นันทนา สงฆ์ประชา

นางนันทนา สงฆ์ประชา (เกิด 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาภิวัฒน์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยนาท เขต 2 ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี พ.ศ. 2554 สังกัดพรรคภูมิใจไทย เป็นบุคคลหนึ่งที่มีความศรัทธาในวัดพระธรรมกาย[1]

นันทนา สงฆ์ประชา
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501 (65 ปี)
อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท
พรรคการเมืองชาติไทย (2550–2551)
ภูมิใจไทย (2552–2556,2565–ปัจจุบัน)
เพื่อไทย (2556–2561)
ประชาภิวัฒน์ (2561–2565)

ประวัติ แก้

นันทนา สงฆ์ประชา (ชื่อเล่น : มันแกว) เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501 เป็นบุตรของนายบุญธง สงฆ์ประชา อดีต ส.ส. ชัยนาท และนางจันทร์เพ็ญ สงฆ์ประชา มีพี่น้อง 5 คน อาทิ นายมนตรี สงฆ์ประชา อดีตกำนันตำบลไพรนกยูง อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท นางจิรดา สงฆ์ประชา อดีตนายก อบจ.ชัยนาท นายมณเฑียร สงฆ์ประชา อดีต ส.ส. ชัยนาท และ นายศักดิ์สิทธิ์ สงฆ์ประชา อดีตสมาชิกสภาจังหวัดชัยนาท

นันทนา สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาการเงินการธนาคาร UNIVERSITY OF THE EAST ประเทศฟิลิปปินส์ เธอเคยสมรส ปัจจุบันสถานภาพหย่าจากคู่สมรสแล้ว มีบุตร 2 คน

งานการเมือง แก้

นันทนา เป็นอดีตสมาชิกสภาจังหวัด (พ.ศ. 2538) ประธานสภาจังหวัดชัยนาท (พ.ศ. 2539-2547) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยนาท (พ.ศ. 2541-2542) จากนั้นได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ชุดปี พ.ศ. 2543[2] ปี พ.ศ. 2549 ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดชัยนาทอีกครั้ง และได้รับการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เพราะเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เสียก่อน หลังจากนั้นเมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 นางนันทนา และนายมณเฑียร (พี่ชาย) จึงลงสมัครรับเลือกตั้งสังกัดพรรคชาติไทย และได้รับการเลือกตั้งทั้งสองคน แต่ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งตัดสินให้ใบแดงในเวลาต่อมา

กลางปี พ.ศ. 2552 นางนันทนาย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทย[3] ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางพรทิวา นาคาศัย) ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปปี พ.ศ. 2554 นางนันทนาได้รับการเลือกตั้ง โดยเอาชนะนายชัยวัฒน์ ทรัพย์รวงทอง อดีต ส.ส. จากพรรคเพื่อไทย

ในปี พ.ศ. 2556 นางนันทนา ได้แสดงจุดยืนทางการเมืองว่าให้การสนับสนุนพรรคเพื่อไทย แม้ว่าตนจะสังกัดพรรคการเมืองฝ่ายค้านก็ตาม โดยเฉพาะในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2557 ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 เธอได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการ ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย แม้ว่าจะถูกคัดค้านจากพรรคประชาธิปัตย์ ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และขัดต่อเจตนารมของรัฐธรรมนูญในมาตรา 135[4] ต่อมาหลังการยุบสภาในเดือนพฤศจิกายน นางนันทนาได้ย้ายเข้าพรรคเพื่อไทยในที่สุด และลงสมัครรับเลือกตั้งในปีถัดมา แต่กกต.ประกาศการเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ใน พ.ศ. 2561 นางนันทนาได้ย้ายจากพรรคเพื่อไทยมาสังกัด พรรคประชาภิวัฒน์ ที่จัดตั้งขึ้นใหม่โดยรับตำแหน่งเลขาธิการพรรค และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (เลื่อนแทน) ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562[5] ต่อมาจึงย้ายกลับไปร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทย และได้เลื่อนขึ้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ แทนศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567[6]

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แก้

นันทนา สงฆ์ประชา ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว 3 สมัย คือ

  1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 จังหวัดชัยนาท สังกัดพรรคภูมิใจไทย
  2. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคประชาภิวัฒน์ (เลื่อนแทน)
  3. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคภูมิใจไทย (เลื่อนแทน)

สมาชิกวุฒิสภา แก้

นันทนา สงฆ์ประชา ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภามาแล้ว 1 สมัย คือ

  1. การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2543 จังหวัดชัยนาท

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. เอาแล้วไง? พรรคประชาภิวัฒน์ สิบล้อพ่วง "ธรรมกาย"!
  2. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เขตเลือกตั้งจังหวัดชัยนาท (นางนันทนา สงฆ์ประชา)[ลิงก์เสีย]
  3. 'นันทนา สงฆ์ประชา' อดีตส.ส.ชาติไทย เปิดตัว ภท.
  4. ปชป.ไม่เห็นด้วยตั้ง "นันทนา" เป็นกมธ.ในสัดส่วนเพื่อไทย
  5. ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง (นางนันทนา สงฆ์ประชา พรรคประชาภิวัฒน์)
  6. “เจ๊มันแกว” นั่ง สส. แทน “น้องเพลง” หลังเปิดทางลาออกสมาชิกพรรคภูมิใจไทย
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๖๓ เก็บถาวร 2022-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑ ข หน้า ๖, ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๔ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๒๔ ข หน้า ๓๐, ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔

แหล่งข้อมูลอื่น แก้