ปฏิบัติการสะพานลอนดอน

ปฏิบัติการสะพานลอนดอน (อังกฤษ: Operation London Bridge) เป็นรหัสลับเรียกแผนดำเนินการต่าง ๆ เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคตลง[1][2][3][4] เดิมทีแผนนี้วางขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 และปรับปรุงเรื่อยมาทุกปี ในการวางแผนมีความร่วมมือจากกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ เป็นต้นว่า หน่วยตำรวจนครบาล กองทัพบริติช ราชอุทยานลอนดอน ตลอดจน คริสตจักรอังกฤษ และสื่อมวลชน นอกจากนี้ การตัดสินใจสำคัญบางประการยังเป็นพระวินิจฉัยของสมเด็จพระราชินีนาถโดยตรง แต่บางเรื่องที่ต้องอาศัยการวินิจฉัยของผู้สืบบัลลังก์ต่อก็มี

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ใน ค.ศ. 2015

แผนนี้กำหนดให้ใช้ข้อความว่า "สะพานลอนดอนพังแล้ว" (London Bridge is down) เป็นรหัสสำหรับบอกคนวงใน เช่น นายกรัฐมนตรี และบุคคลสำคัญอื่น ๆ ให้ทราบว่า สมเด็จพระราชินีนาถสวรรคตแล้ว จะได้เริ่มปฏิบัติตามแผน

ปฏิบัติการนี้จะเกิดควบคู่กับปฏิบัติการอื่น คือ ปฏิบัติการสปริงไทด์ (Operation Spring Tide) สำหรับการขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ และ ปฏิบัติการยูนิคอร์น (Operation Unicorn) สำหรับกรณีที่สวรรคตในประเทศสกอตแลนด์

ประวัติ

แก้

ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 งานพระศพในสหราชอาณาจักรนั้นดำเนินการไม่เรียบร้อยมาตลอด เป็นต้นว่า ในงานพระศพเจ้าหญิงชาร์ลอตต์แห่งเวลส์เมื่อ ค.ศ. 1817 สัปเหร่อล้วนเมาสุรา ขณะที่งานพระศพพระเจ้าจอร์จที่ 4 เมื่อ ค.ศ. 1830 นั้น นิตยสาร ไทมส์ บันทึกว่า "บริหารจัดการแย่" (ill-managed) พฤติการณ์เหล่านี้มาเปลี่ยนแปลงเอาเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงเตรียมงานพระศพของพระองค์มาตั้งแต่ ค.ศ. 1875 จนสวรรคตลงใน 26 ปีให้หลัง[1]

การใช้รหัสลับสำหรับบอกข่าวการสวรรคตนั้น เริ่มเมื่อพระเจ้าจอร์จที่ 6 สวรรคตใน ค.ศ. 1952 มีการแจ้งข้อความว่า "มุมสวนไฮด์" (Hyde Park Corner) ต่อข้าราชการผู้ใหญ่ เพื่อเป็นนัยว่า พระเจ้าแผ่นดินสิ้นแล้ว ทั้งนี้ เพื่อมิให้ผู้ควบคุมแผงไฟในพระราชวังบักกิงแฮมรู้ข่าวเร็วเกินไป[1][2]

ส่วนสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี นั้น มีการใช้แผนเรียก "ปฏิบัติการสะพานเทย์" (Operation Tay Bridge) สำหรับเตรียมงานพระศพล่วงหน้าถึง 22 ปี และแผนนี้ก็ใช้เป็นแบบแผนงานพระศพเจ้าหญิงไดอานาใน ค.ศ. 1997[1]

แผน

แก้
 
สะพานลอนดอน (ภาพใน ค.ศ. 2006) ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับแผนปฏิบัติการ

แผนสำหรับดำเนินการเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคตแล้ว มีดังนี้

วันสวรรคต

แก้

คริสโตเฟอร์ ไกดต์ (Christopher Geidt) ราชเลขาธิการ เป็นข้าราชการคนแรกที่มีหน้าที่รับมือกับข่าวการสวรรคต สิ่งแรกที่เขาจะทำ คือ ติดต่อนายกรัฐมนตรี แล้วข้าราชการทั้งหลายก็จะแจ้งข้อความ "สะพานลอนดอนพังแล้ว" ต่อ ๆ กันไปทางโทรศัพท์ที่มีระบบป้องกัน[1] จากนั้น ศูนย์ปฏิกิริยาโลก (Global Response Centre) ในสังกัดสำนักต่างประเทศ ซึ่งมีที่ตั้งอันไม่เปิดเผยอยู่ในลอนดอน จะแจ้งข่าวการสวรรคตไปยังรัฐบาล 15 ประเทศในเครือจักรภพประชาชาติที่สมเด็จพระราชินีนาถทรงเป็นประมุข[1]

แล้วจะมีการแจ้งสื่อมวลชน โดยแถลงต่อสมาคมสื่อ และต่อบีบีซีทางระบบส่งผ่านการแจ้งเตือนทางวิทยุ (Radio Alert Transmission System) รวมถึงต่อสถานีวิทยุพาณิชย์ทั้งหลายผ่านเครือข่าย "ไฟมรณะ" (obit light) สีฟ้า ซึ่งจะเป็นที่รับทราบของพิธีกรรายการวิทยุว่า ถึงเวลาเปิด "เพลงที่เหมาะสม" และเตรียมเสนอข่าวฉับพลัน ในการนี้ นิตยสาร ไทมส์ มีเวลา 11 วันสำหรับเตรียมออกข่าว ส่วนสำนักข่าวไอทีเอ็นและสกายนิวส์ได้ซักซ้อมเกี่ยวกับการสวรรคตมานานแล้ว โดยใช้คำว่า "คุณนายรอบินสัน" (Mrs Robinson) เรียกสมเด็จพระราชินีนาถแทน[1]

ครั้นแล้ว ชาวพนักงานจะติดกระดาษขอบดำลงประกาศการสวรรคตไว้ตามประตูพระราชวังบักกิงแฮม ขณะเดียวกัน เว็บไซต์สำนักพระราชวังก็จะขึ้นประกาศอย่างเดียวกัน[1] แล้วจะมีการเรียกประชุมรัฐสภานัดพิเศษภายในไม่กี่ชั่วโมง เพื่อนายกรัฐมนตรีจะได้แถลงการสวรรคตต่อสภาสามัญชน

วันถัดจากวันสวรรคต

แก้

หลังสวรรคตแล้วหนึ่งวัน สภาการขึ้นครองราชย์[5] (Accession Council) จะประชุมประกาศยกเจ้าชายชาลส์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์[1] เย็นนั้น จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อถวายสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่

งานพระบรมศพ

แก้

มีการเตรียมเคลื่อนหีบพระบรมศพไว้หลายทาง สุดแต่ว่าจะสวรรคตที่ใด เช่น

แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นเช่นไร หีบพระบรมศพจะตั้งไว้ในท้องพระโรงพระราชวังบักกิงแฮมเป็นเวลา 4 วัน แล้วจะย้ายไปตั้งสักการะ ณ โถงเวสมินสเตอร์ พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ อีก 4 วัน

ส่วนงานพระบรมศพจะจัดขึ้น ณ เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์เมื่อสวรรคตแล้ว 9 วัน หลังจากนั้น จะฝังพระศพไว้ ณ โบสถ์น้อยเซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์[1]

แผนควบคู่

แก้

ปฏิบัติการสะพานลอนดอนจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับแผนการขึ้นครองราชย์ของเจ้าชายชาลส์ เรียกว่า ปฏิบัติการสปริงไทด์ และมีแผนเสริมในกรณีที่สมเด็จพระราชินีนาถสวรรคตในสกอตแลนด์ เรียกว่า ปฏิบัติการยูนิคอร์น[6]

ปฏิบัติการสปริงไทด์

แก้

ปฏิบัติการสปริงไทด์เป็นแผนปฏิบัติการสำหรับการขึ้นครองราชย์ของเจ้าชายชาลส์ โดยหนึ่งวันหลังจากการสวรรคต สภาการขึ้นครองราชย์ ซึ่งประกอบด้วย องคมนตรี สมาชิกสภาสามัญชนอาวุโสทั้งในปัจจุบันและอดีต ข้าราชการระดับสูง สมาชิกของสภาขุนนาง ข้าหลวงใหญ่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัฐต่าง ๆ ในเครือจักรภพ[5] จะประชุมกัน ณ พระราชวังเซนต์เจมส์ และจะประกาศชื่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ เย็นวันเดียวกัน รัฐสภาอังกฤษจะเรียกประชุมเพื่อให้สมาชิกถวายสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ และแสดงความอาลัยต่อสมเด็จพระราชินีนาถ และจะงดกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐสภาเป็นเวลา 10 วัน จากนั้นเวลา 15:30 น. เจ้าชายชาลส์ ซึ่งทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แล้ว จะทรงให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้า[7]

สองวันหลังจากการสวรรคต จะมีการประกาศพระปฐมบรมราชโองการ มีเนื้อหาเป็นข้อความที่ร่างขึ้นตามธรรมเนียมโบราณ จะมีการให้เสียงสัญญาณแตรและอ่านประกาศการขึ้นครองราชย์เหนือระเบียง ณ แฟรีคอร์ต พระราชวังเซนต์เจมส์ ด้วยข้อความว่า "พระผู้เป็นเจ้าทรงปกปักรักษาพระราชา" (God Save the King) ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปีที่เพลงชาติของอังกฤษเปลี่ยนจากคำว่า "Queen" มาเป็น "King" และมีการอ่านพระปฐมบรมราชโองการขึ้นที่เมืองเอดินบะระ คาร์ดิฟฟ์ และเบลฟาสต์ พร้อมยิงสลุต ณ ไฮด์พาร์ก หอคอยแห่งลอนดอน และเรือหลวงต่าง ๆ[5]

สามวันหลังจากการสวรรคต พระเจ้าชาลส์ที่ 3 จะทรงรับการแสดงความเสียใจจากรัฐสภาอังกฤษ และเริ่มพระราชกรณียกิจในช่วงบ่ายด้วยการเยือนสภาสกอตแลนด์ รวมถึงเข้าร่วมพิธีมิสซาที่มหาวิหารเซนต์ไจลส์ในกรุงเอดินบะระ วันรุ่งขึ้น จะเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนไอร์แลนด์เหนือ เพื่อแสดงความอาลัยที่ปราสาทฮิลส์โบโร และร่วมพิธีมิสซาที่มหาวิหารเซนต์แอนน์ เมืองเบลฟาสต์

เจ็ดวันหลังจากการสวรรคต พระเจ้าชาลส์ที่ 3 จะเสด็จพระราชดำเนินเยือนเวลส์เพื่อทรงรับการแสดงความเสียใจที่รัฐสภาเวลลส์ และเข้าร่วมพิธีมิสซาที่มหาวิหารแลนแดฟในเมืองคาร์ดิฟฟ์[7]

ปฏิบัติการยูนิคอร์น

แก้

ปฏิบัติการยูนิคอร์นเป็นแผนจัดการในกรณีที่สมเด็จพระราชินีนาถสวรรคตในสกอตแลนด์ ซึ่งได้รับการเปิดเผยรายละเอียดครั้งแรกใน ค.ศ. 2019 ก่อนหน้านี้ชื่อของปฏิบัติการได้รับการพูดถึงในเอกสารออนไลน์ของรัฐสภาสกอตแลนด์เมื่อ ค.ศ. 2017[8][9]

ปฏิบัติการยูนิคอร์นจะเกิดขึ้นโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่พระราชวังโฮลีรูด มหาวิหารเซนต์ไจลส์ และรัฐสภาสกอตแลนด์ โดยจะมีการประกาศข่าวแสดงความเสียใจต่อสาธารณชนที่นั่น และงดกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐสภาเป็นเวลาอย่างน้อย 6 วัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีเวลาเตรียมการในการจัดงานพระบรมศพ รัฐสภาจะเตรียมการแสดงความเสียใจภายใน 72 ชั่วโมง และจะเก็บพระบรมศพไว้ในโลง พักไว้ในวังโฮลีรูดก่อน ตามด้วยการอัญเชิญไปไว้ยังวิหารเซนต์ไจลส์ในเอดินบะระ และเชิญไปยังสถานีรถไฟเวฟเวอร์ลีย์ และขนส่งพระบรมศพไปยังลอนดอนโดยรถไฟหลวงหรือโดยเครื่องบิน โดยจะมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรอรับพระบรมศพอยู่[10]

ปฏิบัติการนี้เรียกชื่อตามยูนิคอร์น ซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติของสกอตแลนด์และเป็นส่วนหนึ่งของตราแผ่นดินร่วมกับสิงโตแห่งอังกฤษ[11]

การดำเนินการ

แก้

สมเด็จพระราชินีนาถสวรรคต ณ ปราสาทแบลมอรัลในสกอตแลนด์เมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 2022 จึงเป็นอันเริ่มดำเนินตามแผน[12]

ชื่อ

แก้

แผนเตรียมความพร้อมสำหรับการสวรรคตของพระราชวงศ์บริติชนั้นมักใช้ชื่อสะพานในสหราชอาณาจักรมาเรียก เป็นต้นว่า

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 Knight, Sam (16 March 2017). "Operation London Bridge: the secret plan for the days after the Queen's death". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 17 March 2017.
  2. 2.0 2.1 Oppenheim, Maya (16 March 2017). "This is the secret code word when the Queen dies". The Independent.
  3. Bowden, George (16 March 2017). "5 Things We've Learned About 'London Bridge' – The Queen's Death Protocol".
  4. Meyjes, Toby (16 March 2017). "There's a secret code word for when the Queen dies". Metro.
  5. 5.0 5.1 5.2 ""กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม" พระราชาพระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักร". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2022-09-09.
  6. "Operation Unicorn: the secret strategy for the Queen dying in Scotland". www.heraldscotland.com. The Herald. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 September 2022. สืบค้นเมื่อ 8 September 2022.
  7. 7.0 7.1 Wickham, Alex (3 September 2021). "Britain's plan for when Queen Elizabeth II dies". Politico. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 September 2021. สืบค้นเมื่อ 3 September 2021.
  8. "Operation Unicorn: the secret strategy for the Queen dying in Scotland". www.heraldscotland.com. The Herald. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 September 2022. สืบค้นเมื่อ 8 September 2022.
  9. Hepburn, David (1 September 2022). "What are Operation Unicorn, Operation London Bridge and Operation Spring Tide? The secret plan outlining what would happen if the Queen dies in Scotland - and what happens next". www.scotsman.com. The Scotsman. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 September 2022. สืบค้นเมื่อ 7 September 2022.
  10. Wickham, Alex (3 September 2021). "Britain's plan for when Queen Elizabeth II dies". Politico. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 September 2021. สืบค้นเมื่อ 3 September 2021.
  11. "Operation Unicorn: The plan for Queen's death in Scotland". Le Monde.fr (ภาษาอังกฤษ). 2022-09-08. สืบค้นเมื่อ 2022-09-09.
  12. "Queen Elizabeth II: Plans for her lying in state and funeral". BBC News. 8 September 2022. สืบค้นเมื่อ 9 September 2022.
  13. "A week of mourning for the last empress". The Guardian. 1 April 2002.
  14. "The Insider – Paul Routledge". New Statesman. 17 June 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-04-15. สืบค้นเมื่อ 2017-05-04.