นกแคสโซแวรี
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ไพลโอซีน - ปัจจุบัน, 5.0–0Ma
นกแคสโซแวรีใต้ (Casuarius casuarius)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Struthioniformes
วงศ์: Casuariidae
Kaup, 1847[1]
สกุล: Casuarius
Brisson, 1760[1]
ชนิดต้นแบบ
Struthio casuarius
Linnaeus, 1758
ชนิด
ชื่อพ้อง
  • Casoarius Bont.
  • Struthio Linnaeus
  • Cela Moehr, 1752
  • Rhea Lacépède 1800

นกแคสโซแวรี (อังกฤษ: cassowary) เป็นนกบินไม่ได้ขนาดใหญ่สกุลหนึ่ง อาศัยอยู่ในแถบซีกโลกใต้ (โอเชียเนีย) จัดอยู่ในสกุล Casuarius ในวงศ์ Casuariidae

ศัพท์มูลวิทยา แก้

คำว่า "แคสโซแวรี" นั้น มาจากภาษามลายูคำว่า kasuari[2]

ลักษณะ แก้

จัดเป็นนกประเภทแรไทต์ (นกบินไม่ได้ขนาดใหญ่ ที่มีโครงสร้างแบบนกยุคก่อนประวัติศาสตร์) เช่นเดียวกับนกกระจอกเทศ, นกอีมู และนกกีวี โดยเป็นนกที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองมาจากนกกระจอกเทศ และนกอีมูเท่านั้น มีความสูงประมาณ 100 เซนติเมตร หรือกว่านั้น ตัวเมียโดยปกติจะใหญ่กว่าตัวผู้ อาจจะสูงได้ถึง 2 เมตร น้ำหนักประมาณ 53.8 กิโลกรัม[3]

นกแคสโซแวรีมีลักษณะเด่นคือ มีขนสีดำปกคลุมลำตัว ซึ่งขนมีลักษณะแตกต่างไปจากนกจำพวกอื่น ๆ คือ ขนเส้นเดียวแต่แตกออกเป็น 2 เส้น มีไว้สำหรับป้องกันตัวยามเมื่อต้องเดินฝ่าพงหนามหรือพุ่มไม้ มีลำคอยาวไม่มีขนเหมือนนกกระจอกเทศ บริเวณใบหน้าและลำคอมีสีสันสดใสต่างกันไปตามแต่ละชนิด และมีจุดเด่น คือ หงอนขนาดใหญ่บนหัว ซึ่งเป็นสารประกอบเคอราทิน ภายในเป็นโพรงกลวง ปัจจุบันยังไม่มีทราบถึงสาเหตุการมีของหงอนนี้ แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนสันนิษฐานว่า มีไว้เพื่อช่วยในการส่งเสียงร้อง แบบเดียวกับไดโนเสาร์บางสกุลที่มีหงอนบนหัว เช่น พาราซอโรโลฟัส หรือแลมบีโอซอรัส เสียงที่ได้จะเป็นเสียงทุ้มต่ำ ซึ่งนกแคสโซแวรีจัดเป็นนกที่มีเสียงร้องต่ำที่สุดในโลก และยังมีเหตุผลนอกเหนือไปจากนี้ คือ ใช้ในการประกาศเอกลักษณ์เฉพาะตัว หรือเป็นการแสดงออกทางเพศ นกแคสโซแวรีในวัยอ่อน หงอนดังกล่าวจะยังไม่ปรากฏ แต่จะค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ เมื่อนกโตขึ้นตามวัย ซึ่งหงอนดังกล่าวสามารถยาวได้ถึง 15-17 เซนติเมตร[3][4]

นิ้วตีนของนกแคสโซแวรี มี 3 นิ้ว แตกต่างไปจากแรไทต์อย่างนกกระจอกเทศที่มี 2 นิ้ว ทุกนิ้วมีกรงเล็บที่แหลมคม โดยเฉพาะนิ้วกลางที่ยื่นยาวที่สุด ซึ่งยาวได้ถึง 5 นิ้ว (12 เซนติเมตร) เป็นอาวุธที่ใช้เป็นเครื่องป้องกันตัวด้วยการกระโดดถีบ ด้วยความแรง 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง[4]

การกระจายพันธุ์และการแพร่พันธุ์ แก้

นกแคสโซแวรีกระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้นของเกาะนิวกินีและบางส่วนของออสเตรเลีย เช่น รัฐควีนส์แลนด์ เป็นนกที่หากินตามลำพัง อาหารตามปกติได้แก่ ผลไม้, ลูกไม้ต่าง ๆ ที่ตกหล่นบนพื้นหรือขึ้นตามพุ่มเตี้ย ๆ, เห็ดรา และสามารถกินเนื้อสัตว์ได้ด้วย เช่น สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ๆ รวมถึงซากสัตว์ เวลาในการออกหากินอยู่ในช่วงโพล้เพล้ทั้งในตอนเช้ามืดและตอนเย็น[5][4]

มีฤดูผสมพันธุ์ราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน โดยตัวผู้จะเป็นฝ่ายตามหาตัวเมีย หลังจากจับคู่กันได้ประมาณ 2 สัปดาห์ จึงจะผสมพันธุ์กัน หลังจากผสมพันธุ์แล้ว นกตัวเมียจะวางไข่ครั้งละ 5-6 ฟอง บนพื้นดินในรังที่ตัวผู้สร้างไว้จากใบไม้ต่าง ๆ เปลือกไข่สีเขียวเข้มหรือสีเขียวอ่อน เสร็จแล้วจะจากไป ปล่อยให้นกตัวผู้เป็นฝ่ายกกไข่และเลี้ยงดูลูกนกที่ฟักออกมา นกตัวเมียจะผสมพันธุ์กับตัวผู้หลายตัวโดยมีรัศมีการหาคู่กว้างประมาณ 7 กิโลเมตร ตัวผู้ใช้เวลาฟักประมาณ 50-52 วัน ลูกนกที่เกิดมาใหม่จะมีขนสีน้ำตาล สีสันไม่สดใส และยังไม่มีหงอน ตัวผู้ใช้เวลาเลี้ยงลูกนานประมาณ 9 เดือน ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปหากินตามอิสระ มีอายุขัยได้ถึง 50 ปี หรือมากกว่านั้นในที่เลี้ยง แต่อายุโดยเฉลี่ยในป่าเพียง 12-19 ปี เท่านั้น[3][4]

การจำแนก แก้

นกแคสโซแวรีปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด โดยมีบางชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้ว

สถานะและความสัมพันธ์กับมนุษย์ แก้

นกแคสโซแวรี โดยเฉพาะนกแคสโซแวรีใต้ นับเป็นนกที่ได้ชื่อว่าอันตรายที่สุดในโลก เนื่องจากมีนิสัยหงุดหงิดหรือก้าวร้าวได้ง่าย เมื่อจะทำร้ายผู้รุกรานจะใช้การกระโดดถีบอย่างรุนแรง จากกรงเล็บที่แหลมคมทำให้ได้รับแผลฉกรรจ์ได้ มีมนุษย์ถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตมาแล้ว[4]

นกแคสโซแวรี วิ่งได้เร็วเต็มที่ได้ถึง 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเมื่อต้องการหนีสามารถที่จะลงน้ำว่ายน้ำได้ด้วย จำนวนประชากรคาดว่ามีประมาณ 1,500-3,000 ตัว ในที่สถานที่เลี้ยง ในออสเตรเลียมี 40 ตัว นอกนั้นกระจายไปตามสวนสัตว์ต่าง ๆ ทั่วโลก สาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนประชากรนกลดลง คือ การตัดไม้ทำลายป่า ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา คาดว่ามีนกแคสโซแวรีหายไปถึงร้อยละ 50

ปัจจุบัน ในบางพื้นที่ของออสเตรเลีย นกแคสโซแวรีใต้ บางครั้งจะออกมาหากินตามท้องถนน ชายหาด หรือในชุมชนเมืองที่มนุษย์อยู่อาศัยด้วย ซึ่งอาจทำอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยได้[5][4]

ระเบียงภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Brands, S. (2012)
  2. Gotch, A.T. (1995)
  3. 3.0 3.1 3.2 นกคาสโซวารี นักเลงใหญ่แห่งป่าลึก
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 Cassowary Bird: Feathered Velociraptor, "Biggest & Baddest" สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต. ทางทรูวิชั่นส์: อังคารที่ 15 มกราคม 2556
  5. 5.0 5.1 "นกแคสโซแวรี..ขี้อาย สยบศัตรูด้วยถีบมหากาฬ". ไทยรัฐ. 2009-11-03.
  6. "Invasion of the Cassowaries". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-13. สืบค้นเมื่อ 2013-01-15.

บรรณานุกรม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Casuarius ที่วิกิสปีชีส์