แบซิลิสก์

(เปลี่ยนทางจาก บาซิลิสก์)

ในตำนานและประมวลสัตว์ร้ายของยุโรป แบซิลิสก์ (อังกฤษ: basilisk) เป็นสัตว์เลื้อยคลานซึ่งถือกันว่า เป็นราชาแห่งงู (king of serpents) และเชื่อกันว่า มีลมหายใจเป็นพิษร้าย และมีแววตาสังหารที่ใครได้จ้องก็ต้องถึงตาย หนึ่งในเอกสารเก่าแก่ที่สุดที่เอ่ยถึงสัตว์นี้ คือ เนเชอรัลฮิสตอรี (Natural History) ของพลินีคนพี่ (Pliny the Elder) ที่ระบุว่า แบซิลิสก์มาจากไซรีนี (Cyrene) เป็นงูตัวเล็กที่ยาวไม่เกิน 12 องคุลี มีพิษสงร้ายแรง เลื้อยไปที่ใดก็ทำลายทุกสิ่งที่ขวางหน้า ทั้งใครมองมันก็จะถึงตาย แต่สัตว์นี้แพ้กลิ่นสาบของวีเซิล[1] เป็นไปได้ว่า ตำนานเรื่องแบซิลิสก์และความสัมพันธ์กับวีเซิลนี้มีที่มาจากงูเอเชียบางชนิด เช่น จงอาง และสัตว์ผู้ล่าอย่างพังพอน

แบซิลิสก์
ภาพพิมพ์ไม้จากหนังสือ Serpentum, et draconum historiae libri duo ของ Ulisse Aldrovandi ค.ศ. 1640
กลุ่มย่อยลูกผสมในเทพปกรณัม
สัตว์คล้ายคลึงมังกร, คอกกะทริซ, งูทะเล, แอนาคอนดายักษ์
เทพปกรณัมยุโรป

เรื่องเล่าขาน

แก้
 
แบซิลิสก์ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายไก่คอกกะทริซ เผชิญหน้ากับตัววีเซิล

แบซิลิสก์ได้ชื่อว่า เป็น "ราชา" เพราะเชื่อว่า บนศีรษะมีหงอนรูปคล้ายมงกุฏหรือหมวกพระ เรื่องราวในยุคแรกเกี่ยวกับแบซิลิสก์แสดงให้เห็นว่า แบซิลิสก์ไม่ได้รูปลักษณ์แตกต่างจากไก่คอกกะทริซ (cockatrice) โดยสิ้นเชิง บางตำนานยังว่า แบซิลิสก์เกิดจากไข่งูหรือคางคกที่คอกกะทริซ์ฟักออกมา และคอกกะทริซ์เองเกิดจากไข่ไก่ที่งูหรือคางคกฟัก นอกจากนี้ ช่วงแรก ๆ ที่มีการเอ่ยถึงแบซิลิสก์ในยุโรปสมัยกลางก็ยังว่า แบซิลิสก์มีลักษณะเด่นบางอย่างเหมือนคอกกะทริซ์

หนึ่งในเอกสารเก่าแก่ที่สุดที่เอ่ยถึงแบซิลิสก์ คือ เนเชอรัลฮิสตอรี ของพลินีคนพี่ เขียนขึ้นราว ค.ศ. 79 พรรณนาว่า ใครก็ตามที่จ้องมองแคโทบลีพัส (catoblepas) สัตว์ประหลาดรูปร่างคล้ายวัว จะถึงแก่ความตายทันที[2] แล้วจึงระบุต่อว่า สัตว์ที่มีอำนาจคล้ายกันเป็นงูที่เรียก แบซิลิสก์ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในมณฑลไซรีนี ตัวยาวไม่เกิน 12 องคุลี บนศีรษะมีแต้มสีขาวเด่นชัดดูคล้ายกับศิราภรณ์ หายใจออกมาเป็นงู แต่เวลาเลื้อยไม่เลื้อยเหมือนงูอื่น กลับเคลื่อนไหวโดยชูตัวตรง และเคลื่อนไปที่ใด พุ่มไม้ใบหญ้าก็ตายสิ้น แม้แต่ก้อนหินก็ยังทลาย ทั้งเพราะโดนมันสัมผัสด้วยลำตัว และโดนมันหายใจรดใส่ เพราะฉะนั้น จึงเป็นสัตว์ที่ล่ำลือกันถึงความร้ายกาจ เดิมยังเชื่อกันทั่วไปว่า ถ้าคนบนหลังม้าเอาหอกแทงสัตว์ชนิดนี้ พิษจากตัวมันจะแล่นผ่านหอกขึ้นไปจนฆ่าทั้งตัวม้าและตัวผู้ขี่ แต่สิ่งที่เอาไว้กันสัตว์ร้ายนี้ คือ กลิ่นสาบของตัววีเซิล ซึ่งทำให้แบซิลิสก์ถึงตายได้[3]

นักบวชอีซีโดโรแห่งเซบิยา (Isidore of Seville) กล่าวว่า แบซิลิสก์นับเป็นราชาแห่งงู เพราะมีลมหายใจพิษ และมีแววตาพิฆาต อะเล็กซานเดอร์ เนกแคม (Alexander Neckam) ระบุทำนองเดียวกันว่า ใช่แต่แววตาที่สามารถบันดาลความตาย แบซิลิสก์ยังมีอาวุธร้ายประจำตัวอีก คือ ลมหายใจที่ก่อพิษ เรื่องราวเหล่านี้ ปีเอโตร ดาบาโน (Pietro d'Abano) นำไปปรุงแต่งจนโด่งดังในอีกร้อยปีถัดมา

นักบุญบีด (Bede) เป็นบุคคลแรกที่บันทึกเป็นลายลักษณ์ว่า แบซิลิสก์เกิดจากไข่ที่ไก่ฟัก แล้วเพรซบีเทอร์ทีอ็อฟฟะลัส (Theophilus Presbyter) จึงเขียนสูตรการใช้แบซิลิสก์เปลี่ยนทองแดงเป็นทองคำว่า เอาโลหิตของแบซิลิสก์ที่แห้งเป็นผงมาผสมเข้ากับผงโลหิตมนุษย์ ทองแดง และน้ำส้มสายชู ทองแดงก็จะกลายเป็นทองคำ

เรื่องสายตาพิฆาตของแบซิลิสก์นั้น นักบุญอัลแบร์ตุส มาญุส (Albertus Magnus) ก็บันทึกไว้ในหนังสือเรื่อง ดีอะนิมาลิบัส (De animalibus) แต่ไม่ยอมรับตำนานอื่น ๆ เช่น เรื่องที่ว่า แบซิลิสก์เกิดจากไข่ที่ไก่ตัวผู้ฟัก เขาว่า เรื่องสายตาพิฆาตนี้เขาได้มาจากเฮอร์เมส ทริสเมจิสทัส (Hermes Trismegistus) ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่เขียนว่า ซากแบซิลิสก์เผาใช้แปรเงินเป็นทองได้ แต่ที่จริงเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ผลงานของทริสเมจิสทัส กระนั้น ก็เป็นเครื่องยืนยันว่า ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 มีการเชื่อมโยงแบซิลิสก์เข้ากับการเล่นแร่แปรธาตุแล้ว

เจฟฟรีย์ ชอเซอร์ (Geoffrey Chaucer) เขียนถึง "แบซิลิก็อก" (basilicok) ไว้ในหนังสือ เดอะแคนเทอร์บรีเทลส์ (The Canterbury Tales) ว่า แบซิลิสก์จะตายเมื่อได้ยินเสียงไก่ตัวผู้ขัน หรือมองตัวเองในกระจก[4][5]

ในยุคหลัง ๆ มีการเพิ่มเรื่องราวให้แก่แบซิลิสก์ เช่นว่า มีขนาดตัวใหญ่ พ่นไฟได้ เสียงขู่ใครได้ยินเป็นอันล้มตาย นักเขียนบางคนยังว่า พิษของแบซิลิสก์ แม้ไม่สัมผัสโดยตรง เช่น ผ่านดาบที่ใช้แทงแบซิลิสก์ ก็ทำให้ตายได้เหมือนโดนเข้าโดยตรง เช่น เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) ที่เอ่ยถึงแบซิลิสก์ในหนังสือประมวลสัตว์ร้ายของตน มีข้อความคล้ายกับหนังสือของพลินีว่า แบซิลิสก์พบในมณฑลไซรีนี ตัวยาวไม่เกินกว่า 12 องคุลี บนศีรษะมีแต้มสีขาวดูคล้ายมงกุฏ แม้มันจะดูคล้ายงู แต่เสียงขู่ของมันทำให้งูทั้งปวงหวาดหวั่น ทั้งยังไม่เลื้อยเหมือนงูทั่วไป โดยเคลื่อนไหวลำตัวจากตรงกลางไปทางขวา ถ้าคนขี่ม้าเอาหอกทิ่มแทงมัน พิษมันจะไหลขึ้นสู่หอกไปฆ่าตายทั้งม้าทั้งคน มันเลื้อยไปที่ใด ลำตัวและลมหายใจของมันทำให้ต้นไม้ใบหญ้าล้มตายและศิลาพังทลาย แต่สัตว์นี้เป็นคู่ปรับกับวีเซิล ส่วนเฮนริช คอร์นีเลียว อะกริปปา (Heinrich Cornelius Agrippa) ระบุว่า แบซิลิสก์เป็นตัวผู้เสมอ[6]

ตำนานท้องถิ่นในเทพปกรณัมกันตาเบรียมีว่า แบซิลิสก์หายไปจากโลกเกือบสิ้นแล้ว ยังเหลือแต่ที่กันตาเบรีย (Cantabria) แต่ก็พบเจอได้ยากแล้ว สัตว์ชนิดนี้เกิดจากไข่ที่ไก่วางก่อนตายในเวลาเที่ยงคืนของคืนฟ้าโปร่งพระจันทร์เต็มดวง ไม่กี่วันให้หลัง มันจะกระเทาะไข่ออกมาเอง มันมีขา มีจะงอย และมีหงอนเหมือนไก่ แต่มีลำตัวเหมือนสัตว์เลื้อยคลาน ในแววตามีเปลวเพลิงรุนแรง ใครจ้องไปก็จะตายทันที สิ่งมีชีวิตเดียวที่เผชิญหน้าและต่อสู้กับมันได้ คือ วีเซิล แต่แบซิลิสก์จะตายก็เพราะเสียงไก่ตัวผู้ขันเท่านั้น ดังนั้น นักเดินทางจึงมักพกไก่ตัวผู้ติดตัวเมื่อเข้าไปในถิ่นที่เชื่อว่า เป็นที่อยู่ของแบซิลิสก์[7]

ที่มา

แก้

บางคนเชื่อว่า งูเป็นที่มาของแบซิลิสก์ เพราะงูมีพังพอนเป็นคู่ปรับ ทั้งงูเห่ามักชูตัวตรง และงูจงอางก็มีสัญลักษณ์คล้ายมงกุฏอยู่บนศีรษะ นอกจากนี้ งูเห่าพ่นพิษยังสามารถฆ่าเหยื่อโดยพ่นพิษจากระยะไกล โดยมักพ่นเข้าไปในดวงตาของเหยื่อ[8]

อ้างอิง

แก้
  1. Pliny, viii.33.
  2. Pliny the Elder, eds. John Bostock, Henry Thomas Riley (translators) (1855). "The Natural History". สืบค้นเมื่อ 2009-06-10.{{cite web}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  3. Pliny the Elder, บ.ก. (1855). "The Natural History". แปลโดย John Bostock; H.T. Riley. สืบค้นเมื่อ 2009-06-10.
  4. Knight, Charles (1854). The English cyclopaedia: a new dictionary of Universal Knowledge. Bradbury and Evans. pp. 51–52. สืบค้นเมื่อ 8 October 2010.
  5. "Basilisk: Myths and Legends of the World". Enotes.com. สืบค้นเมื่อ 22 January 2018.
  6. Peterson, Joseph H. "Agrippa: Declamatio de nobilitate & precellentia Fœminei sexus. (1529)". Esotericarchives.com. สืบค้นเมื่อ 22 January 2018.
  7. Fernández, Pollux (1994). Monstruos, duendes, y seres fantásticos de la Mitología cántabra (ภาษาสเปน). Madrid: Anaya. ISBN 978-84-207-5630-1.
  8. Peter Costello (1979). The Magic Zoo: The Natural History of Fabulous Animals. Sphere Ltd. p. 129.