ปฏิบัติการช่างตัดไม้

ปฏิบัติการช่างตัดไม้ (อังกฤษ: Operation Lumberjack) เป็นปฏิบัติการทางทหารซึ่งดำเนินการในขั้นสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรป ดำเนินการโดยกองทัพสหรัฐที่หนึ่งในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1945 เพื่อยึดเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์ในเยอรมนี อย่างเช่น โคโลญ และเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรมีที่มั่นที่มั่นคงตามแม่น้ำไรน์

ปฏิบัติการช่างตัดไม้
ส่วนหนึ่งของ แนวรบด้านตะวันตกของสงครามโลกครั้งที่สอง

กองพลยานเกราะที่ 9 ข้ามสะพานรางรถไฟลูเดนดอฟฟ์
วันที่1-7 มีนาคม ค.ศ. 1945
สถานที่50°34′45″N 7°14′39″E / 50.57917°N 7.24417°E / 50.57917; 7.24417
ผล ฝ่ายสัมพันธมิตรชนะ
คู่สงคราม
สหรัฐ สหรัฐอเมริกา
เบลเยียม เบลเยียม[1]
นาซีเยอรมนี เยอรมนี
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
สหรัฐ คอร์ตนีย์ ฮอดจ์ นาซีเยอรมนี เอริก เบรนเดนบูร์เกอร์
กำลัง
300,000นาย 45,000นาย
ความสูญเสีย
11,215นาย 33,000นาย

เมื่อกลุ่มกองทัพที่ 21 ตั้งฐานที่มั่นตามแม่น้ำไรน์อย่างแน่นหนาแล้ว กลุ่มกองทัพที่ 12 ของพลเอกแบรดเลย์เตรียมการที่จะลงมือในปฏิบัติการช่างตัดไม้ แผนการดังกล่าวสอดรับกับการที่กองทัพที่ 1 จะโจมตีไปทางตะวันออกเฉียงใต้มุ่งหน้าไปยังจุดบรรจบของแม่น้ำอาร์และแม่น้ำไรน์ จากนั้นจะเบนลงไปทางใต้เพื่อบรรจบกับพลเอกแพตตัน ซึ่งกองทัพที่สามจะรุกอย่างต่อเนื่องไปทางตะวันออกเฉียงเหนือผ่านไอเฟล หากสำเร็จ ปฏิบัติการช่างตัดไม้จะทำให้สหรัฐสามารถยึดเมืองโคโลญ เขตโคเบลนซ์ และนำกลุ่มกองทัพที่ 12 ไปยังแม่น้ำไรน์ทางเหนือของแม่น้ำโมแซลล์ กลุ่มกองทัพที่ 12 ยังได้หวังที่จะล้อมทหารเยอรมันจำนวนมากอีกด้วย

พลเอกแบรดเลย์เริ่มต้นปฏิบัติการดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ทางตอนเหนือ กองทัพที่ 1 ใช้ประโยชน์จากหัวสะพานข้ามแม่น้ำแอร์ฟต์อย่างรวดเร็ว และรุกเข้าสู่ออยสเคียร์เชนในวันที่ 4 มีนาคม และโคโลญในวันที่ 5 มีนาคม เป็นเวลาเดียวกับที่กองทัพที่ 3 กวาดผ่านไอเฟลไปยังแม่น้ำไรน์

ในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพที่ 1 กองกำลังเฉพาะกิจซึ่งประกอบด้วยกองพลยานเพราะที่ 9 ภายใต้การบังคับบัญชาของพันโท เลโอนาร์ด เอนเกมัน รุกมุ่งหน้าไปยังเรมาเกน โดยเป็นส่วนหนึ่งของการรุก "ช่างตัดไม้" เมื่อกองกำลังยานเกราะเฉพาะกิจมาถึงชานเมือง ก็ได้ค้นพบว่าสะพานรางรถไฟลูเดนดอฟฟ์ยังคงไม่ถูกทำลายอย่างน่าประหลาดใจ ถึงแม้ว่าทหารเยอรมันฝ่ายป้องกันจะพยายามทำลายสะพานดังกล่าว แต่กองพลยานเกราะที่ 9 ก็สามารถยึดครองสะพานได้เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1945

แม้ว่าสะพานลูเดนดอฟฟ์จะถูกทำลายลงเมื่อวันที่ 17 มีนาคม แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้สร้างสะพานทุ่นข้ามแม่น้ำไรน์ขึ้นเป็นจำนวนมากแล้วจนถึงขณะนั้น และสามารถสร้างหัวสะพานทางด้านตะวันออกของแม่น้ำ

ปฏิบัติการครั้งนี้ ได้ถูกนำไปแต่งเป็นนวนิยายในชื่อ The Bridge at Remagen โดย เคน เฮกเลอร์ และได้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน ในปี ค.ศ. 1969 (ชื่อภาษาไทย: สะพานเผด็จศึก[2] )

อ้างอิง แก้

  1. Thomas, text by Nigel (1991). Foreign volunteers of the allied forces : 1939-45. London: Osprey. p. 16. ISBN 9781855321366.
  2. "The Bridge at Remagen อีกยุทธการยึดสะพานที่คำสั่งเป็นพิษ". iseehistory.com. สืบค้นเมื่อ 5 June 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

50°34′45″N 7°14′39″E / 50.579167°N 7.244167°E / 50.579167; 7.244167{{#coordinates:}}: ไม่สามารถมีป้ายกำกับหลักมากกว่าหนึ่งป้ายต่อหน้าได้