นาโอมิ โอซากะ

นักเทนนิสอาชีพหญิงชาวญี่ปุ่น

นาโอมิ โอซากะ (อังกฤษ: Naomi Osaka; ญี่ปุ่น: 大坂 なおみโรมาจิŌsaka Naomi เกิดวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1997)[1] เป็นนักเทนนิสอาชีพหญิงชาวญี่ปุ่น[2] มือวางอันดับ 2 ของโลกคนปัจจุบัน และ เคยขึ้นสู่ตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ใน ค.ศ. 2019 โดยโอซากะถือเป็นผู้เล่นชาวเอเชียคนแรกที่สามารถครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ของโลกได้[3] เธอเป็นเจ้าของตำแหน่งชนะเลิศรายการแกรนด์สแลมในประเภทหญิงเดี่ยวจำนวน 4 สมัย ได้แก่ ออสเตรเลียนโอเพน 2 สมัย (ค.ศ. 2019 และ 2021) และ ยูเอสโอเพน 2 สมัย (ค.ศ. 2018 และ 2020)[4]

นาโอมิ โอซากะ
Naomi Osaka smiling during her match against Azarenka in the 2020 US Open.
โอซากะ ในยูเอสโอเพน 2020
ชื่อจริง大坂 なおみ
ประเทศ (กีฬา)ธงของประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่น
ถิ่นพำนักเบเวอร์ลีฮิลส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ
วันเกิด (1997-10-16) ตุลาคม 16, 1997 (26 ปี)
เขตชูโอ นครโอซากะ จังหวัดโอซากะ ประเทศญี่ปุ่น
ส่วนสูง1.80 เมตร (5 ฟุต 11 นิ้ว)
เทิร์นโปรกันยายน ค.ศ. 2013
การเล่นมือขวา (two-handed backhand)
ผู้ฝึกสอนวิม ฟิสเซตต์ (2020–)
เงินรางวัล19,735,032 ดอลลาร์สหรัฐ
เว็บไซต์ทางการnaomiosaka.com
เดี่ยว
สถิติอาชีพ245–134 (64.6%)
รายการอาชีพที่ชนะ7
อันดับสูงสุดNo. 1 (28 มกราคม ค.ศ. 2019)
อันดับปัจจุบันNo. 2 (22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021)
ผลแกรนด์สแลมเดี่ยว
ออสเตรเลียนโอเพนW (2019, 2021)
เฟรนช์โอเพน3R (2016, 2018, 2019)
วิมเบิลดัน3R (2017, 2018)
ยูเอสโอเพนW (2018, 2020)
การแข่งขันอื่น ๆ
Tour FinalsRR (2018, 2019)
คู่
สถิติอาชีพ2–14 (12.5%)
รายการอาชีพที่ชนะ0
อันดับสูงสุดNo. 324 (3 เมษายน ค.ศ. 2017)
ผลแกรนด์สแลมคู่
ออสเตรเลียนโอเพน1R (2017)
เฟรนช์โอเพน2R (2016)
วิมเบิลดัน1R (2017)
ยูเอสโอเพน1R (2016, 2017)
การแข่งขันแบบทีม
Fed CupWG II PO (2018)
Hopman CupRR (2018)
อัปเดตล่าสุดเมื่อ: 9 มีนาคม ค.ศ. 2021

โอซากะเกิดที่ประเทศญี่ปุ่นโดยคุณพ่อของเธอเป็นชาวเฮติและคุณแม่เป็นชาวญี่ปุ่น โอซากะเติบโตและใช้ชีวิตที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่อายุ 3 ขวบเธอเริ่มโด่งดังในวงการเทนนิสหญิงเมื่ออายุ 16 ปี เมื่อเธอเอาชนะอดีตแชมป์ยูเอสโอเพน ซาแมนธา สโตเซอร์ ผู้เล่นออสเตรเลีย ในรายการเปิดตัวของเธอที่ WTA Tour ที่ Stanford Classic ปี 2014 สองปีต่อมา เธอเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศครั้งแรกในรายการที่ 2016 Pan Pacific Open ที่ประเทศญี่ปุ่นและขึ้นสู่มือวาง 50 อันดับแรกของโลกของการจัดอันดับของ WTA โอซากะคว้าตำแหน่งชนะเลิศรายการแรกอย่างเป็นทางการในปี 2018 ในรายการที่ อินเดียนเวลส์ สหรัฐอเมริกา ต่อมาในปีนั้น เธอเอาชนะแชมป์แกรนด์สแลม 23 สมัย เซเรนา วิลเลียมส์[5] ผู้เล่นระดับตำนานในรอบชิงชนะเลิศยูเอสโอเพนและทำสถิติเป็นนักเทนนิสชาวญี่ปุ่นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้าตำแหน่งชนะเลิศรายการแกรนด์สแลมได้ และ เธอสามารถคว้าตำแหน่งชนะเลิศรายการแกรนด์สแลมได้ 4 ปีติดต่อกันนับจากนั้น (ค.ศ. 2018 - 2021)

โอซากะเป็นหนึ่งในนักกีฬาที่ทำรายได้มากที่สุดในโลก โดยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 8 ในบรรดานักกีฬาทั่วโลกที่มีรายได้สูงที่สุดในปี 2020 และ เธอยังเป็นนักกีฬาหญิงที่ทำรายได้สูงสุดในปีนั้น โอซากะได้รับการยอมรับอย่างมากในฐานะนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนนอกสนาม โดยได้แสดงการสนับสนุนขบวนการ Black Lives Matter[6] เธอได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในนักกีฬาแห่งปีของ Sports Illustrated ประจำปี 2020 และ ยังได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในรายชื่อ 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกของนิตยสารไทม์ทั้งในปี 2019[7] และ 2020[8] นอกจากนี้ เธอยังได้รับรางวัลนักกีฬาหญิงแห่งปี (Laureus World Sportswoman) ในปี 2021 โอซากะมีรูปแบบการเล่นที่ดุดันด้วยลูกเสิร์ฟอันทรงพลังที่สามารถทำความเร็วได้ถึง 201 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (125 ไมล์ต่อชั่วโมง) และ ยังมีการตีที่หนักหน่วงในทุกพื้นที่ของสนาม

ประวัติในช่วงต้น

แก้

นาโอมิ โอซากะ เกิดในเขตชูโอ นครโอซากะ จังหวัดโอซากะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นลูกสาวของ ทามากิ โอซากะ และ ลีโอนาร์ด ฟรองซัวส์ แม่ของเธอมาจากฮกไกโด และพ่อของเธอมาจากเฮติ เธอมีพี่สาวชื่อมารีซึ่งเคยเป็นนักเทนนิสอาชีพเช่นกัน เธอและพี่สาวใช้นามสกุลของแม่ด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติเนื่องจากครอบครัวอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น พ่อและแม่ของโอซากะพบกันตอนที่พ่อของเธอไปเที่ยวฮกไกโดขณะที่เขาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยนิวยอร์ก[9][10]

เมื่อโอซากะอายุได้ 3 ขวบ ครอบครัวของเธอได้ย้ายจากญี่ปุ่นมาอยู่ที่วัลเลย์สตรีม นิวยอร์ก บนเกาะลองเพื่ออาศัยอยู่กับปู่และย่าของเธอ พ่อของโอซากะได้รับแรงบันดาลใจให้สอนลูกสาวเล่นเทนนิสด้วยการดู วีนัส วิลเลียมส์ แข่งขันในรายการเฟรนช์โอเพนปี 1999 เขาพยายามเลียนแบบวิธีที่ Richard Williams (พ่อของวิลเลียมส์) ฝึกฝนลูกสาวของเขาให้กลายเป็นสองผู้เล่นที่เก่งที่สุดในโลก แม้จะไม่เคยเล่นกีฬานี้มาก่อน เขาเริ่มสอนนาโอมิและมารีเมื่อพวกเขาตั้งรกรากอยู่ในสหรัฐอเมริกา ในปี 2006 ครอบครัวของโอซากะย้ายไปฟลอริดาเมื่อนาโอมิอายุประมาณ 9 ขวบ เพื่อที่พวกเขาจะได้มีโอกาสฝึกฝนมากขึ้น โอซากะได้เข้าฝึกที่สถาบัน "Harold Solomon Tennis Academy"[11]

แม้ว่าโอซากะจะเติบโตที่สหรัฐอเมริกา แต่แม่ของเธอตัดสินใจให้เธอและพี่สาวลงแข่งขันในนามทีมชาติญี่ปุ่น โดยแม่ของเธอกล่าวว่า "ฉันได้ตัดสินใจเรื่องนี้มาตั้งแต่ที่ทั้งคู่ยังเด็ก ฉันเป็นคนญี่ปุ่นและลูกสาวทั้งสองก้มีเลือดความเป็นญี่ปุ่นอยู่ในตัว" และ โอซากะก็รู้สึกมาตลอดว่าเธอคือคนญี่ปุ่น โดยสมาคมเทนนิสแห่งสหรัฐอเมริกา (USTA) เคยเสนอโอกาสใหโอซากะเข้ารับการฝึกฝนที่ศูนย์ฝึกแห่งชาติในโบคาเรตัน และ เสนอโอกาสให้เธอเป็นนักเทนนิสอาชีพในนามทีมชาติสหรัฐอเมริกาเมื่อเธออายุ 16 ปี แต่เธอปฏิเสธ[12] นอกจากนี้เธอก็ยังไม่ลืมเชื้อสายเฮติของคุณพ่อ ซึ่งบ่อยครั้งเวลาได้ยินคนพูดว่าเธอเป็นนักเทนนิสชาวญี่ปุ่น เธอก็จะต้องรีบพูดเสริมต่อว่าเธอเป็นลูกครึ่งเฮติ-ญี่ปุ่น

ประวัติการเล่นอาชีพ

แก้

   รายการแรกที่เธอลงแข่งขันคือ การแข่งขันดับเบิลยูทีเอ แบงค์ ออฟ เวสต์ คลาสสิค เมื่อปี 2014 โดยลงเล่นตั้งแต่รอบคัดเลือกจนสามารถผ่านเข้าสู่รอบเมน ดรอว์ (รอบแรก) และ เพียงแค่รายการแรกที่ลงแข่ง เธอก็สามารถสร้างชื่อเสียงได้ทันทีโดยการเอาชนะ ซาแมนธา สโตเซอร์ ซึ่งเป็นถึงแชมป์แกรนด์สแลม ยูเอสโอเพนปี 2011 ได้ในรอบนี้

   จากนั้นเริ่มต้นปี 2016 เธอลงแข่งขันรายการแกรนด์สแลมแรกในชีวิตในรายการออสเตรเลียนโอเพน และ สามารถผ่านเข้าถึงรอบที่สาม ก่อนที่จะแพ้ให้กับ วิคตอเรีย อซาเรนกา ต่อมา ในช่วงเทศกาลคอร์ตดิน เธอสามารถผ่านเข้าถึงรอบที่สามในแกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพน

   ในปี 2017 ชื่อเสียงเธอเริ่มโด่งดังยิ่งขึ้นในรายการยูเอสโอเพน โอซากะ ในวัย 19 ปี สามารถเอาชนะ แองเจลิค เคอร์เบอร์ แชมป์เก่าจากเยอรมนีได้ในรอบแรก ก่อนจะต้องหยุดเส้นทางที่รอบสาม เมื่อพ่ายต่อ คาเอีย คาเนปิ 1-2 เซต

ต่อมาในปี 2018 เธอสามารถก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดในอาชีพนักเทนนิสของเธอในวัยเพียง 20 ปี เธอได้พบกับนักเทนนิสผู้เป็นต้นแบบในวัยเด็กของเธออย่าง เซเรนา วิลเลียมส์ โดยการพบกันครั้งนี้ เธอมี ซาสช่า บายิน อดีตโค้ชของเซรีน่ามาเป็นติวเตอร์ให้กับเธออีกด้วยและเธอก็สามารถเอาชนะ อดีตแชมป์แกรนด์ สแลม 23 สมัย ไปได้อย่างเหนือความคาดหมายพร้อมทั้งสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักเทนนิสชาวญี่ปุ่นคนแรกที่คว้าตำแหน่งชนะเลิศในรายการแกรนด์สแลมได้

โอซากะยังคงทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมอย่างต่อเนื่องในปี 2019 โดยในปีนี้เธอสามารถคว้าตำแหน่งชนะเลิศแกรนด์สแลมได้อีกหนึ่งรายการ ในการแข่งขันออสเตรเลียนโอเพนในเดือนมกราคมโดยเอาชนะ เพทรา วิโทวา ได้ในรอบชิงชนะเลิศ[13] และเธอยังสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ของโลกได้เป็นครั้งแรกในอาชีพในปีนี้และทำสถิติเป็นผู้เล่นชาวเอเชียคนแรกที่สามารถครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ได้

อ้างอิง

แก้
  1. "Naomi Osaka: WTA Tennis". WTA. สืบค้นเมื่อ 19 March 2018.
  2. Rothenberg, Ben. "U.S. Open Tennis Final: Naomi Osaka Defeats Serena Williams" (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-09-08.
  3. "Stats: Naomi Osaka is Asia's first World no.1". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2019-01-26.
  4. "Naomi Osaka | Player Stats & More – WTA Official". Women's Tennis Association (ภาษาอังกฤษ).
  5. "Osaka beats angry Williams to win US Open". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-06-19.
  6. McDonald, Soraya Nadia (2020-09-13). "Naomi Osaka made sure Black lives mattered at the US Open". The Undefeated (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  7. "Naomi Osaka: The 100 Most Influential People of 2019". TIME (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  8. www.eurosport.com https://www.eurosport.com/geoblocking.shtml. {{cite web}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  9. Larmer, Brook (2018-08-23). "Naomi Osaka's Breakthrough Game". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-06-19.
  10. "Japanese, Haitian, and now a Grand Slam winner: Naomi Osaka's historic journey to the U.S. Open". Washington Post (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0190-8286. สืบค้นเมื่อ 2021-06-19.
  11. "Naomi Osaka: Japanese Firepower". www.tennisviewmag.com.
  12. Perrotta, Tom (2018-09-12). "Naomi Osaka: The Tennis Star Who Was Overlooked by Everyone". Wall Street Journal (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0099-9660. สืบค้นเมื่อ 2021-06-19.
  13. Ganguly, Sudipto (2019-01-27). "Osaka edges Kvitova to claim Australian Open crown". Reuters (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-06-19.