นิทรรศน์รัตนโกสินทร์

พิพิธภัณฑ์ในเขตพระนคร

อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ เป็นอาคาร 4 ชั้น ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับวัดราชนัดดาราม จัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยอยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ [1]

นิทรรศน์รัตนโกสินทร์
Rattanakosin Exhibition Hall
อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ศูนย์การเรียนรู้และแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้ทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมยุครัตนโกสินทร์ ภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
ก่อตั้ง9 มีนาคม พ.ศ. 2553
ที่ตั้ง100 ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
จำนวนผู้เยี่ยมชมเฉลี่ย 110,000 รายต่อปี
ผู้อำนวยการนายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา
ภัณฑารักษ์นายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด และนายสราวุธ บูรพาพัธ ทีมประชาสัมพันธ์
เว็บไซต์www.nitasrattanakosin.com
อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ก่อนปรับปรุง

การจัดแสดง

แก้

นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ได้นำเสนอเรื่องราวด้านต่างๆ แห่งยุครัตนโกสินทร์ ผ่านห้องจัดแสดง ซึ่งตั้งชื่อไว้อย่างคล้องจองกัน โดยเส้นทางที่ 1 (หมายเลข 1-7) เปิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553 เส้นทางที่ 2 (หมายเลข 8-9) เปิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2554 โดยรายละเอียดของห้องจัดแสดง มีดังนี้

  1. รัตนโกสินทร์เรืองโรจน์ (Grandeur Rattanakosin) จัดแสดงภาพยนตร์สื่อผสม 4 มิติ นำเสนอประวัติความเป็นมาของการกำเนิดกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ยิ่งใหญ่ทัดเทียมกรุงศรีอยุธยา ด้วยพระอัจฉริยภาพในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรี
  2. เกียรติยศแผ่นดินสยาม (The Prestige of the Kingdom) จัดแสดงความวิจิตรอลังการของพระบรมมหาราชวัง ตามคติความเชื่อในความเป็นสมมติเทพของพระมหากษัตริย์ ที่สะท้อนผ่านงานด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ตลอดจนประวัติของพระแก้วมรกต เรื่องราวของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเกร็ดน่ารู้ น่าสนใจเกี่ยวกับชีวิตในวัง
  3. เรืองนามมหรสพศิลป์ (Remarkable Entertainments) จัดแสดงความเป็นมา และรูปแบบของมหรสพสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์หลากหลายประเภท ตลอดจนวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของมหรสพและการแสดงประเภทต่างๆ ในแต่ละยุคสมัย ซึ่งบูรณาการและแตกสายจนมีความงาม และลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป
  4. ลือระบิลพระราชพิธี (Renowned Ceremonies) จัดแสดงที่มาและความสำคัญของพระราชพิธี รวมทั้งเกร็ดความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีสำคัญๆของกรุงรัตนโกสินทร์
  5. สง่าศรีสถาปัตยกรรม (Graceful Architectures) จัดแสดงรูปแบบสถาปัตยกรรมในยุครัตนโกสินทร์ อันเป็นเอกลักษณ์ของสยามประเทศ ผ่าน วัง วัด บ้าน แห่งยุคสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงสอดรับกับปัจจัยแวดล้อม ความเจริญทางด้านเทคโนโลยี และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมจากต่างประเทศ จนทำให้วัง วัด บ้าน ในกรุงรัตนโกสินทร์ มีลักษณะหลากหลายดังที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน
  6. ดื่มด่ำย่านชุมชน (Impressive Communities) จัดแสดงความเป็นมาและเอกลักษณ์ของชุมชนบนเกาะรัตนโกสินทร์ เพียงแค่ก้าวเท้า ไปยังจุดที่ตั้งของชุมชน จะปรากฏลวดลายสวยงาม นำผู้ชมไปทำความรู้จักชุมชนนั้น พร้อมชื่นชมผลงานการรังสรรค์จากชุมชนต่างๆ ซึ่งบางชิ้นหาชมได้ยากในปัจจุบัน
  7. เยี่ยมยลถิ่นกรุง (Sight-Seeing Highlights) รวบรวมและนำเสนอ สถานที่น่าสนใจบนเกาะรัตนโกสินทร์ หลายรูปแบบ ทั้งสถานที่ที่น่าสนใจในเชิงสถาปัตยกรรมอันสวยงาน สวนสาธารณะยอดนิยม พิพิธภัณฑ์ที่ควรเยี่ยมชม แหล่งรวมอาหารการกินและจับจ่ายสินค้า ตลอดจนย่านที่เป็นสีสันในยามค่ำคืน ซึ่งแต่ละสถานที่ต่างก็มีบรรยากาศอันชวนให้หลงใหลในแบบฉบับของตัวเอง
  8. เรืองรุ่งวิถีไทย (The Colorful Thai Way of Living) รวบรวมและนำเสนอวิถีชีวิตของคนไทย นับตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์จวบจนถึงปัจจุบันผ่านมัลติทัชเกมการเรียนรู้ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ปัจจัยและอิทธิพลต่างๆ อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตของคนไทยในแต่ละยุคสมัย
  9. ดวงใจปวงประชา (The Heart and Soul of the Nation) รวบรวมและนำเสนอเรื่องราว พระอัจฉริยภาพ และพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทั้ง ๑๐ รัชกาล ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน

การให้บริการ

แก้

อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ เปิดให้บริการวันอังคาร - อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) เวลา 09.00 - 17.00 น. โดยนอกจากนิทรรศการหลัก ภายในอาคารยังมีจุดที่น่าสนใจ และบริการเสริม อาทิ

  • ห้องสมุดนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ เป็นห้องสมุดเฉพาะด้าน ที่รวบรวมหนังสือ สื่อมัลติมีเดีย เกี่ยวกับกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
  • โถงกิจกรรมอเนกประสงค์ ขนาด 300 ตรม. สำหรับจัดนิทรรศการหรือกิจกรรมหมุนเวียน ตลอดปี
  • จุดชมทิวทัศน์ ชั้น 4 ที่สามารถชมทัศนียภาพของถนนราชดำเนิน และสถาปัตยกรรมในมุมมองกว้าง
  • บริการ อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าของที่ระลึก

อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°45′22″N 100°30′13″E / 13.756221°N 100.503626°E / 13.756221; 100.503626