บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คือบะหมี่แห้งที่กึ่งเตรียมทำมาให้แล้ว โดยปกติจะทานเมื่อได้เติมน้ำร้อนประมาณ 3 − 5 นาที ในปัจจุบันได้มีมากมายหลายยี่ห้อ มีทั้งชนิดซอง-ถ้วย และมีรสชาติต่าง ๆ มากมาย ถึงแม้ว่าผู้ผลิตส่วนใหญ่จะมาจากทวีปเอเชีย ไม่ว่า จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ไทย เกาหลี แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีการนิยมทานกันในยุโรป อเมริกาเหนือ หรืออเมริกาใต้ ในประเทศไทย ชาวไทยมักเรียกกันติดปากว่า มาม่า ตามยี่ห้อของผลิตภัณฑ์ที่คุ้นเคย[2]

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในรูปกล่อง (แห้ง)
ประเภทบะหมี่
แหล่งกำเนิดญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่น
ภูมิภาคเดิมมาจากเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้[1] ตอนนี้พบในหลายส่วนของโลก
ผู้สร้างสรรค์โมโมฟูกุ อันโด
ส่วนผสมหลักบะหมี่แห้ง, เครื่องปรุงรส

ประวัติ

แก้

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกโดย โมโมฟุคุ อันโดะ จากบริษัท นิสชิน ฟูดส์ ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากสภาพของประเทศในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม และต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน จากการที่ได้เห็นชาวญี่ปุ่นต้องเข้าแถวรอรับแจกขนมปังจากรัฐบาล แต่คนเหล่านั้นไม่มีความสุข โมะโมะฟุคุจึงคิดที่จะหาอาหารที่ชาวญี่ปุ่นสามารถรับประทานได้ในราคาถูกและเป็นที่ชื่นชอบด้วย และพบว่าแท้จริงแล้วคือ ราเม็ง หรือบะหมี่[3] โมโมฟุคุได้พัฒนากระบวนการผลิตเส้นบะหมี่โดยการทอดและอบแห้งเป็นการถนอมอาหารที่สามารถนำกลับมารับประทานได้อีกครั้งเมื่อเติมน้ำร้อน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปวางจำหน่ายครั้งแรกในโลกที่ประเทศญี่ปุ่นเมือวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2501 ภายใต้เครื่องหมายการค้า "ชิกิง ราเมง" (Chikin Ramen) ราคา 35 เยน จากผลสำรวจชาวญี่ปุ่นในปีพ.ศ. 2543 พบว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสิ่งคิดค้นที่ดี่ที่สุดในศตวรรษที่ 20[4] มีบริษัทผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกิดขึ้นอีกมากมายทั้งใน จีน ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ อเมริกา และวางจำหน่ายไปทั่วโลก เมื่อปี พ.ศ. 2548 สำหรับในประเทศไทยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถือเป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจตัวหนึ่ง เนื่องจากเป็นอาหารที่มีราคาถูกและสามารถหาซื้อรับประทานกันได้ทั่วไป[5]

วิธีการผลิตเส้นบะหมี่

แก้
 
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน

การผลิตจะทำเป็นระบบอุตสาหกรรม โดยนำแป้งสาลีมาคลุกกับส่วนผสมต่าง ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับบะหมี่แต่ละรสชาติ เมื่อได้ที่แล้วนำแป้งเหล่านั้นเข้าเครื่องอัดให้เป็นแผ่น นำไปรีดให้มีขนาดบางประมาณ 0.8 มิลลิเมตร แล้วสไลด์ด้วยมีดสั้นลักษณะเป็นซี่ ๆ จนแป้งกลายเป็นเส้นหยัก ๆ นำไปนึ่งในน้ำเดือด เป่าด้วยลมเย็นก่อนจะนำไปตัดเป็นก้อน

ก้อนบะหมี่ที่มีขนาดพอเหมาะถูกลำเลียงไปราดน้ำซุป จากนั้นเป่าลมให้สะเด็ดน้ำก่อนเรียงใส่บล็อก และนำไปทอดให้เหลืองกรอบ นำบะหมี่ที่ทอดเสร็จแล้วเข้าเครื่องทำความเย็นเพื่อลดอุณหภูมิให้เหมาะสำหรับบรรจุใส่ซอง

รสชาติ

แก้

รสของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จะอยู่ที่เครื่องปรุงโดยนำมาจากอาหารชนิดอื่น ๆ รสที่นิยมจำหน่ายกันเช่น รสหมูสับ รสต้มยำ รสแห้งผัดขี้เมา ขนาดของเส้นจะแตกต่างกันไปตามแต่ผู้ผลิตจะทำให้เป็นรุ่นหรือรูปแบบที่แตกต่างกัน[3]

อันตรายจากการบริโภคมากเกินไป

แก้

ในทางโภชนาการ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีพลังงานแคลเลอรีสูง มีองค์ประกอบของไขมันอิ่มตัว และโซเดียมสูงมาก ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ, เบาหวาน และอาการหลอดเลือดในสมองตีบ โดยประเทศที่มีการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากที่สุดในโลกเมื่อปี พ.ศ. 2554 คือ เกาหลีใต้ ที่มีขายอยู่ทุกมุม แม้กระทั่งสระว่ายน้ำหรือห้องสมุด เพราะสะดวกต่อการบริโภคและราคาถูก การรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์จะก่อให้เกิดความบกพร่องของระบบเผาผลาญอาหาร ซึ่งเป็นส่วนประกอบของโรคเบาหวาน และยังทำให้เกิดโรคเบาหวานและหัวใจ โดยเฉพาะในผู้หญิง แต่จะไม่พบในผู้ชาย

ในจีน เมื่อปี พ.ศ. 2556 มีอัตราการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากถึง 46,000 ล้านห่อ คิดเป็นร้อยละ 44 ของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซองทั่วโลก เฉลี่ยแล้วคนละ 32 ซองต่อปี แต่ก็ยังเป็นอัตราส่วนน้อยกว่าการบริโภคต่อคนเมื่อเทียบกับเกาหลีใต้, อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น [6] ในปี พ.ศ. 2559 ประเทศที่มีอัตราบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากที่สุดในโลก คือ จีน ด้วยปริมาณ 38,520 ล้านซองหรือถ้วย [3]

อ้างอิง

แก้
  1. Burmon, Andrew (11 June 2015). "Instant Noodles Will Either Save the World or Ruin It". Inverse. สืบค้นเมื่อ 22 February 2018.
  2. "'ซีร็อกซ์' กับดัก 'เจเนอริกเนม'". ผู้จัดการออนไลน์. 5 November 2000. สืบค้นเมื่อ 28 September 2014.[ลิงก์เสีย]
  3. 3.0 3.1 3.2 "คิดเช่น Gen D 30 03 61". ฟ้าวันใหม่. 2018-03-30.
  4. "Japan votes noodle the tops". BBC News. 2000-12-12. สืบค้นเมื่อ 2007-04-25. BBC News
  5. "Using their noodles – World". Melbourne: theage.com.au. 2005-09-05. สืบค้นเมื่อ 2009-05-29.
  6. "ทันโลก". ไทยพีบีเอส. 27 September 2014. สืบค้นเมื่อ 28 September 2014.[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้