บรรทัดห้าเส้น
บรรทัดห้าเส้น (อังกฤษอเมริกัน: staff; อังกฤษบริเตน: stave) คือกลุ่มของเส้นตรงตามแนวนอน 5 เส้น และอยู่ห่างเป็นระยะเท่ากันเป็นจำนวน 4 ช่อง ใช้สำหรับบันทึกตัวโน้ตตามระดับเสียง ซึ่งสามารถแสดงได้ด้วยความสูงต่ำของตัวโน้ตที่ปรากฏบนบรรทัดห้าเส้น การนับเริ่มต้นเส้นที่หนึ่งจากล่างสุด แล้วนับขึ้นมาตามลำดับจนถึงเส้นที่ห้า การนับช่องก็นับจากล่างขึ้นบนเช่นกัน ตัวโน้ตสามารถบันทึกให้คาบเกี่ยวกับเส้น หรือเขียนลงในช่องระหว่างเส้น เหนือหรือใต้บรรทัด ดังนั้นบรรทัดห้าเส้นจึงสามารถบันทึกระดับเสียงของตัวโน้ตได้ 11 ระดับ สำหรับเสียงที่สูงกว่าหรือต่ำกว่านี้ จะใช้เส้นน้อย (ledger line) เข้ามาช่วย
การที่จะบ่งบอกว่าตัวโน้ตที่บันทึกอยู่เป็นเสียงอะไร สามารถดูได้จากกุญแจประจำหลักที่กำกับอยู่ เช่นกุญแจซอลที่คาบอยู่บนเส้นที่สองโดยพื้นฐาน จะทำให้ทราบว่าโน้ตที่คาบอยู่บนเส้นที่สองเป็นเสียง ซอล หากไม่มีกุญแจประจำหลักบนบรรทัดห้าเส้น ก็จะไม่สามารถอ่านโน้ตได้ ปกติแล้วการอ่านโน้ตจะอ่านจากซ้ายไปขวา หมายความว่าตัวโน้ตที่อยู่ถัดจากตัวก่อนหน้าต้องเล่นทีหลัง และบรรทัดห้าเส้นมักจะแบ่งเป็นห้องเพลงด้วยเส้นกั้นห้อง เปรียบเหมือนกราฟของระดับเสียงเทียบกับเวลา
ด้านล่างนี้คือตำแหน่งของตัวโน้ต 11 ระดับเสียง ที่สามารถบันทึกบนบรรทัดห้าเส้น
บรรทัดรวมใหญ่
แก้การบันทึกตัวโน้ตในสมัยก่อนใช้บรรทัด 11 เส้นและมี 10 ช่อง สำหรับเครื่องดนตรีบางชนิดมีช่วงของระดับเสียงที่กว้างมากเช่น เปียโน ออร์แกน ฮาร์ป และเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการอ่านโน้ต ต่อมาจึงได้แยกออกเป็นสองชุด ชุดละห้าเส้น โดยละเส้นที่หกออกไป (เส้นกลาง) ชุดบนใส่กุญแจซอลคาบเส้นที่สอง (กุญแจเทรเบิล) ชุดล่างใส่กุญแจฟาคาบเส้นที่สี่ (กุญแจเบส) แล้วใช้วงเล็บปีกกาคร่อมไว้ที่ต้นบรรทัดเพื่อบ่งบอกว่าให้เล่นพร้อมกัน เส้นกั้นห้องก็จะยาวเชื่อมกัน รวมเรียกว่า บรรทัดรวมใหญ่ (great/grand staff) สำหรับเสียงโดกลางบนบรรทัดรวมใหญ่ สามารถเขียนให้คาบเส้นน้อยใต้บรรทัดชุดบน หรือเหนือบรรทัดชุดล่าง
อ้างอิง
แก้- นพพร ด่านสกุล. ปฐมบททฤษฎีดนตรี. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2543. หน้า 28-32, 38-40. ISBN 974-277-766-7