น้ำเกลือ (การแพทย์)
น้ำเกลือ (อังกฤษ: saline) หรือเรียกอีกอย่างว่า สารละลายน้ำเกลือ (อังกฤษ: saline solution) เป็นส่วนผสมของโซเดียมคลอไรด์ (เกลือ) และน้ำ[1] มีประโยชน์ทางการแพทย์หลายประการ เช่น ทำความสะอาดบาดแผล ให้ความชุ่มชื้นกับตาเพื่อช่วยบรรเทาอาการตาแห้ง และช่วยในการเอาเลนส์สัมผัสออกจากตา[2] สามารถให้ทางหลอดเลือดดำเพื่อแก้ไขภาวะปริมาตรเลือดน้อยจากภาวะต่าง ๆ เช่น กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ หรือภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน[2][1] นอกจากนี้ยังใช้เป็นตัวทำละลายสำหรับใช้ผสมยาต่าง ๆ ก่อนฉีดเข้าร่างกายได้ด้วย หากได้รับน้ำเกลือมากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะสารน้ำมากเกิน อาการบวมน้ำ ภาวะกรดเกิน และโซเดียมในเลือดสูง[1][2] ในผู้ที่มีระดับโซเดียมในเลือดต่ำเป็นเวลานาน การได้รับน้ำเกลือมากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดกลุ่มอาการไมอีลินเสื่อมจากออสโมซิส (osmotic demyelination syndrome)[2]
![]() สารละลายน้ำเกลือสำหรับให้ทางหลอดเลือดดำ | |
ข้อมูลทางคลินิก | |
---|---|
AHFS/Drugs.com | ข้อมูลยาของ FDA สำหรับผู้เชี่ยวชาญ |
ข้อมูลทะเบียนยา | |
ช่องทางการรับยา | ในหลอดเลือดดำ, เฉพาะที่, ใต้ผิวหนัง |
รหัส ATC | |
ตัวบ่งชี้ | |
เลขทะเบียน CAS | |
PubChem CID | |
DrugBank | |
ChemSpider | |
UNII | |
KEGG | |
ChEBI | |
ChEMBL | |
ข้อมูลทางกายภาพและเคมี | |
สูตร | ClNa |
มวลต่อโมล | 58.44 g·mol−1 |
แบบจำลอง 3D (JSmol) | |
| |
| |
![]() |
น้ำเกลือจัดอยู่ในกลุ่มยาที่มีผลึกใสหรือคริสตัลลอยด์ (crystalloid)[3] โดยทั่วไปมักใช้เป็นสารละลายเกลือ 9 กรัมต่อลิตร (0.9%) ที่ปราศจากเชื้อ ซึ่งเรียกว่าน้ำเกลือธรรมดา หรือนอร์มัลเซไลน์/เซลีน (normal saline)[1] และอาจมีการใช้น้ำเกลือที่มีความเข้มข้นสูงหรือต่ำกว่านี้ได้ด้วยในบางกรณี[4][5] น้ำเกลือมีฤทธิ์เป็นกรด โดยมีค่า pH เท่ากับ 5.5 (เนื่องจากมีคาร์บอนไดออกไซด์ละลายอยู่เป็นหลัก)[6]
การใช้น้ำเกลือทางการแพทย์เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ ค.ศ. 1831[7] โดยอยู่ในบัญชียาหลักขององค์การอนามัยโลก[8] โซเดียมเป็นยาที่แพทย์สั่งจ่ายมากที่สุดเป็นอันดับ 274 ในสหรัฐ โดยมีใบสั่งยามากกว่า 1 ล้านใบ ใน ค.ศ. 2020[9][10]
ความเข้มข้นปกติ
แก้น้ำเกลือธรรมดา หรือนอร์มัลเซไลน์/นอร์มัลเซลีน (NSS, NS หรือ N/S) เป็นชื่อที่ใช้กันโดยทั่วไปในการเรียกสารละลายโซเดียมคลอไรด์ความเข้มข้นมวลต่อปริมาตร 0.90%, 308 mOsm/L หรือ 9.0 กรัมต่อลิตร นอกจากนี้ ยังมีการเรียกสารละลายนี้ว่าเป็น น้ำเกลือทางสรีรวิทยา (physiological saline) หรือ น้ำเกลือไอโซโทนิก (isotonic saline) เนื่องจากมีค่าสภาพตึงตัวเท่ากันกับซีรัมในเลือดโดยประมาณ ซึ่งทำให้น้ำเกลือธรรมดาเป็นสารละลายปกติทางสรีรวิทยา แม้ว่าชื่อทั้งสองนี้จะถูกใช้เรียกกันน้อยกว่าและไม่ถูกต้องในทางเทคนิค เนื่องจากน้ำเกลือธรรมดาไม่เหมือนกับซีรัมในเลือดเลย แต่ทั้งสองชื่อก็ให้ผลในทางปฏิบัติที่มักพบเห็นได้ทั่วไป นั่นคือ มีสมดุลของเหลวที่ดี มีสภาพตึงตัวต่ำหรือสูงเพียงเล็กน้อย น้ำเกลือธรรมดามักใช้ให้โดยวิธีการหยดเข้าหลอดเลือดดำ (intravenous, IV) สำหรับผู้ที่ไม่สามารถรับของเหลวทางปากได้ และมีอาการหรือเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำหรือภาวะปริมาตรเลือดน้อย น้ำเกลือธรรมดายังใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันเชื้ออีกด้วย โดยทั่วไปแล้วน้ำเกลือธรรมดาจะเป็นของเหลวชนิดแรกที่ใช้เมื่อปริมาตรเลือดต่ำมากจนส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือด และเชื่อกันมานานว่าเป็นของเหลวที่ปลอดภัยที่สุดที่สามารถให้ในปริมาณมากอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าการให้น้ำเกลือธรรมดาอย่างรวดเร็วสามารถทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดเมแทบอลิก (metabolic acidosis)[11] ได้
สารละลายน้ำเกลือธรรมดา (NS) ประกอบด้วยโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) 9 กรัมละลายในน้ำปริมาตรรวม 1,000 มิลลิลิตร (น้ำหนักต่อหน่วยปริมาตร) มวลของน้ำเกลือธรรมดา 1 มิลลิลิตร จะเท่ากับ 1.0046 กรัม ที่อุณหภูมิ 22 องศาเซลเซียส[12][13] NaCl มีน้ำหนักโมเลกุลประมาณ 58.4 กรัมต่อโมล ดังนั้น NaCl 58.4 กรัมจึงเท่ากับ NaCl 1 โมล เนื่องด้วย NS ประกอบด้วย NaCl 9 กรัม ความเข้มข้นจึงเท่ากับ 9 กรัมต่อลิตร หารด้วย 58.4 กรัมต่อโมล หรือเท่ากับ 0.154 โมลต่อลิตร และเนื่องด้วย NaCl แตกตัวเป็นไอออน 2 ชนิด คือ โซเดียม และคลอไรด์ NaCl 1 โมลาร์จะมี 2 ออสโมลาร์ ดังนั้น NS จึงมี Na+ 154 mEq/L และ Cl− ในปริมาณเท่ากัน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงออสโมลาริตีที่มีค่าเป็น 154 + 154 = 308 ซึ่งสูงกว่าเมื่อเทียบกับออสโมลาริตีของเลือด (ประมาณ 285)[14] อย่างไรก็ตาม หากนำค่าสัมประสิทธิ์ออสโมซิส (ตัวคูณเพื่อแก้ไขค่าความเข้มข้นสำหรับสารละลายที่ไม่เป็นไปตามอุดมคติ) เข้ามาพิจารณา สารละลายน้ำเกลือจะมีค่าความเข้มข้นใกล้เคียงไอโซโทนิก (ค่าสภาพตึงตัวเท่ากับในเลือด) มากขึ้น ค่าสัมประสิทธิ์ออสโมซิสของ NaCl อยู่ที่ประมาณ 0.93[15] ซึ่งให้ออสโมลาริตีเท่ากับ 0.154 × 1000 × 2 × 0.93 = 286.44 ดังนั้น ออสโมลาริตีของน้ำเกลือธรรมดาจึงใกล้เคียงกับออสโมลาริตีของเลือดมากที่สุด
การใช้งาน
แก้สำหรับวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ มักใช้น้ำเกลือเพื่อล้างแผลและแผลถลอกบนผิวหนัง อย่างไรก็ตาม งานวิจัยระบุว่าน้ำเกลือไม่ได้มีประสิทธิภาพดีไปกว่าน้ำประปาที่ใช้ดื่ม[16] น้ำเกลือธรรมดาจะไม่ทำให้ปวดแสบปวดร้อนหรือทำให้ระคายเคืองเมื่อใช้กับบาดแผล[ต้องการอ้างอิง]
น้ำเกลือยังใช้ในการบำบัดทางหลอดเลือดดำ โดยให้น้ำเพิ่มเข้าไปภายในหลอดเลือดดำเพื่อชดเชยน้ำที่เสียไปในร่างกายของผู้ป่วย หรือให้น้ำและเกลือที่จำเป็นในแต่ละวันแก่ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานทางปากได้ เนื่องด้วยการให้สารละลายที่มีออสโมลาริตีต่ำอาจทำให้เกิดปัญหา เช่น เม็ดเลือดแดงแตก ดังนั้น การให้สารละลายทางหลอดเลือดดำที่มีความเข้มข้นของเกลือต่ำ (น้อยกว่า 0.9%) มักมีการเติมเดกซ์โตรส (กลูโคส) เพื่อคงไว้ซึ่งออสโมลาริตีที่ปลอดภัยในขณะที่ให้โซเดียมคลอไรด์น้อยลง ปริมาณน้ำเกลือธรรมดาที่ให้เข้าไปนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ป่วยเป็นส่วนใหญ่ (เช่น ท้องเสียเรื้อรังหรือหัวใจล้มเหลว)[ต้องการอ้างอิง]
น้ำเกลือยังใช้ล้างจมูกเพื่อบรรเทาอาการบางอย่างของโรคเยื่อจมูกอักเสบ (rhinitis) และโรคหวัด (common cold)[17] สารละลายนี้มีผลในการทำให้มูกหรือเสมหะอ่อนตัวลงและจับตัวกันน้อยลง ทำให้ล้างและทำความสะอาดโพรงจมูกได้ง่ายขึ้นสำหรับทั้งเด็ก[18]และผู้ใหญ่[19] ในบางกรณีที่พบได้ยากมาก คือการติดเชื้อที่อาจถึงแก่ชีวิตได้โดยอะมีบา Naegleria fowleri ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้หากเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ดังนั้นจึงไม่ควรใช้น้ำประปาในการล้างจมูก น้ำที่จะเหมาะสำหรับจุดประสงค์นี้จะต้องผ่านการกลั่น ต้ม กรอง หรือฆ่าเชื้อเท่านั้น[20]
น้ำเกลือไอโซโทนิกที่ปราศจากเชื้อยังใช้บรรจุในเต้านมเทียมในการผ่าตัดเสริมเต้านม เพื่อแก้ไขความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น เต้านมผิดรูปเป็นปุ่ม และเพื่อแก้ไขความไม่สมมาตรของเต้านม[21][22] นอกจากนี้ ยังใช้เต้านมเทียมแบบบรรจุน้ำเกลือในการผ่าตัดสร้างเต้านมใหม่หลังการผ่าตัดเอาเต้านมออกอีกด้วย
ตา
แก้ยาหยอดตาเป็นยาที่มีส่วนผสมของน้ำเกลือที่ใช้กับดวงตา ขึ้นอยู่กับอาการที่จะให้การรักษา ยาหยอดตาอาจประกอบด้วยสเตอรอยด์ สารต้านฮิสตามีน ซิมพาโทมิเมติก สารบล็อกตัวรับเบตา พาราซิมพาโทมิเมติก พาราซิมพาโทไลติก พรอสตาแกลนดิน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) ยาปฏิชีวนะ หรือยาชาเฉพาะที่ ยาหยอดตาบางครั้งไม่มีตัวยาแต่เป็นเพียงสารหล่อลื่นและสารละลายทดแทนน้ำตา
จมูก
แก้มีหลักฐานเบื้องต้นที่แสดงว่าการล้างจมูกด้วยน้ำเกลืออาจช่วยบรรเทาอาการเยื่อจมูกและไซนัสอักเสบ (rhinosinusitis) ที่เป็นมาอย่างเรื้อรังได้[23] แต่ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนในเรื่องผลของการใช้น้ำเกลือล้างจมูกในกรณีเยื่อจมูกและไซนัสอักเสบที่เป็นในระยะสั้น[24]
การสักลูกตา
แก้น้ำเกลือใช้ในการสักบริเวณเปลือกลูกตาส่วนตาขาว (scleral tattooing) เพื่อทำให้ส่วนที่เป็นสีขาวของดวงตามนุษย์มีสีสัน[25]
การลดรอยสัก
แก้น้ำเกลือใช้เพื่อทำให้รอยสัก (รวมทั้งรอยสักแบบไมโครเบลดดิง) จางลงโดยผ่านกระบวนการออสโมซิส[26]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 "Sodium Chloride Injection - FDA prescribing information, side effects and uses". www.drugs.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 January 2017. สืบค้นเมื่อ 14 January 2017.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 British national formulary : BNF 69 (69th ed.). British Medical Association. 2015. pp. 683, 770. ISBN 9780857111562.
- ↑ Marini JJ, Wheeler AP (2010). Critical Care Medicine: The Essentials (ภาษาอังกฤษ). Lippincott Williams & Wilkins. p. 54. ISBN 9780781798396. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 September 2017.
- ↑ "Hypertonic Saline - FDA prescribing information, side effects and uses". www.drugs.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 January 2017. สืบค้นเมื่อ 14 January 2017.
- ↑ Pestana C (2000). Fluids and Electrolytes in the Surgical Patient (ภาษาอังกฤษ). Lippincott Williams & Wilkins. p. 11. ISBN 9780781724258. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 September 2017.
- ↑ Reddi BA (2013). "Why is saline so acidic (and does it really matter?)". International Journal of Medical Sciences. 10 (6): 747–750. doi:10.7150/ijms.5868. PMC 3638298. PMID 23630439.
- ↑ Bozzetti F, Staun M, van Gossum A (2014). Home Parenteral Nutrition (ภาษาอังกฤษ) (2nd ed.). CABI. p. 4. ISBN 9781780643113. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 September 2017.
- ↑ World Health Organization (2019). World Health Organization model list of essential medicines: 21st list 2019. Geneva: World Health Organization. hdl:10665/325771. WHO/MVP/EMP/IAU/2019.06. License: CC BY-NC-SA 3.0 IGO.
- ↑ "The Top 300 of 2020". ClinCalc. สืบค้นเมื่อ 7 October 2022.
- ↑ "Sodium Salts - Drug Usage Statistics". ClinCalc. สืบค้นเมื่อ 7 October 2022.
- ↑ Prough DS, Bidani A (May 1999). "Hyperchloremic metabolic acidosis is a predictable consequence of intraoperative infusion of 0.9% saline". Anesthesiology. 90 (5): 1247–1249. doi:10.1097/00000542-199905000-00003. PMID 10319767.
- ↑ "Fluid Density Calculator". Earthwardconsulting.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 September 2009. สืบค้นเมื่อ 27 February 2011.
- ↑ "Water Density Calculator". Csgnetwork.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 January 2010. สืบค้นเมื่อ 27 February 2011.
- ↑ Lote CJ. Principles of Renal Physiology, 5th edition. Springer. p. 6.
- ↑ Hamer WJ, Wu YC (1 October 1972). "Osmotic Coefficients and Mean Activity Coefficients of Uni-univalent Electrolytes in Water at 25°C". Journal of Physical and Chemical Reference Data. 1 (4): 1047–1100. Bibcode:1972JPCRD...1.1047H. doi:10.1063/1.3253108.
- ↑ Brown A (20 August 2018). Ford S (บ.ก.). "When is wound cleansing necessary and what solution should be used?". Nursing Times (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). Vol. 114 no. 9. Metropolis International. pp. 42–45. สืบค้นเมื่อ 26 December 2020.
- ↑ "Cure a cold: Saline Nasal drops". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 January 2013.
- ↑ "Blocked Nose in Babies ('Snuffles')". Patient UK.
- ↑ "Tixylix saline nasal drops". Netdoctor. 30 March 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 November 2012.
- ↑ "Sinus Rinsing For Health or Religious Practice". CDC. 28 February 2017.
- ↑ Eisenberg T (October 2021). "Does Overfilling Smooth Inflatable Saline-Filled Breast Implants Decrease the Deflation Rate? Experience with 4761 Augmentation Mammaplasty Patients". Aesthetic Plastic Surgery. 45 (5): 1991–1999. doi:10.1007/s00266-021-02198-3. PMC 8481168. PMID 33712871.
- ↑ Eisenberg T (2019). "One-Stage Correction of Tuberous Breast Deformity Using Saline Implants: Without the Need for Radial Scoring or Lowering the Inframammary Fold". American Journal of Cosmetic Surgery. 36 (4): 191–196. doi:10.1177/0748806819841466. S2CID 145932734.
- ↑ Succar EF, Turner JH, Chandra RK (May 2019). "Nasal saline irrigation: a clinical update". International Forum of Allergy & Rhinology. 9 (S1): S4–S8. doi:10.1002/alr.22330. PMID 31087631.
- ↑ Achilles N, Mösges R (April 2013). "Nasal saline irrigations for the symptoms of acute and chronic rhinosinusitis". Current Allergy and Asthma Reports. 13 (2): 229–235. doi:10.1007/s11882-013-0339-y. PMID 23354530. S2CID 9798807.
- ↑ "A Model Almost Lost Her Eye After Getting a Sclera Tattoo. Here's Why She Did It". TIME (ภาษาอังกฤษ). 2017-09-29. สืบค้นเมื่อ 2024-04-28.
It happens when a mixture of ink and saline is injected into the eye through a small needle.
- ↑ Dall'Asen, Nicola (2022-02-18). "OK, I'll Say It: I Regret Getting My Eyebrows Microbladed". Allure (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2024-04-28.