นาฬิกาหกชั่วโมง

นาฬิกาหกชั่วโมง เป็นระบบการนับเวลาแต่โบราณซึ่งใช้ในภาษาไทยและภาษาลาว ควบคู่กันไปกับนาฬิกายี่สิบสี่ชั่วโมงที่ใช้อย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกับระบบอื่นที่ใช้กันทั่วไป ระบบดังกล่าวนับว่าหนึ่งวันมียี่สิบสี่ชั่วโมง แต่ในหนึ่งวันจะแบ่งออกเป็นสี่ส่วน ส่วนละหกชั่วโมง

การเรียก แก้

วิธีนับเวลาตามประเพณี แบ่งเป็น 3 ช่วงหลัก คือ โมง ทุ่ม และตี

  • โมง หมายถึง วิธีนับเวลาตามประเพณีในเวลากลางวัน ถ้าเป็นเวลาก่อนเที่ยงวัน ตั้งแต่ 7 นาฬิกา ถึง 11 นาฬิกา เรียกว่า โมงเช้า ถึง 5 โมงเช้า ถ้าเป็น 12 นาฬิกา นิยมเรียกว่า เที่ยงวัน ถ้าหลังเที่ยงวัน ตั้งแต่ 13 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา เรียกว่า บ่ายโมง ถึง บ่าย 5 โมง ถ้า 18 นาฬิกา นิยมเรียกว่า 6 โมงเย็น หรือ ยํ่าคํ่า
  • ทุ่ม หมายถึง วิธีนับเวลาตามประเพณีสำหรับ 6 ชั่วโมงแรกของกลางคืน ตั้งแต่ 19 นาฬิกา ถึง 24 นาฬิกา เรียกว่า 1 ทุ่ม ถึง 6 ทุ่ม แต่ 6 ทุ่ม นิยมเรียกว่า สองยาม หรือ เที่ยงคืน และจะเรียกไปตามลำดับตัวเลข 7 ทุ่ม 8 ทุ่ม 9 ทุ่มเป็นต้น
  • "ตี หมายถึง วิธีนับเวลาตามประเพณีในเวลากลางคืน หลังเที่ยงคืน ตั้งแต่ 1 นาฬิกา ถึง 6 นาฬิกา เรียกว่า ตี 1 ถึง ตี 6 แต่ตี 6 นิยมเรียกว่า ยํ่ารุ่ง [1]


ชื่อเรียกต่าง ๆ เหล่านี้มาจากเสียงของการบอกเวลาแต่โบราณ ซึ่งใช้ฆ้องในการบอกโมงยามในเวลากลางวัน และใช้กลองในเวลากลางคืน คำว่า "โมง" อันเป็นเสียงเลียนธรรมชาติของเสียงฆ้อง และ "ทุ่ม" ซึ่งเป็นการเลียนเสียงกลอง ตี เป็นคำกริยาสามารถหมายถึงทำให้เกิดเสียง [2] ส่วน "เช้า" และ "บ่าย" เป็นคำช่วยแบ่งครึ่งช่วงกลางวัน

ชั่วโมงที่หกของแต่ละส่วนนั้นเรียกโดยใช้คำแตกต่างกัน ชั่วโมงที่หกที่ตรงกับรุ่งเช้านั้นจะเรียกว่า ย่ำรุ่ง ชั่วโมงที่หกในช่วงเย็นนั้นจะเรียกว่า ย่ำค่ำ ซึ่งทั้งสองคำหมายถึงการตีฆ้องหรือกลองเป็นลำดับเพื่อบอกให้ทราบถึงการเปลี่ยนช่วงเวลา (ย่ำ) ส่วน รุ่ง และ ค่ำ หมายถึง ช่วงเช้าและช่วงเย็น ที่ใช้แสดงถึงเวลา ช่วงที่อยู่กลางกลางวันและกลางคืนเรียกว่า เที่ยงวัน และ เที่ยงคืน ตามลำดับ

เที่ยงคืนยังเรียกว่า สองยาม ซึ่งหมายความว่าเป็นจุดสิ้นสุดของการนับยามช่วงที่สอง นอกเหนือจากนี้ หกทุ่ม และ ตีหก ยังอาจใช้หมายถึงเที่ยงคืนหรือหกโมงเช้า

ประวัติ แก้

ระบบนี้ใช้กันมาในบางรูปแบบตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ได้รับการจัดให้เป็นหมวดหมู่คล้ายกับในปัจจุบันในปี พ.ศ. 2444 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 17 หน้า 206[3] ปัจจุบันระบบดังกล่าวใช้ในการสนทนาระดับไม่เป็นทางการเท่านั้น

ตารางเปรียบเทียบ แก้

เวลา นาฬิกาหกชั่วโมง นาฬิกาหกชั่วโมง (แผลง) นาฬิกายี่สิบสี่ชั่วโมง
1:00 น. ตีหนึ่ง ตีหนึ่ง หนึ่งนาฬิกา
2:00 น. ตีสอง ตีสอง สองนาฬิกา
3:00 น. ตีสาม, ยามสาม ตีสาม สามนาฬิกา
4:00 น. ตีสี่ ตีสี่ สี่นาฬิกา
5:00 น. ตีห้า ตีห้า ห้านาฬิกา
6:00 น. ย่ำรุ่ง, ตีหก, ยามสี่ ตีหก, หกโมงเช้า, หกโมง หกนาฬิกา
7:00 น. โมงเช้า, หนึ่งโมงเช้า เจ็ดโมงเช้า, เจ็ดโมง เจ็ดนาฬิกา
8:00 น. สองโมงเช้า แปดโมงเช้า, แปดโมง แปดนาฬิกา
9:00 น. สามโมงเช้า เก้าโมง เก้านาฬิกา
10:00 น. สี่โมงเช้า สิบโมง สิบนาฬิกา
11:00 น. ห้าโมงเช้า สิบเอ็ดโมง สิบเอ็ดนาฬิกา
12:00 น. เที่ยงวัน, เที่ยง เที่ยงวัน, เที่ยง สิบสองนาฬิกา
13:00 น. บ่ายโมง บ่ายโมง, บ่ายหนึ่ง สิบสามนาฬิกา
14:00 น. บ่ายสองโมง บ่ายสอง สิบสี่นาฬิกา
15:00 น. บ่ายสามโมง บ่ายสาม สิบห้านาฬิกา
16:00 น. บ่ายสี่โมง สี่โมงเย็น, สี่โมง สิบหกนาฬิกา
17:00 น. บ่ายห้าโมง ห้าโมงเย็น, ห้าโมง สิบเจ็ดนาฬิกา
18:00 น. ย่ำค่ำ, หกโมงเย็น หกโมงเย็น, หกโมง สิบแปดนาฬิกา
19:00 น. หนึ่งทุ่ม หนึ่งทุ่ม สิบเก้านาฬิกา
20:00 น. สองทุ่ม สองทุ่ม ยี่สิบนาฬิกา
21:00 น. สามทุ่ม, ยามหนึ่ง สามทุ่ม ยี่สิบเอ็ดนาฬิกา
22:00 น. สี่ทุ่ม สี่ทุ่ม ยี่สิบสองนาฬิกา
23:00 น. ห้าทุ่ม ห้าทุ่ม ยี่สิบสามนาฬิกา
24:00 น., 00:00 น. หกทุ่ม, เที่ยงคืน, สองยาม หกทุ่ม, เที่ยงคืน ยี่สิบสี่นาฬิกา, ศูนย์นาฬิกา

อ้างอิง แก้

  1. ศรีอำไพ, รัตติกาล. "โมง-ทุ่ม-ตี". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. สืบค้นเมื่อ 29 March 2022.
  2. Thongprasert, Chamnong (1985), "ทุ่ม-โมง-นาฬิกา (Thum-Mong-Nalika)", ภาษาไทยไขขาน (Thai Unlocked), Bangkok: Prae Pitaya Press, pp. 229–237. (ไทย)
  3. "ประกาศใช้ทุ่มโมงยาม" (PDF), Royal Gazette, no. 17, p. 206, 29 July 1901, สืบค้นเมื่อ 2008-10-18. (ไทย)
  • Royal Institute (2003), พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ (Royal Institute Dictionary, BE 2542), Bangkok: Nanmee Books Publications, ISBN 974-9588-04-5. (ไทย)