บางกระดี่

ชุมชนในกรุงเทพ

บางกระดี่ เป็นชื่อชุมชนชาวไทยเชื้อสายมอญ ตั้งอยู่ริมสองฝั่งคลองสนามชัย หมู่ 2 หมู่ 8 และ หมู่ 9 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร มีวัดบางกระดี่ เป็นศูนย์กลางของชุมชน

ชุมชนมอญบางกระดี่

การตั้งถิ่นฐาน แก้

 
คลองสนามชัย

กล่าวกันว่าชาวมอญบ้านบางกระดี่อพยพมาจากมหาชัย จังหวัดสมุทรสาครและคลองสุนัขหอนเพื่อมาจับจองแหล่งทำมาหากิน เนื่องจากหมู่บ้านบางกระดี่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีสภาพเป็นป่าชายเลน เต็มไปด้วยป่าจาก สามารถเดินทางโดยใช้คลองสนามชัยไปยังมหาชัย ราชบุรี กรุงเทพ ปากเกร็ด และมีคลองบางกระดี่ที่แยกจากคลองสนามชัยบริเวณวัดบางกระดี่ ปัจจุบันชุมชนบางกระดี่สามารถเข้าถึงได้ทางรถยนต์จากถนนบางกระดี่ที่เชื่อมต่อถนนพระรามที่ 2 ชุมชนบางกระดี่จะตั้งอยู่สุดปลายถนนบางกระดี่

อีกแหล่งข้อมูลระบุว่า ชุมชนมอญบางกระดี่เดิมตั้งอยู่บริเวณ คลองเลนเปน ห่างจากชุมชนปัจจุบันไปทางตะวันออกประมาณ 1 กิโลเมตร โดยคนกลุ่มแรกที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ คือ ทหารมอญจาก หงสาวดีที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต่อมาได้ย้ายวัดและอพยพผู้คนมาอยู่ที่ปากคลองกระดี่น้อยแทน เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า[1]

ประชากร แก้

จากสถิติชุมชนบางกระดี่ หมู่ 2 หมู่ 8 และ หมู่ 9 เมื่อ พ.ศ. 2543 มีประชากรรวม 5,375 คน

อาชีพหลักแต่เดิมคือ ทำนา จนหลัง พ.ศ. 2510–2512 เปลี่ยนอาชีพมาเย็บจาก ตัดฟืนขาย ภายหลังหันไปประกอบอาชีพอย่าง ทำวังกุ้ง วังปลา ค้าขาย รับราชการ รวมถึงทำงานโรงงาน ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานจำนวนมากตั้งอยู่ในถนนบางกระดี่ ประชากรร้อยละ 20 ประกอบอาชีพทำงานในโรงงาน (ข้อมูล พ.ศ. 2545)[2]

จากการศึกษาเมื่อราว พ.ศ. 2540–2541 มอญบางกระดี่จะติดต่อสื่อสารกันด้วยภาษามอญเป็นภาษาแรก และภาษาไทยเป็นภาษารอง ประชากรรุ่นอายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่จะมีความรู้ด้านเขียนอ่านภาษามอญได้ดี นอกเหนือจากการพูด ซึ่งตรงข้ามกันผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี น้อยคนที่จะเขียนอ่านภาษามอญได้

วัฒนธรรม แก้

ประเพณีและความเชื่อ แก้

 
วัดบางกระดี่

ชุมชนบางกระดี่ยังคงรักษาวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายมอญ ยังคงยึดมั่นในพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่น โดยมีวัดบางกระดี่เป็นศูนย์รวมของชาวมอญบางกระดี่[3] ประเพณีที่สำคัญ เช่น ในเดือนกันยายนมีเทศกาลตักบาตรน้ำผึ้ง และในเดือนตุลาคมมีเทศกาลตักบาตรดอกไม้ ตักบาตรเทโว และเทศกาลกวนกระยาสารทในช่วงวันออกพรรษา[4] และในวันสงกรานต์ ยังคงรักษาอัตลักษณ์ของความเป็นมอญเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น นอกจากจะมีการทำบุญเลี้ยงพระและสรงน้ำพระแล้ว ยังมีมหรสพและกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเล่นสะบ้ามอญ การขับร้องและเล่นดนตรีมอญที่เรียกว่า ทะแย การทำอาหารคาวหวานไม่ว่าจะเป็นข้าวแช่ การกวนกาละแม การทำขนมฝอยทอง ทองหยอด เม็ดขนุน และขนมลอดช่อง[5]

การปลูกเรือน ลักษณะแบบบ้านไทย มีทั้งเรือนไทยใต้ถุนสูง ซึ่งทำด้วยไม้ทั้งหลัง และที่เป็นครึ่งตึกครึ่งไม้ รวมถึงเรือนแบบเก่าที่มุงด้วยใบจาก บ้านมีเสาเรือนอยู่ 3 ต้น ที่สำคัญคือ เสาแรกซึ่งเป็นเสาเอกเรียกว่า "เสาตัวผู้" เป็นเสาผีบรรพบุรุษ หรือที่เรียกว่า "เสาปาโหนก" เสาที่สองเป็นเสาโทเรียกว่า "เสาตัวเมีย" และเสาที่สามเป็นเสาพระ ซึ่งจะอยู่ทางทิศตะวันออกของตัวบ้าน หากจะขยายบ้านจะขายะด้านที่อยู่ด้านทิศตะวันตกและทิศใต้เท่านั้น เวลาคนตาย ประเพณีของมอญนั้นนิยมนำศพลอดใต้ถุนบ้าน ถ้าบ้านใดไม่มีบันไดนอกตัวบ้านดังกล่าว ก็จะทำทางโดยเจาะช่องไว้สำหรับนำศพลงจากเรือน ไม่นิยมนำศพออกทางประตู เชื่อว่าไม่เป็นมงคล

ความเชื่อและพิธีกรรม มีการนับถือผีบรรพบุรุษ ที่เรียกว่า "อะโหนก" หรือ "ปาโหนก" แปลว่า พ่อปู่ ซึ่งหมายถึง ผีบรรพบุรุษ โดยจะมีสัญลักษณ์อยู่ที่เสาเอกของบ้าน และปาโหนกของมอญบางกระดี่ จะอยู่กับลูกชายคนเล็กเท่านั้น ยกเว้นกรณีที่มีลูกชายคนเดียวก็อนุโลมได้ แต่ถ้าไม่มีลูกชายเลย ปาโหนกจะต้องอยู่กับญาติพี่น้องที่เป็นตระกูลเดียวกัน มีการเซ่นบูชาปาโหนก 1 ครั้ง มักจะทำหลังสงกรานต์ ความเชื่อเรื่องผี เช่น ผีเต่า ผีงู ผีไก่ และผีข้าวเหนียว เป็นต้น หากเจ็บป่วยไม่รู้สาเหตุจะมีพิธีรำผีมอญ

การแต่งกาย แก้

การแต่งกายในยามปกติจะไม่แตกต่างจากคนไทย แต่จะแต่งกายแบบมอญตามประเพณีหรือตามเทศกาลต่าง ๆ จะสวมเสื้อคอพวงมาลัย มีทั้งที่เป็นพื้นเรียบและลายดอกหลากสีสวยงาม กางเกง ส่วนใหญ่นิยมนุ่งกางเกงขาก๊วย ซึ่งมีทั้งขาสั้นสามส่วนและขายาว สีที่นิยมคือ สีดำ น้ำตาล และน้ำเงิน ในงานเทศกาลประเพณีผู้ชายมอญสวมผ้าโสร่งแบบพื้น และแบบลายตาหมากรุกหลากสี นุ่งให้มีจีบอยู่ด้านหน้า แล้วปล่อยชายพกให้เป็นพู่ห้อยลงมา มีผ้าพาดไหล่หรือผ้าคล้องคอ เรียกว่า หยาดอะบัว

ส่วนผู้หญิงทรงผมสำหรับสตรีผู้สูงอายุ เป็นการเกล้ามวยผม คล้ายเกือกม้า เรียกว่า อะนดซก ใช้เสียบแนวตั้ง อีกชิ้นหนึ่งมีลักษณะคล้ายใบไผ่ เรียกว่า หะเลียงซก ใช้เสียบแนวนอน หาไปงานบุญ จะประดับมวยผมด้วยดอกไม้หรือลูกปัดที่มีภู่ห้อยหลากสี เรียกว่า "แหมะแกวปาวซก" เสื้อในยามปกติผู้หญิงมอญจะสวมเสื้อตามสมัยนิยม ส่วนผู้สูงวัยมักจะใส่เสื้อชั้นในคอกระเช้าแบบหลวม ๆ และแบบรัดทรงมีกระดุมด้านหน้า หญิงมอญนุ่งผ้านุ่งในทุกวัย ยกเว้นทำธุระนอกบ้างจะแต่งกายตามสมัยนิยม ผ้าสไบเฉียง มีลักษณะการห่ม 3 แบบ คือ แบบพาดไหล่เพียงด้านเดียว แบบคล้องคอห้อยชายผ้าทั้งสองไว้ด้านหลัง และแบบสไบเฉียง เรียกผ้าสะไบเฉียงว่า หะเหริ่มโต๊ะ[6]

อ้างอิง แก้

  1. "บางกระดี่" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-01-01. สืบค้นเมื่อ 2022-01-01.
  2. จริยาพร รัศมีแพทย์. "รูปแบบการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของชุมชนมอญบ้านบางกระดี่ กรุงเทพมหานคร" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.
  3. หนุ่มลูกทุ่ง. "รู้จัก...แล้วจะรักมอญ ที่ "บ้านมอญบางกระดี่"". ผู้จัดการออนไลน์.
  4. รอนแรม. "มามองมอญ มาท่องบางกระดี่". โพสต์ทูเดย์.
  5. "ประเพณีสงกรานต์มอญบางกระดี่". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-01. สืบค้นเมื่อ 2022-01-01.
  6. "ทะแยมอญ : วัฒนธรรมการดนตรีของชาวมอญชุมชนวัดบางกระดี่". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.