นกกรีดน้ำ

ชนิดของนก
นกกรีดน้ำ
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Passeriformes
วงศ์: Nectariniidae
สกุล: Rynchops
สปีชีส์: R.  albicollis
ชื่อทวินาม
Rynchops albicollis
(Swainson, 1838)
ชื่อพ้อง
  • Rhynchops albicollis

นกกรีดน้ำ หรือ นกกรีดน้ำอินเดีย[a] (อังกฤษ: Indian skimmer หรือ Indian scissors-bill; ชื่อวิทยาศาสตร์: Rynchops albicollis) เป็นนกหนึ่งในสามชนิดสกุลนกกรีดน้ำ (Rynchops) ของวงศ์นกนางนวล (Laridae) มีลักษณะทั่วไปคล้ายนกนางนวลแกลบ แต่ต่างที่นกกรีดน้ำและนกอื่นในสกุลนี้มีขากรรไกรล่างที่ยาวกว่าขากรรไกรบนมาก ซึ่งใช้ไถลากไปตามผิวน้ำในขณะที่นกบินร่อนอยู่เหนือน้ำเพื่อหาอาหาร คล้ายกับการ "กรีดน้ำ" นกชนิดนี้พบได้ในเอเชียใต้ แต่ประชากรอาศัยกระจัดกระจายเป็นหย่อม ๆ และมีแนวโน้มจำนวนประชากรที่ลดลง โดยมากพบตามแม่น้ำหรือปากแม่น้ำ นกกรีดน้ำเป็นที่สังเกตเห็นได้ง่ายจากสีดำตัดขาว จะงอยปากและตีนสีส้มสด ในประเทศไทยเป็นนกย้ายถิ่นที่พบเห็นได้ยากมาก[3]

ลักษณะทางกายวิภาค แก้

 
จะงอยปากสีส้มสด บางคล้ายใบมีดช่วยลดแรงเสียดทานของน้ำ (บน) จะงอยปากมองจากด้านข้าง (ล่าง) เมื่อมองจากด้านล่าง

ลักษณะเด่นของนกกรีดน้ำคือ ลำตัวด้านบนสีดำตัดกับด้านล่างสีขาว ขนกระหม่อมดำคล้ายหมวก คลุมรอบตา คอขาว และจะงอยปากสีส้มสดออกแดง

ปีกยาวมีความยาวประมาณ 40–43 เซนติเมตร และความกว้างปีก 108 เซนติเมตร ดูคล้ายปีกนกนางนวลแกลบตรงปีกที่ยาวและปลายแหลม ขอบปลายขนปีกสีขาว หางสั้นเป็นง่ามสีขาว มีขนสีดำแซมตรงกลาง

จะงอยปากยาว โคนหนาสีส้ม ปลายบางมากสีอ่อนลงจากความบางจนเกือบเป็นสีเหลือง มีความโดดเด่นที่ขากรรไกรล่างซึ่งยาวกว่าขากรรไกรบน ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่พบได้ในนกกรีดน้ำชนิดอื่นด้วย จะงอยปากล่างนี้มีรูปทรงคล้ายมีดปลายกุด (โค้งมนที่ปลาย) ปลายจะงอยปากที่บางนี้มีความยืดหยุ่นสูง ในนกวัยอ่อนจะงอยปากมีรูปทรงปกติเช่นนกทั่วไป โดยจะงอยปากล่างค่อย ๆ ยาวขึ้นตามวัยที่เพิ่มขึ้น[4] ขากรรไกรบนสามารถอ้าได้กว้างมาก[5]

ขาและตีนเป็นสีแดง[6]

นกกรีดน้ำที่โตเต็มวัยมีสีขนในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ที่มีสีออกทึมหรือสีน้ำตาลกว่าสีขนในช่วงฤดูผสมพันธุ์ นกวัยอ่อนสีขนตัวด้านบนและหัวเป็นสีน้ำตาลเทาและสีอ่อนลงที่หลังและปีก จะงอยปากสีส้มทึมออกน้ำตาลและปลายสีเข้ม[6]

นกกรีดน้ำชนิดอื่น แก้

ในสกุลนกกรีดน้ำชนิดอื่น ๆ ได้แก่ นกกรีดน้ำดำที่มีถิ่นอาศัยในทวีปอเมริกามีขนาดใหญ่กว่าและปลายจะงอยปากสีดำ นกกรีดน้ำแอฟริกามีขนาดเล็กกว่าและสีดำตลอดส่วนบน ตั้งแต่กระหม่อม ท้ายทอย จนกลางหลังและหาง[7] นกกรีดน้ำ (อินเดีย) ยังมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Indian scissors-bill (นกปากกรรไกรอินเดีย)[8]

พฤติกรรม แก้

 
สีของไข่

การหาอาหาร แก้

นกกรีดน้ำชอบอาศัยในบริเวณแม่น้ำที่ไหลเอื่อย ซึ่งมีสันดอนทราย โดยปกติมักไม่ส่งเสียงร้อง[6] แต่เมื่ออยู่รวมเป็นฝูงเล็ก ๆ และส่งเสียงร้องแหลมดังคล้าย "กิ๊บ กิ๊บ"[6] นกนี้มักพบรวมกลุ่มกับนกนางนวล

นกกรีดน้ำหาอาหารโดยการบินต่ำเหนือน้ำและโฉบร่อนได้อย่างรวดเร็วโดยอาศัยปีกที่ยาวและหักมุม นกจะเปิดอ้าจะงอยปากแล้วใช้ขากรรไกรล่างที่ยื่นยาวไถลาก (แฉลบ) ไปตามผิวน้ำ การลากขากรรไกรล่างที่บางยาวเหมือนใบมีดของกรรไกรนี้ดูเหมือนนกกำลัง "กรีดน้ำ" เมื่อพบปลามันจะขยับขากรรไกรล่างให้มีมุมเสยปลาไปข้างหน้าเล็กน้อยและอ้าขากรรไกรบนกว้างขึ้น แล้วงับปลาด้วยการผงกหัวลงอย่างรวดเร็ว[5] นกกรีดน้ำนอกจากกินปลาเป็นหลักแล้ว ยังกินสัตว์พวกกุ้งกั้งปูขนาดเล็กและตัวอ่อนของแมลงในน้ำด้วย มักหากินเวลาพลบค่ำและบางครั้งอาจออกหากินเวลากลางคืน[6]

การผสมพันธุ์ แก้

ฤดูผสมพันธุ์ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเดือนมีนาคมและพฤษภาคม โดยอยู่รวมเป็นฝูงอาณานิคมเพื่อการจับคู่ซึ่งอาจมีมากถึง 40 คู่ นกกรีดน้ำทำรังแบบง่าย ๆ บนพื้นโดยส่วนใหญ่อยู่บนตลิ่งทรายที่เปิดโล่งซึ่งทำให้มองเห็นสัตว์ที่เข้าหาได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง[6] ไข่มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีขาวมีจุดและริ้วสีน้ำตาล[9] แต่ละครอกมีไข่สามถึงห้าฟอง นกกรีดน้ำอาจมีพฤติกรรมออกไข่ในรังนกอื่น (เป็นนกปรสิตของการฟักไข่ในนกอื่นเฉพาะชนิด) แต่มีในระดับต่ำ โดยวางไข่ในรังของนกนางนวลแกลบแม่น้ำ (Sterna aurantia)[10] นกกรีดน้ำมักจะกกไข่ในช่วงเวลาที่อากาศเย็นของวัน และมักอยู่ห่างจากรังในช่วงที่อากาศร้อนของวัน[11] กล่าวกันว่าพ่อแม่นกที่ฟักไข่มักมีพฤติกรรมแช่ตัวในน้ำให้ขนท้องเปียกก่อนแล้วกกไข่เพื่อทำให้ไข่เย็นลง[12] มีการบันทึกหนึ่งพบว่านกกรีดน้ำที่กำลังกกไข่มีพฤติกรรมใช้ตีนจับลูกนกนางนวลแกลบแม่น้ำที่บุกรุกเข้ามา โยนลงในน้ำ[5]

ถิ่นที่อยู่อาศัยและการกระจายพันธุ์ แก้

 
นกกรีดน้ำ เปิดอ้าจะงอยปากแล้วใช้ขากรรไกรล่างที่ยื่นยาวไถลาก (แฉลบ) ไปตามผิวน้ำ คล้ายการกรีดน้ำ ภาพถ่ายจากแม่น้ำจัมพัล รัฐราชสถาน
 
นกกรีดน้ำกับจระเข้ บนสันดอนทรายที่แม่น้ำจัมพัล

มักพบนกกรีดน้ำในแม่น้ำสายใหญ่ บึงและทะเลสาบขนาดใหญ่ ที่ลุ่มน้ำขัง พื้นที่ชุ่มชายฝั่งเช่น ชะวากทะเล โดยทั่วไปในฤดูผสมพันธุ์จะอาศัยในแหล่งน้ำจืด การรวมเป็นฝูงเพื่อผสมพันธุ์มักจับกลุ่มกันบนสันดอนทราย หรือเกาะแก่งที่โผล่ขึ้นกลางแม่น้ำ ช่วงการกระจายพันธุ์ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาถูกแยกกระจัดกระจาย กลายเป็นหย่อมประชากรที่เล็กลงเรื่อย ๆ ยังคงพบประชากรในบางส่วนของปากีสถาน ในระบบแม่น้ำสินธุของกัศมีร์และอินเดียตอนเหนือ และตอนกลางของอินเดียตามแนวแม่น้ำคงคา[13] ในบังคลาเทศและพม่า และเคยมีรายงานการพบในประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม ยังพบเป็นนกย้ายถิ่นนอกฤดูผสมพันธุ์ที่หายากในเนปาล และเป็นนกพลัดหลงในโอมานและภาคกลางของประเทศไทย[14] รวมทั้งในอิหร่านและจีน

ปัจจุบันถิ่นที่อยู่อาศัยที่เหลือของนกกรีดน้ำชนิดนี้ มีเพียงในอินเดียและบังคลาเทศ[15] พวกมันอาจแพร่กระจายฝูงออกไปในฤดูหนาวและพบได้ในปากแม่น้ำชายฝั่งของอินเดียตะวันตกและตะวันออกไกลถึงใต้สุดถึงเมืองการ์วาร์ บนชายฝั่งตะวันตก และเจนไนและปอนดิเชอรีบนชายฝั่งตะวันออก[16][17][18][19][20]

อาณานิคมผสมพันธุ์ของนกกรีดน้ำที่เป็นที่รู้จักคือ ฝั่งแม่น้ำจัมพัล ซึ่งยังเป็นเขตอนุรักษ์ตะโขงอินเดีย[21] ซึ่งมีสันดอนทรายจำนวนมากและเป็นส่วนสำคัญของการทำรังของตะโขง[22] ยังมีการศึกษาแหล่งผสมพันธุ์ของนกกรีดน้ำในที่อื่น ๆ อีกเช่น ฝั่งแม่น้ำมหานที ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจันฑกา ที่กัตตัก[23]

 
ภาพวาดประกอบ ในพ.ศ. 2266 ในหนังสือ การจัดระบบอย่างย่อเกี่ยวกับนกและปลา (Synopsis methodica avium & piscium) ของจอห์น เรย์ ซึ่งเรียกนกกรีดน้ำว่า "อีกาแห่งทะเลมัทราส (เจนไน)" วาดโดยเอดเวิร์ด บัคลีย์

นิเวศวิทยาและการอนุรักษ์ แก้

ในอดีตนกกรีดน้ำเคยกระจายพันธุ์และพบเห็นได้ทั่วไปตามแม่น้ำสายต่าง ๆ ในอนุทวีปอินเดีย[24][25] ตลอดจนระบบแม่น้ำในประเทศพม่ารวมถึงแม่น้ำโขงและสาขา มีรายงานพบในธรรมชาติในประเทศลาว[26], กัมพูชา และเวียดนาม แต่ส่วนมากเป็นข้อมูลในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งปัจจุบันพบเห็นได้ยากมาก[27]

ประชากรส่วนใหญ่ของนกกรีดน้ำปัจจุบันอยู่ในอินเดียและปากีสถาน ซึ่งประมาณว่ามีอยู่ที่ 6,000-10,000 ตัว จำนวนประชากรที่มีไม่มากและแนวโน้มที่ลดลงจากปัจจัยคุกคามได้แก่ การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยหรือเสื่อมโทรม มลพิษ และการรบกวนของมนุษย์ ทำให้ถูกจัดสถานะเป็นชนิดใกล้สูญพันธุ์ (EN) โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)[1] ภายใต้สภาพการถูกคุกคามจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยและเสื่อมโทรม อาณานิคมผสมพันธุ์ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการคุ้มครอง มีบางส่วนเท่านั้นที่อยู่ภายใต้หน่วยงานอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าแห่งชาติ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติจัมพัลของอินเดีย[21]

ในประเทศไทย แก้

ในช่วงรอบ 127 ปี[28] มีบันทึกการพบเห็นนกกรีดน้ำ เพียง 4 ครั้ง โดยรายงานแรกเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 28–30 เมษายน พ.ศ. 2420 ที่จังหวัดมุกดาหาร โดยเอฟ ซี ฮาร์มานด์ (F.C. Harmand) ซึ่งยังเรียกชื่อเดิมของนกชนิดนี้ในภาษาอังกฤษว่า scissorbill (นกปากกรรไกร) จากนั้นอีก 77 ปีต่อมารายงานพบนกกรีดน้ำเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 ที่บางปู จังหวัดสมุทรปราการ โดยวิลเลียม โทมัส (William W. Thomas) รายงานพบนกตัวที่ 3 ช่วงวันที่ 18 ถึง 28 มกราคม พ.ศ. 2545 ที่โคกขาม อำเภอเมืองจังหวัดสมุทรสาคร โดยวิม ฟาน สปรันเดอร์ (Wim van Splunder) และพิพัฒน์พงษ์ ระพีพรรณ และครั้งล่าสุดที่แหลมผักเบี้ยเมื่อปี 2547[28]

เชิงอรรถ แก้

  1. ชื่อภาษาอื่น:

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 BirdLife International (2020). "Rynchops albicollis". IUCN Red List of Threatened Species. 2020: e.T22694268A178970109. doi:10.2305/IUCN.UK.2020-3.RLTS.T22694268A178970109.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
  2. "Rynchops albicollis (Indian Skimmer) - Avibase". avibase.bsc-eoc.org.
  3. "นกกรีดน้ำมาเยือนเมืองไทย". สารคดี (ภาษาอังกฤษ). 2004-06-17.
  4. Whistler, Hugh (1949). Popular Handbook Of Indian Birds. Osmania University, Digital Library Of India. Gurney And Jackson.
  5. 5.0 5.1 5.2 Ali, S; SD Ripley (1981). Handbook of the birds of India and Pakistan. Volume 3 (2nd ed.). Oxford University Press. pp. 74–76.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 Rasmussen PC; JC Anderton (2005). Birds of South Asia: The Ripley Guide. Volume 2. Smithsonian Institution & Lynx Edicions. p. 201.
  7. Le Messurier, A (1904). Game, shore, and water birds of India. W. Thacker & Co. p. 230.
  8. Barnes, HE (1885). Handbook to the birds of the Bombay Presidency. Calcutta Central Press. p. 434.
  9. Oates, EW (1901). Catalogue of the collection of birds' eggs in the British Museum. Volume 1. British Museum. p. 202.
  10. Debata, Subrat; Kar, Tuhinansu; Palei, Himanshu Shekhar (2018). "Occurrence of Indian Skimmer Rynchops albicollis eggs in River Tern Sterna aurantia nests". Bird Study. 65: 140–142. doi:10.1080/00063657.2018.1443056. S2CID 90306844.
  11. Hume, AO. Nests and eggs of Indian birds. Volume 1. R H Porter, London. p. 378.
  12. Maclean GL (1974). "Belly-soaking in the Charadriiformes". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 72: 74–82.
  13. Jha, S. (2006). "Records of some rare birds from Farakka Barrage (West Bengal, India)" (PDF). Indian Birds. 2 (4): 106. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-02-23. สืบค้นเมื่อ 2010-01-09.
  14. "นกกรีดน้ำ - eBird". ebird.org.
  15. Das,D.K. (2015). "Breeding status of Indian Skimmer Rynchops albicollis in the National Chambal Sanctuary, India" (PDF). Indian Birds. 10 (2): 53.
  16. Madhav, Vikas; D. Nagarajan (2010). "Indian Skimmer Rynchops albicollis: a recent record from Tamil Nadu" (PDF). BirdingASIA. 13: 98.
  17. Stairmand, DS (1970). "Occurrence of the Indian Skimmer or Scissorbill (Rhynchops albicollis Swainson) in Salsette Island". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 67 (3): 571.
  18. Sivasubramanian, C (1992). "Indian Skimmer Rynchops albicollis Swainson and Black Stork Ciconia nigra (Linn.) - new additions to the avifauna of Keoladeo National Park, Bharatpur". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 89 (2): 252–253.
  19. Gopi, GV; B Pandav (2007). "Avifauna of Bhitarkanika mangroves, India" (PDF). Zoos' Print Journal. 22 (10): 2839–2847. doi:10.11609/jott.zpj.1716.2839-47. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-06-02. สืบค้นเมื่อ 2022-07-23.
  20. Majumdar, N; Roy, CS (1993). "Extension of range of the Indian Skimmer, Rynchops albicollis Swainson (Aves: Laridae)". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 90 (3): 511.
  21. 21.0 21.1 Sundar, K S Gopi (2004). "Observations on breeding Indian Skimmers Rynchops albicollis in the National Chambal Sanctuary, Uttar Pradesh, India" (PDF). Forktail. 20: 89–90. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-10-11. สืบค้นเมื่อ 2010-01-09.
  22. Hornaday, WT (1904). Two years in the Jungle. Charles Scribners' Sons, New York. p. 34.
  23. "Birds In The Sand". Sanctuary Asia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-02. สืบค้นเมื่อ 2022-07-23.
  24. Jerdon, TC (1864). Birds of India. Volume 3. George Wyman & Co. p. 847.
  25. Zusi, R. L.; Kirwan, Guy M.; Garcia, Ernest (2020). "Indian Skimmer (Rynchops albicollis), version 1.0". Birds of the World (ภาษาอังกฤษ). doi:10.2173/bow.indski1.01.
  26. Harmand, F. J. (1878-1879) Les Laos et les populations sauvages de l'Indochine. Tour de Monde 38(965-967): 1-48, 39(1006-1010): 214-370 (1997 translation Laos and the hill tribes of Indochina. Bangkok: White Lotus.)
  27. Evans, TD (2001). "Ornithological records from Savannakhet Province, Lao PDR, January–July 1997" (PDF). Forktail. 17: 21–28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-10-11. สืบค้นเมื่อ 2010-01-09.
  28. 28.0 28.1 "นกกรีดน้ำมาเยือนเมืองไทย". สารคดี (ภาษาอังกฤษ). 2004-06-17.

ดูเพิ่มเติม แก้