ 17 พฤษภาคม 2536)
  • พ.ศ. 2543 ได้รับรางวัล Luther L. Terry Awards จาก American Cancer Society ซึ่งเป็นรางวัลระดับโลกที่ตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก พ.ศ. 2543 สำหรับบุคคลที่มีผลงานดีเด่นด้านการรณรงค์ควบคุมการสูบบุหรี่ระดับโลก ในฐานะ Outstanding Individual Leadership in Tobacco Control และเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ (วันที่ 10 สิงหาคม 2543)
  • พ.ศ. 2544 ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล-บีบราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย ในฐานะผู้ได้อุทิศตนปฏิบัติงานเพื่อเป้าหมายการมีสุขภาพที่ดีของประชาชนโดยส่วนรวม
  • พ.ศ. 2544 ได้รับเกียรติบัตร Fellow of Royal College of Physicians of London (FRCP) จาก Royal College of Physicians แห่งประเทศสหราชอาณาจักร (วันที่ 13 มิถุนายน 2544)
  • พ.ศ. 2545 ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากสมาคมไทย เพื่อการส่งเสริมความเข้าใจระหว่างประเทศ ในฐานะผู้บำเพ็ญตนเป็นประโยชน์ต่อสังคม และส่งเสริมความเข้าใจดีระหว่างประเทศกับนานาชาติ (วันที่ 27 ธันวาคม 2545)
  • พ.ศ. 2546 ได้รับมอบรางวัล 2003 Award for Community Ledership จาก Rhonda Galbally อดีตผู้จัดการสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพวิคตอเรียที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย (ตุลาคม 2546)
  • พ.ศ. 2548 ได้รับปริญญาแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2548
  • พ.ศ. 2551 ได้รับพระราชทานรางวัลเกียรติยศจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ในฐานะบุคคลดีเด่น แห่งชาติ ระดับนโยบายด้านสุขศึกษา พลศึกษา และนันทนาการ จากสมาคมสุขศึกษาพลศึกษา และสันทนาการแห่งประเทศไทย ประจำปี 2551
  • พ.ศ. 2552 ได้รับรางวัลบลูมเบิล์กด้านการควบคุมยาสูบโลก ด้านความเป็นเลิศด้านการเตือนภัยอันตรายจากบุหรี่โดยเฉพาะฉลากคำเตือนบนซองบุหรี่จากมูลนิธิบลูมเบิรล์ก (วันที่ 9 มีนาคม 2552)
  • พ.ศ. 2552 ได้รับพระราชทานรางวัลบุคคลดีเด่นผู้ทำคุณประโยชน์ด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบแก่สาธารณสุขไทย ในงาน”90 ปี การสาธารณสุขไทยเพื่อคนไทยสุขภาพดี” (วันที่ 21 มีนาคม 2552)
  • พ.ศ. 2555 ได้รับการยกย่องและเชิดชูเกียรติเป็น”บุคคลคุณภาพแห่งปี 2012 ด้านสาธารณสุข โดยมูลนิธิมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.), Foundation of Science and Technology Council of Thailand ( FSTI) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี / Ministry of Science and Technology (วันที่ 19 ตุลาคม 2555)
  • พ.ศ. 2556 ได้รับรางวัล “มหิดลวรานุสรณ์ 2555” ของ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งปะเทศไทย นำระบรมราชูปถัมภ์ (วันที่ 11 มีนาคม 2556)
  • พ.ศ. 2556 รับรางวัลเหรียญและโล่ประกาศเกียรติคุณในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ในการคุ้มครองสุขภาพชาวเวียดนามจากกระทรวงสาธารณสุขเวียดนาม วันที่ 23 เมษายน 2556 ณ กรุงฮานอย
  • พ.ศ. 2556 รางวัลนักสร้างเสริมสุขภาพดีเด่นการประชุมสมาพันธุ์นานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพและสุขศึกษา ( IUHPE ) ครั้งที่ 21 วันที่ 25 – 29 สิงหาคม 2556 ณ พัทยา ประเทศไทย
  • พ.ศ. 2557 ได้รับปริญญาแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยนเรศวรประจำปีการศึกษา 2557
  • พ.ศ. 2562 ได้รับรางวัล Professional Health Advocacy Award 2019 จาก the American College of Chest Physician (ACCP) จากที่ประชุม Chest Congress 2019 วันที่ 10 เมษายน 2562 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ
  • พ.ศ. 2564 ได้รับรางวัล Champion of SEATCA award เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี Southeast Asia Tobacco Control Alliance (SEATCA)
  • พ.ศ. 2565 ได้รับรางวัล Dr Lee Jong-wook Memorial Prize for Public Health องค์การอนามัยโลก ปี ค.ศ.2022
  • พ.ศ. 2566 รางวัลเชิดชูเกียรติแพทย์จุฬาฯ ต้นแบบเกียรติยศ ในโอกาสครบรอบ 75 ปี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2566

อ้างอิง แก้

  1. รายชื่อบุคคลจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  2. https://med.mahidol.ac.th/med/sites/default/files/public/pdf/headdivision/Profprakij.pdf
  3. ทำเนียบคณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. https://www.doctor.or.th/
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-19. สืบค้นเมื่อ 2021-10-14.
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-10-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๒๕ ข หน้า ๔, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๑๒, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา เก็บถาวร 2022-05-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๒ ข หน้า ๓๓๓, ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2022-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๑๖๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๐, ๒๐ กันยายน ๒๕๓๔