นอวาก จอกอวิช
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
นอวาก จอกอวิช (เซอร์เบีย: Новак Ђоковић, อักษรโรมัน: Novak Đoković, ออกเสียง: [nôʋaːk dʑôːkoʋitɕ] ( ฟังเสียง);[5] เกิด: 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1987) เป็นนักเทนนิสอาชีพชายชาวเซอร์เบีย มือวางอันดับ 4 ของโลกคนปัจจุบัน[6] เขาเป็นผู้เล่นที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมประเภทชายเดี่ยวมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 24 สมัย และเป็นเจ้าของสถิติแชมป์เอทีพี มาสเตอร์ 1000 มากที่สุด 40 สมัย[7] รวมทั้งเป็นผู้เล่นคนเดียวที่คว้าแชมป์เอทีพี มาสเตอร์ 1000 ครบทั้ง 9 รายการ (Career Golden Masters) ซึ่งเขายังทำสถิติคว้าแชมป์แต่ละรายการได้อย่างน้อย 2 สมัย เขายังเป็นผู้เล่นที่คว้าแชมป์เอทีพี ไฟนอล[a] สูงสุด 7 สมัย จอกอวิชเป็นนักเทนนิสที่ครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ด้วยจำนวนสัปดาห์รวมที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ 428 สัปดาห์[8] และทำสถิติครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 เมื่อจบฤดูกาล 8 ครั้ง[9] และยังเป็นผู้เล่นคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่คว้าแชมป์การแข่งขันรายการหลักของเอทีพีครบทุกรายการ (Elite Titles)[10] ได้แก่ แชมป์แกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการ, แชมป์มาสเตอร์ทั้ง 9 รายการ, แชมป์เอทีพี ไฟนอล และเหรียญทองโอลิมปิก อีกทั้งยังเป็นนักเทนนิสที่ทำเงินรางวัลจากการแข่งขันมากที่สุดตลอดกาล[11] เขาคว้าแชมป์การแข่งขันประเภทชายเดี่ยวรวม 99 รายการ
จอกอวิชในปี 2017 | |
ชื่อจริง | Новак Ђоковић Novak Đoković |
---|---|
ประเทศ (กีฬา) | เซอร์เบียและมอนเตเนโกร (2003–2006) เซอร์เบีย (2006–ปัจจุบัน) |
ถิ่นพำนัก | มงเต-การ์โล ประเทศโมนาโก |
วันเกิด | เบลเกรด เซอร์เบีย ยูโกสลาเวีย (ปัจจุบันคือประเทศเซอร์เบีย) | 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1987
ส่วนสูง | 1.88 m (6 ft 2 in)[1][2] |
เทิร์นโปร | 2003 |
การเล่น | มือขวา (แบ็กแฮนด์สองมือ) |
ผู้ฝึกสอน | กอราน อิวานิเซวิช (2019–ปัจจุบัน) |
เงินรางวัล | 180,643,353 ดอลลาร์สหรัฐ
|
เว็บไซต์ทางการ | novakdjokovic.com |
เดี่ยว | |
สถิติอาชีพ | 1,086 –211 (83.7%) |
รายการอาชีพที่ชนะ | 98 |
อันดับสูงสุด | No. 1 (4 กรกฎาคม 2011) |
อันดับปัจจุบัน | No. 1 (11 กันยายน 2023)[3] |
ผลแกรนด์สแลมเดี่ยว | |
ออสเตรเลียนโอเพน | ชนะเลิศ (2008, 2011, 2012, 2013, 2015, 2016, 2019, 2020, 2021, 2023) |
เฟรนช์โอเพน | ชนะเลิศ (2016, 2021, 2023) |
วิมเบิลดัน | ชนะเลิศ (2011, 2014, 2015, 2018, 2019, 2021, 2022) |
ยูเอสโอเพน | ชนะเลิศ (2011, 2015, 2018, 2023) |
การแข่งขันอื่น ๆ | |
Tour Finals | ชนะเลิศ (2008, 2012, 2013, 2014, 2015, 2022, 2023) |
Olympic Games | (2024) |
คู่ | |
สถิติอาชีพ | 62–76 (44.9%) |
รายการอาชีพที่ชนะ | 1 |
อันดับสูงสุด | No. 114 (30 พฤศจิกายน 2009) |
อันดับปัจจุบัน | No. 537 (12 กันยายน 2022)[4] |
ผลแกรนด์สแลมคู่ | |
ออสเตรเลียนโอเพน | 1R (2006, 2007) |
เฟรนช์โอเพน | 1R (2006) |
วิมเบิลดัน | 2R (2006) |
ยูเอสโอเพน | 1R (2006) |
การแข่งขันแบบทีม | |
Davis Cup | ชนะเลิศ (2010) |
Hopman Cup | รองชนะเลิศ (2008, 2013) |
ประธานสมาคมผู้เล่นสมาคมเทนนิสอาชีพ | |
ดำรงตำแหน่ง 30 สิงหาคม 2016 – 30 สิงหาคม 2020 | |
ก่อนหน้า | อีริก บิวโทรัก |
ถัดไป | เควิน แอนเดอร์สัน |
ลายมือชื่อ | |
รายการเหรียญรางวัล | |
อัปเดตล่าสุดเมื่อ: 5 สิงหาคม 2567 |
จอกอวิชเริ่มเล่นอาชีพในปี 2003 และคว้าแชมป์แกรนด์สแลมครั้งแรกในออสเตรเลียนโอเพนปี 2008 ก่อนจะขึ้นสู่ตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ครั้งแรกในปี 2011 ซึ่งเป็นปีที่เขาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ 3 รายการ และแชมป์มาสเตอร์อีก 5 รายการ และก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 2010 จนถึงปัจจุบัน โดยคว้าแชมป์แกรนด์สแลมและแชมป์มาสเตอร์ได้มากกว่าผู้เล่นทุกคน และทำสถิติคว้าแชมป์เอทีพี ไฟนอล ติดต่อกัน 4 สมัย (ค.ศ. 2012–15) จอกอวิชประสบความสำเร็จมากที่สุดในปี 2015[12] โดยเข้าชิงชนะเลิศติดต่อกัน 15 รายการ และคว้าแชมป์แกรนด์สแลม 3 รายการ, แชมป์มาสเตอร์ 6 รายการ และแชมป์เอทีพี ไฟนอล ต่อมาในปี 2016 เขาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ครบทุกรายการในอาชีพ (Career Grand Slam) หลังจากคว้าแชมป์เฟรนช์โอเพน[13] ทำสถิติเป็นผู้เล่นชายคนเดียวในยุคโอเพน[b] ที่ได้แชมป์แกรนด์สแลม 4 รายการติดต่อกันแบบข้ามปี (ค.ศ. 2015–16), เป็นผู้เล่นชายคนแรกนับตั้งแต่ปี 1969 ที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลม 4 รายการติดต่อกัน, เป็นผู้เล่นคนเดียวที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมในพื้นคอร์ตทั้ง 3 ประเภท 4 รายการติดต่อกัน[c] และยังทำสถิติครองตำแหน่งอันดับ 1 ด้วยคะแนนที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ (16,950 คะแนน)[14] เขาต้องพักการแข่งขันในปี 2017 จากการบาดเจ็บข้อศอกก่อนจะกลับมาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมอีก 5 รายการระหว่างปี 2018–20
ในปี 2021 เขาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ 3 รายการอีกครั้ง โดยทำสถิติคว้าแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนเป็นครั้งที่ 9 มากที่สุดตลอดกาลสำหรับผู้เล่นชาย[15] ตามด้วยแชมป์เฟรนช์โอเพน ทำสถิติเป็นผู้เล่นชายคนแรกในยุคโอเพนที่ได้แชมป์แกรนด์สแลมทุกรายการอย่างน้อย 2 สมัย (Double Career Grand Slam)[16] ปิดท้ายด้วยแชมป์วิมเบิลดัน ถือเป็นผู้เล่นชายคนแรกตั้งแต่ปี 1969 ที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมสามรายการดังกล่าวได้ในปีเดียวกัน ในปี 2022 จอกอวิชตกเป็นกระแสวิจารณ์ในกรณีต่อต้านการฉีดวัคซีนโควิด-19 ส่งผลให้เขาพลาดลงแข่งขันหลายรายการรวมถึงแกรนด์สแลมออสเตรเลียนโอเพน และยูเอสโอเพน[17] แต่เขายังคว้าแชมป์วิมเบิลดันได้เป็นสมัยที่ 7 รวมทั้งแชมป์เอทีพีไฟนอล ต่อมาในปี 2023 เขาคว้าแชมป์แกรนด์สแลม 3 รายการได้เป็นครั้งที่สี่ เริ่มด้วยแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนสมัยที่ 10 ตามด้วยแชมป์เฟรนช์โอเพนซึ่งเป็นแชมป์แกรนด์สแลมสมัยที่ 23 มากที่สุดในประวัติศาสตร์ และเป็นนักเทนนิสชายคนแรกที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมทุกรายการได้อย่างน้อยสามสมัยในแต่ละรายการ[18] ปิดท้ายด้วยแชมป์ยูเอสโอเพน และแชมป์เอทีพีไฟนอลสมัยที่ 7 ซึ่งเป็นสถิติสูงสุด ในโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 จอกอวิชทำสถิติเป็นนักเทนนิสชายที่อายุมากที่สุดที่คว้าเหรียญทองในการแข่งขันประเภทชายเดี่ยว
ในการแข่งขันนานาชาติ จอกอวิชพาทีมเซอร์เบียคว้าแชมป์เดวิส คัพ[d] ในปี 2010 และ แชมป์เอทีพี คัพ ในปี 2020 และคว้าเหรียญทองเทนนิสประเภทชายเดี่ยวในโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 และเหรียญทองแดงในโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 จอกอวิชได้รับรางวัลนักกีฬาชายยอดเยี่ยมแห่งปีของลอริอุส 5 สมัย และสถิติรางวัลนักเทนนิสยอดเยี่ยมประจำปีของเอทีพี 8 สมัย และยังเคยดำรงตำแหน่งประธานสภานักเทนนิสของเอทีพีตั้งแต่ปี 2016–2020 เขาได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ขั้นสูงสุดของประเทศเซอร์เบีย และได้รับการยกย่องให้เป็นนักกีฬาชาวเซอร์เบียที่ยิ่งใหญ่ที่สุด[19][20] เขาก่อตั้งมูลนิธิ Djokovic Foundation เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส[21] และได้รับแต่งตั้งเป็นทูตสันถวไมตรีของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ในปี 2015[22] จากความสำเร็จในแง่ของถ้วยรางวัลและสถิติส่วนตัวตลอดอาชีพ ส่งผลให้จอกอวิชได้รับการยกย่องจากสื่อ, ผู้เล่น และผู้ติดตามเทนนิสส่วนมากให้เป็นนักเทนนิสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล[23][24][25][26][27]
ชีวิตส่วนตัว
แก้จอกอวิชเติบโตในครอบครัวนักกีฬาโดยคุณพ่อของเขา (Srđan Đoković) เป็นนักสกีและประกอบธุรกิจเปิดร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในประเทศเซอร์เบีย[28] มารดาของเขาชื่อว่า "Dijana" จอกอวิชมีน้องชายชื่อ "มาร์กอ" ซึ่งเป็นนักเทนนิสอาชีพเช่นกัน จอกอวิชเริ่มเล่นเทนนิสตั้งแต่อายุ 4 ขวบ โดยในขณะอายุได้ 6 ขวบ เขาได้พบกับผู้ฝึกสอนหญิงชาวเซอร์เบีย "Jelena Genčić" ในร้านฟาสต์ฟู้ดของบิดาและมารดาของเขาซึ่ง Jelena รู้สึกทประทับใจกับผลงานของจอกอวิชจึงได้ตัดสินใจเป็นโค้ชให้กับเขาจนถึงปี 1999[29] ชีวิตในวัยเด็กของจอกอวิชค่อนข้างลำบากเนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจนและต้องต่อสู้กับภาวะสงครามในประเทศเซอร์เบีย[30][31] โดยเขาต้องฝึกซ้อมเทนนิสในสนามที่ผุผังจากการโดนระเบิด จอกอวิชก้าวสู่เส้นทางนักเทนนิสอาชีพเมื่ออายุ 12 ปี โดยได้เดินทางไปฝึกที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี เป็นเวลา 2 ปี นักเทนนิสต้นแบบที่เขาชื่นชอบคือ พีต แซมพราส เขาสามารถสื่อสารได้ 5 ภาษาได้แก่: ภาษาเซอร์เบีย, ภาษาอังกฤษ, ภาษาฝรั่งเศส, ภาษาเยอรมัน และ ภาษาอิตาเลียน[32]
จอกอวิชทานอาหารปลอดกลูเตนมาตั้งแต่ปี 2010[33] เนื่องจากถูกตรวจพบว่าตนเองมีอาการแพ้โปรตีนจากแป้งและเนื้อสัตว์ โดยเขาได้หันมาเน้นโปรตีนจากปลาเป็นหลักและเน้นการทานผักและผลไม้ เขาดื่มแต่น้ำอุ่นเท่านั้นเพราะเชื่อว่าน้ำเย็นจะไปทำให้ระบบการย่อยช้าลง[34] และไม่ดื่มแอลกอฮอล์[35]
เขาเป็นหนึ่งในนักเทนนิสที่มีอารมณ์ขัน[36] แต่ก็มักจะอารมณ์ร้อนเมื่อได้รับคำตัดสินที่ไม่เป็นธรรม และเคยปะทะคามรมกับกรรมการหลายครั้ง จอกอวิชยังมีความสนใจในพุทธศาสนา[37] โดยทุกครั้งที่เดินทางไปแข่งขันแกรนด์สแลมวิมเบิลดันที่ประเทศอังกฤษ เขาจะไปนั่งสมาธิ ณ วัดพุทธปทีป กรุงลอนดอน เป็นประจำ[38] และยังชื่นชอบการเล่นโยคะ จอกอวิชยอมรับว่าตนเองไม่ได้รับการยกย่องจากสื่อหรือแฟนเทนนิสเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับโรเจอร์ เฟเดเรอร์ และ ราฟาเอล นาดัล และมักถูกโจมตีทางสื่อสังคมออนไลน์รวมทั้งโดนโห่ในสนามบ่อยครั้ง[39][40][41]
จอกอวิชยังมีความสนใจในกีฬาฟุตบอลและบาสเกตบอล โดยมีทีมฟุตบอลที่ชื่นชอบคือเอซี มิลาน[42] และเบนฟิกา เขายังสนิทกับ ซลาตัน อีบราฮีมอวิช นักฟุตบอลชาวสวีเดน[43] และชื่นชอบ โคบี ไบรอันต์ ตำนานนักบาสเกตบอลผู้ล่วงลับ[44] เขาสมรสกับ เยเลนา จอกอวิช[45] ในปี 2014 มีบุตรชายและบุตรสาวอย่างละหนึ่งคน ได้แก่ "สเตฟาน"[46] และ "ทารา" เขามีสุนัขตัวโปรดพันธุ์พูเดิลชื่อว่า "ปิแอร์"[47] เขาได้เขียนหนังสือชื่อว่า "Serve to Win" วางจำหน่ายในเดือนสิงหาคม 2013[48] โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อสู้กับเหตุการณ์เลวร้ายที่เขาต้องเผชิญในวัยเด็กโดยเฉพาะภาวะสงครามในกรุงเบลเกรด และในหนังสือยังมีสูตรอาหารที่มีประโยชน์รวมทั้งวิธีการดูแลร่างกายเพื่อสุขภาพที่ดี จอกอวิชมีงานอดิเรกคือการเต้นรำ
ประวัติการเล่นอาชีพ
แก้2003–05: เริ่มต้นอาชีพ
แก้จอกอวิชเริ่มเล่นอาชีพในปี 2003 ในช่วงเริ่มต้น จอกอวิชลงเล่นในการแข่งขันประเภท Challenger (รายการสมัครเล่น) เป็นหลัก โดยคว้าแชมป์ได้ 3 สมัย ตั้งแต่ปี 2003 ถึง 2005 รายการระดับทัวร์ครั้งแรกของเขาคือ Umag ในปี 2004 ที่โครเอเชีย ซึ่งเขาตกรอบ 32 คนสุดท้าย
2006: แชมป์แรก
แก้จอกอวิชขึ้นสู่อันดับที่ 40 ของโลกหลังผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศแกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพน และผ่านเข้าถึงรอบ 4 ที่วิมเบิลดัน สามสัปดาห์หลังจากนั้น จอกอวิชคว้าแชมป์เอทีพีครั้งแรกในชีวิตในรายการดัตช์โอเพนที่เมืองอาเมอร์สฟูร์ต ประเทศเนเธอร์แลนด์[49] โดยไม่เสียเซตเลยตลอดการแข่งขัน เอาชนะ นิโคลัส มัซซู ในรอบชิงชนะเลิศ เขาคว้าแชมป์รายการที่สองที่โมเซลโอเพน ประเทศฝรั่งเศส และก้าวเข้าสู่ 20 อันดับแรกของโลกในวัย 19 ปี
2007: ขึ้นสู่มือวางอันดับ 3 ของโลก
แก้จอกอวิชแพ้เฟเดอเรอร์ในรอบที่ 4 ออสเตรเลียนโอเพน ก่อนจะคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 รายการแรกที่ไมแอมี และเข้ารอบรองชนะเลิศแกรนด์สแลมได้เป็นครั้งแรกในการแข่งขันเฟรนช์โอเพน[50] จอกอวิชคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 ใบที่สอง ที่มอนทรีออล และทำสถิติเป็นผู้เล่นคนที่สองต่อจากโทมัส เบอร์ดิช ที่เอาชนะทั้งเฟเดอเรอร์และนาดัลได้นับตั้งแต่ทั้งสองคนก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นสองอันดับแรกของโลก
จอกอวิชผ่านเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมได้เป็นครั้งแรก โดยพบกับเฟเดอเรอร์ในยูเอสโอเพนก่อนจะแพ้ไป 3 เซตรวด เขาจบฤดูกาลด้วยการขึ้นสู่ตำแหน่งมือวางอันดับ 3 ของโลก และได้สิทธิร่วมแข่งขันมาสเตอร์ คัพ (เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล ในปัจจุบัน) เป็นครั้งแรก แต่ไม่ผ่านรอบแบ่งกลุ่ม
2008: แชมป์แกรนด์สแลมแรก
แก้ในการแข่งขันออสเตรเลียนโอเพน จอกอวิชชนะเลิศแกรนด์สแลมได้เป็นครั้งแรก[51] โดยเอาชนะโจ-วิลฟรีด ซองกา 3–1 เซต และถือเป็นผู้เล่นชาวเซอร์เบียคนแรกที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ จอกอวิชชนะเลิศรายการมาสเตอร์ 1000 ได้อีกสองรายการที่อินเดียนเวลส์และกรุงโรม ก่อนจะตกรอบรองชนะเลิศเฟรนช์โอเพน และตกรอบวิมเบิลดัน เขาคว้าเหรียญทองแดงในการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง ก่อนจะแพ้เฟเดอเรอร์ในรอบรองชนะเลิศยูเอสโอเพน จอกอวิชจบฤดูกาลด้วยการคว้าแชมป์ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล สมัยแรก เอาชนะ นิโคไล ดาวิเดนโก[52]
2009: แชมป์ 5 รายการ
แก้จอกอวิชไม่สามารถป้องกันแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนได้ โดยเขาขอยอมแพ้ในรอบ 8 คนสุดท้ายที่พบกับแอนดี ร็อดดิก เนื่องจากอาการฮีทสโตรก แต่เขาคว้าแชมป์ที่ดูไบได้ โดยชนะดาวิต เฟร์เรร์ ก่อนจะคว้าแชมป์ที่เซอร์เบีย ต่อมา ในเฟรนช์โอเพน จอกอวิชตกรอบที่ 3 โดยแพ้ ฟิลิปป์ โคห์ลชไรเบอร์ และตกรอบวิมเบิลดันโดยแพ้ทอมมี แฮส ก่อนจะตกรอบยูเอสโอเพนโดยแพ้เฟเดอเรอร์ จอกอวิชคว้าแชมป์ที่ 3 ของปีในรายการไชน่าโอเพน ที่ประเทศจีน ตามด้วยแชมป์รายการที่ 4 ที่สวิตเซอร์แลนด์ เขาปิดท้ายฤดูกาลด้วยแชมป์มาสเตอร์ที่กรุงปารีส และครองตำแหน่งมือวางอันดับ 3
2010: แชมป์เดวิส คัพ และขึ้นสู่มือวางอันดับ 2 ของโลก
แก้จอกอวิชตกรอบ 8 คนสุดท้ายออสเตรเลียนโอเพน แต่เขาขึ้นสู่ตำแหน่งอันดับ 2 ของโลกได้เป็นครั้งแรก เขาคว้าแชมป์แรกของปีที่ดูไบ และพาทีมชาติเซอร์เบียผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายในเดวิส คัพได้เป็นครั้งแรก ก่อนที่จะตกรอบ 8 คนสุดท้ายในเฟรนช์โอเพน แพ้ เยอร์เกน เมลเซอร์ ตามด้วยการแพ้ โทมัส เบอร์ดิช ในรอบรองชนะเลิศวิมเบิลดัน
ต่อมา ในยูเอสโอเพน จอกอวิชเอาชนะเฟเดอเรอร์ได้เป็นครั้งแรกในรายการนี้ ก่อนจะเข้าไปแพ้นาดัลในรอบชิง จอกอวิชพาเซอร์เบียเอาชนะเช็กเกียในรอบรองชนะเลิศ เดวิส คัพ ได้ในเดือนต่อมา ก่อนจะป้องกันแชมป์ไชน่าโอเพนได้ ตามด้วยการพาทีมเดวิสคัพ ของเซอร์เบียคว้าแชมป์ได้เป็นสมัยแรกโดยเอาชนะฝรั่งเศสในรอบชิงชนะเลิศ[53][54]
2011: แชมป์แกรนด์สแลม 3 รายการ และขึ้นสู่มือวางอันดับ 1 ของโลก
แก้ในปีนี้ถือเป็นปีที่ดีที่สุดของจอกอวิชนับตั้งแต่เริ่มเล่นอาชีพ[55] โดยเขาคว้าตำแหน่งชนะเลิศได้ถึง 10 รายการ รวมทั้งคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ถึงสามรายการ ในออสเตรเลียนโอเพน, วิมเบิลดัน และ ยูเอสโอเพน โดยเอาชนะแอนดี มาร์รี ในรอบชิงชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพน และ เอาชนะนาดัลในรอบชิงชนะเลิศวิมเบิลดันและยูเอสโอเพน[56] และยังคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 ได้ถึง 5 รายการ รวมทั้งทำเงินรางวัลรวมจากการแข่งขันได้มากที่สุดในปีเดียว (สถิติในขณะนั้น) จำนวน 12 ล้านดอลลาร์ เขาจบฤดูกาลด้วยการคว้าชัยชนะได้ถึง 70 นัดและครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ของโลกเป็นครั้งแรก
2012: แชมป์ออสเตรเลียนโอเพนสมัยที่ 3
แก้จอกอวิชป้องกันแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนได้โดยชนะนาดัลในการแข่งขัน 5 เซต ซึ่งใช้เวลาแข่งขันยาวนานถึง 5 ชั่วโมง 53 นาที ถือเป็นรอบชิงชนะเลิศรายการแกรนด์สแลมที่ยาวนานที่สุด[57] และเป็นแชมป์แกรนด์สแลมรายการที่ 5 ก่อนจะป้องกันแชมป์รายการมาสเตอร์ 1000 ที่ไมแอมีได้ แต่เขาไม่สามารถคว้าแชมป์เฟรนช์โอเพนและวิมเบิลดันได้ โดยแพ้ให้กับนาดัลและเฟเดอเรอร์ตามลำดับ
จอกอวิชได้รับเกียรติให้เป็นผู้ถือธงชาติเซอร์เบียในพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 แต่เขาทำได้เพียงอันดับ 4 โดยแพ้แอนดี มาร์รีในรอบรองชนะเลิศและแพ้ฆวน มาร์ติน เดล โปโตรในรอบชิงเหรียญทองแดง ในแกรนด์สแลมยูเอสโอเพน จอกอวิชก็ไม่สามารถป้องกันแชมป์ได้ โดยแพ้มาร์รี เขาปิดท้ายด้วยการคว้าแชมป์เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล ที่กรุงลอนดอนได้เป็นสมัยที่ 2 และครองตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกเป็นปีที่สองติดต่อกัน[58]
2013: แชมป์ออสเตรเลียนโอเพนสมัยที่ 4
แก้จอกอวิชป้องกันแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนได้โดยเอาชนะมาร์รีในรอบชิงชนะเลิศ 3–1 เซต คว้าแชมป์สมัยที่ 4 และทำสถิติเป็นผู้เล่นชายคนเดียวในยุคโอเพนที่ได้แชมป์ออสเตรเลียนโอเพน 3 สมัยติดต่อกัน ตามด้วยแชมป์เอทีพี 500 ที่ดูไบ ก่อนจะแพ้ ฆวน มาร์ติน เดล โปโตร ในรอบรองชนะเลิศรายการมาสเตอร์ 1000 ที่อินเดียนเวลส์ ซึ่งเป็นการหยุดสถิติชนะรวดติดต่อกันทุกรายการ 22 นัดของตนเองลง ต่อมา เขาเอาชนะนาดัลได้ในรอบชิงชนะเลิศมาสเตอร์ 1000 ที่ มงเต-การ์โล คว้าแชมป์สมัยแรก แต่ไม่ประสบความสำเร็จในคอร์ตดินสามรายการใหญ่ที่เหลือทั้งที่กรุงมาดริด, กรุงโรม และแกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพน
จอกอวิชผ่านเข้าชิงชนะเลิศที่วิมเบิลดันและยูเอสโอเพนได้ ก่อนจะแพ้มาร์รี และนาดัลตามลำดับ ตามด้วยการคว้าแชมป์ที่ปักกิ่งสมัยที่ 4 และปิดท้ายฤดูกาลด้วยแชมป์มาสเตอร์ที่ปารีส และแชมป์ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล สมัยที่ 3 และบอริส เบกเคอร์ ตำนานผู้เล่นชาวเยอรมันได้เข้ามาทำหน้าที่ผู้ฝึกสอนให้แก่จอกอวิช[59]
2014: แชมป์วิมเบิลดันสมัยที่ 2
แก้จอกอวิชไม่สามารถป้องกันแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนได้ โดยแพ้ สตาน วาวรีงกา ในรอบ 8 คนสุดท้าย เป็นการหยุดสถิติชนะติดต่อกัน 25 นัดในรายการนี้ลง ก่อนจะคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 ได้สามรายการที่อินเดียนเวลส์, ไมแอมี และ กรุงโรม โดยเอาชนะเฟเดอเรอร์ได้ที่อินเดียนเวลส์ และชนะนาดัลที่ไมแอมีและกรุงโรม ต่อมา จอกอวิชผ่านเข้าชิงชนะเลิศเฟรนช์โอเพนได้แต่แพ้นาดัลไปอีกครั้ง แต่ยังคว้าแชมป์วิมเบิลดันได้ โดยเอาชนะเฟเดอเรอร์ในการแข่งขัน 5 เซต ก่อนที่จะตกรอบรองชนะเลิศยูเอสโอเพน ต่อมา จอกอวิชคว้าแชมป์ที่ปักกิ่งได้เป็นสมัยที่ 5 ในรอบ 6 ปี ชนะโทมัช เบอร์ดิช และปิดท้ายด้วยแชมป์ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล สมัยที่ 4 หลังจากที่เฟเดอเรอร์ถอนตัวในรอบชิงชนะเลิศ และเขาปิดฤดูกาลด้วยตำแหน่งอันดับ 1 เป็นครั้งที่ 3[60]
2015: หนึ่งในฤดูกาลที่ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์วงการเทนนิส
แก้ในปีนี้ถือเป็นปีที่จอกอวิชประสบความสำเร็จสูงที่สุดอีกครั้ง[61] เขาคว้าแชมป์คว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ถึง 3 รายการได้แก่ ออสเตรเลียนโอเพน (เอาชนะมาร์รีในรอบชิงชนะเลิศ), วิมเบิลดัน และ ยูเอสโอเพน (เอาชนะเฟเดอเรอร์) และคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 ได้ถึง 6 รายการ[62] และยังป้องกันแชมป์ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล จากการเอาชนะเฟเดอเรอร์ และทำสถิติเป็นผู้เล่นคนแรกที่ได้แชมป์ 4 สมัยติดต่อกัน โดยในปีนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในฤดูกาลที่ดีที่สุดเท่าที่นักเทนนิสชายเคยทำได้[63]
จอกอวิชทำสถิติคว้าแชมป์ได้ 11 รายการในปีเดียว และเป็นผู้เล่นชายคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์ที่เข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมได้ทั้ง 4 รายการในปีเดียวกัน (ต่อจาก ร็อด เลเวอร์ และ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์) และยังคว้าเงินรางวัลจากการแข่งขันในหนึ่งปีปฏิทินได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ (21 ล้านดอลลาร์) พร้อมทั้งรักษาตำแหน่งอันดับ 1 เอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น อย่างไรก็ตาม เขาต้องพลาดการคว้าแชมป์เฟรนช์โอเพนเป็นสมัยแรก เมื่อต้องผิดหวังในรอบชิงชนะเลิศอีกครั้งโดยแพ้ สตาน วาวรีงกา 1–3 เซต
2016: Career Grand Slam
แก้จอกอวิชเอาชนะนาดัลได้ในรอบชิงชนะเลิศที่โดฮา ตามด้วยการป้องกันแชมป์ออสเตรเลียนโอเพน โดยเอาชนะมาร์รีได้อีกครั้ง คว้าแชมป์สมัยที่ 6 เขายังคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 ได้ทั้งสองรายการที่อินเดียนเวลส์ และ ไมแอมี โดยเป็นปีที่สามติดต่อกันที่เขาคว้าแชมป์สองรายการดังกล่าวได้ ตามด้วยแชมป์มาสเตอร์ 1000 คอร์ตดินที่กรุงมาดริดโดยเอาชนะมาร์รี
ในการแข่งขันเฟรนช์โอเพน จอกอวิชประสบความสำเร็จในการคว้าแชมป์ได้เป็นสมัยแรก และคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ครบทุกรายการในอาชีพ (Career Grand Slam)[64] หลังจากที่เขาแพ้ในรอบชิงชนะเลิศมา 3 ครั้งก่อนหน้านี้ โดยถือเป็นผู้เล่นชายคนที่ 8 ในประวัติศาสตร์ที่สามารถทำ Career Grand Slam ได้ โดยชนะมาร์รีในรอบชิงชนะเลิศ 3–1 เซต และทำสถิติเป็นผู้เล่นชายคนแรกนับตั้งแต่ปี 1969 ที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลม 4 รายการติดต่อกัน, ผู้เล่นชายคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์ที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลม 4 รายการติดต่อกัน (ต่อจาก ดอน บัดจ์ และ ร็อด เลเวอร์), เป็นผู้เล่นคนเดียวที่ได้แชมป์แกรนด์สแลมในพื้นคอร์ตทั้ง 3 ประเภท 4 รายการติดต่อกัน (วิมเบิลดัน และ ยูเอสโอเพนใน 2015 - ออสเตรเลียนโอเพน และ เฟรนช์โอเพน 2016), เป็นผู้เล่นชายคนเดียวในยุคโอเพนที่ได้แชมป์แกรนด์สแลม 4 รายการติดต่อกันแบบข้ามปี (2015–16) และยังเป็นผู้เล่นที่ครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ด้วยคะแนนที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ (16,950 คะแนน)
อย่างไรก็ตามจอกอวิชต้องตกรอบที่ 3 ในวิมเบิลดัน โดยแพ้ แซม แควร์รี่ย์ ก่อนจะตกรอบแรกในโอลิมปิก แพ้ ฆวน มาร์ติน เดลโปโตร ไปอีกครั้ง ต่อมา จอกอวิชแพ้ สตาน วาวรีงกา คู่แข่งคนสำคัญอีกครั้งในรอบชิงชนะเลิศยูเอสโอเพน 1–3 เซต และทำได้เพียงรองแชมป์ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล โดยแพ้มาร์รีสองเซตรวด ก่อนจะเสียตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ให้มาร์รี และบอริส เบกเคอร์ ได้ประกาศยุติบทบาทการทำหน้าที่ผู้ฝึกสอนให้แก่จอกอวิช[65]
2017: บาดเจ็บ
แก้ในปี 2017 ถือเป็นปีที่ย่ำแย่ที่สุดของจอกอวิช เนื่องจากเขาต้องประสบปัญหาบาดเจ็บข้อศอกตลอดทั้งปี[66] ในเดือนพฤษภาคม อานเดร แอกัสซี ตำนานผู้เล่นชาวอเมริกันได้เข้ามาทำหน้าที่ผู้ฝึกสอนคนใหม่ให้แก่จอกอวิช เขาถอนตัวจากวิมเบิลดันในรอบ 8 คนสุดท้ายในขณะแข่งขันกับ โทมัส เบอร์ดิช เนื่องจากอาการบาดเจ็บในช่วงต้นเซตที่ 2 ซึ่งเขากล่าวว่าอาการบาดเจ็บข้อศอกขวานี้ได้รบกวนเขามาเป็นเวลานานร่วมปี ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม จอกอวิชได้ประกาศยุติการแข่งขันในทุกรายการที่เหลือเพื่อพักฟื้น[67]
2018: กลับสู่ความยิ่งใหญ่
แก้ภายหลังจากตกรอบที่ 4 ในออสเตรเลียนโอเพน จอกอวิชเข้ารับการผ่าตัดข้อศอก[68] และกลับมาลงแข่งขันอีกครั้งในรายการมาสเตอร์ที่ อินเดียนเวลส์ และ ไมแอมี แต่ก็ต้องตกรอบ ตามด้วยการตกรอบการแข่งขันคอร์ตดินทุกรายการ
จอกอวิชกลับสู่ความยิ่งใหญ่ได้อีกครั้งในวิมเบิลดัน แม้จะเป็นเพียงมือวางอันดับ 12 ของรายการแต่ก็สามารถคว้าแชมป์ได้ โดยเอาชนะนาดัลในรอบรองชนะเลิศซึ่งต้องใช้เวลาแข่งขันถึง 5 ชั่วโมง 17 นาที ถือเป็นนัดการแข่งขันที่ยาวนานที่สุดเป็นอันดับสองของรายการ ก่อนจะเอาชนะ เควิน แอนเดอร์สัน ในรอบชิงชนะเลิศสามเซตรวดคว้าแชมป์เป็นสมัยที่ 4[69] ทำให้เขาเป็นผู้เล่นชายคนที่ 4 ในยุคโอเพน (ต่อจาก โรเจอร์ เฟเดอเรอร์, พีต แซมพราส และ บิยอร์น บอร์ก) ที่คว้าแชมป์วิมเบิลดันได้อย่างน้อย 4 สมัย[70] ส่งผลให้เขากลับเข้าสู่ 10 อันดับแรกของโลกเป็นครั้งแรกในรอบหนึ่งปี
จอกอวิชยังคงเล่นได้อย่างยอดเยี่ยม โดยแม้จะตกรอบในรายการมาสเตอร์ 1000 ที่แคนาดา แต่เขาคว้าแชมป์ที่ซินซินแนติได้เป็นครั้งแรกโดยเอาชนะเฟเดอเรอร์ ส่งผลให้จอกอวิชเป็นผู้เล่นคนเดียวที่ชนะเลิศรายการมาสเตอร์ 1000 ครบทั้ง 9 รายการ (Career Golden Masters) และเป็นผู้เล่นคนเดียวที่คว้าตำแหน่งชนะเลิศรายการหลักของเอทีพี ทัวร์ ได้ครบทุกรายการ (Elite Titles)
ต่อมา จอกอวิชลงแข่งยูเอสโอเพน และคว้าแชมป์ได้เป็นสมัยที่ 3 และเป็นแชมป์แกรนด์สแลมรายการที่ 14 ทำสถิติเทียบเท่ากับพีต แซมพราส โดยเอาชนะ ฆวน มาร์ติน เดล โปโตร ในรอบชิงชนะเลิศสามเซตรวด ก่อนจะคว้าแชมป์มาสเตอร์ที่เซี่ยงไฮ้ได้เป็นสมัยที่ 4 และกลับขึ้นสู่ตำแหน่งมือวางอันดับ 1 เป็นครั้งแรกในรอบสองปี และแม้จะทำได้เพียงรองแชมป์สองรายการสุดท้ายในมาสเตอร์ที่ปารีส และ เอทีพี ไฟนอล แต่เขายังคงจบฤดูกาลด้วยตำแหน่งอันดับ 1 เป็นครั้งที่ 5[71]
2019: แชมป์ออสเตรเลียนโอเพนสมัยที่ 7 และแชมป์วิมเบิลดันสมัยที่ 5
แก้จอกอวิชตกรอบรองชนะเลิศที่โดฮา ก่อนจะคว้าแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนได้เป็นสมัยที่ 7 และเป็นแชมป์แกรนด์สแลมสมัยที่ 15 ทำสถิติแซง พีต แซมพราส โดยเอาชนะนาดัลในรอบชิงชนะเลิศสามเซต ต่อมา เขาตกรอบรายการมาสเตอร์ 1000 ที่อินเดียนเวลส์, ไมแอมี และมงเต-การ์โล ก่อนจะคว้าแชมป์มาสเตอร์รายการที่ 33 ซึ่งเป็นสถิติเท่ากับนาดัลในขณะนั้นที่กรุงมาดริด ก่อนจะตกรอบรองชนะเลิศเฟรนช์โอเพน โดยแพ้ ด็อมมินิค ทีม 2–3 เซต
จอกอวิชป้องกันแชมป์วิมเบิลดันได้โดยเอาชนะเฟเดอเรอร์ 3–2 เซต โดยใช้เวลาแข่งขันไปถึง 5 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์รอบชิงชนะเลิศของรายการ โดยเขาได้เอาตัวรอดจากการเสียเปรียบถึง 2 แชมป์เปียนชิพพอยต์ก่อนจะกลับมาเอาชนะได้ ต่อมา เขาตกรอบที่ 4 ยูเอสโอเพน โดยถอนตัวอาการบาดเจ็บ ตามด้วยการตกรอบรายการมาสเตอร์ 1000 ที่เซี่ยงไฮ้ โดยแพ้ สเตฟาโนส ซิตซีปัส 1–2 เซต แต่ไปคว้าแชมป์มาสเตอร์ทีปารีสได้เป็นสมัยที่ 5 โดยชนะ เดนิส เชโปวาลอฟ เขาปิดท้ายฤดูกาลโดยตกรอบแบ่งกลุ่ม เอทีพี ไฟนอล โดยแพ้ธีมและเฟเดอเรอร์[72] ก่อนจะเสียตำแหน่งอันดับ 1 ให้กับนาดัลในช่วงสิ้นปี
2020: แชมป์ออสเตรเลียนโอเพนสมัยที่ 8
แก้จอกอวิชประเดิมฤดูกาลด้วยการพาทีมชาติเซอร์เบียคว้าแชมป์ เอทีพี คัพ ซึ่งจัดแข่งขันเป็นปีแรกที่ออสเตรเลีย โดยชนะสเปน 2–1 คู่[73] ซึ่งจอกอวิชเอาชนะนาดัลในการแข่งขันประเภทเดี่ยว 2–0 เซตด้วย[74] และตามด้วยการคว้าแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนสมัยที่ 8 ได้ โดยเอาชนะ ด็อมมินิค ทีม ในรอบชิงชนะเลิศ 3–2 เซต ก่อนจะคว้าแชมป์ที่ดูไบได้เป็นสมัยที่ 5 ต่อมาในเดือนมิถุนายน เขาถูกตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเขาได้รับการวิจารณ์อย่างหนักในฐานะที่เป็นผู้จัดการแข่งขันรายการพิเศษที่ บอลข่าน และมีผู้เล่นที่เข้าร่วมการแข่งขันติดเชื้อหลายราย[75][76]
เขาทำสถิติเป็นผู้เล่นคนแรกที่ชนะเลิศรายการมาสเตอร์ 1000 ทุกรายการได้อย่างน้อย 2 สมัย (Double Career Golden Masters) โดยเอาชนะ มิลอช ราวนิช ที่ซินซินแนติ ก่อนจะถูกปรับแพ้ในการแข่งขันรอบที่ 4 ในแกรนด์สแลมยูเอสโอเพน เนื่องจากเขาตีลูกบอลไปโดนผู้กำกับเส้นหญิงโดยไม่ตั้งใจ ต่อมา เขาคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 รายการที่ 36 ได้ โดยชนะ ดีเอโก ชวาร์ตซ์มัน ในการแข่งขันที่กรุงโรม และเข้าชิงชนะเลิศเฟรนช์โอเพนได้แต่แพ้นาดัลอย่างขาดลอย ตามด้วยการตกรอบรองชนะเลิศ เอทีพี ไฟนอล โดยแพ้ธีม ต่อมา ในเดือนธันวาคม จอกอวิชทำสถิติเป็นผู้เล่นชายคนที่สองต่อจากเฟเดอเรอร์ที่ครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ของโลกครบ 300 สัปดาห์ ก่อนจะจบฤดูกาลด้วยการเป็นมือวางอันดับ 1 เป็นครั้งที่ 6 ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดร่วมกับ พีต แซมพราส
2021: Double Career Slam, สถิติแชมป์มาสเตอร์ 1000 และสถิติครองตำแหน่งอันดับ 1
แก้ทีมชาติเซอร์เบียตกรอบแรกในการแข่งขัน เอทีพี คัพ[77] แต่จอกอวิชป้องกันแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนได้โดยชนะ ดานีอิล เมดเวเดฟ ขาดลอย ทำสถิติคว้าแชมป์ได้มากที่สุดในประเภทชายเดี่ยว 9 สมัย และคว้าแชมป์สามสมัยติดต่อกันเป็นครั้งที่สอง[78] ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม จอกอวิชทำสถิติครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ด้วยจำนวนสัปดาห์รวมที่มากที่สุดตลอดกาลแซงเฟเดอเรอร์ได้สำเร็จ (311 สัปดาห์)[79] จอกอวิชได้รองแชมป์รายการมาสเตอร์ 1000 ที่กรุงโรมโดยแพ้นาดัล ก่อนจะคว้าแชมป์ที่กรุงเบลเกรดได้
เขาลงแข่งขันเฟรนช์โอเพน และสามารถสร้างประวัติศาสตร์ได้ด้วยการคว้าแชมป์แกรนด์สแลมรายการที่ 19 และเป็นผู้เล่นชายคนแรกในยุคโอเพน (นับตั้งแต่ปี 1968) ที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมทุกรายการได้อย่างน้อย 2 สมัย เอาชนะ สเตฟานอส ซิตซิปาส ในรอบชิงชนะเลิศ 3–2 เซต ทั้งที่เป็นฝ่ายตามหลังไปก่อน 0–2 เซต โดยจอกอวิชถือเป็นผู้เล่นคนที่ 6 ในยุคโอเพนที่กลับมาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้หลังจากตามหลังไปก่อน 0–2[80] และยังชนะเลิศการแข่งขันรายการใหญ่ (Elite Titles) ได้แก่รายการแกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการ, รายการมาสเตอร์ทั้ง 9 รายการ และ รายการ เอทีพี ไฟนอล ได้อย่างน้อย 2 สมัย
ต่อมา เขาลงแข่งขันวิมเบิลดัน[81] และในวันที่ 2 กรกฎาคม ภายหลังจากชนะ เดนิส คุดลา จากสหรัฐในรอบที่ 3 จอกอวิชทำสถิติเป็นผู้เล่นชายคนแรกที่คว้าชัยชนะในแกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการได้อย่างน้อย 75 นัด[82] ก่อนจะป้องกันแชมป์ได้โดยเอาชนะ มัตเตโอ แบร์เรตตีนี 3–1 เซต คว้าแชมป์แกรนด์สแลมครบ 20 สมัย และเป็นแชมป์วิมเบิลดันสมัยที่ 6[83] เขายังถือเป็นผู้เล่นชายคนแรกในรอบ 52 ปีที่คว้าแชมป์ออสเตรเลียนโอเพน, เฟรนช์โอเพน และวิมเบิลดัน ได้ภายในปีเดียวกัน นับตั้งแต่ ร็อด เลเวอร์ทำได้ในปี 1969[84][85] และเป็นผู้เล่นชายคนที่สองต่อจากนาดัลที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมในพื้นคอร์ตทั้ง 3 ประเภท (ฮาร์ดคอร์ต, คอร์ตดิน และคอร์ตหญ้า) ได้ในปีเดียวกัน
ต่อมา จอกอวิชลงแข่งโอลิมปิก[86] โดยแพ้ อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ ในรอบรองชนะเลิศ 1–2 เซต ตามด้วยการแพ้ ปาโบล การ์เรโญ บุสตา ในนัดชิงเหรียญทองแดงสองเซตรวด[87] และยังลงแข่งขันในประเภทคู่ผสมโดยจับคู่กับ นีนา สโตยาโนวิช ก่อนจะแพ้ อัสลัน คารัตเซฟ และ เอเลนา เวสนินา จากรัสเซียในรอบรองชนะเลิศ และคู่ของเขาได้ถอนตัวในนัดชิงเหรียญทองแดงเนื่องจากจอกอวิชมีปัญหาสภาพร่างกาย ต่อมา เขาถอนตัวจากมาสเตอร์ที่โทรอนโตและซินซินแนติ ก่อนจะกลับมาแข่งขันยูเอสโอเพน โดยผ่านเข้าชิงชนะเลิศกับ ดานีอิล เมดเวเดฟ และแพ้ไปอย่างขาดลอยสามเซต แต่ยังทำสถิติเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมมากที่สุด 31 ครั้งเท่ากับเฟเดอเรอร์ จอกอวิชถอนตัวจากรายการมาสเตอร์ที่อินเดียน เวลส์ ในเดือนตุลาคม[88]
เขากลับมาลงแข่งขันในรายการมาสเตอร์ที่กรุงปารีสเดือนพฤศจิกายน โดยผ่านเข้าชิงชนะเลิศ และทำสถิติเป็นผู้เล่นที่ครองตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกเมื่อจบฤดูกาลมากที่สุด 7 ครั้ง แซงหน้า พีต แซมพราส[89] และเอาชนะเมดเวเดฟ 2–1 เซต ทำสถิติคว้าแชมป์รายการมาสเตอร์ 1000 มากที่สุด 37 สมัยแซงหน้านาดัล และทำสถิติคว้าแชมป์มาสเตอร์ที่ปารีสสูงสุด 6 สมัย[90] ต่อมา จอกอวิชลงแข่งขันเอทีพี ไฟนอล ที่ตูริน และแพ้ซเฟเร็ฟในรอบรองชนะเลิศ 1–2 เซต เขาปิดฤดูกาลด้วยการลงเล่นเดวิส คัพ ให้ทีมชาติเซอร์เบียซึ่งตกรอบรองชนะเลิศโดยแพ้โครเอเชีย และเขาครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ของโลกครบ 350 สัปดาห์ในวันที่ 6 ธันวาคม 2021[91][92][93]
2022: กรณีพิพาทในออสเตรเลียน โอเพน, ชัยชนะนัดที่ 1,000 และแชมป์วิมเบิลดันสมัยที่ 7
แก้จอกอวิชถอนตัวจากการแข่งขัน เอทีพี คัพ ที่ซิดนีย์ในเดือนมกราคม[94] เขาประกาศว่าจะไปป้องกันแชมป์ออสเตรเลียนโอเพน โดยได้รับการยกเว้นฉีดวัคซีนจากฝ่ายจัดการแข่งขันและรัฐวิกตอเรีย ทว่าเมื่อเขาเดินทางมาถึงเมืองเมลเบิร์น ในวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 2022 เขาได้รับการปฏิเสธการเข้าประเทศเนื่องจากยังไม่ได้รับวัคซีน โดยถูกยกเลิกการตรวจลงตราที่มีการขอมาอย่างถูกต้องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2021 โดยเจ้าหน้าที่ ณ ท่าอากาศยานทัลลามารีน แจ้งว่า "การจะได้รับอนุมัติวีซ่าเพื่อเข้าประเทศออสเตรเลียอย่างถูกต้อง บุคคลนั้นจะไม่มีสิทธิขอยกเว้นการฉีดวัคซีน" เขาถูกกักตัวในสนามบินก่อนที่ สกอตต์ มอร์ริซัน นายกรัฐมนตรีจะออกมาแถลงว่า "รัฐบาลออสเตรเลียไม่อนุญาตให้จอกอวิชเข้าประเทศ"[95][96]
จอกอวิชได้ยื่นอุทธรณ์[97] และในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 2022 ศาลตัดสินให้เขาชนะคดี โดยระบุว่าการยกเลิกวีซ่าของจอกิอวิชโดยรัฐบาลออสเตรเลียนั้น "ไม่สมเหตุสมผล" และมีคำสั่งให้ปล่อยตัวจอกอวิชจากโรงแรมที่กักตัว และให้รัฐบาลชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เขา[98][99] ตัวแทนของรัฐบาลออสเตรเลียยังยืนกรานว่าจอกอวิชไม่สมควรได้เข้าประเทศ และขู่จะทำการตอบโต้ด้วยการเนรเทศเขาออกนอกประเทศ[100] ต่อมา ในวันที่ 11 มกราคม รัฐบาลออสเตรเลียอ้างว่าจอกอวิชให้ข้อมูลเท็จในเรื่องการกักตัวในช่วงที่เขาติดเชื้อไวรัสโคโรนาตั้งแต่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 2021 รวมถึงมีการกรอกข้อมูลเท็จในเอกสารใช้ยื่นขอวีซ่า[101][102][103] จอกอวิชชี้แจงว่าตนมิได้จงใจกรอกข้อทูลเท็จ โดยเป็นความผิดพลาดของทีมงานที่กรอกข้อมูลแทนเขา[104] จอกอวิชยังคงมีชื่อในการจับสลากแบ่งสายการแข่งขันในวันที่ 13 มกราคม ทว่ารัฐบาลออสเตรเลียใช้สิทธิ์ยกเลิกวีซ่าของเขาอีกครั้งในวันต่อมา จอกอวิชได้ยื่นอุทธรณ์เป็นครั้งที่สอง[105][106] แต่ในวันที่ 16 มกราคม ศาลสูงสุดตัดสินให้เขาแพ้คดี และหมดสิทธิ์ลงแข่งขัน[107][108] รวมทั้งถูกลงโทษห้ามเข้าออสเตรเลีย 3 ปี[109]
จอกอวิชกลับมาลงแข่งขันอีกครั้งในรายการเอทีพี 500 ที่ดูไบในเดือนกุมภาพันธ์[110] และในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่าจะยอมพลาดการลงแข่งขันหลายการแทนการยอมฉีดวัคซีน เนื่องจากเหตุผลด้านร่างกายและความกังวลส่วนตัวโดยจะไม่สนใจอันดับโลกหรือจำนวนแชมป์[111] เขาเสียตำแหน่งอันดับ 1 ให้แก่เมดเวเดฟในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ หลังจากตกรอบก่อนรองชนะเลิศที่ดูไบ และไม่ได้ลงแข่งขันมาสเตอร์ 1000 สองรายการที่สหรัฐในเดือนมีนาคม[112] แต่ก็กลับขึ้นสู่ตำแหน่งอันดับ 1 ในวันที่ 21 มีนาคม หลังจากเมดเวเดฟตกรอบที่อินเดียนเวลส์[113]
เข้าสู่การแข่งขันคอร์ตดิน จอกอวิชเริ่มต้นด้วยการลงแข่งขันมาสเตอร์ 1000 ที่มงเต-การ์โลในเดือนเมษายน[114] แต่ก็ตกรอบแรกหลังจากแพ้ อาเลฆันโดร ดาบิโดบิช โฟกินา[115] ก่อนจะลงแข่งขันเอทีพี 250 ที่เบลเกรด โดยเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศแต่แพ้ อังเดรย์ รูเบลฟ 1–2 เซต ตามด้วยการแข่งขันมาสเตอร์ที่กรุงมาดริดในเดือนพฤษภาคม และแพ้ การ์โลส อัลการัซ ดาวรุ่งชื่อดังชาวสเปน และลงแข่งขันต่อในมาสเตอร์ที่กรุงโรม และเขาคว้าชัยชนะครบ 1,000 นัด หลังจากชนะ คาสเปอร์ รืด จากนอร์เวย์ในรอบรองชนะเลิศ โดยถือเป็นผู้เล่นชายคนที่ 5 ในประวัติศาสตร์ ต่อจาก จิมมี คอนเนอร์, อิวาน เลนเดิล, เฟเดอเรอร์ และ นาดัล ที่ทำได้[116] ก่อนที่จะชนะ สเตฟาโนส ซิตซีปัส ในรอบชิงชนะเลิศสองเซตรวด คว้าแชมป์ที่โรมเป็นสมัยที่ 6 และเพิ่มสถิติแชมป์มาสเตอร์ 1000 เป็นสมัยที่ 38[117] ต่อมา จอกอวิชลงแข่งขันเฟรนช์โอเพนแต่แพ้นาดัลในรอบ 8 คนสุดท้าย ส่งผลให้เขาตกลงไปเป็นมือวางอันดับ 3
จอกอวิชไปป้องกันแชมป์วิมเบิลดัน ณ กรุงลอนดอน เขาถูกตัดคะแนนจากการแข่งขันปี 2021 เนื่องจากฝ่ายจัดการแข่งขันได้ออกกฎในการตัดคะแนนผู้เล่นทุกคนในปีนี้ สืบเนื่องจากการแบนผู้เล่นรัสเซียและเบลารุสจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย โดยผู้เล่นจะได้รับเพียงเงินและถ้วยรางวัลเท่านั้น และในวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 2022 ภายหลังจากชนะ คว็อน ซุน-วู จากเกาหลีใต้ในรอบแรก จอกอวิชได้สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักเทนนิสคนแรก (นับรวมทั้งชายและหญิง) ที่ชนะในแกรนด์สแลมทั้งสี่รายการครบ 80 นัดในทุกรายการ และเป็นผู้เล่นชายคนที่สองที่ลงแข่งขันในแกรนด์สแลมแต่ละรายการอย่างน้อย 90 นัด[118] และหลังจากเอาชนะ แคเมอรอน นอร์รี ในรอบรองชนะเลิศวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 2022 จอกอวิชทำสถิติเป็นผู้เล่นชายที่เข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมประเภทชายเดี่ยวมากที่สุด 32 ครั้ง แซงหน้าเฟเดอเรอร์[119] เขาชิงชนะเลิศพบกับ นิค คิริออส จากออสเตรเลีย และเอาชนะไปได้ 3–1 เซต คว้าแชมป์แกรนด์สแลมสมัยที่ 21 และเป็นแชมป์วิมเบิลดันสมัยที่ 7 เท่าแซมพราส เขายังถือเป็นผู้เล่นชายคนที่ห้าในยุคโอเพนที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมรายการใดรายการหนึ่ง 4 สมัยติดต่อกัน
อย่างไรก็ตาม อันดับโลกของจอกอวิชก็ต้องหล่นไปอยู่อันดับที่ 7 ในวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 2022 และเขาต้องพักการแข่งขันไปอีกหลายเดือนเนื่องจากไม่ได้ฉีดวัคซีน จึงไม่สามารถลงแข่งขันในสหรัฐและแคนาดาได้[120] เขากลับมาลงแข่งอีกครั้งในรายการ เลเวอร์ คัพ เดือนกันยายน โดยลงเล่นในวันที่สอง เอาชนะ ฟรานเซส ติอาโฟ จากสหรัฐ 2–0 เซต และยังลงเล่นในประเภทคู่ร่วมกับ มัตเตโอ แบร์เรตตีนี เอาชนะคู่ของ แจ็ค ซอค และ อเล็กซ์ เด มินออร์ 2–0 เซต ปิดท้ายด้วยการลงเล่นในประเภทเดี่ยวพบกับ เฟลิกซ์ โอเฌร์ อาลียาซีม และแพ้ไป 0–2 เซต และทีมยุโรปเสียแชมป์ให้แก่ทีมรวมดาราโลกเป็นครั้งแรกด้วยผลคะแนน 8–13 จอกอวิชลงแข่งขัน เทลอาวีฟ อิสราเอล และคว้าแชมป์จากการเอาชนะ มาริน ชิลิค ในรอบชิงชนะเลิศ ตามด้วยแชมป์เอทีพี 500 ที่อัสตานา โดยเอาชนะซิตซีปัสในรอบชิงชนะเลิศถือเป็นแชมป์ประเภทชายเดี่ยวรายการที่ 90[121] และได้สิทธิร่วมแข่งขันเอทีพีไฟนอลช่วงปลายปีเป็นครั้งที่ 15[122]
ช่วงท้ายฤดูกาล จอกอวิชไปป้องกันแชมป์มาสเตอร์ 1000 ที่ปารีสในเดือนพฤศจิกายน และเข้าชิงชนะเลิศได้อีกครั้งแต่แพ้ โฮลเกอร์ รูน 1–2 เซต ตามด้วยการลงแข่งขันรายการสุดท้ายของปีในเอทีพีไฟนอล[123] ต่อมา ในวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022 ทางการออสเตรเลียได้ประกาศยกเลิกโทษห้ามเข้าประเทศของจอกอวิช ส่งผลให้เขามีโอกาสยื่นคำร้องขอการตรวจลงตราเข้าประเทศใหม่[124][125][126] เขาลงแข่งรายการสุดท้ายของปีที่เอทีพีไฟนอล โดยชนะรวดทั้งสามนัดในรอบแบ่งกลุ่ม เริ่มจากชนะซิทซีปัสในนัดแรก ทำสถิติเป็นผู้เล่นคนแรกที่เอาชนะมือวางสามอันดับแรกของโลกได้มากกว่า 60 นัดนับตั้งแต่มีการนำระบบจัดอันดับโลกมาใช้ในปี 1973 และยังเป็นการชนะซิทซีปัส 9 นัดติดต่อกัน[127] ตามด้วยการเอาชนะสองนักเทนนิสรัสเซีย ได้แก่ อันเดรย์ รูเบลฟ และเมดเวเดฟ ตามด้วยการชนะ เทย์เลอร์ ฟลิตซ์ ในรอบรองชนะเลิศ ผ่านเข้าชิงชนะเลิศเป็นครั้งที่ 8 ไปพบ กาสเปอร์ รืด ในวันที่ 20 พฤศจิกายน[128] จอกอวิชเอาชนะสองเซตรวด คว้าแชมป์สมัยที่หกเทียบสถิติของเฟเดอเรอร์ และยังเป็นผู้เล่นที่อายุมากที่สุดที่คว้าแชมป์รายการนี้ (35 ปี) ทำลายสถิติของเฟเดอเรอร์ (30 ปี)[129] เขาจบฤดูกาลด้วยการเป็นมือวางอันดับห้า อย่างไรก็ตาม จอกอวอิชก็ได้รับเสียงชื่นชมจากการคว้าแชมป์สำคัญหลายรายการในปีนี้ และยังรักษาอันดับโลกได้ดีแม้จะถูกห้ามไม่ให้ลงแข่งรายการใหญ่อย่างแกรนด์สแลมที่ออสเตรเลีย สหรัฐ รวมถึงการถูกตัดคะแนนจากวิมเบิลดัน
2023: สถิติแชมป์แกรนด์สแลม, สถิติมือวางอันดับ 1 และสถิติแชมป์เอทีพีไฟนอลสูงสุดตลอดกาล
แก้จอกอวิชเริมเริ่มต้นฤดูกาลด้วยแชมป์รายการ 250 ที่แอดิเลด[130] ก่อนจะเดินทางไปแข่งออสเตรเลียนโอเพนที่เมลเบิร์น และกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง โดยเอาชนะซิทซีปัสในรอบชิงชนะเลิศ ทำสถิติเป็นนักเทนนิสชายคนแรกที่คว้าแชมป์รายการนี้ 10 สมัย และเป็นแชมป์แกรนด์สแลมที่ 22 เท่ากับนาดัล ส่งผลให้เขากลับขึ้นสู่มือวางอันดับ 1 ในที่ 30 มกราคม ค.ศ. 2023 ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ จอกอวิชลงแข่งขันเอทีพี 500 ที่ดูไบ แต่แพ้เมดเวเดฟในรอบรองชนะเลิศ และในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 เขาสร้างสถิติด้วยการครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ครบ 378 สัปดาห์ ถือเป็นนักเทนนิสที่ครองตำแหน่งอันดับ 1 ด้วยจำนวนสัปดาห์รวมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แซงหน้าสเตฟฟี กราฟทีทำไว้ 377 สัปดาห์[131] จอกอวิชไม่ได้ไปแข่งขันรายการมาสเตอร์สองรายการที่สหรัฐในเดือนมีนาคมเนื่องจากไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่งผลให้เขาเสียตำแหน่งอันดับ 1 กลับไปให้อัลการัซในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 2023
อย่างไรก็ตาม จอกอวิชก็กลับขึ้นสู่อันดับ 1 อีกครั้งในวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 2023 หลังจากอัลการัซไม่สามารถป้องกันแชมป์ที่ไมแอมีได้ และจอกอวิชเริ่มต้นการแข่งขันคอร์ตดินในมาสเตอร์ 1000 ที่มงเต-การ์โล แต่แพ้ โลเรนโซ มูเซ็ตตี ในรอบที่สาม 1–2 เซต ตามด้วยการตกรอบรายการเอทีพี 250 ที่บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา โดยแพ้เพื่อนร่วมชาติอย่าง ดูชัน ลายอวิช และเขาถอนตัวจากมาสเตอร์ที่มาดริดเนื่องจากบาดเจ็บข้อศอก[132] เขากลับมาซ้อมในเดือนพฤษภาคม และไปป้องกันแชมป์มาสเตอร์ที่โรม[133] แต่ตกรอบ 8 คนสุดท้ายโดยแพ้โฮลเกอร์ รูน 1–2 เซต และเขาตกไปเป็นมือวางอันดับ 3 ในวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 2023
จอกอวิชสร้างประวัติศาสตร์ได้อีกครั้งในการแข่งขันเฟรนช์โอเพน เขาเอาชนะ กาสเปอร์ รืด ในรอบชิงชนะเลิศสามเซตรวด คว้าแชมป์แกรนด์สแลมรายการที่ 23 มากที่สุดตลอดกาล และถือเป็นแชมป์เฟรนช์โอเพนสมัยที่สาม และเป็นนักเทนนิสชายคนแรกที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมทุกรายการอย่างน้อยสามสมัยในแต่ละรายการ นอกจากนี้ เขายังทวงตำแหน่งอันดับ 1 กลับมาในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 2023[134] เขาเข้าชิงชนะเลิศวิมเบิลดันได้เป็นครั้งที่ 9 ในวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 2023 แต่แพ้อัลการัซในการแข่งขัน 5 เซต
จอกอวิชกลับมาลงแข่งในรายการมาสเตอร์ที่ซินซินแนติ รัฐโอไฮโอ และแก้มือด้วยการเอาชนะอัลการัซในรอบชิงชนะเลิศ 2–1 เซต คว้าแชมป์รายการนี้เป็นครั้งที่ 3 และเป็นถ้วยมาสเตอร์ใบที่ 39 การแข่งขันนัดนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในรอบชิงชนะเลิศที่น่าตื่นเต้นที่สุดในรายการมาสเตอร์ ซึ่งใช้เวลาแข่งขันนานถึง 3 ชั่วโมง 49 นาที จอกอวิชกลับมาชนะได้หลังจากแพ้เซตแรก และตามหลังในเซตที่ 2 อยู่ 2–4 เกม รวมทั้งต้องเซฟแต้มสำคัญในการแข่งขันไทเบรก[135][136] ต่อมา เขาลงแข่งขันแกรนด์สแลมสุดท้ายของปีในยูเอสโอเพนในฐานะมือวางอันดับ 2 ซึ่งเป็นการกลับมาลงแข่งครั้งแรกในรอบ 2 ปี และจอกอวิชคว้าแชมป์ได้เป็นสมัยที่ 4 ถือเป็นแชมป์แกรนด์สแลมรายการที่ 24 โดยเอาชนะเมดเวเดฟในรอบชิงชนะเลิศสามเซตรวด (6–3, 7–6, 6–3) ถือเป็นการแก้มือจากที่เขาแพ้เมดเวเดฟในรอบชิงชนะเลิศปี 2021 นอกจากนี้ จอกอวิชยังทำสถิติเข้ารอบรองชนะเลิศแกรนด์สแลมประเภทชายเดี่ยวสูงสุด 47 ครั้งแซงหน้าเฟเดอเรอร์ และทำสถิติเป็นผู้เล่นที่อายุมากที่สุดในยุคโอเพนที่คว้าแชมป์รายการนี้ได้ด้วยวัย 36 ปี และ 111 วัน[137] จอกอวิชกลับขึ้นสู่มือวางอันดับหนึ่งของโลกในวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2023 ด้วยคะแนนสะสมสูงถึง 11,795 คะแนน
ต่อมา จอกอวิชลงแข่งขันรายการชิงแชมป์โลกหรือเดวิส คัพ ร่วมกับทีมชาติเซอร์เบีย โดยเซอร์เบียอยู่ในกลุ่มซีร่วมกับสเปน เช็กเกีย และเกาหลีใต้ จอกอวิชลงแข่งในประเภทชายเดี่ยว เอาชนะ อาเลฆันโดร ดาบิโดบิช โฟกินา จากสเปนสองเซตรวด และเซอร์เบียผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายจากการเอาชนะทั้งเกาหลีใต้และสเปน โดยรอบ 8 ทีมสุดท้ายจะแข่งขันในเดือนพฤศจิกายน จอกอวิชคว้าแชมป์รายการมาสเตอร์ 1000 ครบ 40 สมัยในวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 2023 ด้วยการเอาชนะดิมิตรอฟในรอบชิงชนะเลิศที่ปารีสสองเซตรวด และถือเป็นแชมป์สมัยที่ 7 ต่อมา เขาลงแข่งขันเอทีพี ไฟนอลในฐานะแชมป์เก่า และหลังจากเอาชนะโฮลเกอร์ รูนในนัดแรกของรอบแบ่งกลุ่ม จอกอวิชการันตีการจบฤดูกาลด้วยการเป็นมือวางอันดับ 1 เป็นครั้งที่แปด พร้อมทำสถิติครองตำแหน่งอันดับ 1 จำนวน 400 สัปดาห์[138] จอกอวิชคว้าแชมป์ได้เป็นสมัยที่ 7 ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดคนเดียว โดยก่อนหน้านี้เขาคว้าแชมป์ 6 สมัยเท่ากับเฟเดอรเรอร์ เขาเอาชนะอัลการัซในรอบรองชนะเลิศ ตามด้วยการเอาชนะซินเนอร์ในรอบชิงชนะเลิศสองเซตรวด (6–3, 6–3)[139] จอกอวิชคว้าแชมป์รวม 7 รายการในฤดูกาลนี้ เขาปิดท้ายฤดูกาลด้วยการลงแข่งขันเดวิสคัพให้เซอร์เบียซึ่งพบกับสหราชอาณาจักรในรอบ 8 ทีมสุดท้าย โดยเซอร์เบียเอาชนะไปได้ 2–0 คู่ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศไปพบอิตาลีซึ่งจอกอวิชลงแข่งในประเภทชายเดี่ยวพบกับซินเนอร์ แต่เขาแพ้ในการแข่งขันสามเซต และเซอร์เบียตกรอบด้วยคะแนน 1–2
2024: มือวางอันดับ 1 ที่อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และ เหรียญทองโอลิมปิก
แก้ฤดูกาล 2024 ของจอกอวิชเริ่มต้นด้วยการแข่งขันยูไนเต็ดคัพที่เพิร์ท ออสเตรเลีย ทีมชาติเซอร์เบียอยู่ร่วมกลุ่มกับทีมชาติจีนและเช็กเกีย โดยเซอร์เบียผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายแต่แพ้ออสเตรเลีย โดยจอกอวิชมีอาการบาดเจ็บข้อมือตั้งแต่เริ่มต้นรายการ[140] เขาเข้าถึงรอบรองชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพนและแพ้ซินเนอร์ในการแข่งขันสี่เซต ถือเป็นความพ่ายแพ้ในแกรนด์สแลมนี้เป็นครั้งแรกในรอบกว่าหกปี และเป็นครั้งแรกที่แพ้ในรอบรองชนะเลิศ และยังเป็นการหยุดสถิติชนะรวด 33 นัดในออสเตรเลียนโอเพน แต่จอกอวิชยังเป็นมือหนึ่งของโลกหลังจบการแข่งขัน และทำสถิติเข้ารอบ 8 คนสุดท้ายรายการแกรนด์สแลมมากที่สุด 58 ครั้งเท่ากับเฟเดอเรอร์[141]
จอกอวิชกลับมาลงแข่งชันมาสเตอร์ 1000 ที่สหรัฐเป็นครั้งแรกในรอบสามปี เขาเริ่มต้นด้วยรายการอินเดียน เวลส์ ที่แคลิฟอร์เนียวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 2024 แต่ต้องตกรอบที่สามโดยแพ้ ลูกา นาร์ดี จากอิตาลีในการแข่งขันสามเซต ต่อมา เขาถอนตัวจากรายการที่ไมแอมี และกลับมาลงแข่งขันในมาสเตอร์คอร์ตดินที่มงเต-การ์โลเดือนเมษายน เขากลายเป็นผู้เล่นมือวางอันดับ 1 ของโลกที่มาอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์เอทีพี ในวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 2024 ด้วยวัย 36 ปี และ 321 วัน แซงหน้าสถิติเดิมของเฟเดอเรอร์ที่ทำไว้ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2024 ด้วยวัย 36 ปี และ 320 วัน[142] เขาตกรอบรองชนะเลิศโดยแพ้กาสเปอร์ รืด และถอนตัวจากมาสเตอร์ที่มาดริด ก่อนจะกลับมาลงแข่งที่โรมในเดือนพฤษภาคมและตกรอบที่สามโดยแพ้อเลฮานโดร ทาบิโล จากชิลีสองเซตรวด จอกอวิชถอนตัวจากรอบก่อนรองชนะเลิศแกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพน ก่อนที่จะพบกับกาสเปอร์ รืด เนื่องจากบาดเจ็บเอ็นหัวเข่าฉีก ส่งผลให้เขาเสียตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ของโลกในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 2024 และต้องเข้ารับการผ่าตัด[143][144]
จอกอวิชลงแข่งขันวิมเบิลดันในเดือนกรกฎาคม เขาผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศแต่แพ้อัลการัซไปอีกครั้งสามเซตรวด ต่อมา เขาคว้าเหรียญทองในโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 ณ กรุงปารีส ด้วยการเอาชนะแมทธิว เอ็บเดน, นาดัล, ด็อมมินิค เคิพเฟอร์, ซิทซีปัส และ มูเซตติ ตามด้วยการเอาชนะอัลการัซในรอบชิงชนะเลิศสองเซตรวด (7–6(7–3), 7–6(7–2)) และสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้เล่นอายุมากที่สุดที่คว้าเหรียญทองในการแข่งขันประเภทชายเดี่ยว รวมทั้งเป็นผู้เล่นคนที่สามต่อจากนาดัลและอากัสซีที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมครบทุกรายการ และเหรียญทองโอลิมปิกประเภทชายเดี่ยว[145] ต่อมา เขาลงป้องกันแชมป์ยูเอสโอเพนที่นิวยอร์ก และทำสถิติชนะครบ 90 นัดในรายการนี้ ส่งผลให้จอกอวิชเป็นนักเทนนิสคนเดียวที่ชนะในแกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการอย่างน้อย 90 นัด แต่ต้องตกรอบที่ 3 โดยแพ้อเล็กซี พอพิริน จากออสเตรเลีย 4 เซต ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ ค.ศ. 2024 ที่จอกอวิชจบฤดูกาลโดยไม่สามารถคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้เลย เขาตกไปสู่มือวางอันดับ 4 ของโลกหลังจบการแข่งขัน
รูปแบบการเล่น
แก้จอกอวิชได้รับการยอมรับว่าสามารถเล่นได้ดีทุกคอร์ต[146][147] (A versatile all-court player) สามารถเล่นทั้งเกมบุกและเกมรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีอาวุธทีเด็ดคือแบ็กแฮนด์ที่หนักหน่วงและแม่นยำ และยังเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว แฟน ๆ หลายคนยกย่องว่าเขาเป็นผู้เล่นที่เก่งที่สุดในการตีโต้หลังเส้นเบสไลน์เนื่องจากเขาสามารถอ่านทางบอลของคู่ต่อสู้ได้ดี เขายังเป็นผู้เล่นที่มีจุดเด่นในการรีเทิร์นลูกเสริ์ฟได้ดีที่สุดคนหนึ่ง[148] และได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เล่นที่มีจิตใจแข็งแกร่งแม้ตกอยู่ในสภาวะคับขัน[149] เขามักแสดงออกถึงความนิ่งในการต่อสู้และเอาชนะคู่แข่งได้บ่อยครั้ง ลูกเสิร์ฟของเขาเคยเป็นจุดอ่อนมาหลายปี แต่ภายหลังจากที่จอกอวิชได้ โกราน อิวานิเซวิช มาเป็นหนึ่งในทีมผู้ฝึกสอนตั้งแต่ปี 2019 เขาก็ได้พัฒนาการเสริ์ฟขึ้นมาจนกลายเป็นอาวุธเด็ดในปัจจุบัน[150]
เกมบุกของจอกอวิชนั้นมีความหลากหลายและอันตรายมาก เขาเป็นผู้เล่นที่เน้นเกมส์บุกและมักไม่ค่อยตั้งรับโดยมักโจมตีคู่แข่งด้วยการยิงโฟร์แฮนด์ที่คมและเน้นทิศทาง กราวด์สโตรกของเขาจะอันตรายมากเมื่ออยู่หลังเส้นเบสไลน์และยังกะจังหวะรวมถึงทิศทางได้ยากมากเนื่องจากมีความแรงและแม่นยำทำให้คู่ต่อสู้ยากที่จะโต้กลับมา และเขายังชอบเล่นลูกหยอดเป็นประจำแม้ในแต้มสำคัญซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเสียคะแนน
จอกอวิชยังได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักกีฬาที่มีร่างกายแข็งแรงและยืดหยุ่นมากที่สุดคนหนึ่ง[151][152][153] ซึ่งเป็นผลมาจากการเล่นโยคะเป็นประจำ ทำให้เขาสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างว่องไวและยังเปลี่ยนจังหวะการตีจากเกมรับเป็นเกมบุกได้อย่างไหลลื่น ร่างกายของเขาสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วซึ่งเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเขาต้องแข่งขันในนัดที่ยืดเยื้อหลายชั่วโมง
สถิติโลก
แก้จอกอวิชครองสถิติโลกในวงการมากมาย[154] มีสถิติที่สำคัญได้แก่:
- เป็นนักเทนนิสชาวเซอร์เบียคนแรกที่ได้แชมป์แกรนด์สแลม[155]
- เป็นผู้เล่นที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมชายเดี่ยวมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 24 สมัย
- เป็นผู้เล่นชายที่เข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมชายเดี่ยวมากที่สุดตลอดกาล (37 ครั้ง)[156]
- เป็นผู้เล่นชายคนเดียวในยุคโอเพนที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมในประเภทชายเดี่ยวทุกรายการได้อย่างน้อย 3 สมัย (Triple Career Grand Slam)[157]
- เป็นผู้เล่นคนเดียวที่ชนะเลิศการแข่งขันรายการหลัก (Elite Titles) ของเอทีพีครบทุกรายการ (ชนะเลิศแกรนด์สแลมครบทั้ง 4 รายการ, ชนะเลิศรายการมาสเตอร์ 1000 ครบทั้ง 9 รายการ และชนะเลิศเอทีพี ไฟนอล)[158]
- เป็นผู้เล่นคนเดียวที่ชนะเลิศการแข่งขันรายการหลักของเอทีพีได้อย่างน้อย 2 สมัยในแต่ละรายการ (Double Elite Titles)[159]
- เป็นผู้เล่นชายคนเดียวที่ได้แชมป์แกรนด์สแลมในพื้นคอร์ต 3 ประเภท (ฮาร์ดคอร์ต, คอร์ตหญ้า และ คอร์ตดิน) 4 รายการติดต่อกัน (วิมเบิลดัน และ ยูเอสโอเพน 2015 - ออสเตรเลียนโอเพน และ เฟรนช์โอเพน 2016)
- คว้าแชมป์แกรนด์สแลมออสเตรเลียนโอเพนมากที่สุดในประเภทชายเดี่ยว (10 สมัย)[160]
- เป็นผู้เล่นชายคนเดียวในยุคโอเพนที่ได้แชมป์ออสเตรเลียนโอเพน 3 สมัยติดต่อกัน (2011–13 และ 2019–21)[161]
- เป็นผู้เล่นชายคนแรกนับตั้งแต่ปี 1969 ที่คว้าแชมป์ออสเตรเลียนโอเพน, เฟรนช์โอเพน และวิมเบิลดันในปีเดียวกัน (2021)
- เป็นผู้เล่นชายคนที่สองที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมในพื้นคอร์ตทั้ง 3 ประเภท (ฮาร์ดคอร์ต, คอร์ตดิน และคอร์ตหญ้า) ได้ในปีเดียวกัน
- เป็นผู้เล่นชายคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์ที่ได้แชมป์แกรนด์สแลม 4 รายการติดต่อกัน (ต่อจาก ดอน บัดจ์ และ ร็อด เลเวอร์)
- เป็นผู้เล่นชายคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์ที่เข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมทุกรายการในปีเดียวกัน (ต่อจากบัดจ์ และ เฟเดอเรอร์)
- เป็นผู้เล่นชายที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมหลังจากมีอายุครบ 30 ปีได้มากที่สุด (12 รายการ)
- เข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมในรายการฮาร์ดคอร์ต (พื้นคอนกรีต) มากที่สุดในประเภทชายเดี่ยว (20 ครั้ง)
- เป็นผู้เล่นคนเดียวที่เข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมทุกรายการได้อย่างน้อย 6 ครั้ง
- เป็นผู้เล่นชายคนเดียวที่เข้ารอบรองชนะเลิศแกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการได้อย่างน้อย 9 ครั้ง
- เป็นผู้เล่นชายคนเดียวที่ชนะในแกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการได้อย่างน้อย 75 นัดในทุกรายการ[162]
- เป็นผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดที่เข้าถึงรอบรองชนะเลิศแกรนด์สแลมได้ครบทุกรายการ (21 ปี)
- เป็นผู้เล่นที่คว้าแชมป์เอทีพี ไฟนอลมากที่สุด 7 สมัย[163]
- เป็นผู้เล่นที่อายุมากที่สุดที่คว้าแชมป์เอทีพี ไฟนอล (35 ปี)[164]
- คว้าแชมป์เอทีพี ไฟนอล ติดต่อกัน 4 สมัย (ปี 2012–15)[165]
- คว้าแชมป์เอทีพี มาสเตอร์ 1000 ครบทั้ง 9 รายการ (Career Golden Masters)[166]
- คว้าแชมป์เอทีพี มาสเตอร์ 1000 แต่ละรายการได้อย่างน้อย 2 สมัย (Double Career Golden Masters)[167]
- คว้าแชมป์เอทีพี มาสเตอร์ 1000 มากที่สุด (40 สมัย)[168]
- เป็นนักเทนนิสที่ครองตำแหน่งอันดับ 1 ด้วยจำนวนสัปดาห์รวมที่มากที่สุดตลอดกาล (428 สัปดาห์)[169]
- ครองตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกด้วยคะแนนที่สูงที่สุด (16,950 คะแนน, ปี 2016)[170]
- เป็นผู้เล่นที่ครองตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกเมื่อจบฤดูกาลมากที่สุด (8 ครั้ง)[171]
- ทำเงินรางวัลรวมจากการแข่งขันมากที่สุด (นับรวมทั้งประเภทชายเดี่ยว, หญิงเดี่ยว, ประเภทคู่ และ ประเภทคู่ผสม)[172]
- เป็นผู้เล่นที่ชนะผู้เล่นมือวาง 3 อันดับแรก 5 อันดับแรก และ 10 อันดับแรกของโลกได้มากที่สุด
- ชนะผู้เล่นมือวาง 10 อันดับแรกของโลกได้ 30 ครั้งในปีเดียวกัน และชนะผู้เล่น 10 อันดับแรกของโลกได้ครบทุกคนในปีเดียวกัน (ปี 2015)
คู่แข่งคนสำคัญ
แก้ราฟาเอล นาดัล
แก้คู่แข่งที่สำคัญที่สุดของจอกอวิชได้แก่ ราฟาเอล นาดัล ทั้งคู่เคยพบกันมากถึง 60 ครั้ง ซึ่งเป็นสถิติการพบกันของนักเทนนิสสองคนที่มากที่สุดในยุคโอเพน[173] จอกอวิชเอาชนะไปได้ 31 ครั้ง และแพ้ 29 ครั้ง ซึ่งจอกอวิชถือเป็นผู้เล่นที่เอาชนะนาดัลได้มากที่สุดนับตั้งแต่นาดัลเล่นอาชีพมา ในขณะเดียวกัน นาดัลก็เป็นผู้เล่นที่เอาชนะจอกอวิชได้มากที่สุดเช่นกัน ทั้งคู่พบกันในรอบชิงชนะเลิศทุกรายการ 28 ครั้ง จอกอวิชเอาชนะได้ 15 ครั้ง แพ้ 13 ครั้ง โดยนาดัลมีสถิติที่เหนือกว่าในรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลม จำนวน 5–4 ครั้ง (พบกัน 9 ครั้ง) จอกอวิชเอาชนะนาดัลในรอบชิงชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพนได้ 2 ครั้ง (ปี 2012 และ 2019), วิมเบิลดัน 1 ครั้ง (2011) และ ยูเอสโอเพน 1 ครั้ง (2011) ในขณะที่นาดัลเอาชนะจอกอวิชได้ในรอบชิงชนะเลิศเฟรนช์โอเพน 3 ครั้ง (2012, 2014 และ 2020) และ ยูเอสโอเพน 2 ครั้ง (2010 และ 2013) โดยการแข่งขันครั้งประวัติศาสตร์ของทั้งคู่คือการพบกันในรอบชิงชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพน 2012 ซึ่งใช้เวลาแข่งขันกันถึง 5 ชั่วโมง 53 นาที ถือเป็นรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมที่นานที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยจอกอวิชเอาชนะไปได้ 3–2 เซต[174]
จอกอวิชยังเป็นหนึ่งในสองผู้เล่น (ร่วมกับโรบิน เซอเดอร์ลิง) ที่เอาชนะนาดัลในเฟรนช์โอเพนได้ และเป็นผู้เล่นคนเดียวที่เอาชนะนาดัลได้สองครั้งในรายการดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีคอร์ตที่ตนเองถนัดและมักจะชนะคู่ต่อสู้อีกฝ่ายได้บ่อยครั้งเมื่อได้ลงแข่งขันในพื้นสนามที่ตนเองถนัด โดยจอกอวิชชนะนาดัลได้ในการแข่งขันบนฮาร์ดคอร์ต (พื้นคอนกรีต) 20 ครั้ง แพ้ไปเพียง 7 ครั้ง ในขณะที่นาดัลก็เอาชนะจอกอวิชบนคอร์ตดินได้ถึง 20 ครั้ง แพ้ไปเพียง 8 ครั้งเช่นกัน[175] และทั้งคู่มีสถิติเท่ากันในการแข่งขันบนคอร์ตหญ้าโดยผลัดกันแพ้ชนะคนละ 2 ครั้ง จอกอวิชยังถือเป็นผู้เล่นคนเดียวที่เอาชนะนาดัลได้ในแกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการ การพบกันครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในรอบที่ 2 กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 ซึ่งจอกอวิชเอาชนะได้สองเซตรวด
โรเจอร์ เฟเดอเรอร์
แก้โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ถือเป็นคู่แข่งคนสำคัญอีกคนหนึ่งของจอกอวิช ทั้งคู่เคยพบกัน 50 ครั้ง จอกอวิชเอาชนะไปได้ 27 ครั้ง และแพ้ 23 ครั้ง ทั้งคู่พบกันในรอบชิงชนะเลิศทุกรายการ 19 ครั้ง และจอกอวิชเอาชนะไปได้ 13 ครั้ง แพ้ 6 ครั้ง และพบกันในรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลม 5 ครั้ง ซึ่งจอกอวิชเอาชนะไปได้ถึง 4 ครั้ง โดยจอกอวิชเป็นผู้เล่นที่ชนะเฟเดอเรอร์ได้มากที่สุดนับตั้งแต่เฟเดอเรอร์เล่นอาชีพมา การแข่งขันครั้งสำคัญของทั้งคู่มีมากมาย[176] เช่น การพบกันในรอบชิงชนะเลิศวิมเบิลดัน 3 ครั้ง (2014, 2015 และ 2019) ซึ่งจอกอวิชเอาชนะได้ทั้งสามครั้ง โดยเฉพาะในปี 2019 ถือเป็นนัดประวัติศาสตร์เนื่องจากทั้งคู่ใช้เวลาแข่งขัน 5 ชั่วโมง นานที่สุดในประวัติศาสตร์รอบชิงชนะเลิศของรายการ และจอกอวิชเอาชนะไปได้ 3–2 เซต โดยเอาตัวรอดจากการเสียเปรียบถึง 2 แชมป์เปียนชิพพอยต์ในเซตตัดสินก่อนจะพลิกกลับมาเอาชนะได้ คว้าแชมป์วิมเบิลดันสมัยที่ 5[177]
นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันรอบรองชนะเลิศยูเอสโอเพน 2011[178] ซึ่งจอกอวิชเป็นฝ่ายตามหลังไปก่อน 0–2 เซต ก่อนที่จะกลับมาชนะได้ในสองเซตถัดมา และเมื่อเข้าสู่เซตที่ 5 เฟเดอเรอร์เป็นฝ่ายได้ 2 Match Point และทำท่าว่าจะเอาชนะไปได้ แต่จอกอวิชก็ได้แสดงถึงความนิ่งและจิตใจของผู้ชนะด้วยการพลิกกลับมาชนะได้[179] โดยจอกอวิชถือเป็นผู้เล่นคนเดียวที่เอาชนะเฟเดอเรอร์ได้ในแกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการ ในทำนองเดียวกัน เฟเดอเรอร์ก็เป็นผู้เล่นคนเดียวที่เอาชนะจอกอวิชได้ในแกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการเช่นกัน
แอนดี มาร์รี
แก้จอกอวิชยังถือเป็นคู่แข่งคนสำคัญของ แอนดี มาร์รี ทั้งคู่รู้จักกันตั้งแต่ยังเด็กและเคยเข้าแคมป์เพื่อฝึกเทนนิสเยาวชนด้วยกัน[180] โดยทั้งคู่เคยพบกันมาแล้ว 36 ครั้ง[181] จอกอวิชเอาชนะไปได้ 25 ครั้ง แพ้ 11 ครั้ง ทั้งคู่พบกันในรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลม 7 ครั้ง จอกอวิชเอาชนะไป 5 ครั้ง ในรอบชิงชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพน 4 ครั้ง (2011, 2013, 2015 และ 2016) และ เฟรนช์โอเพน 1 ครั้ง (2016) แต่มาร์รี่ก็เอาชนะจอกอวิชได้ 2 ครั้งในรอบชิงชนะเลิศวิมเบิลดัน (2013) และยูเอสโอเพน (2012) เช่นกัน นัดสำคัญของทั้งคู่คือการพบกันในรอบชิงชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพน 4 ครั้ง และจอกอวิชเอาชนะไปได้ทั้ง 4 ครั้ง ทำให้ให้มาร์รี่เป็นผู้เล่นที่มีสถิติเข้าชิงชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพนมากถึง 5 ครั้ง โดยที่คว้าแชมป์ไม่ได้เลย[182] และหลังจากความพ่ายแพ้ในรอบชิงชนะเลิศวิมเบิลดัน 2013 จอกอวิชเอาชนะมาร์รี่ได้ถึง 14 ครั้งจากการพบกัน 17 ครั้งหลังสุด
โจ-วิลฟรีด ซองกา
แก้จอกอวิช และโจ-วิลฟรีด ซองกา นักเทนนิสชาวฝรั่งเศสมีสถิติการพบกัน 23 ครั้ง[183] โดยจอกอวิชชนะไป 17 ครั้ง และแพ้ 6 ครั้ง ทั้งคู่พบกันในรายการแกรนด์สแลม 8 ครั้ง และจอกอวิชชนะไปได้ 7 ครั้ง[184] การแข่งขันครั้งแรกคือรอบชิงชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพน 2008 ซึ่งจอกอวิชชนะ 3–1 เซต คว้าแชมป์แกรนด์สแลมแรกในอาชีพ แต่ซองกาก็เอาชนะจอวอกิชได้ใน 4 ครั้งต่อมาที่ไทยแลนด์โอเพนรวมถึงรายการมาสเตอร์ที่ปารีสและจีน ก่อนที่จอกอวิชจะกลับมาชนะในรายการมาสเตอร์ที่ไมแอมีปี 2009
ทั้งคู่พบกันในแกรนด์สแลมอีกครั้งในรอบ 8 คนสุดท้ายออสเตรเลียนโอเพน 2010 และซองกาเอาชนะได้ในการแข่งขัน 5 เซตซึ่งจอกอวิชมีอาการป่วยระหว่างแข่งขัน[185] แต่จอกอวิชก็เอาชนะคืนได้ในรอบรองชนะเลิศวิมเบิลดัน 2011 ชนะ 3–1 เซต ผ่านเข้าชิงชนะเลิศและคว้าแชมป์วิมเบิลดันสมัยแรก และทั้งคู่พบกันในปี 2012 อีกหลายครั้งได้แก่ ในเฟรนช์โอเพน 2012 รอบ 8 คนสุดท้ายซึ่งจอกอวิชชนะ 3–2 เซต แม้จะเป็นฝ่ายตามหลังก่อน 1–2 เซต รวมทั้งเอาชนะได้อีกในโอลิมปิก 2012, มาสเตอร์ที่กรุงโรม, ไชนาโอเพน และเอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล[186] ซึ่งเป็นการชนะซองกาถึง 5 ครั้งในปีเดียว และทั้งคู่พบกันล่าสุดในออสเตรเลียนโอเพน 2019 รอบที่ 2 ซึ่งจอกอวิชชนะ 3 เซตรวด โดยปัจจุบันซองกาได้ห่างหายไปจากวงการเนื่องจากอาการบาดเจ็บ
ดานีอิล เมดเวเดฟ
แก้จอกอวิชเคยแข่งขันกับเมดเวเดฟมาแล้ว 15 ครั้ง โดยชนะไปได้ 10 ครั้งและแพ้ 5 ครั้ง[187] โดยพบกันในรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลม 3 ครั้ง จอกอวิชเอาชนะได้ในออสเตรเลียนโอเพน 2021 และยูเอสโอเพน 2023 ในขณะที่เมดเวเดฟชนะในการแข่งขันยูเอสโอเพน 2021 ซึ่งเป็นการทำลายความหวังในการชนะแกรนด์สแลมรวดทั้งสี่รายการในปีเดียวกันของจอกอวิช[188] จอกอวิชเอาชนะเมดเวเดฟในการพบกันสามครั้งแรกในเดวิสคัพ, การแข่งขันที่ประเทศอังกฤศใน ค.ศ. 2017[189] ตามด้วยการเอาชนะในออสเตรเลียนโอเพน 2019[190] แต่เมดเวเดฟก็เอาชนะคืนได้สองครั้งติดต่อกันในการแข่งขันมาสเตอร์ 1000 ที่มงเต-การ์โลและซินซินแนติ[191] ทั้งสองพบกันในรอบชิงชนะเลิศ ค.ศ. 2021 สามรายการ จอกอวิชชนะในออสเตรเลียนโอเพนและรายการมาสเตอร๋ที่ปารีส และแพ้ในการแข่งขันที่นิวยอร์กในยูเอสโอเพน
เมดเวเดฟแย่งตำแหน่งมือวางอันดับ 1 จากจอกอวิชได้เป็นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022[192] ในรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมยูเอสโอเพน 2023 จอกอวิชแก้มือด้วยการเอาชนะเมดเวเดฟสามเซตรวด คว้าแชมป์แกรนด์สแลมเป็นสมัยที่ 24[193]
การ์โลส อัลการัซ
แก้ปัจจุบัน อัลการัซได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในผู้เล่นอายุน้อยที่น่าจับตามากที่สุด และเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ดีที่สุดในโลก จากการคว้าแชมป์รายการสำคัญได้ตั้งแต่อายุยังน้อย จอกอวิชเคยแข่งขันกับอัลการัซรวม 7 ครั้ง โดยชนะไป 4 ครั้ง ทั้งคู่อายุต่างกันมากถึง 16 ปี[194] โดยอัลการัซยังได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นผู้สืบทอดความยิ่งใหญ่จากผู้เล่น Big 4 ในอนาคต[195] ทั้งคู่พบกันครั้งแรกในรายการมาสเตอร์ที่มาดริดโดยอัลการัซเอาชนะไปได้ในสามเซตใช้เวลากว่าสามชั่วโมงครึ่ง ต่อมา ทั้งคู่พบกันในรอบรองชนะเลิศแกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพน ค.ศ. 2023 จอกอวิชเอาชนะไปใน 3–1 เซต โดยอัลการัซมีอาการตะคริวในต้นเซตที่สาม ก่อนที่จอกอวิชจะเข้าไปชิงชนะเลิศและคว้าแชมป์แกรนด์สแลมสมัยที่ 23[196]
อย่างไรก็ตาม อัลการัซสร้างประวัติศาสตร์เอาชนะจอกอวิชได้ในรอบชิงชนะเลิศวิมเบิลดัน คว้าแชมป์แกรนด์สแลมรายการที่สอง และหยุดสถิติการคว้าแชมป์ 4 สมัยติดต่อกันของจอกอวิช โดยอัลการัซเป็นเพียงหนึ่งในผู้เล่นสองรายที่เอาชนะจอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศวิมเบิลดันได้[197] แต่จอกอวิชก็เอาคืนได้ทันทีในรอบชิงชนะเลิศมาสเตอร์ที่ซินซินแนติในเดือนต่อมา ซึ่งใช้เวลาแข่งขันนานถึง 3 ชั่วโมง 49 นาที จอกอวิชกลับมาชนะได้หลังจากแพ้เซตแรก และตามหลังในเซตที่สองอยู่ 2–4 เกม รวมทั้งต้องเซฟแต้มสำคัญในการแข่งขันไทเบรก[135] และทั้งคู่พบกันอีกครั้งในรอบรองชนะเลิศเอทีพีไฟนอล โดยจอกอวิชชนะไปได้อย่างขาดลอยสองเซตรวด 6–3, 6–2[198] ต่อมาในปี 2024 อัลการัซย้ำแค้นด้วยการเอาชนะจอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศวิมเบิลดันได้อีกครั้ง แต่จอกอวิชก็สามารถเอาคืนด้วยการเอาชนะในรอบชิงเหรียญทองโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 ณ กรุงปารีส
การกุศล
แก้จอกอวิชก่อตั้งมูลนิธิ "Novak Djokovic Foundation" ในปี 2007[199] เพื่อช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาส โดยมีการสร้างโรงเรียนรวมถึงมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็ก ๆ ในหลายประเทศโดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา และในปี 2015 จอกอวิชในฐานะประธานมูลนิธิ และทูตสันถวไมตรีของยูนิเซฟ (UNICEF Global Goodwill Ambassadors) ได้เข้าพบนาย จิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลกเพื่อลงนามความร่วมมือในโครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยของยูนิเซฟ (Early Childhood Development Program-ECD)
ในปี 2019 บริษัทมงต์บลองค์ (Montblanc International) ผู้ผลิตสินค้าหรูหราของเยอรมนีได้เปิดตัวปากการุ่นใหม่ "Montblanc X Djokovic Foundation" โดยมีเพียง 300 ด้ามในโลก ซึ่งรายได้ทั้งหมดจะมอบให้แก่มูลนิธิการ " Novak Djokovic Foundation" เพื่อช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาส โดยทำการเปิดตัวในนิวยอร์ก และมีการนำเอา StarWalker รูปแบบการเขียน Fineliner มาสลักลายเซ็นของจอกอวิชลงไปที่ตัวปากกาพร้อมสมุดจดและกล่องซึ่งมีลวดลายแบบเดียวกับตัวปากกา โดยมีราคาขายอยู่ที่ชุดละ 740 ดอลลาร์สหรัฐ
ในการแข่งขันออสเตรเลียนโอเพน 2021 จอกอวิชได้บริจาคเงินจำนวน 1 ล้านดอลลาร์ให้กับบรรดาผู้เล่นที่ตกรอบในการแข่งขัน โดยเพจเฟซบุ๊กของจอกอวิชเปิดเผยว่า เขาตัดสินใจแบ่งเงินรางวัลดังกล่าวให้แก่นักเทนนิสที่ตกรอบแรก ๆ ของรายการเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมอาชีพที่ขาดแคลนรายได้ในช่วงที่การแข่งขันถูกยกเลิกจากวิกฤตโควิด-19[200] อนึ่ง นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 ส่งผลให้การแข่งขันรายการต่าง ๆ ถูกยกเลิก จอกอวิชได้ร่วมมือกับเฟเดอเรอร์ และนาดัล ในการระดมเงินเพื่อช่วยเหลือเพื่อนนักเทนนิสที่ได้รับผลกระทบ โดยจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือนักเทนนิสมืออันดับล่างๆที่กำลังประสบปัญหาทางการเงิน ซึ่งระดมเงินได้ราว 4 ล้านปอนด์และมอบให้แก่นักเทนนิสในอันดับที่ 250 ไปจนถึงอันดับที่ 700 ของโลกคนละ 8,000 ปอนด์[201]
อุปกรณ์และชุดแข่ง
แก้ในช่วงเริ่มต้นของการเล่นอาชีพในปี 2003 จอกอวิชสวมชุดแข่งขันของอาดิดาส จนกระทั่งปี 2009 เขาได้เปลี่ยนไปเซ็นสัญญากับ เซร์คีโอ ทักชีนี แบรนด์ชื่อดังจากอิตาลี ภายหลังจากอาดิดาสได้ปฏิเสธการต่อสัญญาฉบับใหม่กับเขาและได้หันไปสนับสนุน แอนดี มาร์รี แทน อย่างไรก็ตามทักชีนีไม่ได้ออกแบบรองเท้าให้กับจอกอวิชทำให้เขาใส่รองเท้าแข่งขันของอาดิดาสต่อไป และหลังจากนั้นเพียง 1 ปีทักชีนีได้ยุติสัญญากับจอกอวิชเนื่องจากไม่สามารถจ่ายโบนัสให้แก่จอกอวิชได้[202][203]
นับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา จอกอวิชสวมรองเท้าสีน้ำเงินและแดงของอาดิดาสรุ่น Barricade ซึ่งทั้งสองสีเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แทนธงชาติเซอร์เบีย ต่อมาในปี 2012 เขาได้เซ็นสัญญากับยูนิโคล่ แบรนด์ดังจากประเทศญี่ปุ่นด้วยสัญญามูลค่า 8 ล้านยูโรต่อปี และได้เซ็นสัญญาระยะยาวในการสวมรองเท้าของอาดิดาสในปี 2013 เขาได้ยุติสัญญากับยูนิโคล่ในปี 2017 และได้เซ็นสัญญากับ ลาคอสต์ ของมาจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันจอกอวิชใช้ไม้เทนนิสยี่ห้อ HEAD รุ่น Graphene 360+ Speed Pro racket[204]
สถิติการแข่งขัน
แก้แกรนด์สแลม
แก้ชายเดี่ยว: ชิงชนะเลิศ 37 รายการ (ชนะเลิศ 24, รองชนะเลิศ 13)
ผลลัพธ์ | ปี | รายการ | พื้นสนาม | คู่แข่ง | ผลการแข่งขัน |
---|---|---|---|---|---|
รองชนะเลิศ | 2007 | ยูเอสโอเพน | คอนกรีต | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 6–7(4–7), 6–7(2–7), 4–6 |
ชนะเลิศ | 2008 | ออสเตรเลียนโอเพน (1) | คอนกรีต | โจ-วิลฟรีด ซองกา | 4–6, 6–4, 6–3, 7–6(7–2) |
รองชนะเลิศ | 2010 | ยูเอสโอเพน | คอนกรีต | ราฟาเอล นาดัล | 4–6, 7–5, 4–6, 2–6 |
ชนะเลิศ | 2011 | ออสเตรเลียนโอเพน (2) | คอนกรีต | แอนดี มาร์รี | 6–4, 6–2, 6–3 |
ชนะเลิศ | 2011 | วิมเบิลดัน (1) | หญ้า | ราฟาเอล นาดัล | 6–4, 6–1, 1–6, 6–3 |
ชนะเลิศ | 2011 | ยูเอสโอเพน (1) | คอนกรีต | ราฟาเอล นาดัล | 6–2, 6–4, 6–7(3–7), 6–1 |
ชนะเลิศ | 2012 | ออสเตรเลียนโอเพน (3) | คอนกรีต | ราฟาเอล นาดัล | 5–7, 6–4, 6–2, 6–7 (5–7), 7–5 |
รองชนะเลิศ | 2012 | เฟรนช์โอเพน | ดิน | ราฟาเอล นาดัล | 4–6, 3–6, 6–2, 5–7 |
รองชนะเลิศ | 2012 | ยูเอสโอเพน | คอนกรีต | แอนดี มาร์รี | 6–7(10–12), 5–7, 6–2, 6–3, 2–6 |
ชนะเลิศ | 2013 | ออสเตรเลียนโอเพน (4) | คอนกรีต | แอนดี มาร์รี | 6–7(2–7), 7–6(7–3), 6–3, 6–2 |
รองชนะเลิศ | 2013 | วิมเบิลดัน | หญ้า | แอนดี มาร์รี | 4–6, 5–7, 4–6 |
รองชนะเลิศ | 2013 | ยูเอสโอเพน | คอนกรีต | ราฟาเอล นาดัล | 2–6, 6–3, 4–6, 1–6 |
รองชนะเลิศ | 2014 | เฟรนช์โอเพน | ดิน | ราฟาเอล นาดัล | 6–3, 5–7, 2–6, 4–6 |
ชนะเลิศ | 2014 | วิมเบิลดัน (2) | หญ้า | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 6–7(7–9) , 6–4, 7–6(7–4), 5–7 ,6–4 |
ชนะเลิศ | 2015 | ออสเตรเลียนโอเพน (5) | คอนกรีต | แอนดี มาร์รี | 7–6(7–5), 6–7(4–7), 6–3, 6–0 |
รองชนะเลิศ | 2015 | เฟรนช์โอเพน | ดิน | สตาน วาวรีงกา | 6–4, 4–6, 3–6, 4–6 |
ชนะเลิศ | 2015 | วิมเบิลดัน (3) | หญ้า | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 7–6(7–1), 6–7(10–12) ,6–4, 6–3 |
ชนะเลิศ | 2015 | ยูเอสโอเพน (2) | คอนกรีต | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 6–4, 5–7, 6–4, 6–4 |
ชนะเลิศ | 2016 | ออสเตรเลียนโอเพน (6) | คอนกรีต | แอนดี มาร์รี | 6–1, 7–5, 7–6(7–3)
|
ชนะเลิศ | 2016 | เฟรนช์โอเพน (1) | ดิน | แอนดี มาร์รี | 3–6, 6–1, 6–2, 6–4 |
รองชนะเลิศ | 2016 | ยูเอสโอเพน | คอนกรีต | สตาน วาวรีงกา | 7–6(7–1), 4–6, 5–7, 3–6 |
ชนะเลิศ | 2018 | วิมเบิลดัน (4) | หญ้า | เควิน แอนเดอร์สัน | 6–2, 6–2, 7–6(7–3) |
ชนะเลิศ | 2018 | ยูเอสโอเพน (3) | คอนกรีต | ฆวน มาร์ติน เดล ปอร์โต | 6–3, 7–6(7–4), 6–3 |
ชนะเลิศ | 2019 | ออสเตรเลียนโอเพน (7) | คอนกรีต | ราฟาเอล นาดัล | 6–3, 6–2, 6–3 |
ชนะเลิศ | 2019 | วิมเบิลดัน (5) | หญ้า | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 7–6(7–5), 1–6, 7–6(7–4), 4–6, 13–12(7–3) |
ชนะเลิศ | 2020 | ออสเตรเลียนโอเพน (8) | คอนกรีต | ด็อมมินิค ทีม | 6–4, 4–6, 2–6, 6–3, 6–4 |
รองชนะเลิศ | 2020 | เฟรนช์โอเพน | ดิน | ราฟาเอล นาดัล | 0–6, 2–6, 5–7 |
ชนะเลิศ | 2021 | ออสเตรเลียนโอเพน (9) | คอนกรีต | ดานีอิล เมดเวเดฟ | 7–5, 6–2, 6–2 |
ชนะเลิศ | 2021 | เฟรนช์โอเพน (2) | ดิน | สเตฟาโนส ซิตซีปัส | 6–7(6–8), 2–6, 6–3, 6–2, 6–4 |
ชนะเลิศ | 2021 | วิมเบิลดัน (6) | หญ้า | มัตเตโอ แบร์เรตตีนี | 6–7(4–7), 6–4, 6–4, 6–3 |
รองชนะเลิศ | 2021 | ยูเอสโอเพน | คอนกรีต | ดานีอิล เมดเวเดฟ | 4–6, 4–6, 4–6 |
ชนะเลิศ | 2022 | วิมเบิลดัน (7) | หญ้า | นิค คิริออส | 4–6, 6–3, 6–4, 7–6(7–3) |
ชนะเลิศ | 2023 | ออสเตรเลียนโอเพน (10) | คอนกรีต | สเตฟาโนส ซิตซีปัส | ุ6–3, 7–6(7–4), 7–6(7–5) |
ชนะเลิศ | 2023 | เฟรนช์โอเพน (3) | ดิน | กาสเปอร์ รืด | 7–6(7–1), 6–3, 7–5 |
รองชนะเลิศ | 2023 | วิมเบิลดัน | หญ้า | การ์โลส อัลการัซ | 6–1, 6–7(6–8), 1–6, 6–3, 4–6 |
ชนะเลิศ | 2023 | ยูเอสโอเพน (4) | คอนกรีต | ดานีอิล เมดเวเดฟ | 6–3, 7–6(7–5), 6–3 |
รองชนะเลิศ | 2024 | วิมเบิลดัน | หญ้า | การ์โลส อัลการัซ | 2–6, 2–6, 6–7(4–7) |
(ตัวเลขในวงเล็บคือจำนวนครั้งที่ได้แชมป์)
เอทีพี ไฟนอล
แก้ชิงชนะเลิศ 9 ครั้ง (ชนะเลิศ 7, รองชนะเลิศ 2)
ผลลัพธ์ | ปี | สถานที่ | พื้นสนาม | คู่แข่ง | ผลการแข่งขัน |
---|---|---|---|---|---|
ชนะเลิศ | 2008 | เซี่ยงไฮ้ | คอนกรีต (ในร่ม) | นิโคไล ดาวิเดนโก | 6–1, 7–5 |
ชนะเลิศ | 2012 | ลอนดอน | คอนกรีต (ในร่ม) | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 7–6(8–6), 7–5 |
ชนะเลิศ | 2013 | ลอนดอน | คอนกรีต (ในร่ม) | ราฟาเอล นาดัล | 6–3, 6-4 |
ชนะเลิศ | 2014 | ลอนดอน | คอนกรีต (ในร่ม) | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | เฟเดอเรอร์ถอนตัว |
ชนะเลิศ | 2015 | ลอนดอน | คอนกรีต (ในร่ม) | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 6–3, 6–4 |
รองชนะเลิศ | 2016 | ลอนดอน | คอนกรีต (ในร่ม) | แอนดี มาร์รี | 3–6, 4–6 |
รองชนะเลิศ | 2018 | ลอนดอน | คอนกรีต (ในร่ม) | อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ | 4–6, 3–6 |
ชนะเลิศ | 2022 | ตูริน | คอนกรีต (ในร่ม) | กาสเปอร์ รืด | 7–5, 6–3 |
ชนะเลิศ | 2023 | ตูริน | คอนกรีต (ในร่ม) | ยานนิค ซินเนอร์ | 6–3, 6–3 |
เอทีพี ทัวร์ มาสเตอร์ 1000
แก้ชิงชนะเลิศ 58 รายการ (ชนะเลิศ 40, รองชนะเลิศ 18)
ผลลัพธ์ | ปี | รายการ | พื้นสนาม | คู่แข่ง | ผลการแข่งขัน |
---|---|---|---|---|---|
รองชนะเลิศ | 2007 | อินเดียนเวลส์ | คอนกรีต | ราฟาเอล นาดัล | 2–6, 5–7 |
ชนะเลิศ | 2007 | ไมแอมี | คอนกรีต | กิลเยโม กานาส | 6–3, 6–2, 6–4 |
ชนะเลิศ | 2007 | มอนทรีออล | คอนกรีต | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 7–6(7–2), 2–6, 7–6(7–2) |
ชนะเลิศ | 2008 | อินเดียนเวลส์ | คอนกรีต | มาร์ดี ฟิช | 6–2, 5–7, 6–3 |
ชนะเลิศ | 2008 | โรม | ดิน | สตาน วาวรีงกา | 4–6, 6–3, 6–3 |
รองชนะเลิศ | 2008 | ซินซินแนติ | คอนกรีต | แอนดี มาร์รี | 6–7(4–7), 6–7(5–7) |
รองชนะเลิศ | 2009 | ไมแอมี | คอนกรีต | แอนดี มาร์รี | 2–6, 5–7 |
รองชนะเลิศ | 2009 | มงเต-การ์โล | ดิน | ราฟาเอล นาดัล | 3–6, 6–2, 1–6 |
รองชนะเลิศ | 2009 | โรม | ดิน | ราฟาเอล นาดัล | 6–7(2–7), 2–6 |
รองชนะเลิศ | 2009 | ซินซินแนติ | คอนกรีต | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 1–6, 5–7 |
ชนะเลิศ | 2009 | ปารีส | คอนกรีต (ในร่ม) | กาแอล มงฟิส | 6–2, 5–7, 7–6(7–3) |
ชนะเลิศ | 2011 | อินเดียนเวลส์ (2) | คอนกรีต | ราฟาเอล นาดัล | 4–6, 6–3, 6–2 |
ชนะเลิศ | 2011 | ไมแอมี (2) | คอนกรีต | ราฟาเอล นาดัล | 4–6, 6–3, 7–6(7–4) |
ชนะเลิศ | 2011 | มาดริด | ดิน | ราฟาเอล นาดัล | 7–5, 6–4 |
ชนะเลิศ | 2011 | โรม (2) | ดิน | ราฟาเอล นาดัล | 6–4, 6–4 |
ชนะเลิศ | 2011 | มอนทรีออล (2) | คอนกรีต | มาร์ดี ฟิช | 6–2, 3–6, 6–4 |
รองชนะเลิศ | 2011 | ซินซินแนติ | คอนกรีต | แอนดี มาร์รี | 4–6, 0–3 (ขอยอมแพ้) |
ชนะเลิศ | 2012 | ไมแอมี (3) | คอนกรีต | แอนดี มาร์รี | 6–1, 7–6(7–4) |
รองชนะเลิศ | 2012 | มงเต-การ์โล | ดิน | ราฟาเอล นาดัล | 3–6, 1–6 |
รองชนะเลิศ | 2012 | โรม | ดิน | ราฟาเอล นาดัล | 5–7, 3–6 |
ชนะเลิศ | 2012 | มอนทรีออล (3) | คอนกรีต | ริชาร์ด กาสเกต์ | 6–3, 6–2 |
รองชนะเลิศ | 2012 | ซินซินแนติ | คอนกรีต | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 0–6, 6–7(7–9) |
ชนะเลิศ | 2012 | เซี่ยงไฮ้ | คอนกรีต | แอนดี มาร์รี | 5–7, 7–6(13–11), 6–3 |
ชนะเลิศ | 2013 | มงเต-การ์โล | ดิน | ราฟาเอล นาดัล | 6–2, 7–6(7–1) |
ชนะเลิศ | 2013 | เซี่ยงไฮ้ (2) | คอนกรีต | ฆวน มาร์ติน เดล อร์โต | 6–1, 3–6, 7–6(7–3) |
ชนะเลิศ | 2013 | ปารีส (2) | คอนกรีต (ในร่ม) | ดาวิต เฟร์เรร์ | 7–5, 7–5 |
ชนะเลิศ | 2014 | อินเดียนเวลส์ (3) | คอนกรีต | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 3–6, 6–3, 7–6(7–3) |
ชนะเลิศ | 2014 | ไมแอมี (4) | คอนกรีต | ราฟาเอล นาดัล | 6–3, 6–3 |
ชนะเลิศ | 2014 | โรม (3) | ดิน | ราฟาเอล นาดัล | 4–6, 6–3, 6–3 |
ชนะเลิศ | 2014 | ปารีส (3) | คอนกรีต | มิลอช ราวนิช | 6–2, 6–3 |
ชนะเลิศ | 2015 | อินเดียนเวลส์ (4) | คอนกรีต | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 6–3, 6–7(5–7), 6–2 |
ชนะเลิศ | 2015 | ไมแอมี (5) | คอนกรีต | แอนดี มาร์รี | 7–6(7–3), 4–6, 6–0 |
ชนะเลิศ | 2015 | มงเต-การ์โล (2) | ดิน | โทมัช เบอร์ดิช | 7–5, 4–6, 6–3 |
ชนะเลิศ | 2015 | โรม (4) | ดิน | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 6–4, 6–3 |
รองชนะเลิศ | 2015 | มอนทรีออล | คอนกรีต | แอนดี มาร์รี | 4–6, 6–4, 3–6 |
รองชนะเลิศ | 2015 | ซินซินแนติ | คอนกรีต | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 6–7(1–7), 3–6 |
ชนะเลิศ | 2015 | เซี่ยงไฮ้ (3) | คอนกรีต | โจ-วิลฟรีด ซองกา | 6–2, 6–4 |
ชนะเลิศ | 2015 | ปารีส (4) | คอนกรีต (ในร่ม) | แอนดี มาร์รี | 6–2, 6–4 |
ชนะเลิศ | 2016 | อินเดียนเวลส์ (5) | คอนกรีต | มิลอช ราวนิช | 6–2, 6–0 |
ชนะเลิศ | 2016 | ไมแอมี (6) | คอนกรีต | เคะอิ นิชิโคริ | 6–3, 6–3 |
ชนะเลิศ | 2016 | มาดริด (2) | ดิน | แอนดี มาร์รี | 6–2, 3–6, 6–3 |
รองชนะเลิศ | 2016 | โรม | ดิน | แอนดี มาร์รี | 3–6, 3–6 |
ชนะเลิศ | 2016 | มอนทรีออล (4) | คอนกรีต | เคะอิ นิชิโคริ | 6–3, 7–5 |
รองชนะเลิศ | 2017 | โรม | ดิน | อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ | 4–6, 3–6 |
ชนะเลิศ | 2018 | ซินซินแนติ | คอนกรีต | โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ | 6–4, 6–4 |
ชนะเลิศ | 2018 | เซี่ยงไฮ้ (4) | คอนกรีต | บอร์นา โชริช | 6–3, 6–4 |
รองชนะเลิศ | 2018 | ปารีส | คอนกรีต (ในร่ม) | คาเรน คาชานอฟ | 5–7, 4–6 |
ชนะเลิศ | 2019 | มาดริด (3) | ดิน | สเตฟาโนส ซิตซีปัส | 6–3, 6–4 |
รองชนะเลิศ | 2019 | โรม | ดิน | ราฟาเอล นาดัล | 0–6, 6–4, 1–6 |
ชนะเลิศ | 2019 | ปารีส (5) | คอนกรีต (ในร่ม) | เดนิส เชโปวาลอฟ | 6–3, 6–4 |
ชนะเลิศ | 2020 | ซินซินแนติ (2) | คอนกรีต | มิลอช ราวนิช | 1–6, 6–3, 6–4 |
ชนะเลิศ | 2020 | โรม (5) | ดิน | ดีเอโก ชวาร์ตซ์มัน | 7–5, 6–3 |
รองชนะเลิศ | 2021 | โรม | ดิน | ราฟาเอล นาดัล | 5–7, 6–1, 3–6 |
ชนะเลิศ | 2021 | ปารีส (6) | คอนกรีต (ในร่ม) | ดานีอิล เมดเวเดฟ | 4–6, 6–3, 6-3 |
ชนะเลิศ | 2022 | โรม (6) | ดิน | สเตฟาโนส ซิตซีปัส | 6–0, 7–6(7–5) |
รองชนะเลิศ | 2022 | ปารีส | คอนกรีต (ในร่ม) | โฮลเกอร์ รูน | 6–3, 3–6, 5–7 |
ชนะเลิศ | 2023 | ซินซินแนติ (3) | คอนกรีต | การ์โลส อัลการัซ | 5–7, 7–6(9–7), 7–6(7–4) |
ชนะเลิศ | 2023 | ปารีส (7) | คอนกรีต (ในร่ม) | กริกอร์ ดิมิตรอฟ | 6–4, 6–3 |
- ชนะเลิศต่างรายการทั้งหมด 9/9 ครบทุกรายการ (สถิติสูงสุด)
- เข้าชิงชนะเลิศต่างรายการทั้งหมด 9/9 ครบทุกราบการ
โอลิมปิก
แก้รายการ | ปี | รายการ | พื้นสนาม | คู่แข่ง | ผลการแข่งขัน |
---|---|---|---|---|---|
เหรียญทอง | 2024 | โอลิมปิกฤดูร้อน 2024 | ดิน | การ์โลส อัลการัซ | 7–6(7–3), 7–6(7–2) |
การแข่งขันประเภททีม (ทีมชาติเซอร์เบีย)
แก้รายการพิเศษ
แก้ผลลัพธ์ | วันที่ | รายการ | พื้นสนาม | คู่แข่ง | ผลการแข่งขัน |
---|---|---|---|---|---|
ชนะเลิศ | ธันวาคม 2011 | World Tennis Championship, อาบูดาบี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ | คอนกรีต | ดาวิต เฟร์เรร์ | 6–2, 6–1 |
ชนะเลิศ | ธันวาคม 2012 | World Tennis Championship, อาบูดาบี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ | คอนกรีต | นิโคลัส อัลมาโกร | 6–7(4–7), 6–3, 6–4 |
ชนะเลิศ | ธันวาคม 2013 | World Tennis Championship, อาบูดาบี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ | คอนกรีต | ดาวิต เฟร์เรร์ | 7–5, 6–2 |
ชนะเลิศ | มีนาคม 2014 | BNP Paribas Showdown, นิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา | คอนกรีต | แอนดี มาร์รี | 6–3, 7–6(7–2) |
รองชนะเลิศ | มกราคม 2015 | World Tennis Championship, อาบูดาบี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ | คอนกรีต | แอนดี มาร์รี | (ถอนตัว) |
ชนะเลิศ | ธันวาคม 2018 | World Tennis Championship, อาบูดาบี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ | คอนกรีต | เควิน แอนเดอร์สัน | 4–6, 7–5, 7–5 |
ชนะเลิศ | มกราคม 2021 | A Day at The Drive, แอดิเลด, ออสเตรเลีย | คอนกรีต | ยานนิค ซินเนอร์ | 6–3 |
เงินรางวัล
แก้ปี | รายการ แกรนด์สแลม |
รายการ เอทีพี |
รวม | เงินรางวัล($) | อันดับ |
---|---|---|---|---|---|
2003 | 0 | 0 | 0 | $2,704 | 937[205] |
2004 | 0 | 0 | 0 | $40,790 | 292[206] |
2005 | 0 | 0 | 0 | $202,416 | 114[207] |
2006 | 0 | 2 | 2 | $644,940 | 28[208] |
2007 | 0 | 5 | 5 | $3,927,700 | 3[209] |
2008 | 1 | 3 | 4 | $5,689,078 | 3[210] |
2009 | 0 | 5 | 5 | $5,476,472 | 3[211] |
2010 | 0 | 2 | 2 | $4,278,856 | 3[212] |
2011 | 3 | 7 | 10 | $12,619,803 | 1[213] |
2012 | 1 | 5 | 6 | $12,803,739 | 1[213] |
2013 | 1 | 6 | 7 | $12,447,947 | 2[214] |
2014 | 1 | 6 | 7 | $14,269,463 | 1[215] |
2015 | 3 | 8 | 11 | $21,146,145 | 1 |
2016 | 2 | 5 | 7 | $14,138,824 | 2 |
2017 | 0 | 2 | 2 | $2,116,524 | 14 [1] |
2018 | 2 | 2 | 4 | $15,967,184 | 1 |
2019 | 2 | 3 | 5 | $13,372,355 | 2 |
2020 | 1 | 3 | 4 | $6,511,233 | 1 |
2021 | 3 | 2 | 5 | $9,100,547 | 1 |
2022 | 1 | 4 | 5 | $9,934,582 | 1 |
Career | 21 | 70 | 91 | $164,691,308 | 1 |
- ข้อมูลเมื่อ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022[update].
เชิงอรรถ
แก้- ↑ ก่อนหน้านี้ใช้ชื่อการแข่งขันว่า เดอะ มาสเตอร์ กรังปรีซ์, เอทีพี ทัวร์ เวิลด์ แชมป์เปียนชิป, เดอะ มาสเตอร์ส คัพ, เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล ก่อนจะเปลี่ยนเป็นเอทีพี ไฟนอล ในปี 2017
- ↑ ยุคโอเพนในการแข่งขันเทนนิสทั่วโลกเริ่มต้นในปี 1968 หมายถึง การเปิดโอกาสให้นักเทนนิสมือสมัครเล่นได้ร่วมแข่งขันรายการต่าง ๆ โดยก่อนหน้านั้น การแข่งขันรายการใหญ่ทั่วโลกจะเปิดโอกาสให้เฉพาะผู้เล่นที่มีชื่อเสียงเท่านั้น
- ↑ ได้แก่ คอร์ตหญ้าในวิมเบิลดัน 2015, ฮาร์ดคอร์ตในยูเอสโอเพน 2015, ฮาร์ดคอร์ตในออสเตรเลียนโอเพน 2016 และ คอร์ตดินในเฟรนช์โอเพน 2016
- ↑ การแข่งขันเริ่มขึ้นในปี 1900 เป็นการแข่งขันรายการนานาชาติของทีมชายที่ใหญ่ที่สุดของสหพันธ์เทนนิสนานาชาติ เปรียบเสมือนการแข่งขันชิงแชมป์โลก ผู้จัดงานได้อธิบายไว้ว่าเป็น "World Cup of Tennis" และผู้ชนะจะเรียกว่าทีมแชมป์โลก
อ้างอิง
แก้- ↑ "Novak Djokovic". ATP Tour. สืบค้นเมื่อ 1 April 2019.
- ↑ "Djokovic, Novak". novakdjokovic.com. สืบค้นเมื่อ 13 July 2015.
- ↑ "Rankings Singles". ATP Tour.
- ↑ "Rankings Doubles". ATP Tour.
- ↑ "The pronunciation by Novak Djokovic himself". ATP Tour. สืบค้นเมื่อ 9 January 2018.
- ↑ "Rankings | Singles | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Djokovic beats Medvedev for 37th Masters title in Paris". news.cgtn.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Limited, Bangkok Post Public Company. "Djokovic sets all-time record for weeks at world No. 1". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2021-06-08.
- ↑ Tennis.com. "Novak Djokovic clinches historic seventh year-end No. 1 finish". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "History: Djokovic Stands Alone | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic Has Now Officially Won More Prize Money Than Any Other Tennis Player In History". Celebrity Net Worth (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2021-07-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-06. สืบค้นเมื่อ 2021-12-06.
- ↑ "Novak sets gold standard in record-breaking 2015 season". Novak Djokovic (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Novak Djokovic beats Andy Murray to claim first French Open title". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2016-06-05.
- ↑ "Nole sets new absolute ATP ranking record!". Novak Djokovic (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Dominant Novak Djokovic Seals Historic Ninth Australian Open Crown | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ Briggs, Simon; Hodges, Vicki (2021-06-13). "Novak Djokovic wins 19th major after battling back from two sets down in French Open final". The Telegraph (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0307-1235. สืบค้นเมื่อ 2021-11-29.
- ↑ "Novak Djokovic willing to miss tournaments over vaccine". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2022-02-15. สืบค้นเมื่อ 2023-09-12.
- ↑ "Djokovic Wins Roland Garros For Historic 23rd Major Title | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "The Order of the Karađorđe`s Star". Novak Djokovic (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Novak Djokovic awarded with the highest distinction of the Serbian Church". Novak Djokovic (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Novak Djokovic Doubling Donations In His Foundation's Season Of Giving | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic appointed as UNICEF's Goodwill Ambassador". www.unicef.cn (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "The 12 reasons why Djokovic is now the best player in history". MARCA (ภาษาอังกฤษ). 2023-06-11.
- ↑ "Wimbledon sensation Christopher Eubanks explains why Djokovic is greatest of all-time ahead of Federer, Nadal". Hindustan Times (ภาษาอังกฤษ). 2023-08-01.
- ↑ Gaines, Cork. "Novak Djokovic is the greatest winner since Michael Jordan". Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ Kay, Alex. "Novak Djokovic: Why the Djoker Is the Best Tennis Player Ever". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Top 10 Greatest Men's Tennis Players of All Time". HowTheyPlay (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2023-09-12.
- ↑ Hendrix, Hale (2018-08-13). "Novak Djokovic Childhood Story Plus Untold Biography Facts". Childhood Biography - (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-17. สืบค้นเมื่อ 2021-05-17.
- ↑ "Who is Novak Djokovic? Everything You Need to Know". www.thefamouspeople.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ Post, The Jakarta. "'I came from nothing' - Djokovic says tough childhood made him a fighter". The Jakarta Post (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic spent his childhood fighting for survival". Tennis World USA (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Davies, Joe (2018-08-13). "Novak Djokovic Childhood Story Plus Untold Biography Facts". Childhood Biography - (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-17. สืบค้นเมื่อ 2021-05-17.
- ↑ Perrotta, Tom (2013-07-31). "Djokovic Opens the Refrigerator". Wall Street Journal (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0099-9660. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
- ↑ This, Eat; July 15, Not That! Editors; 2018 (2018-07-15). "8 Food Secrets from Novak Djokovic | Eat This Not That!". Eat This Not That (ภาษาอังกฤษ).
{{cite web}}
:|first2=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help)CS1 maint: numeric names: authors list (ลิงก์) - ↑ "Novak Djokovic talks about the effects of alcohol on him". Tennis World USA (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic is always entertaining. Watch this funny Djokovic video mash up". Outside the Ball (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2015-01-01.
- ↑ Davis, Scott. "Novak Djokovic goes to a Buddhist temple to meditate between matches at Wimbledon". Business Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Wimbledon Thai Buddhist temple frequented by Djokovic in urgent need of new roof | SWLondoner". South West Londoner (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2016-11-18.
- ↑ Kale, Rupin (2020-09-11). "'How Djokovic is treated by the international media doesn't correspond with what he has achieved' – Serbian journalist". www.sportskeeda.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Becker: Djokovic deserves more respect". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2019-07-15.
- ↑ "Djokovic deserves more respect - Becker". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-06-08.
- ↑ World, Republic. "Novak Djokovic gets a special birthday wish from his favorite football club AC Milan". Republic World (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Zlatan Ibrahimovic opens up on relationship with Novak Djokovic". Tennis World USA (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Gleeson, Scott. "Novak Djokovic breaks down at Australian Open center court remembering friend Kobe Bryant". USA TODAY (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Novak Djokovic marries pregnant fiancée days after winning Wimbledon". For The Win (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2014-07-10.
- ↑ "Novak Djokovic's wife gives birth to baby boy (Updated)". Washington Post (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0190-8286. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
- ↑ Tennis.com. "Djokovic shares his love for dogs with cute videos". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ https://www.amazon.com/Serve-Win-Gluten-Free-Physical-Excellence/dp/0345548981
- ↑ "July 23, 2006: The day Novak Djokovic won the first title of his career". Tennis Majors (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2020-07-23.
- ↑ "French Open 2007 | Sport | The Guardian". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Djokovic battles to Aussie title" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2008-01-27. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
- ↑ "Tennis: ATP Finals - London 2008 - results, fixtures - Scoreboard.com". www.scoreboard.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Tennis-X.com. "Djokovic, Team Goes Bald as Serbia Celebrates First Davis Cup Title [Video]" (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Serbia wins its first Davis Cup". Tennis Australia (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย).
- ↑ Network, Simon Cambers for The Sport Collective, part of the Guardian Sport (2011-11-17). "Is Novak Djokovic's year the best ever in men's tennis? | Guardian Sport Network". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Inspired Djokovic dethrones Nadal". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
- ↑ "2012 | The great tennis match of all time?". ausopen.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Djokovic to end year in top spot". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-05-25.
- ↑ "Djokovic hires Becker as head coach". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-05-25.
- ↑ "Roger Federer pulls out of ATP Tour Finals with back injury". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2014-11-16.
- ↑ "Novak Djokovic Chasing His Best Year Yet | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic's 2015 season stakes claim to being best ever". Hindustan Times (ภาษาอังกฤษ). 2015-10-19.
- ↑ Eckstein, Jeremy. "Is Novak Djokovic's 2015 Season the Greatest in Men's Tennis History?". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Players React To Novak Djokovic's Historic Win At Roland Garros | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic and Boris Becker Split | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic will miss the rest of 2017 season with elbow injury". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2017-07-26.
- ↑ "Djokovic Ends 2017 Season Due To Elbow Injury | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ Staff, Reuters (2018-02-03). "Djokovic undergoes surgery to cure troublesome elbow". Reuters (ภาษาจีน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-25. สืบค้นเมื่อ 2021-05-25.
- ↑ "Djokovic beats Anderson to win Wimbledon". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-05-25.
- ↑ "Stats". Novak Djokovic (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Djokovic Completes Remarkable Return To No. 1 | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Federer beats Djokovic to reach ATP semis". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-05-25.
- ↑ "Team Serbia Triumphs; ATP Cup By The Numbers | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic Beats Rafael Nadal At ATP Cup Final In Sydney | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ News, A. B. C. "Tennis champ Novak Djokovic tests positive for COVID-19, apologizes for holding tournament: 'We were wrong'". ABC News (ภาษาอังกฤษ).
{{cite web}}
:|last=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - ↑ "Novak Djokovic tests positive for Covid-19 amid Adria Tour fiasco". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2020-06-23.
- ↑ "Novak Djokovic Praises Serbia Fight After 2021 ATP Cup Exit - Match Reaction | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Stats: Novak Djokovic's 9th Australian Open crown, 18th Grand Slam and 82nd title". ESPN (ภาษาอังกฤษ). 2021-02-21.
- ↑ "Immersive Feature: How Djokovic Became The Longest-Reigning Champ In ATP History | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Djokovic fights back to win French Open". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-06-13.
- ↑ "2021 Wimbledon ATP Entry List with Djokovic, Medvedev and Federer (last update 17-06-21)". Tennisuptodate.com (ภาษาอังกฤษ). 2021-06-18.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Novak Djokovic Saves Set Point, Overcomes Denis Kudla Challenge At Wimbledon | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ Amako, Uche (2021-07-11). "Novak Djokovic wins his sixth Wimbledon title and a 20th Grand Slam with victory over Matteo Berrettini - live reaction". The Telegraph (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0307-1235. สืบค้นเมื่อ 2021-07-11.
- ↑ "Stats: Djokovic ties Federer, Nadal's 20 Grand Slams with 6th Wimbledon title". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2021-07-11.
- ↑ "Djokovic wins Wimbledon for 20th Slam". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-07-11.
- ↑ "Tokyo 2020 Olympic Games - 'I've booked my flight' - Novak Djokovic confirms decision to compete at Olympics". Eurosport (ภาษาอังกฤษ). 2021-07-16.
- ↑ "Pablo Carreno Busta Upsets Novak Djokovic To Win Bronze In Tokyo | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic Withdraws From Indian Wells | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ Tennis.com. "Novak Djokovic clinches historic seventh year-end No. 1 finish". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Djokovic Wins Record 37th Masters 1000 Crown | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic spends 350th week atop, eyes Steffi Graf's all-time record". www.timesnownews.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Tennis.com. "Novak Djokovic kicks off 350th career week at No. 1 on ATP rankings". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic Celebrates 350th Week At World No. 1 | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic withdraws from ATP Cup". Tennis World USA (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic denied Australia visa, will be deported to raise doubts over 2022 Australian Open title defence". Eurosport (ภาษาอังกฤษ). 2022-01-05.
- ↑ "Novak Djokovic: Australia cancels top tennis player's visa". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2022-01-05. สืบค้นเมื่อ 2022-01-05.
- ↑ "Djokovic to remain in immigration detention as legal team launches court action against deportation order". ABC News (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). 2022-01-05. สืบค้นเมื่อ 2022-01-08.
- ↑ Mills, Adam Cooper, Anthony Galloway, Paul Sakkal, Tammy (2022-01-10). "Djokovic's fate in minister's hands after court quashes visa ban". The Sydney Morning Herald (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic v Minister for Home Affairs | Federal Circuit and Family Court of Australia". www.fcfcoa.gov.au (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-19. สืบค้นเมื่อ 2022-01-10.
- ↑ "Novak Djokovic wins Australia visa appeal - but government could still deport him". Sky News (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic set to face further questions over false travel claims". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 2022-01-11.
- ↑ "Australian Border Force investigating whether Novak Djokovic made false travel claim". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2022-01-11.
- ↑ Rumsby, Ben; White, Josh (2022-01-11). "Novak Djokovic investigated over claim he lied on Australian Travel Declaration". The Telegraph (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0307-1235. สืบค้นเมื่อ 2022-01-11.
- ↑ Paul, Sonali; Walsh, Courtney (2022-01-12). "Djokovic sorry for COVID errors, Australian Open visa still in doubt". Reuters (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-01-12.
- ↑ "Novak Djokovic: Australia cancels tennis star's visa". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2022-01-14. สืบค้นเมื่อ 2022-01-14.
- ↑ "Novak Djokovic news LIVE: Latest as Australia cancels visa again". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 2022-01-14.
- ↑ "Live: Novak Djokovic 'extremely disappointed' with the court ruling against him". ABC News (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). 2022-01-15. สืบค้นเมื่อ 2022-01-16.
- ↑ "Djokovic 'disappointed' with losing deportation appeal". AP NEWS (ภาษาอังกฤษ). 2022-01-16.
- ↑ "PM leaves door open for Djokovic to return sooner than three-year ban window". ABC News (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). 2022-01-17. สืบค้นเมื่อ 2022-01-17.
- ↑ "Djokovic set for return in Dubai". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-30.
- ↑ "Novak Djokovic willing to miss tournaments over vaccine". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2022-02-15. สืบค้นเมื่อ 2022-02-17.
- ↑ "Novak Djokovic pulls out of Indian Wells as vaccine stance derails US trip". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2022-03-09.
- ↑ Zagoria, Adam. "Novak Djokovic Officially Returns To World No. 1 In Men's Tennis". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic will officially play Monte Carlo". Tennis World USA (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Agencies (2022-04-12). "Undercooked Djokovic loses to Davidovich Fokina in Monte Carlo". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Immersive Tribute: Novak Djokovic's Journey To 1,000 Wins | Novak 1,000 | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic Extends 'Big Titles' Lead With Rome Victory | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ Majumdar, Aayush. "Novak Djokovic becomes the first player in history to win 80 matches at all the Grand Slams with 1R win at 2022 Wimbledon". www.sportskeeda.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Wimbledon 2022 Day 12: Djokovic into 32nd Slam final - Roland-Garros - The 2023 Roland-Garros Tournament official site". www.rolandgarros.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Wimbledon: Champion Novak Djokovic hopes for Covid rule change ahead of US Open". CNBC (ภาษาอังกฤษ). 2022-07-11.
- ↑ "Novak Djokovic Defeats Stefanos Tsitsipas, Triumphs In Astana | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic Earns 15th Nitto ATP Finals Qualification | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Teen Rune rallies past Djokovic to win Paris title". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2022-11-06.
- ↑ "Novak Djokovic to be granted visa for 2023 Australian Open". ABC News (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). 2022-11-15. สืบค้นเมื่อ 2022-11-15.
- ↑ "Djokovic to get visa for 2023 Australian Open: reports". France 24 (ภาษาอังกฤษ). 2022-11-15.
- ↑ "Novak Djokovic granted visa to play in 2023 Australian Open: Media". Al Arabiya English (ภาษาอังกฤษ). 2022-11-15.
- ↑ Tennis.com. "Stat of the Day: Novak Djokovic defeats Stefanos Tsitsipas for 60th career win over a Top 3 player". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic: Inside A Champion's Mentality | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic Claims Nitto ATP Finals Crown | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic Saves Championship Point, Beats Sebastian Korda For Adelaide Title | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ Tennis.com. "Ranking Reaction: Novak Djokovic surpasses Steffi Graf with 378th career week at No. 1". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic Withdraws From Madrid | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "WATCH: Djokovic Ditches Elbow Pad Gearing Up for Rome Defence". tennis-infinity.com (ภาษาอังกฤษ). 2023-05-04.
- ↑ Limited, Bangkok Post Public Company. "History-making Djokovic claims record 23rd Grand Slam triumph". Bangkok Post (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2023-06-11.
- ↑ 135.0 135.1 "Novak Djokovic Saves MP, Stuns Carlos Alcaraz For Cincinnati Title | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ Zagoria, Adam. "In Heavyweight Slugfest, Novak Djokovic Edges Carlos Alcaraz for Cincinnati Title". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic Continues Big Titles Dominance With US Open Victory | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Djokovic Rune Turin 2023 Sunday | Nitto ATP Finals | Tennis". Nitto ATP Finals.
- ↑ Tennis.com. "Record-breakovic! Novak Djokovic defeats Jannik Sinner for historic seventh ATP Finals title". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Australian Open: 'I think I'll be okay' - Novak Djokovic dispels injury fears after wrist struggles". Eurosport (ภาษาอังกฤษ). 2024-01-03.
- ↑ "Novak Djokovic equals record with 58th grand slam quarter-final". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 2024-01-21.
- ↑ Tennis.com. "Novak Djokovic breaks record for oldest No. 1 in ATP rankings history at 36 years young". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Limited, Bangkok Post Public Company. "Injured Djokovic pulls out of French Open". Bangkok Post (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2024-06-09.
- ↑ Zagoria, Adam. "Andy Roddick Says Novak Djokovic Should Consider Sitting Out Rest Of 2024 And Return In 2025". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic defeats Carlos Alcaraz for first Olympic gold medal | ATP Tour | Tennis". ATP Tour (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Tennis Strategy: The Aggressive, The Defensive, The Serve-Volleyer and The All-Court". I AM SURVIVORDEAN (ภาษาอังกฤษ). 2009-11-10.
- ↑ Rao, Madhusudan G. "20 Most Athletic Players in Tennis History". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "First Serve Return Points Won | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "The Buddhist temple that helps Djokovic maintain his winning ways". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 2015-07-05.
- ↑ "Why You Should Pay More Attention To Novak Djokovic's Serve | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ Revolution, Health Fitness (2015-06-05). "Novak Djokovic Fittest Athlete in the World". Health Fitness Revolution (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ ""Novak Djokovic Is One of the Best Athletes on the Planet Ever" - Dominic Thiem". EssentiallySports. 2020-06-03.
- ↑ Health, Men's (2015-09-11). "Is Novak Djokovic the fittest athlete of all time?". Men's Health (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
- ↑ "Novak Djokovic – The official website". Novak Djokovic (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ Jun 13, Reuters /; 2021; Ist, 23:19. "FACTBOX: French Open champion Novak Djokovic | Tennis News - Times of India". The Times of India (ภาษาอังกฤษ).
{{cite web}}
: CS1 maint: numeric names: authors list (ลิงก์) - ↑ "Novak Djokovic Defeats Cameron Norrie, Into Wimbledon Final | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic Comeback Seals Historic Roland Garros Victory | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "ATP News: Djokovic Extends Big Titles Lead With Second Career Golden Masters | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic rallies to beat Stefanos Tsitsipas in epic French Open final". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2021-06-13.
- ↑ "Djokovic wins ninth Australian Open". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-06-14.
- ↑ "NOLE WINS HIS THIRD AUSTRALIAN OPEN CROWN IN HISTORIC MATCH!". Novak Djokovic (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "2021 Wimbledon: Novak Djokovic secures his 75th Wimbledon win". in.news.yahoo.com (ภาษาIndian English).
- ↑ "ATP Finals: Djokovic beats Sinner to win record seventh title". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2023-11-19. สืบค้นเมื่อ 2023-11-20.
- ↑ "Timeless Titlist: Djokovic Tops Ruud, Becomes Oldest ATP Finals Champion - Tennis Now". www.tennisnow.com.
- ↑ "Novak Djokovic wins ATP World Tour Finals for 4th consecutive time - GKToday". www.gktoday.in.
- ↑ "Djokovic Completes Career Golden Masters In Cincinnati | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Unstoppable Djokovic Claims Second Career Golden Masters at Western and Southern Open - Tennis Now". www.tennisnow.com.
- ↑ "Novak Djokovic defeats Daniil Medvedev in Paris Masters final to gain revenge: As it happened". Eurosport (ภาษาอังกฤษ). 2021-11-07.
- ↑ Limited, Bangkok Post Public Company. "Djokovic sets all-time record for weeks at world No. 1". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2022-01-14.
- ↑ Arjun (2018-09-19). "7 Novak Djokovic records which may never be broken". www.sportskeeda.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ Zagoria, Adam. "Novak Djokovic Ensures 8th Year-End No. 1 Ranking, 400th Week At No. 1". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "ATP: career prize money earnings of tennis players 2019". Statista (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "'Rafael Nadal's greatest rival on clay is still Novak Djokovic,' says Toni Nadal". Tennis World USA (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic Beats Rafael Nadal In Epic 2012 Australian Open Final | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Nadal earns win in Djokovic rivalry, Rome title". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2021-05-16.
- ↑ Corbett, Merlisa Lawrence. "The Evolution of the Roger Federer vs. Novak Djokovic Rivalry". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Djokovic Beats Federer: How The Wimbledon 2019 Final Was Won | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ Tennis.com. "2011: Djokovic hits return heard 'round the world to beat Federer". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "US Open 2011: Roger Federer struggles to accept Novak Djokovic defeat". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2011-09-11.
- ↑ "Andy Murray & Novak Djokovic: Childhood Friends Battling On The Big Stage | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic VS Andy Murray | Head 2 Head | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Five finals, five defeats: Andy Murray's misery in Melbourne". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2016-01-31.
- ↑ "N. Djokovic - J. Tsonga Head to Head Game Statistics, Tennis Tournament Results - Tennis Statistics Wettpoint". tennis.wettpoint.com.
- ↑ "Evolution of Djokovic vs Tsonga rivalry". Tennis Factor (ภาษาอังกฤษ). 2012-10-07.
- ↑ "Ill Djokovic hands Tsonga victory". ABC News (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). 2010-01-27. สืบค้นเมื่อ 2022-01-14.
- ↑ "Djokovic downs Tsonga at Tour Finals". ABC News (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). 2012-11-05. สืบค้นเมื่อ 2022-01-14.
- ↑ "Djokovic vs Medvedev: Everything you need to know". Tennis Majors (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2023-09-11.
- ↑ Keating, Steve (2021-09-13). "Medvedev wins U.S. Open to end Djokovic calendar Grand Slam bid". Reuters (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2023-11-20.
- ↑ "Novak Djokovic cruises past Daniil Medvedev to make Eastbourne final". Eurosport (ภาษาอังกฤษ). 2017-06-30.
- ↑ Marsden, Rory. "Novak Djokovic Defeats Daniil Medvedev at 2019 Australian Open". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Cincinnati Masters 2019: Daniil Medvedev downs David Goffin for maiden ATP 1000 crown". India Today (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Tennis.com. "Daniil Medvedev to become new world No. 1 after Novak Djokovic loses Dubai quarterfinal to Jiri Veselý". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic Defeats Daniil Medvedev For US Open Title, 24th Major | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic VS Carlos Alcaraz | Head 2 Head | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "The Rivalry Between Carlos Alcaraz And Novak Djokovic Won't Be Long, But It Will Be Legendary | Defector". defector.com (ภาษาอังกฤษ). 2023-08-24.
- ↑ "Djokovic beats cramping Alcaraz, into French final". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2023-06-09.
- ↑ Futterman, Matthew (2023-07-16). "Alcaraz Wins Wimbledon in a Thrilling Comeback Against Djokovic". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2023-11-20.
- ↑ "Novak Djokovic Beats Alcaraz, Sets Sinner Rematch In Turin | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
- ↑ "Novak Djokovic – The official website". Novak Djokovic (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ น้ำใจงาม! ยอโควิช บริจาค 1 ล้านดอลลาร์ เยียวยาผู้เล่นตกรอบแรก ออสเตรเลียน โอเพ่น, สืบค้นเมื่อ 2021-06-09
- ↑ "'เฟด-นาดาล-ยอโควิช' ชวนนักเทนนิสตั้งกองทุนช่วยเหลือเพื่อนร่วมวงการที่ลำบากจากโควิด-19". THE STANDARD. 2020-04-20.
- ↑ Rovell, Darren (2012-05-22). "Sergio Tacchini, Djokovic Shockingly Part Ways". www.cnbc.com.
- ↑ "#61 Novak Djokovic". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Novak Djokovic Equipment & Clothing - Tennisnuts.com". www.tennisnuts.com.
- ↑ "2003 Prize Money". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-29.
- ↑ "2004 Prize Money". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-27.
- ↑ "2005 Prize Money". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-26.
- ↑ "2006 Prize Money". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-07.
- ↑ "2007 Prize Money". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-03.
- ↑ "2008 Prize Money". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-27.
- ↑ "2009 Prize Money". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-07.
- ↑ "2010 Prize Money". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-28.
- ↑ 213.0 213.1 "2011 Prize Money". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-01.
- ↑ "2013 Prize Money". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-21.
- ↑ "2014 Prize Money". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-10.