นกคอสามสี
นกคอสามสี ที่พบในกรุงชิง อุทยานแห่งชาติเขาหลวง
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: สัตว์ปีก
อันดับ: Passeriformes
วงศ์: Eupetidae Bonaparte, 1850
สกุล: Eupetes Temminck, 1831
สปีชีส์: macrocerus
ชื่อทวินาม
Eupetes macrocerus
Temminck, 1831
แผนที่การแพร่กระจายพันธุ์ นกคอสามสี
ภาพวาดประกอบ นกคอสามสี
มองจากด้านหลัง แถบคิ้วสีขาวสองแถบของนกคอสามสี ดูคล้ายราง

นกคอสามสี (อังกฤษ: Rail-babbler; ชื่อวิทยาศาสตร์: Eupetes macrocerus) เป็นนกกินแมลงบนพื้นป่าในวงศ์นกคอสามสี (Eupetidae) ซึ่งมีเพียงสกุลเดียวและชนิดเดียว นกคอสามสีมีขนตัวและหางสีน้ำตาลล้วน แต่มีขนหัวและคอหลายแถบสี รวมทั้งผิวหนังคอที่พองลมโป่งออก 2 ข้างสีน้ำเงินเหลือบ เสียงร้องและพฤติกรรมการพองหนังคอคล้ายกบ อาจเหมาะในการสื่อสารในถิ่นอาศัยบนพื้นป่าดิบชื้นที่มีแสงส่องถึงพื้นน้อย บนคาบสมุทรมลายูตั้งแต่พังงา–สุราษฎร์ธานีลงไป เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว อย่างไรก็ตามพฤติกรรมที่สันโดษและขี้อายทำให้นกชนิดนี้เป็นที่รู้จักน้อยและทำการศึกษาได้ค่อนข้างยาก

อนุกรมวิธาน แก้

นกคอสามสี (Eupetes macrocerus) เป็นนกที่ได้รับความเห็นต่างในการจัดอนุกรมวิธานโดยแรกเริ่มถูกจัดอยู่ในวงศ์นกกินแมลงและนกกะราง (Timaliidae) ต่อมาไม่นานได้ถูกจัดไปอยู่ในวงศ์ Cinclosomatidae (นกประเภทนกกระทาดงกึ่งนกเดินดง ในอันดับย่อยนกกา) การจัดความสัมพันธ์นี้จัดเอานกกินแมลงไพลิน (ปัจจุบัน Ptilorrhoa caerulescens) จากนิวกินีมารวมไว้ในสกุล Eupetes (ในชื่อเดิม Eupetes caerulescens) จนถึงปีพ.ศ. 2483 ก่อนที่จะถูกย้ายไปที่ สกุล Ptilorrhoa[2] ทำให้สกุล Eupetes มีเพียง 1 ชนิดในปัจจุบัน

ในปีพ.ศ. 2495 Serle ได้ชี้ให้เห็นความคล้ายคลึงทางชีววิทยาของนกคอสามสีกับนกอีกสองชนิดในวงศ์ Picathartidae (นกเกาะคอนประเภทกึ่งไก่กึ่งกา มีหัวล้านเหมือนแร้ง จากแอฟริกาตะวันตก มีสกุลเดียวคือ Picathartes)[3] ในปีพ.ศ. 2516 Charles Sibley ได้ยกเลิกความสัมพันธ์กับสกุล Picathartes และแนะนำให้ตรวจสอบเพิ่มเติม[4] และจากการศึกษาระดับชีวโมเลกุลโดย Jønsson et al. (2550)[5] ระบุตำแหน่งที่ถูกต้องสำหรับนกคอสามสี (E. macrocerus) คือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวงศ์ Chaetopidae (นก rockjumper) มากที่สุด นกคอสามสีจึงถูกจัดในวงศ์ Eupetidae ของมันเอง ซึ่งมีสกุลเดียวและชนิดเดียว (monotypic)

นกคอสามสี (E. macrocerus) เป็นตัวอย่างหนึ่งของการศึกษาความเชื่อมโยงทางชีวภูมิศาสตร์ระหว่างทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย และแอฟริกา การที่นกคอสามสีเป็นชนิดพันธุ์ที่กระจายอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ บนคาบสมุทรมลายู บนเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียวมีความเกี่ยวข้องนกสกุลอื่นที่อยู่ในถิ่นอาศัยที่ห่างกันข้ามทวีป การตรวจเครื่องหมายดีเอ็นเอแสดงให้เห็นว่าสกุลนกคอสามสี Eupetes เป็นญาติใกล้ชิดที่สุดกับสกุล Chaetops จากแอฟริกาใต้ และญาติสนิทของสกุล Picathartes จากแอฟริกาตะวันตก โดยแยกออกจากกันในยุค Eocene จากการกระจัดกระจายของ 3 สกุลที่เป็นญาติใกล้ชิดไปตามมุมที่ห่างไกลของแอฟริกาและเอเชีย ชี้ให้เห็นประวัติชีวภูมิศาสตร์ของนกเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันการแก้ไขด้วยข้อมูลระดับโมเลกุลอาจเปิดเผยความความเชื่อมโยงในอดีตระหว่างทวีป และสนับสนุนทฤษฎีต่าง ๆ ที่พยายามอธิบายถึงการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ชนิดย่อย แก้

มีทั้งหมด 2 ชนิดย่อย ได้แก่

  • Eupetes macrocerus macrocerus – เป็นชนิดย่อยต้นแบบของสายพันธุ์ พบในคาบสมุทรมลายูของไทยและมาเลเซีย เกาะสุมาตรา[6] และหมู่เกาะนาตูนา[7]
  • Eupetes macrocerus borneensis – อาศัยในแถบเทือกเขาของเกาะบอร์เนียว (มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน)[6][7][8]

ลักษณะทางชีววิทยาและพฤติกรรม แก้

เป็นนกป่าขนาดกลาง ลำตัวยาวประมาณ 28-30 ซม. น้ำหนักเฉลี่ย 66-72 กรัม[9] คอเรียวยาว จะงอยปากยาวตรงสีดำและขายาวสีดำซึ่งต่างจากนกที่อาศัยอยู่บนพื้นป่าทั่วไป[10] ขนสีน้ำตาลล้วนทั่วลำตัวและหาง ใต้ปีกโคนหางเป็นขนฟู นกคอสามสีมีความโดดเด่นอย่างชัดเจนที่ขนหัวและคอซึ่งมีหลายแถบสี คือ แถบแก้มยาวสีดำ คิ้วขาว หน้าผากน้ำตาลอมส้ม คอและคางน้ำตาลแดงเข้ม[11] รวมทั้งแถบหนังคอไม่มีขนที่โป่งนูนออกได้ 2 ข้าง สีน้ำเงินครามเหลือบ[10] ซึ่งพฤติกรรมพองถุงลมที่คอเพื่อการเรียกคู่ และการเกี้ยวพาราสี สันนิษฐานว่าสีสะท้อนแสงนี้ น่าจะเป็นจุดสำคัญในการสื่อสารส่งสัญญาณบนพื้นป่าทึบที่มีแสงส่องถึงน้อย[12] คิ้วขาว 2 แถบมองจากด้านหลังเหมือนราง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อภาษาอังกฤษ rail-babbler

นกคอสามสีทั้ง 2 เพศไม่ต่างกัน นกรุ่นมีสีทึมกว่านกโตเต็มวัย และมีขนคอขาว ขนที่ท้องสีน้ำตาลเทาเข้ม[9][11][13] นกคอสามสีชนิดย่อย E. m. borneensis มีความแตกต่างที่สีน้ำตาลแดงของแถบกลางหัว ท้อง และก้นที่สดกว่า หางและหลังมีสีออกแดงกว่านกคอสามสี E. m. macrocerus[11]

การหาอาหาร แก้

พฤติกรรมการเดิน ผงกหัวคล้ายไก่ และชอบวิ่งมากกว่าบินเมื่อถูกรบกวน[9][13] หาอาหารโดยการปรี่เข้าไปจิกกินแมลง เช่น ปลวก บนพื้นป่า จั๊กจั่น แมลงปีกแข็ง แมงมุม หนอนและตัวอ่อนของแมลง[9][11]

เสียงร้อง แก้

ในขณะที่ร้องเรียกนกคอสามสีจะโก้งโค้งตัว อกต่ำเรี่ยพื้น ก้นชูขึ้น และยืดคอไปข้างหน้า ทำเสียงโดยการเป่าให้ถุงลมที่คอขยายพองออก ซึ่งให้เสียงแหลมยาวเหมือนเสียงการเป่าท่อโลหะหรือเสียงกบ เสียง "วี้" ยาวประมาณ 2-3 วินาที[10][8] ทันทีที่ร้องเสร็จนกคอสามสีจะยืดคอหรือยืดตัวชะโงกมองในหลายทิศทางเพื่อหาตำแหน่งเสียงตอบกลับของนกตัวอื่น ถุงลมเล็ก ๆ ที่คอทั้งสองข้างพองออกระหว่างแถบขนแก้มสีดำและขนคอสีน้ำตาลแดง เป็นผิวเปลือยสีน้ำเงินครามเหลือบ[14] สว่างชัดเจนในที่แสงน้อยอย่างป่าดิบชื้นที่นกอาศัย จุดที่นูนและสว่างที่สุดอาจเห็นเป็นสีออกขาว

การผสมพันธุ์และการทำรัง แก้

มีข้อมูลที่น้อยมากในนิสัยการผสมพันธุ์ของนกคอสามสี คาดว่าไข่จะวางในราวเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ และพบเห็นลูกนกที่ขนเพิ่งงอกได้ในเดือนมิถุนายน สร้างรังไว้สูงจากพื้นดินประมาณ 30 ซม. บนกองเศษใบไม้แห้งและเส้นใยพืชในซอกกิ่งไม้หรือกิ่งไม้พุ่ม รังเป็นรูปถ้วย ออกไข่ครอกละ 2 ใบ สีขาวล้วน[11]

การแพร่กระจายพันธุ์และถิ่นที่อยู่ แก้

อาศัยบนพื้นป่าในป่าดิบชื้น ที่มีความสูงไม่เกิน 1,060 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล[6] ช่วงตีนเขาหรือช่วงที่ลาดชันที่มีต้นไม้สูงและสมบูรณ์ ในช่วงการกระจายพันธุ์ที่ค่อนข้างแคบตั้งแต่พังงา สุราษฎร์ธานีลงไปทางใต้จนสุดคาบสมุทรมลายู และที่ความสูงไม่เกิน 900 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลในเทือกเขาบนเกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว และหมู่เกาะนาทูนา[6][9][13]

ในประเทศไทย แก้

นกคอสามสี อาศัยในป่าดิบชื้นบนที่ราบต่ำและเชิงเขา มีรายงานการพบที่บริเวณทางเดินสู่น้ำตกกรุงชิง เขตอุทยานแห่งชาติเขาหลวง[8]

นิเวศวิทยา แก้

ประชากรของนกคอสามสีลดลงอย่างมากเนื่องจากป่าดิบชื้น (ป่าปฐมภูมิ - primary forest) ในที่ราบลุ่มส่วนใหญ่ถูกตัดและแผ้วถางเพื่อการทำสวน[15] เช่นไม้ยาง ปาล์มน้ำม้น และนกคอสามสีมักไม่เลือกอาศัยในป่าที่มีพืชชนิดเดียวหนาแน่นเกินไปอย่างป่าปลูก (ป่าทุติยภูมิ) หรือป่าที่โปร่งเกินไปไม่มีร่มเงาเพียงพอที่จะเอื้ออำนวยต่อพฤติกรรมการหาคู่โดยการส่งเสียง และสะท้อนแสงจากถุงลมที่คอ อย่างไรก็ตามยังสามารถพบได้ในป่าบนเขา เนินเขาทั่ว ๆ ไป

อ้างอิง แก้

  1. BirdLife International (2016). "Eupetes macrocerus'". IUCN Red List of Threatened Species. 2016. สืบค้นเมื่อ 01 October 2016. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  2. Peters, James L. (1940). "A Genus for Eupetes caerulescens Temminck" (PDF). The Auk. 57 (1): 94. doi:10.2307/4078852. JSTOR 4078852.
  3. Serle, W. (1952) The affinities of the genus Picathartes Lesson. Bulletin of the British Ornithologists' Club 72: 2-6
  4. Sibley, C. G. (1973). "The relationships of Picathartes" (PDF). Bulletin of the British Ornithologists' Club. 93: 23–25.
  5. Jønsson, Knud A.; Fjeldså, Jon; Ericson, Per G.P; Irestedt, Martin (2007). "Systematic placement of an enigmatic Southeast Asian taxon Eupetes macrocerus and implications for the biogeography of a main songbird radiation, the Passerida". Biology Letters. 3 (3): 323–326. doi:10.1098/rsbl.2007.0054. PMC 2464695. PMID 17347105.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 International), BirdLife International (BirdLife (2016-10-01). "IUCN Red List of Threatened Species: Eupetes macrocerus". IUCN Red List of Threatened Species. doi:10.2305/iucn.uk.2016-3.rlts.t22705375a94015287.en.
  7. 7.0 7.1 Malaysian Rail-babbler (nominate). Avibase. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2564.
  8. 8.0 8.1 8.2 Rail-babbler · Eupetes macrocerus · Temminck, 1831 Xeno-Canto. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2564.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 Robson, Craig (2002) A Field Guide to the Birds of South-east Asia, New Holland, London.
  10. 10.0 10.1 10.2 นกคอสามสี eBird. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2564.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 Boles, W. (2007) "Family Eupetidae (Jewel-babblers and allies) "in del Hoyo, J.; Elliot, A. & Christie D. (editors). (2007). Handbook of the Birds of the World. Volume 12: Picathartes to Tits and Chickadees. Lynx Edicions. ISBN 978-84-96553-42-2
  12. Yong, Ding Li; Foley, Con (2012). "A review of the occurrence and role of blue facial skin in South-East Asian birds" (PDF). Birding Asia. 17: 71–77.
  13. 13.0 13.1 13.2 MacKinnon, John & Karen Phillipps (1993) A Field Guide to the Birds of Borneo, Sumatra, Java and Bali, Oxford University Press, Oxford.
  14. Alvan Buckley. Getting Jiggy ... with a Rail-babbler 20 กุมภาพันธุ์ 2555.
  15. BirdLife International (2009) Species factsheet: Eupetes macrocerus. Downloaded from http://www.birdlife.org เก็บถาวร 2021-11-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน on 5 January 2010.