นาซีเลอมัก

(เปลี่ยนทางจาก นาซี ลมะก์)

นาซีเลอมัก (มลายู: nasi lemak) หรือที่ในภาษามลายูปัตตานีเรียกว่า นาซิ ลือเมาะ (ออกเสียง: [nasiˀ lɨmɔˀ])[6] และที่ในบางครั้งเรียกเป็นภาษาไทยว่า ข้าวมันมลายู[7][8] เป็นข้าวเจ้าหุงกับกะทิ ซึ่งพบในมาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์[9] หมู่เกาะรีเยาของอินโดนีเซีย และภาคใต้ของไทย[8] มาเลเซียกล่าวว่าอาหารชนิดนี้เป็นอาหารประจำชาติและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมาเลเซีย แม้ว่าจะมีการแพร่กระจายในบริเวณอื่น ๆ[10] อาหารนี้เป็นคนละชนิดกับนาซีดากัง (นาซิ ดาแกฺ) ซึ่งเป็นที่นิยมทางชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรมลายู คือกลันตันและตรังกานู แต่ทั้งนาซีเลอมักและนาซีดากังก็เป็นอาหารเช้าที่แพร่หลาย

นาซีเลอมัก
นาซีเลอมักกับปลาร้า ถั่วลิสง ไข่ แกงแกะ ผัก และซัมบัล
ชื่ออื่นนาซิ ลือเมาะ, ข้าวมันมลายู
มื้อจานหลักสำหรับมื้อเช้า
แหล่งกำเนิดมาเลเซีย[1][2][3][4][5]
ภูมิภาคแพร่หลายทั่วไปในมาเลเซีย พบในสิงคโปร์ หมู่เกาะรีเยาในอินโดนีเซีย และภาคใต้ของไทยด้วย
ผู้สร้างสรรค์อาหารมาเลเซีย
อุณหภูมิเสิร์ฟร้อนหรืออุณหภูมิห้อง
ส่วนผสมหลักข้าวหุงกับกะทิ กินกับอาหารอื่น ๆ
รูปแบบอื่นนาซีอูดุกในอินโดนีเซีย
นาซีเลอมักห่อด้วยใบตอง

คำว่า นาซีเลอมัก ในภาษามลายูหมายถึงข้าวมัน โดยนำข้าวไปแช่ในกะทิ แล้วนำส่วนผสมไปนึ่ง กระบวนการปรุงคล้ายกับอาหารอินโดนีเซียคือนาซีอูดุก บางครั้งจะเติมใบเตยหอมลงบนข้าวขณะนึ่งเพื่อให้เกิดกลิ่นหอม อาจเพิ่มเครื่องเทศบางชนิด ได้แก่ ขิงและตะไคร้ เพื่อเพิ่มความหอม

การรับประทานแบบพื้นบ้านจะห่อด้วยใบตอง ใส่แตงกวาหั่น ปลากะตักแห้งทอด (ikan bilis) ถั่วลิสงอบ ไข่ต้มแข็ง และซัมบัลซึ่งเป็นซอสมีลักษณะคล้ายน้ำพริก รสเผ็ด นาซีเลอมักนี้อาจจะรับประทานกับไก่ทอด (ayam goreng) ผักบุ้งผัด หมึกผัดพริก (sambal sotong) หอยแครง อาจาด เรินดังเนื้อ (แกงเนื้อกับกะทิและเครื่องเทศ) หรือปอดวัว (paru) อาหารเหล่านี้ส่วนใหญ่มีรสเผ็ด

นาซีเลอมักเป็นที่นิยมรับประทานในมาเลเซียและสิงคโปร์ นิยมกินเป็นอาหารเช้าทั้งสองประเทศ หรือรับประทานในภัตตาคารเป็นอาหารกลางวันหรืออาหารเย็น มีขายทั้งในศูนย์อาหารของสิงคโปร์และข้างถนนในมาเลเซีย นาซีเลอมักกูกุซ (nasi lemak kukus) หรือข้าวมันนึ่ง เป็นอีกชื่อหนึ่งของนาซีเลอมักที่ปรุงให้สุกด้วยการนึ่ง

รูปแบบที่หลากหลาย

แก้

ในมาเลเซียและสิงคโปร์ นาซีเลอมักมีรูปแบบที่หลากหลาย แปรผันไปตามผู้ปรุงจากต่างวัฒนธรรม นาซีเลอมักแบบดั้งเดิมของมาเลเซียพบทางตอนใต้และตอนกลางของคาบสมุทรมลายู ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนและอินเดียนิยมบริโภคนาซีเลอมักเช่นกัน ซัมบัลที่รับประทานคู่กับนาซีเลอมักมีตั้งแต่รสเผ็ดจนถึงรสหวาน นาซีเลอมักทางตะวันตกเฉียงเหนือมักรับประทานกับแกงด้วย ส่วนทางตะวันออกเฉียงเหนือ นาซีดากังข้าวยำหรือนาซี-กราบู และนาซีเบอร์เลาก์เป็นที่นิยมมากกว่า ส่วนในรัฐซาราวักและซาบะฮ์ไม่นิยมรับประทานนาซีเลอมัก

  • แบบของชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย คล้ายคลึงกับรูปแบบดั้งเดิมของชาวมลายู ต่างกันที่ชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดียส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดูและไม่รับประทานเนื้อวัว
  • แบบของชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน จะมีแบบที่ใช้เนื้อหมูในการปรุงซึ่งไม่ใช่อาหารฮาลาล
  • แบบของหมู่เกาะรีเยา นิยมใส่ปลาชิ้นเล็กที่เรียกอีกันตัมบัน ซึ่งมักจะทอดให้กรอบ กินกับซัมบัล
  • แบบของชาวสิงคโปร์เชื้อสายมลายู นิยมใช้ปลาร้า ที่เรียกอีกันบีลิซ ถั่ว ปลาทอด แตงกวา บางครั้งใส่ไข่
  • แบบของชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีน นิยมใส่มะรุมทอด ลูกชิ้นปลา และแกงผัก
  • แบบมังสวิรัติ มักพบในกัวลาลัมเปอร์ โดยแทนที่ปลาหมักด้วยปลาร้าเจ

นอกจากนี้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2017 แมคโดนัลด์กิจการร้านอาหารจานด่วนระดับโลกของอเมริกา สำหรับสาขาในสิงคโปร์ได้ผลิตนาซีเลอมักในรูปแบบของแฮมเบอร์เกอร์ด้วย โดยใช้ขนมปังแทนข้าว เมนูนี้ได้รับความนิยมมาก แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ออกมาสองกระแส คือ บ้างก็บอกว่ามีรสชาติอร่อยเหมือนนาซีเลอมักต้นฉบับ แต่บ้างก็บอกว่าไม่อร่อยและขาดเอกลักษณ์ของนาซีเลอมักไป[11]

ภาพ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "#CNNFoodchallnge: What's your national dish?". CNN Travel (ภาษาอังกฤษ). 18 กันยายน 2015. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2018.
  2. Teh, Eng Hock (17 กันยายน 2009). "Laksa and nasi lemak among our pride, says Yen Yen". www.thestar.com.my. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2018. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2018.
  3. Ahmad, Aida (19 พฤศจิกายน 2014). "Nasi lemak - once a farmer's meal, now Malaysia's favourite". www.thestar.com.my. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2018.
  4. "Malaysia's top 40 foods". CNN Travel (ภาษาอังกฤษ). 30 พฤศจิกายน 2017. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2018.
  5. Ram, Sadho (18 พฤษภาคม 2014). "Ipoh-Born Ping Coombes Wins MasterChef 2014 By Cooking Nasi Lemak And Wanton Soup". SAYS.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2018.
  6. นูรีดา หะยียะโกะ (2018). พจนานุกรมภาพ ภาษาไทย-มลายูปาตานี-มลายูกลาง (4 ed.). กรุงเทพฯ: มูลนิธิเอเชีย. p. 113. ISBN 978-616-90754-2-4.
  7. นันทนา ปรมานุศิษฎ์ (2013). โอชาอาเซียน (Asean flavors). กรุงเทพฯ: มติชน. p. 205. ISBN 978-974-02-1180-8.
  8. 8.0 8.1 สุนีย์ วัฑฒนายน (มกราคม–มิถุนายน 2014). "6 อาหารท้องถิ่น วัฒนธรรมการกินแบบพื้นบ้าน สืบสานสู่อาเซียน". วารสารมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. 1 (1): 39. ISSN 2350-9902.
  9. "Nasi lemak". YourSingapore.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012.
  10. "Nasi Lemak". Malaysia.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 กันยายน 2012. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2010.
  11. "แมคโดนัลด์สิงคโปร์เปิดเมนูท้องถิ่น". ASEAN+. กรุงเทพธุรกิจ. ปีที่ 29 ฉบับที่ 10534: วันพุธที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 หน้า 12. OCLC 950630126.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้