สุขาวดี (นิกาย)
นิกายสุขาวดี (จีนตัวย่อ: 净土宗; จีนตัวเต็ม: 淨土宗; พินอิน: Jìngtǔzōng; ญี่ปุ่น: 浄土教, Jōdokyō; เกาหลี: 정토종, jeongtojong; เวียดนาม: Tịnh Độ Tông) เป็นนิกายในศาสนาพุทธที่ตั้งขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน แม้จะมีกำเนิดมาจากพระสูตรที่มาจากประเทศอินเดีย แต่ในอินเดียไม่ได้เป็นนิกายเอกเทศ นิกายนี้พระฮุ่นเจียงตั้งขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 9 สมัยราชวงศ์ตั้งจิ้น คำสอนของท่านเน้นการเจริญพุทธสติถึงพระอมิตาภพุทธะและปรารถนาไปเกิดในแดนสุขาวดี ในจีนเรียกนิกายนี้ว่า นิกายวิสุทธิภูมิ (จิ้งถู่จง)
คัมภีร์
แก้คัมภีร์ที่สำคัญมี 4 เล่มคือ มหาสุขาวดีวยูหสูตร แปลเป็นภาษาจีนเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 7 อมิตายุรัธยานสูตร จุลสุขาวดีวยูหสูตร และอมิตายุอุปเทศสูตร นอกจากนั้นยังมีคัมภีร์ของนิกายนี้ที่แต่งเพิ่มเติมในประเทศญี่ปุ่น
หลักธรรม
แก้นิกายนี้ถือว่าการพ้นทุกข์ของสรรพสัตว์ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกเข้ามาช่วย นิกายนี้จึงเน้นการไปเกิด ณ แดนสุขาวดีของพระอมิตาภะ ซึ่งเชื่อว่าเมื่อไปเกิดแล้วจะไม่ตกต่ำมาสู่อบายภูมิอีก โดยผู้จะไปเกิดต้องมีคุณธรรมสามประการคือ กตัญญูกตเวที ยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง จิตมั่นคงต่อโพธิญาณ นอกเหนือจากนี้ต้องสวดมนต์ระลึกถึงพระอมิตาภะตั้งปณิธานไปเกิดในสุขาวดีจึงจะได้ไปเกิดสมปรารถนา
ชั้นของสุขาวดี
แก้ดินแดนสุขาวดีหรือพุทธเกษตรของพระอมิตาภะตามที่กล่าวไว้ในอมิตายุรัธยานสูตรมี 9 ชั้นคือ
- สำหรับผู้มีเมตตากรุณา มีศีลสมบูรณ์ มีจิตเลื่อมใสไม่คลอนแคลน
- สำหรับผู้มีความรู้แตกฉานในธรรม เลื่อมใสนิกายมหายาน เชื่อในกฎแห่งกรรม เมื่อตายจะไปอยู่ในดอกบัวไม่ทันข้ามวัน ดอกบัวจะบาน ได้ฟังธรรมภายใน 7 วัน
- สำหรับผู้เชื่อมั่นในกฎแห่งกรรม เลื่อมใสนิกายมหายาน เมื่อตายจะไปอยู่ในดอกบัว 7 วันจึงจะบาน ได้ฟังธรรมภายใน 37 วัน
- สำหรับผู้รักษาศีลอุโบสถสมบูรณ์ ดอกบัวที่ผู้นั้นไปเกิดจะค่อย ๆ บาน เมื่อได้ฟังธรรมก็จะได้เป็นพระอรหันต์
- สำหรับผู้ถือศีลอุโบสถเพียงวันหนึ่ง คืนหนึ่ง หรือสมาทานศีลภิกษุหรือศีลสามเณรไม่บกพร่อง เมื่อตายจะไปเกิดในดอกบัวอยู่ 7 วัน ดอกบัวจึงจะบาน เมื่อฟังธรรมจะได้เป็นพระโสดาบัน อีกครึ่งกัลป์จะได้เป็นพระอรหันต์
- สำหรับผู้เลี้ยงดูบิดามารดา มีมนุษยธรรม เมื่อใกล้ตายได้ฟังเรื่องของสุขาวดีและมีจิตเลื่อมใส เมื่อตายจะไปเกิดในสุขาวดี และฟังธรรมเรื่องไปหนึ่งกัลป์จึงจะได้เป็นพระอรหันต์
- สำหรับผู้ทำอกุศลกรรม แต่ได้ฟังเสียงสวดพระธรรม หรือมีผู้สอนให้ระลึกถึงพระอมิตาภะ เมื่อตายจะไปเกิดในดอกบัวนาน 77 วัน จึงจะบาน หลังจากนั้นต้องฟังธรรมนานถึง 10 กัลป์ จึงจะได้เป็นพระอรหันต์
- สำหรับผู้ทุศีล มีทุคติเป็นที่หมาย แต่เมื่อใกล้ตายมีผู้สอนให้ระลึกถึงพระอมิตาภะ เมื่อตายจะไปเกิดในดอกบัวนาน 6 กัลป์ จึงจะบาน เมื่อฟังธรรมจึงเริ่มตั้งจิตปรารถนาพุทธภูมิ
- สำหรับผู้ทำอกุศลกรรมไว้มาก มีอบายภูมิเป็นที่หมาย แต่มีผู้สอนให้ระลึกถึงพระอมิตาภะ แล้วทำตามอยู่ชั่ว 10 ขณะจิต เมื่อตายจะไปเกิดในดอกบัวนานถึง 12 กัลป์จึงจะบาน เมื่อได้ฟังธรรมจึงตั้งจิตถึงพุทธภูมิ
สุขาวดีในญี่ปุ่น: นิกายโจโด
แก้ก่อตั้งโดยพระโฮเน็ง เน้นให้ระลึกถึงอมิดาหรือพระอมิตาภะ เพื่อไปเกิดในเน็มบุสึ (พุทธเกษตร) ภายหลังพระชินรัง ลูกศิษย์ของพระโฮเน็งได้ตั้งนิกายโจโดชินชู (สุขาวดีที่แท้) ซึ่งถือว่าในพุทธเกษตรนั้นไม่มีการแบ่งแยกระหว่างคนดีและคนชั่ว สมาชิกของนิกายนี้ไม่จำเป็นต้องถือวินัยเป็นพิเศษ พระชินรังแต่งงานและทำให้เกิดระบบการสืบสกุลของพระในญี่ปุ่น ซึ่งต่อมาได้แพร่หลายไปยังนิกายอื่นด้วย
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของนิกายสุขาวดี
แก้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของนิกายสุขาวดีโดยทั่วไปจะประกอบด้วยพระอมิตาภพุทธะ พระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์ และพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (กวนอิม) โดยให้พระอมิตาภพุทธะประทับอยู่ตรงกลาง พระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์ อยู่ทางขวาของพระองค์ และพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ อยู่ทางซ้ายของพระองค์ ด้วยเหตุฉะนี้ พุทธศาสนิกชนมหายานจึงนิยมเรียกพระพุทธะและโพธิสัตว์สาวกกลุ่มนี้ว่า พระอริยเจ้าทั้งสามแห่งปัจฉิมทิศ (จีนตัวย่อ: 西方三圣; จีนตัวเต็ม: 西方三聖; พินอิน: Xīfāngsānshèng)
พระอมิตาภพุทธะ
แก้พระอมิตาภพุทธะ แปลว่า พระพุทธเจ้าผู้มีแสงประภาสส่องสว่างไม่มีประมาณ หรือพระอมิตายุพุทธะ แปลว่า พระผู้มีอายุขัยยาวนานไม่มีประมาณ เป็นพระธยานิพุทธะ 1 ใน 5 องค์ ประทับอยู่ทางตะวันตกของพุทธมณฑล พระกายสีแดงก่ำ เป็นต้นตระกูลของพระโพธิสัตว์ตระกูลปัทมะ หมายถึงปัญญาที่ทำให้มนุษย์รู้จักผิดชอบชั่วดี และเลือกปฏิบัติในทางที่ถูก สัญลักษณ์คือดอกบัว พระพุทธเจ้าในตระกูลนี้ทั่วไปใช้บัวแดง พระโพธิสัตว์ปางดุใช้บัวขาว ภาพวาดของพระองค์มักวาดให้พระหัตถ์ยาวหมายถึงความสามารถที่จะเอื้อมพาสรรพสัตว์เข้าสู่แดนสุขาวดี มีพระชิวหายาวตระหวัดได้รอบโลกหมายถึงความสามารถในการแสดงธรรมได้ทั่วโลก ทรงนกยูงเป็นพาหนะนับถือส่วนใหญ่ในพุทธศาสนานิกายมหายาน ควบคู่กับพระอวโลกิเตศวรหรือเจ้าแม่กวนอิมในภาษาไทย
ท่านเป็นพระพุทธเจ้าในสุขาวดีพุทธภูมิห่างจากโลกมนุษย์ ทางทิศตะวันตกสิบล้านล้านกิโลเมตร ใช้เวลาสร้าง 5 กัป จึงสำเร็จเป็นอาณาจักรหนึ่ง ชื่อ แดนสุขาวดี (เก็กลกซือไก) จุดประสงค์ในการสร้าง เพื่อเป็นที่อยู่ของสัตว์โลกที่สำเร็จธรรม ขอเพียงมีปณิธานแน่วแน่จริงใจและสวดคำว่า อามีทอฝอ (แต้จิ๋ว: อานีทอฮุก) อยู่เสมอ ยามใกล้จะสิ้นใจจะปรารถนาที่จะลาโลกไป พระอมิตาภพุทธะ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ และพระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์ จะเสด็จมารับไปยังแดนสุขาวดี ดังเช่นหลวงจีนในนิกายมหายานนิยมท่องกัน เพราะเป็นความเชื่อส่วนนิกาย ไม่ได้บันทึกไว้ในพระไตรปิฏก และไม่พบในนิกายเถรวาท
พระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์
แก้พระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์เป็นพระโพธิสัตว์อัครสาวกของพระอมิตาภะเช่นเดียวกับพระอวโลกิเตศวร แต่มีคนรู้จักน้อยกว่า ถือว่าท่านเป็นพระโพธิสัตว์ด้านกำลัง สะท้อนพลังจิตที่เข้มแข็งของพระพุทธเจ้า ใกล้เคียงกับความหมายของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์
นิกายสุขาวดีกำหนดให้ท่านเป็นผู้คุ้มครองดวงจิตของผู้ที่จะไปอุบัติในแดนสุขาวดี ในอีกแนวหนึ่งเชื่อว่าพระมหาสถามปราปต์พัฒนามาจากพระอินทร์ของศาสนาพราหมณ์ เนื่องจากลักษณะในยุคแรกของท่านถือวัชระเช่นเดียวกับพระอินทร์ ต่อมามีการสร้างพระโพธิสัตว์องค์ใหม่ เรียกว่าพระวัชรปาณีโพธิสัตว์ แยกออกมาจากพระมหาสถามปราปต์ ความนิยมนับถือพระมหาสถามปราปต์จึงลดลง ความหมายต่าง ๆ ของท่านได้หลอมรวมกลายเป็นส่วนหนึ่งของพระโพธิสัตว์องค์อื่น ๆ ไป
พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (เจ้าแม่กวนอิม)
แก้กวนอิม ตามสำเนียงฮกเกี้ยน หรือ กวนอิน ตามสำเนียงกลาง (จีนตัวย่อ: 观音; จีนตัวเต็ม: 觀音; พินอิน: Guān Yīn; อังกฤษ: Guan Yin) พระโพธิสัตว์ ของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เป็นองค์เดียวกันกับพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ในภาษาสันสกฤต ซึ่งมีต้นกำเนิดจากพระสูตรมหายานในอินเดีย และได้ผสมผสานกับตำนานเรื่องพระธิดาเมี่ยวซ่าน ซึ่งเป็นความเชื่อพื้นถิ่นดั้งเดิมของจีนจนก่อให้เกิดเป็นพระโพธิสัตว์กวนอิมในภาคสตรีขึ้น เพื่อแสดงออกถึงความอ่อนโยน และแสดงถึงความเมตตากรุณาให้เด่นชัดยิ่งขึ้นดังเช่นความรักของมารดาที่มีต่อบุตร ซึ่งเป็นการผสมผสานกลมกลืนทางความเชื่อที่ปราศจากข้อขัดแย้ง เนื่องจากในสัทธรรมปุณฑรีกสูตรได้อธิบายว่า พระอวโลกิเตศวรนั้นสามารถแบ่งภาคเพื่อโปรดสรรพสัตว์ได้มากมายทั้งปางบุรุษและสตรี และเป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์มหายานที่เมื่อเข้าไปสู่ดินแดนอื่นทั้งทิเบต จีน หรือญี่ปุ่น ย่อมผสมผสานกลมกลืนได้กับเทพท้องถิ่นนั้น ๆ
อย่างในกรณีพระอวโลกิเตศวรนี้ Sir Charles Eliot ได้ตั้งข้อสังเกตว่า "คงเนื่องมาจากความสับสนทางความคิดของชาวจีนในยุคนั้น ซึ่งบูชาเทพเจ้าต่าง ๆ ของตนอยู่แล้ว และเมี่ยวซ่านก็เป็นเทพวีรชนดั้งเดิมอยู่ก่อน พออารยธรรมพระโพธิสัตว์จากอินเดียแผ่เข้าไปถึง ได้เกิดการผสานทางวัฒนธรรมเปลี่ยนชื่อเสียงคงไว้เพียงแต่คุณลักษณะต่าง ๆ พอให้แยกออกว่าเป็นพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์"
อ้างอิง
แก้- ประสงค์ แสนบุราณ. พระพุทธศาสนามหายาน. กทม.โอเดียนสโตร์. 2548
- ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์. ศาสนาและปรัชญาในจีน ทิเบต และญี่ปุ่น. กทม. สุขภาพใจ. 2545
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- มหาปารมิตาดอตคอม เก็บถาวร 2008-12-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Jōdo Shū Buddhism official website
- Jōdo Shinshū Official Site เก็บถาวร 2015-09-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Amitabha Buddhist Society of U.S.A.
- The Venerable Master Hsuan Hua
- Amitabha Pure Land Web (in English)[ลิงก์เสีย]
- Pure Land Buddhism: The Path of Serene Trust, a short overview of Pure Land Buddhism
- Amitabha Education Network เก็บถาวร 2021-04-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Master Chin Kung, a promoter of Pure Land Buddhism
- Hongaku Jodo Compassionate Lotus tradition เก็บถาวร 2008-08-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน An American Pure Land Buddhist Association
- Amida Trust A UK Pure Land Charity
- In one Lifetime: Pure Land Buddhism เก็บถาวร 2009-03-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Here are some links to other Amitabha websites around the world เก็บถาวร 2009-06-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน