บึงละหาน เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติมีเนื้อที่กว้างใหญ่ เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของประเทศไทย มีเนื้อที่ 18,181 ไร่ หรือ (29.08 ตารางกิโลเมตร) เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์และยังมีระบบนิเวศที่ดี บึงละหานได้รับเลือกให้เข้าอยู่ในทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติของไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 เรื่อง ทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติของประเทศไทย และมาตรการการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระดับนานาชาติ(Ramsar Site)ต่อสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคีของอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในการเป็นถิ่นที่อยู่ของนกน้ำ (The Convention on Wetlands of International Importance, especially as Waterfowl Habitat.) และเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 มีมติคณะรัฐมนตรี การทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 บึงละหานจึงยังไม่ได้อยู่ในทะเบียนรายชื่อของสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่เพื่อเป็นการอนุรักษ์แหล่งเพาะพันธ์และอนุบาลสัตว์น้ำจึงมีการกำหนดจุดอนุรักษ์จำนวน 2 จุด คือบริเวณศาลเจ้าพ่อหาญคำและบริเวณวิจัยประมงน้ำจืดจังหวัดชัยภูมิ และขอความร่วมมือชาวประมงไม่ให้จับสัตว์น้ำในบริเวณจุดอนุรักษ์ดังกล่าว

บึงละหาน
เรือประมง ณ บึงละหาน

ที่ตั้งและพื้นที่

แก้

บึงละหาน ครอบคลุมพื่นที่ 4 ตำบลในอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ได้แก่ ตำบลละหาน ตำบลหนองบัวใหญ่ ตำบลหนองบัวบาน และตำบลบ้านกอก โดยมีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณตำบลละหาน อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ

เนื้อที่ 29.09 ตารางกิโลเมตร (18,181 ไร่)

ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ 15ํ 35'-40' N และ 101ํ 50'-56' E

สูงจากระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 190 เมตร

สภาพทางกายภาพ

แก้

ลักษณะภูมิประเทศ

แก้

บึงละหานมีลักษณะเป็นที่ลุ่มคล้ายแอ่งกระทะเอียงไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณพื้นที่ทิศตะวันตกมีพื้นที่มากกว่าด้านอื่น[1]

สภาพเดิม

แก้
 
บึงละหานในฤดูแล้ง สามารถนำปศุสัตว์ลงหากินได้

สภาพเดิม เป็นหนองน้ำหลายแห่งที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ในฤดูน้ำหลากน้ำจะไหลเข้ามาจากลำห้วยต่างๆเช่น ห้วยลำคันฉู ห้วยหลัว ห้วยยาง ห้วยตาแก้ว เป็นต้น ทำให้ปริมาณน้ำในหนองเออเข้าหากันรวมเป็นหนองขนาดใหญ่ เรียกว่า บึงละหาน ภายในบริเวณบึงมีเกาะที่เกิดจากน้ำท่วมไม่ถึงซึ่งชาวบ้านเรียกว่าโนน เช่น โนนจาน โนนงิ้ว และน้ำในบึงจะใหลลงแม่น้ำชีในที่สุด เนื่องจากบึงละหานเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติไม่มีระบบกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งน้ำในบึงจึงลดลงมากจนมีสภาพตื้นเขินสามารถนำปศุสัตว์ลงหากินและทำเกษตรได้ในบางพื้นที่

สภาพปัจจุบัน

แก้

สภาพปัจจุบัน บึงละหาน ได้รับการพัฒนาให้มีคันดินล้อมรอบบริเวณบึง มีฝายน้ำล้นกักเก็บน้ำและมีประตูเปิดปิดน้ำไว้ไม่ให้ไหลลงลำน้ำชีเร็วเกินไปเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคหล่อเลี้ยงชาวจังหวัดชัยภูมิ เพื่อการเกษตร การประมง และเพื่อป้องกันการบุกรุกพื้นที่บึงละหาน บึงละหานจึงกลายเป็นบึงขนาดใหญ่ มีน้ำตลอดทั้งปี ระดับน้ำลึกที่สุดประมาณ 1.5 – 4 เมตร และยังคงมีเกาะกลางน้ำที่น้ำท่วมไม่ถึงอยู่เช่นเดิม เกาะที่ใหญ่ที่สุดประมาณ 0.3 ตารางกิโลเมตร (187.5 ไร่) มีป่าละเมาะขึ้นที่โดยรอบจะมีลักษณะเกาะจะค่อนข้างเรียบลักษณะดินโดยรอบเป็นดินที่ที่มีการทับถมของซากพืชจึงมีความอ่อนตัวของดิน จากสภาพเดิมของบึงละหานที่เป็นบึงน้ำตามธรรมชาติ ในฤดูน้ำหลากน้ำจะเออเข้าท่วมหมู่บ้านโดยรอบเป็นประจำทุกปี

สภาพทางชีวภาพ

แก้

บึงละหานมีระบบนิเวศที่มีความสภาพสมบูรณ์ ยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มากทำให้มีนกหลากหลายสายพันธุ์เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งพบอย่างน้อย 56 ชนิด นกประจำถิ่น 24 ชนิด นกน้ำและนกชายเลน 27 ชนิด นกอพยพแต่มิใช่เพื่อการผสมพันธุ์ 29 ชนิดได้แก่ นกยางโทนน้อย นกยางโทนใหญ่ นกยางเปีย นกยางไฟธรรมดา นกยางไฟหัวดำ นกอพยพเพื่อการผสมพันธ์ 1 ชนิด ได้แก่ นกแอ่นทุ่งใหญ่ นกอพยพตามฤดูกาล 1 ชนิด ได้แก่ นกแซงแซวหางปลา นกที่อยู่ในสภาพใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่ นกกระสานวล นกกระสาแดง นกกระแตหาง นกที่อยู่ในสภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ได้แก่ นกกระแตผีใหญ่ นกที่พบมาก ได้แก่ นกนางแอ่นทุ่งใหญ่ เป็ดแดง

ปลา

แก้
 
ปลาหมอช้างเหยียบ ปลาที่เป็นสัญลักษณ์ของบึงละหาน

บึงละหานมีอาณาบริเวณที่กว้างใหญ่และมีน้ำตลอดทั้งปี ทำให้ปลาสามารถอาศัยและขยายพันธุ์ได้ดี พบปลาอย่างน้อย 25 ชนิด ชนิดที่อยู่ในสภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่ ปลาดุกด้าน ปลาในวงศ์ปลาตะเพียน พบ 9 ชนิด ปลาในวงศ์ปลาหมอ พบ 3 ชนิด ปลาเศรษฐกิจ ได้แก่ ปลาสลาด ปลาสูบจุด ปลาตะเพียนขาว ปลาสร้อยขาว ปลาสร้อยนกเขา ปลาหมอช้างเหยียบ ปลาช่อน

พืช

แก้

พืชในบึงละหานกระจายอยู่ในบริเวณต่างๆ หนาแน่นบริเวณขอบบึงทิศตะวันตกและทิศเหนือของบึง พบมากที่สุดคือธูปฤๅษี กกสามเหลี่ยม หญ้าขน หญ้าชันกาด บริเวณขอบบึงถึงบริเวณกลางน้ำพบ ผักตบชวา จอก แหน พังพวยน้ำ ผักบุ้ง สาวบัว บัวหลวง กระจับ ไข่ผำ บริเวณน้ำลึกจะมีสาหร่ายหางกระรอก สาหร่ายหางวัว บางบริเวณจะมีกลุ่มพืชที่ขึ้นทับถมกันหนาแน่นลอยไปตามน้ำคล้ายเกาะลอยน้ำ ชาวบ้านในท้องถิ่น เรียกว่า กอสนม อ่านว่า กอ-สะ-หนม

ลักษณะทางธรณีวิทยา

แก้

บึงละหาน ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบที่มีชั้นเกลือหินวางตัวอยู่ด้านใต้ เกลือหินสามารถละลายน้ำได้ง่ายและทำให้เกิดโพรงใต้ติน เมื่อตะกอนด้านบนรับน้ำหนักไม่อยู่จึงเกิดการถล่มตัวลงเป็นปรากฏการทางธรณีวิทยาที่เรียกว่า หลุมยุบ โดยเริ่มแรกเป็นหลุมขนาดเล็กและค่อยขยายตัวใหญ่ขึ้น เมื่อเกิดหลุมยุบครั้งแรกน้ำจะรสชาติเค็มเนื่องจากน้ำเกลือใต้ดินขึ้นมา ภายหลังตะกอนขนาดเล็กจะปิดกั้นไม่ให้เกลือสามารถขึ้นมาได้ ในขณะที่น้ำจืดเพิ่มปริมาณมากขึ้นความเค็มก็เจือจางไป ปัจจุบันบึงไม่มีการขยายตัวและไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ลักษณะเช่นนี้สามารถพบได้หลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[2]

อ้างอิง

แก้
  1. ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดชัยภูมิ, การรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นและผลการจับปลาในบึงละหาน ปี 2549-2551, 2551
  2. เอกสารแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาจังหวัดชัยภูมิ, จุดศึกษาที่ 9 บึงละหาน http://www.dmr.go.th/download/article/article_20110209132749.pdf เก็บถาวร 2016-10-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

บรรณานุกรม

แก้
  • ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดชัยภูมิ, การรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นและผลการจับปลาในบึงละหาน ปี 2549-2551, 2551
  • เอกสารแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาจังหวัดชัยภูมิ, จุดศึกษาที่ 9 บึงละหาน

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

15°36′57″N 101°53′19″E / 15.61582°N 101.88848°E / 15.61582; 101.88848