นักบุญอันนา
นักบุญอันนา[1] (ละติน: Anna อันนา; ฮีบรู: חַנָּה ฮันนาห์) สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าดาวิด และเป็นมารดาของมารีย์ (มารดาพระเยซู) ชื่ออันนาเป็นภาษาละตินมาจากภาษาฮีบรู “Hannah” พระวรสารนักบุญยากอบระบุว่านักบุญอันนาและนักบุญโยอาคิมผู้เป็นสามีไม่มีลูกจนเมื่ออายุมาก วันหนึ่งก็มีทูตสวรรค์มาปรากฏตัวแล้วบอกว่าอันนาและโยอาคิมจะมีลูก นักบุญอันนาก็สัญญาว่าจะยกลูกให้ผู้รับใช้พระเป็นเจ้า กล่าวกันว่านักบุญอันนาและโยอาคิมยกมารีย์ให้พระเจ้าที่พระวิหารในกรุงเยรูซาเลมที่สองเมื่อมารีย์อายุได้สามขวบ[2] นักบุญอันนาเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา แคว้นเบรอตาญ ประเทศฝรั่งเศส สตรีใกล้คลอด และคนทำเหมือง
อันนา | |
---|---|
มารดาของพระนางมารีย์พรหมจารี | |
นิกาย | โรมันคาทอลิก อีสเติร์นออร์โธด็อกซ์ แองกลิคัน |
วันฉลอง | 26 กรกฎาคม (ตะวันตก) และ 25 กรกฎาคม (ตะวันออก). |
สัญลักษณ์ | หนังสือ ประตู กับมารีย์ พระเยซู และนักบุญยออากิม |
องค์อุปถัมภ์ | ช่างไม้, ผู้เป็นหมัน, รัฐมิชิแกน, ปู่ยาตายาย, แม่บ้าน, คนทำลูกไม้, คนทำเหมือง, แม่, ความจน, การมีท้อง, คนเลี้ยงม้า, และเมืองและประเทศต่างๆ |
เรื่องนี้คล้ายคลึงกับการเกิดของซามูเอลซึ่งฮันนาห์แม่ของซามูเอลก็เป็นหมันมาก่อน แต่ลัทธิบูชานักบุญอันนามิได้เป็นที่นิยมเท่าใดในคริสตจักรโรมันคาทอลิกก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 12[3] แต่การกล่าวถึงนักบุญอันนาในคริสตจักรอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์มึมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6[4] ตามความเชื่อของออร์ทอดอกซ์นักบุญอันนาเป็นบรรพชนของพระเจ้า (“Forbear of God”) เพราะเป็นมารดาพระแม่มารีย์ผู้ให้กำเนิดพระเยซูต่อมา และเป็นผู้อุทิศมารีย์ให้กับพระเจ้า
ทางตะวันตกรูปเคารพของนักบุญอันนาจะเป็นผู้แต่งกายด้วยเสื้อคลุมแดงและหมวกเสื้อคลุมสีเขียว หรือเป็นรูปร่วมกับแม่พระและพระกุมารเช่นรูป “พระนางพรหมจารีและพระกุมารกับนักบุญอันนา” ที่เขียนโดยเลโอนาร์โด ดา วินชี ราวปี ค.ศ. 1508 หรือที่ยิ่งซับซ้อนกว่านั้นเป็นรูปปั้นของนักบุญอันนาที่ให้เห็นมารีย์ในครรภ์และพระเยซูในครรภ์มารีย์[ต้องการอ้างอิง] การแสดงเช่นนี้คล้ายกับการแสดงตรีเอกภาพ บางครั้งจึงสร้างคู่กัน[ต้องการอ้างอิง]
นักเทววิทยาคริสเตียนหลายคนเชื่อกันว่านักบุญอันนาอาจจะแต่งงานหนเดียวกับโยอาคิมหรือแต่งงานสามครั้ง ความเชื่อโบราณจากคำเทศนาของนักบุญยอห์นแห่งดามัสกัสกล่าวว่านักบุญอันนาแต่งงานหนเดียว แต่สมัยปลายยุคกลางเชื่อกันว่าสามหน หนแรกกับโยอาคิม หนที่สองกับโคลปาส และหนที่สามกับ โซโลมาส และแต่ละครั้งก็มีลูกสาวคนหนึ่ง: มารีย์มารดาของพระเยซู มารีย์แห่งโคลปาส, และ มารีย์สะโลเม[5] แต่ความคิดเห็นนี้ถูกคัดค้านเมื่อปี ค.ศ. 1677 โดยศาสนจักรโรมันคาทอลิกโดยกล่าวว่าเมื่อมารีย์เกิดอันนาก็อายุมากแล้วและมารีย์เป็นลูกคนเดียวกับโยอาคิมสามีคนเดียว[ต้องการอ้างอิง]
การสันนิษฐานอีกข้อหนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 4 และอีกครั้งหนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ว่ามารีย์เกิดจากนักบุญอันนาโดยมิได้มีการสมสู่[ต้องการอ้างอิง] แต่ความคิดเห็นนี้ถูกคัดค้านเช่นเดียวกันเมื่อปี ค.ศ. 1677 ทางศาสนจักรคาทอลิกสอนว่าการเกิดของมารีย์เป็นการเกิดแบบปกติแต่ว่ามารีย์ก็ถูกเตรียมไม่ให้มีบาปเพื่อจะได้เป็นผู้ที่เหมาะสมในการให้กำเนิดพระเยซู
อ้างอิง
แก้- ↑ "ประวัตินักบุญตลอดปี:นักบุญยออากิมและนักบุญอันนา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-27. สืบค้นเมื่อ 2012-01-05.
- ↑ Jacobus de Voragine’s Golden Legend, Volume II, Chapter 131
- ↑ Virginia Nixon, Mary's Mother: Saint Anne in Late Medieval Europe (University Park, Pennsylvania: Pennsylvania State University Press), 12-14.
- ↑ Procopius' Buildings, Volume I, Chapter 11-12
- ↑ Golden Legend II.131