บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย
บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (อังกฤษ: Secondary Mortgage Corporation; SMC) หรือ บตท. เป็นอดีตรัฐวิสาหกิจ ประเภทสถาบันการเงินในสังกัดกระทรวงการคลัง จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกำหนดบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 ด้วยทุนประเดิม จากกระทรวงการคลัง 1,000 ล้านบาท แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 พ.ศ. 2560
Secondary Mortgage Corporation บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย | |
ภาพรวมหน่วยงาน | |
---|---|
ก่อตั้ง | 29 มิถุนายน พ.ศ. 2540 |
ยุบเลิก | 24 กันยายน พ.ศ. 2563 |
สำนักงานใหญ่ | ชั้น 21 อาคารเอไอเอ แคปปิตอล เซ็นเตอร์ เลขที่ 89 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400 |
ต้นสังกัดหน่วยงาน | กระทรวงการคลัง |
เว็บไซต์ | www |
โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ด้วยการนำหลักการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์มาใช้เพื่อให้สามารถระดมทุนสำหรับการขยายสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้มากเพียงพอสมํ่าเสมอ และเป็นการขยายสินเชื่อที่อยู่อาศัยในวงกว้างขึ้น เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัย ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ[1]
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 18 วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2563 ได้มีการเสนอ ร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. ... คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอโดยมีสาระสำคัญคือ ให้ยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งที่ประชุมมีมติรับหลักการด้วยคะแนนเห็นด้วย 394+1 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ไม่ลงคะแนน 5 เสียง
กระทั่งการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปีที่ 2 ครั้งที่ 12 เป็นพิเศษ วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ที่ประชุมได้พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. ... ในวาระที่ 2 และ 3 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้วยคะแนนเห็นด้วย 376 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง หลังจากนี้ทางสภาผู้แทนราษฎรจะได้ส่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไปให้ทางวุฒิสภาพิจารณาเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง
ต่อมาในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 15 วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 วุฒิสภาได้พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. ... ในวาระรับหลักการ ซึ่งที่ประชุมมีมติรับหลักการในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วยคะแนน เห็นด้วย 193 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง
จากนั้นในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 18 วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ที่ประชุมมีมติให้ ร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. ... ประกาศใช้เป็นกฎหมายด้วยคะแนน เห็นด้วย 207 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน ไม่มี จากนั้นวุฒิสภาจะได้ส่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้กลับไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2563 ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศเผยแพร่ "พระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2563" ยุบเลิก บตท. โดยให้โอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน ทุน และภาระผูกพัน รวมถึงการโอนสิทธิเรียกร้องของ บตท. ไปให้แก่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) นับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ คือ วันที่ 24 กันยายน 2563 เป็นต้นไป[2]
ธุรกรรมหลัก
แก้- รับซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุน (Portfolio Investment) บตท. จะดำเนินการซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพจากสถาบันการเงินในตลาดแรกและผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การรับซื้อสินเชื่อดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างสภาพคล่อง และลดความเสี่ยงให้แก่สถาบันในตลาดแรก และเป็นการลงทุนโดยถือเป็นสินทรัพย์ของ บตท. เอง
- ธุรกรรมแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) บตท. จะซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินในตลาดแรก และนำสินทรัพย์คือสินเชื่อที่อยู่อาศัยมาแปลงเป็นหลักทรัพย์โดยการออกตราสารทางการเงินที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลังหรือตราสารการเงินอื่นขายให้แก่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- การสนับสนุนให้มีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว เพื่อช่วยให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยได้ โดยลดความเสี่ยงจากการที่อัตราดอกเบี้ยผันผวน
อ้างอิง
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- https://www.smc.or.th เก็บถาวร 2019-03-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- http://www.mratchakitcha.soc.go.th/search_result.php เก็บถาวร 2019-03-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- http://www.ratchakitcha.soc.go.th/