น้ำพริกอ่อง เป็นน้ำพริกซึ่งนิยมรับประทานกันในภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อมีงานบุญหรืองานออกรับแขกบ้านแขกเมืองจะต้องมีอาหารชนิดนี้อยู่ในสำรับขันโตก[1]

น้ำพริกอ่อง
น้ำพริกอ่อง
มื้อเครื่องจิ้ม
แหล่งกำเนิดไทย
ภูมิภาคภาคเหนือ
ส่วนผสมหลักหมูสับ มะเขือเทศ น้ำพริก ผักสด

ส่วนผสม แก้

น้ำพริกอ่องมีรสเผ็ดจากพริก เปรี้ยวจากมะเขือเทศ (มะเขือส้ม) และเค็มจากถั่วเน่า ส่วนผสมทั้งสามอย่างนี้ทำให้น้ำพริกมีสีแดงส้มสะดุดตา น้ำพริกอ่องจะมีลักษณะคล้ายผัดหมูสับ มากกว่าจะเป็นน้ำพริกไว้จิ้มทั่วไป สามารถใส่น้ำขลุกขลิกหรือใส่น้ำจนลักษณะคล้ายแกงก็ได้ เป็นน้ำพริกที่นิยมรับประทานกับแคบหมูและผักสด เช่น แตงกวาหั่นแว่น ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ทั้งนี้จะไม่นิยมใส่น้ำตาล[1]

เครื่องปรุงสำคัญคือมะเขือส้ม นำมาผัดเคี่ยวกับเนื้อหมู และน้ำพริก แต่เดิมจะใช้เนื้อปลาช่อนย่างเพราะเนื้อหมูหายาก คำว่า "อ่อง" ในที่นี้หมายถึงวิธีการปรุงน้ำพริกที่ต้องผัดเคี่ยวทิ้งไว้ให้น้ำค่อย ๆ งวดลง รับประทานคู่กับผักชนิดต่าง ๆ เช่น ขนุนอ่อนต้ม ใบบัวบก[2]

น้ำพริกสำหรับผัดน้ำพริกอ่องจะคล้ายน้ำพริกแกงส้มของทางภาคกลางเพียงแต่ไม่ใส่กระชายและใช้พริกแห้งแทนพริกหยวก (ภาษาเหนือเรียกว่า พริกหนุ่ม) น้ำพริกจึงประกอบไปด้วย พริก เกลือ หอมแดง กระเทียม กะปิ ถั่วเน่า สามารถใส่หรือไม่ใส่ตะไคร้ก็ได้ เดิมนั้นใช้ถั่วเน่าแผ่นปิ้งไฟให้หอม ปัจจุบันสามารถใช้เต้าเจี้ยวสีน้ำตาลตามท้องตลาดแทนได้ การเจียวน้ำพริกหากไม่ชอบกระเทียมเจียวก็สามารถเจียวด้วยหอมแดงซอย น้ำพริกอ่องสามารถนำไปทำเป็นน้ำเงี้ยวต่อได้

พลังงาน แก้

ทั้งนี้น้ำพริกอ่องมีปริมาณไขมัน 9.46 กรัมต่อน้ำพริกน้ำหนัก 100 กรัม และให้พลังงาน 123 แคลลอรีต่อน้ำพริกน้ำหนัก 100 กรัม หากรับประทานกับแคบหมูก็จะได้ไขมันและพลังงานเพียงพอสำหรับอากาศช่วงฤดูหนาวทางภาคเหนือ[1]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 ฉลาดชาย รมิตานนท์. "น้ำพริกกับวิถีชีวิตและธรรมชาติ". ศิลปวัฒนธรรม. 22:3 มกราคม 2544, หน้า 123
  2. สริรักษ์ บางสุด และพลวัฒน์ อารมณ์. โอชะล้านนา. กรุงเทพฯ : แสงแดด, 2558, หน้า 21

แหล่งข้อมูลอื่น แก้