นกกระเรียนไทย
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Gruiformes
วงศ์: Gruidae
สกุล: Grus
สปีชีส์: G.  antigone
ชื่อทวินาม
Grus antigone
(Linnaeus, 1758)
ชนิดย่อย
  • G. a. antigone (Linnaeus, 1758)
    (นกกระเรียนอินเดีย)
  • G. a. sharpii (=sharpei) Blanford, 1895[2]
    (นกกระเรียนอินโดจีน หรือ นกกระเรียนหัวแดง)
  • G. a. gilliae (=gillae) Schodde, 1988
    (นกกระเรียนออสเตรเลีย)
  • G. a. luzonica Hachisuka, 1941
    (นกกระเรียนเกาะลูซอน - สูญพันธุ์)
การกระจายพันธุ์ของนกกระเรียนไทยในปัจจุบัน (สีเขียว)
ชื่อพ้อง
  • Ardea antigone Linnaeus, 1758
  • Grus sharpei
  • Megalornis antigone

นกกระเรียนไทย หรือ นกกระเรียน เป็นนกขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่นกอพยพ พบในบางพื้นที่ของอนุทวีปอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศออสเตรเลีย เป็นนกบินได้ที่สูงที่สุดในโลก เมื่อยืนจะสูงถึง 1.8 เมตร[3] สังเกตเห็นได้ง่าย[4] ในพื้นที่ชุ่มน้ำเปิดโล่ง นกกระเรียนไทยแตกต่างจากนกกระเรียนอื่นในพื้นที่เพราะมีสีเทาทั้งตัวและมีสีแดงที่หัวและบริเวณคอด้านบน หากินในที่ลุ่มมีน้ำขังบริเวณน้ำตื้น กินราก หัว แมลง สัตว์น้ำ และสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กเป็นอาหาร นกกระเรียนไทยเหมือนกับนกกระเรียนอื่นที่มักมีคู่ตัวเดียวตลอดชีวิต นกกระเรียนจะปกป้องอาณาเขตและเกี้ยวพาราสีโดยการกางปีก ส่งเสียงร้อง กระโดดซึ่งดูคล้ายกับการเต้นรำ ในประเทศอินเดียนกกระเรียนเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ในชีวิตแต่งงาน เชื่อกันว่าเมื่อคู่ตาย นกอีกตัวจะเศร้าโศกจนตรอมใจตายตาม ฤดูผสมพันธุ์หลักอยู่ในฤดูฝน คู่นกจะสร้างรังเป็น "เกาะ" รูปวงกลมจากกก อ้อ และพงหญ้า มีเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบสองเมตรและสูงเพียงพอที่จะอยู่เหนือจากน้ำรอบรัง นกกระเรียนไทยกำลังลดลงอย่างรวดเร็วในคริสต์ศตวรรษที่ผ่านมา คาดกันว่าประชากรมีเพียง 10 หรือน้อยกว่า (ประมาณร้อยละ 2.5) ของจำนวนที่มีอยู่ในคริสต์ทศวรรษ 1850 ประเทศอินเดียคือแหล่งที่มั่นของนกชนิดนี้ ที่ซึ่งนกเป็นที่เคารพและอาศัยอยู่ในพื้นที่การเกษตรใกล้กับมนุษย์ นกกระเรียนนั้นสูญหายไปจากพื้นที่การกระจายพันธุ์ในหลาย ๆ พื้นที่ในอดีต

ลักษณะ

แก้
 
ขณะบิน นกกระเรียนจะเหยียดคอตรง (ภารตปุระ ประเทศอินเดีย)

นกกระเรียนไทยเป็นนกขนาดใหญ่ มีลำตัวและปีกสีเทา คอตอนบนและหัวเป็นหนังเปลือยสีแดงไม่มีขน ตรงกระหม่อมเป็นสีเทาหรือเขียว คอยาวเวลาบินคอจะเหยียดตรงไม่เหมือนกับนกกระสาซึ่งจะงอพับไปด้านหลัง ขนปลายปีกและขนคลุมขนปลายปีกสีดำ ขนคลุมขนปีกด้านล่างสีเทา ขนโคนปีกสีขาว ขายาวเป็นสีชมพู มีแผ่นขนหูสีเทา ม่านตาสีส้มแดง ปากแหลมสีดำแกมเทา นักวัยอ่อนมีปากสีค่อนข้างเหลืองที่ฐาน หัวสีน้ำตาลเทาหรือสีเนื้อปกคลุมด้วยขนนก[5]

หนังเปลือยสีแดงบริเวณหัวจะแดงสดใสในช่วงฤดูผสมพันธุ์ หนังบริเวณนี้จะหยาบเป็นตะปุ่มตะป่ำ มีขนสีดำตรงข้างแก้มและท้ายทอยบริเวณแคบ ๆ ทั้งสองเพศมีลักษณะและสีคล้ายกัน เพศผู้ใหญ่กว่าเพศเมียเล็กน้อย ไม่มีความแตกต่างทางเพศอื่นที่ชัดเจนอีก นกกระเรียนไทยเพศผู้ในอินเดียมีขนาดสูงที่สุดคือประมาณ 200 เซนติเมตร ช่วงปีกยาว 250 เซนติเมตร ทำให้นกกระเรียนไทยเป็นนกที่บินได้ที่สูงที่สุดในโลก ในชนิดย่อย antigone มีน้ำหนัก 6.8–7.8 กิโลกรัม ขณะที่ sharpii มีน้ำหนักประมาณ 8.4 กิโลกรัม โดยทั่วไปแล้วจะมีน้ำหนัก 5–12 กิโลกรัม สูง 115–167 เซนติเมตร ช่วงปีกยาว 220–280 เซนติเมตร[6] นกจากประเทศออสเตรเลียจะมีขนาดเล็กกว่านกจากเขตทางเหนือ[7]

ในประเทศออสเตรเลีย นกกระเรียนไทยมักจะสับสนกับนกกระเรียนออสเตรเลีย สีแดงบนหัวของนกกระเรียนออสเตรเลียจะมีแค่บนหัวไม่แผ่ลงมาถึงคอ[6]

การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย

แก้

ในอดีต นกกระเรียนไทยมีการกระจายพันธุ์เป็นวงกว้างบนพื้นที่ราบลุ่มในประเทศอินเดียยาวตลอดแม่น้ำคงคา ทางใต้ไปถึงแม่น้ำโคทาวรี ทางตะวันตกไปถึงชายฝั่งรัฐคุชราต เขตถารปารกร (Tharparkar) ของประเทศปากีสถาน[8] และทางตะวันออกถึงรัฐเบงกอลตะวันตกและรัฐอัสสัม ไม่พบการขยายพันธุ์ในรัฐปัญจาบมานานแล้ว แม้ว่าจะพบบ้างประปรายในฝั่งอินเดียในฤดูหนาว นกกระเรียนหาพบได้ยากและมีจำนวนน้อยมากในรัฐเบงกอลตะวันตกและรัฐอัสสัม[9] และไม่พบมานานแล้วในรัฐพิหาร ในประเทศเนปาล การกระจายพันธุ์จำกัดอยู่เพียงที่ราบลุ่มฝั่งตะวันตก ประชากรส่วนมากอยู่ในเขตรูปันเทหี (Rupandehi) กบิลพัสดุ์ (Kapilvastu) และนวัลปราสี (Nawalparasi)[10][11]

มีประชากรสองกลุ่มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แตกต่างกันคือ ประชากรตอนเหนืออยู่ในประเทศจีนและพม่า และประชากรตอนใต้อยู่ในกัมพูชาและเวียดนาม[12] นอกจากนั้น ยังเคยพบในประเทศไทยและทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ แต่ในทั้งสองประเทศสูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติ ในประเทศออสเตรเลียพบในบริเวณด้านเหนือของประเทศ และมีการอพยพไปยังบางพื้นที่[13] พิสัยการกระจายพันธุ์ของนกกระเรียนไทยกำลังลดลงและพื้นที่ที่เกิดมากที่สุดคือประเทศอินเดียซึ่งพื้นที่ลุ่มน้ำขนาดใหญ่ถูกทำลาย นกเหล่านี้จึงต้องอาศัยในนาข้าวในการเพิ่มจำนวน แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วจะพบนกกระเรียนในที่ราบลุ่ม แต่ก็มีรายงานว่าพบบนที่ราบสูงทางเหนือในฮาร์กิตซาร์ (Harkit Sar) และคาฮัง (Kahag) ในรัฐชัมมูและกัศมีร์[14] นอกการนี้นกกระเรียนยังขยายพันธุ์ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลมาก ๆ เช่น ใกล้กับเขื่อนพอง (Pong Dam) ในรัฐหิมาจัลประเทศที่ซึ่งประชากรนกกระเรียนอาจจะเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของการเพาะปลูกข้าวตามแหล่งกักเก็บน้ำ[10][11]

นกกระเรียนมักอาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ[15] หรือนาข้าวที่ไม่ได้เพราะปลูกที่มีน้ำท่วมขัง (ในพื้นที่เรียกว่า khet-taavadi[16]) สำหรับสร้างรัง การจับคู่ผสมพันธุ์มักจะเกิดในพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติมากกว่าแต่ก็ยังมีในนาข้าวหรือข้าวสาลีบ่อย ๆ[10][11][17]

อนุกรมวิธานและชนิดย่อย

แก้
 
นกกระเรียนทุกชนิดมีเท้าหลังลดรูปและยกสูงขึ้น
 
ชนิด G. a. antigone หรือนกกระเรียนอินเดีย

นกกระเรียนชนิดนี้จำแนกโดยลินเนียสในปี ค.ศ. 1758 และจัดอยู่ในสกุล Ardea ร่วมกับนกกระสาขนาดใหญ่[18] เอ็ดเวิร์ด ไบลท์ (Edward Blyth) ตีพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับนกกระเรียนในปี ค.ศ. 1881 ซึ่งเขาพิจารณานกกระเรียนไทยในประเทศอินเดียเป็นสองชนิดคือ Grus collaris และ Grus antigone[19] ปัจจุบันจำแนกออกเป็นหนึ่งชนิด สามชนิดย่อย ส่วนชนิดย่อยซึ่งมีประชากรอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์และสูญพันธุ์ไปแล้วยังคงเป็นที่กังขา

  • G. a. antigone หรือ นกกระเรียนอินเดีย เป็นนกกระเรียนที่พบในตอนเหนือและตอนกลางของประเทศอินเดีย เหลือประมาณ 10,000 ตัว[20] เป็นชนิดย่อยมีขนาดใหญ่ที่สุด ที่มีลักษณะต่างไปจากชนิดย่อยอื่นคือมีปลอกคอสีขาวระหว่างหัวและคอ และตำแหน่งขนโคนปีกสีขาว
  • G. a. sharpii หรือ นกกระเรียนอินโดจีน หรือ นกกระเรียนหัวแดง กระจายพันธุ์ทางตะวันออกของพม่าแผ่ไปถึงเกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันเหลือเพียงในประเทศกัมพูชา เวียดนาม และลาว เหลือประมาณ 1,000 ตัว[20] ชนิดย่อยนี้มีสีขนเข้มกว่า antigone ผู้แต่งบางคนพิจารณาว่า antigone และ sharpii เป็นตัวแทนของประชากรที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของลักษณะที่แตกต่างแบบค่อยเป็นค่อยไป[7]
  • G. a. gilliae หรือ นกกระเรียนออสเตรเลีย พบในทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย เหลือประมาณ 4,000 ตัว[20] เดิมจัดเป็น sharpii (บางครั้งสะกดเป็น sharpei แต่แก้ไขให้เป็นไปตามกฎไวยากรณ์ของภาษาละติน)[5] ต่อมาจึงแยกออกมาและตั้งชื่อเป็น gilliae (บางครั้งสะกดว่า gillae หรือ gilli) ในปี ค.ศ. 1988 พบครั้งแรกในประเทศออสเตรเลียเมื่อปี ค.ศ. 1969 และถือเป็นนกอพยพ ในนกท้องถิ่นออสเตรเลีย นกกระเรียนไทยและนกกระเรียนออสเตรเลียคล้ายกันมากแต่ก็ยังมีความแตกต่างกัน มีการเรียกนกกระเรียนไทยว่า "นกกระเรียนที่จุ่มหัวลงไปในเลือด" ชนิดย่อยนี้มีขนสีเข้มกว่าอย่างเห็นได้ชัดและแผ่นขนหูสีเทาใหญ่กว่า[note 1] มีขนาดเล็กที่สุด
  • G. a. luzonica หรือ นกกระเรียนเกาะลูซอน อาศัยอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ แต่คาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว อาจเป็นชื่อพ้องกับ gilliae หรือ sharpii[21]

วิวัฒนาการ

แก้
 
นกกระเรียนกำลังกางปีก (อินเดีย)

บันทึกซากดึกดำบรรพ์ของนกกระเรียนนั้นมีไม่มากพอ วงศ์ย่อยที่สามารถระบุได้ว่าเป็นนกกระเรียนนั้นพบในตอนปลายของยุคแรกเริ่มที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมถือกำเนิดขึ้นมาหรือสมัยอีโอซีน (ประมาณ 35 ล้านปีมาแล้ว) ส่วนสกุลนกกระเรียนในปัจจุบันปรากฏขึ้นเมื่อ 20 ล้านปีมาแล้ว[6] จากการศึกษาทางชีวภูมิศาสตร์ (biogeography) ของซากดึกดำบรรพ์ที่รู้จักและอยู่ในอนุกรมวิธานของนกกระเรียนแสดงว่ากลุ่มอาจมีต้นกำเนิดมาจากโลกเก่า[6] ความหลากหลายเท่าที่มีอยู่ในระดับสกุลมีศูนย์กลางอยู่ที่ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกาแต่เป็นที่เศร้าใจมากที่ไม่มีบันทึกซากดึกดำบรรพ์ในสภาพดีจากที่นั่นเลย ในทางตรงกันข้ามกลับมีซากดึกดำบรรพ์ของนกกระยางเป็นจำนวนมากที่ได้รับการบันทึกไว้จากที่นั้น ซึ่งคาดกันว่ามันใช้ถิ่นอาศัยร่วมกับนกกระเรียน

จากบันทึกซากดึกดำบรรพ์ สกุล Grus สามารถสืบสาวย้อนไปได้ถึง 12 ล้านปีหรือมากกว่านั้น ด้วยการวิเคราะห์ไมโทคอนเดรียลดีเอ็นเอ (Mitochondrial DNA) จากตัวอย่างนกกระเรียนไทยที่มีอยู่อย่างจำกัดแสดงว่ามีการถ่ายเทเคลื่อนย้ายยีน (Gene Flow) ในประชากรแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชียจนกระทั่งมีพิสัยลดลงในคริสต์ศตวรรษที่ 20 และในประเทศออสเตรเลียเป็นเพียงอาณานิคมเดียวเท่านั้นในตอนปลายของสมัยไพลสโตซีน (Pleistocene) ประมาณ 3,000 ช่วงอายุ หรือ 35,000 ปีมาแล้ว[3] มีการวิเคราะห์ nDNA microsatellite ยืนยัน 4 ครั้งจากกลุ่มตัวอย่าง[7] ผลการวิจัยยังเสนอเพิ่มเติมว่าประชากรในออสเตรเลียมักมาจากการผสมพันธุ์ในพวกเดียวกัน และเนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดลูกผสมกับนกกระเรียนออสเตรเลียซึ่งมีพันธุกรรมที่แตกต่าง จึงคาดกันว่านกกระเรียนไทยในออสเตรเลียอาจจะเริ่มเป็นสปีชีส์ใหม่[7]

ศัพท์มูลวิทยา

แก้

ชื่อสามัญ sarus มาจากชื่อในภาษาฮินดี ("sāras") ของนกกระเรียนชนิดนี้ คำในภาษาฮินดีมาจากคำในภาษาสันสกฤต sarasa แปลว่า "นกทะเลสาบ" (บางครั้งกร่อนเป็น sārhans) ขณะที่คนอินเดียให้ความนับถือในนกชนิดนี้[22] แต่ทหารอังกฤษในอาณานิคมอินเดียกลับล่านก ทหารเรียกนกว่า Serious[23] หรือ cyrus[24] ชื่อวิทยาศาสตร์ antigone—ตั้งตามชื่อลูกสาวของเอดิปุสผู้แขวนคอตนเอง อาจเกี่ยวข้องกับผิวหนังเปลือยตรงศีรษะและลำคอ[6][note 2]

นิเวศวิทยาและพฤติกรรม

แก้

นกกระเรียนไทยไม่ใช่นกอพยพทางไกลเหมือนนกกระเรียนชนิดอื่น ๆ แต่ก็มีการอพยพเป็นระยะทางช่วงสั้น ๆ ในฤดูแล้งและฤดูฝน ประชากรนกกระเรียนที่มีการอพยพนั้นพบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น[12] นกกระเรียนที่จับคู่จะปกป้องอาณาเขตจากนกกระเรียนอื่นด้วยเสียงร้องกู่ร้องและการกางปีก นกที่ยังไม่จับคู่จะอยู่รวมกันเป็นฝูงหลากหลายขนาดจำนวนตั้งแต่ 1–430 ตัว[11][25][26] ในพื้นที่กึ่งแห้งแล้ง คู่นกและลูกนกที่บินได้แล้วจะละทิ้งอาณาเขตในฤดูแล้งไปรวมฝูงกับนกที่ยังไม่ได้จับคู่ ในพื้นที่ชุ่มน้ำตลอดปี อย่างในรัฐอุตตรประเทศ คู่นกจะไม่ทิ้งอาณาเขต ฝูงนกกระเรียนที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในพื้นที่ 29 ตารางกิโลเมตรของอุทยานแห่งชาติเกวลาเทวะ (Keoladeo)[27] ซึ่งมีนกถึง 430 ตัว และจากพื้นที่ชุ่มน้ำในเขตอิฏาวา (Etawah) และไมนปุรี (Mainpuri) ในรัฐอุตตรประเทศ มีนกจำนวน 245–412 ตัว ฝูกนกที่มีสมาชิกเกิน 100 ตัวนั้นมีรายงานจากรัฐคุชราต[28] และประเทศออสเตรเลียเป็นประจำ ในระหว่างฤดูผสมพันธุ์ นกที่จับคู่จะขับไล่นกกระเรียนที่ยังไม่จับคู่ออกจากพื้นที่ชุ่มน้ำบางแห่งและประชากรนกท้องถิ่นสามารถลดลงได้ ประชากรนกกระเรียนในอุทยานแห่งชาติเคียวลาเดียวเคยมีบันทึกว่าจากนกมากกว่า 400 ตัวในฤดูร้อนลดลงเหลือเพียง 20 ในระหว่างมรสุม[27]

นกกระเรียนจะนอนในน้ำตื้น ๆ อาจเป็นเพราะจะได้ปลอดภัยจากสัตว์นักล่าบนพื้นดิน[6] นกที่โตเต็มที่จะไม่ผลัดขนทุกปี แต่จะผลัดทุกสองถึงสามปี[29]

การกินอาหาร

แก้
 
นกกระเรียนกำลังหากินอยู่ริมบึงที่ภารตปุระ อินเดีย

นกกระเรียนไทยหากินในน้ำตื้น (ปกติน้ำลึกน้อยกว่า 30 เซนติเมตร) หรือในทุ่งหญ้า บ่อยครั้งพบนกกระเรียนแหย่ปากหากินในปลักโคลน มันเป็นสัตว์กินได้ทั้งพืชและสัตว์ เช่น แมลง (โดยเฉพาะตั๊กแตน) พืชน้ำ ปลา (อาจแค่เฉพาะในกรงเลี้ยง)[30] กบ สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง และเมล็ดพืช บางครั้งก็เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ เช่น งูน้ำ (Xenochrophis piscator)[6] มีบางกรณีที่พบได้ยากที่นกกระเรียนไทยกินไข่ของนกอื่น[31] และเต่า[32] ส่วนพืชก็อย่างเช่น พืชมีหัว หัวของพืชน้ำ หน่อหญ้า เมล็ดพืช และเมล็ดจากพืชที่เพาะปลูกอย่างถั่วลิสงและธัญพืชเช่นข้าว[6]

การเกี้ยวพาราสีและการผสมพันธุ์

แก้

นกกระเรียนไทยมีเสียงร้อง "แกร๋...แกร๋..." ดังเหมือนแตร ที่สร้างมาจากหลอดลมที่ยาวม้วนพันกันอยู่ในบริเวณสันอกซึ่งคล้ายกันกับนกกระเรียนชนิดอื่น[33] การเกี้ยวพาราสีของนกกระเรียน จะแสดงออกโดยคู่นกอาจแสดงการกางปีก กระพือปีก ส่งเสียงร้องด้วยท่าทางที่สวยงามและพร้อมเพียงกันไปรอบ ๆ พื้นที่ รวมถึงการ "เต้นระบำ" ที่กระทำทั้งในและนอกฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งประกอบไปด้วยการกระโดดช่วงสั้น ๆ กระดกศีรษะขึ้นลง ตบเท้า ไปรอบ ๆ คู่ของมัน[34] นอกจากนี้การเต้นระบำยังเป็นการข่มขู่ขับไล่เมื่อรังหรือลูกนกตกอยู่ในอันตรายอีกด้วย[6] นกกระเรียนไทยส่วนใหญ่ผสมพันธุ์ในฤดูมรสุมในประเทศอินเดีย (กรกฎาคมถึงตุลาคม) แม้ว่าอาจมีการวางไข่ครั้งที่ 2[27] และมีบันทึกว่านกกระเรียนผสมพันธุ์ได้ทั้งปี[11] และในตอนต้นฤดูฝนในประเทศออสเตรเลีย

 
หลอดลมยาวม้วนพันกันที่ใช้สร้างเสียงเรียกดังคล้ายแตร
 
ไข่ของนกกระเรียนไทย

นกกระเรียนสร้างรังขนาดใหญ่มีรูปร่างกลมแบนแบบง่าย ๆ จากต้นไม้จำพวกอ้อหรือกกและพืชต่าง ๆ ในหนองบึงหรือนาข้าว[16] รังจะสร้างในน้ำตื้นโดยซ้อนทับไปบนกอกก กอข้าว หรือกอหญ้า เพื่อที่รังจะได้อยู่สูงจากระดับน้ำคล้ายกับเป็นเกาะเล็ก ๆ รังไม่มีสิ่งปกปิดมองเห็นได้ชัดเจนจากระยะไกล[35] รังอาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 2 เมตรสูงเกือบ 1 เมตร[36] คู่นกจะหวงแหนแหล่งทำรังมาก บ่อยครั้งที่จะกับมาซ่อมแซมและใช้รังเดิมถึง 5 ฤดูผสมพันธุ์[37] ในหนึ่งครอกจะมีไข่ 1-2 ใบ (น้อยครั้งที่จะเป็น 3[37] หรือ 4[38] ใบ) พ่อแม่นกจะผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่ฟักไข่[38] ใช้เวลาฟักไข่ราว 31 วัน (ราว 27–35 วัน[11][39]) ไข่นกกระเรียนไทยมีสีขาว (บางครั้งมีสีครีมแกมชมพูหรือสีเขียว[40]) หนักประมาณ 240 กรัม[6] พ่อแม่นกจะย้ายเปลือกไข่ออกจากรังหรือจะกลืนเปลือกไข่เข้าไปหลังลูกนกฟักเป็นตัว[41] ลูกนกระเรียนจะมีขนอุยปกคลุมทั่วตัว ขนบริเวณหัวและคอมีสีน้ำตาลอมเหลือง ขนข้างอกและหลังด้านบนเป็นสีน้ำตาลเข้ม บริเวณอกและท้องเป็นสีขาว[42] ลูกนกจะกินอาหารจากที่พ่อและแม่ป้อนในสองสามวันแรกและจะหากินเองหลังจากนั้นและจะตามพ่อแม่ไปหาอาหาร เมื่อเตือนภัย พ่อแม่นกจะร้อง "แคร่ร-รร" เสียงต่ำเพื่อส่งสัญญาณให้ลูกนกหยุดและนอนลง[43] นกวัยอ่อนจะอยู่กับพ่อแม่มากกว่า 3 เดือน[6] เชื่อกันว่านกกระเรียนจับคู่อยู่ด้วยกันตลอดชีวิต ถ้ามีตัวใดตัวหนึ่งตายลง นกที่เหลืออาจจับคู่กับนกตัวใหม่ได้ แต่นกกระเรียนเป็นนกที่จับคู่ยากมาก มันจะไม่ยอมจับคู่ใหม่จนกว่าจะพบคู่ที่พอใจ[44] นอกจากนี้ยังมีรายงานการเปลี่ยนคู่บันทึกไว้[45]

ปัจจัยคุกคาม

แก้

ไข่ของนกกระเรียนไทยในรังถูกอีกาทำลายอยู่บ่อยครั้ง[41] ในประเทศออสเตรเลีย สัตว์นักล่านกวัยอ่อนนั้นรวมถึงดิงโกและหมาจิ้งจอกแดง ขณะที่เหยี่ยวแดงมักจะกินไข่[6] การนำไข่ไปจากรังโดยเกษตรกร (เพื่อลดความเสียหายของพืชผล) หรือเด็ก ๆ (นำไปเล่น)[46] หรือคนงานเร่ร่อนเพื่อนำไปทำอาหาร[47] เป็นปัจจัยคุกคามต่อไข่นกกระเรียนที่สำคัญ ประมาณร้อยละ 31–42 ของไข่ในรังจะไม่สามารถฟักเป็นตัวได้จากเหตุผลข้างต้น ลูกนกจะเป็นเหยื่อของสัตว์นักล่าประมาณร้อยละ 8 แต่มากกว่าร้อยละ 30 ของลูกนกที่ตายนั้นไม่ทราบสาเหตุ[48][49] อัตราการรอดตายตั้งแต่เป็นไข่จนถึงนกวัยอ่อนจะอยู่ประมาณร้อยละ 20[50] ในบริเวณที่เกษตรกรยินยอมให้นกอาศัยโดยไม่ได้ทำอันตรายต่อนกนั้น มีอัตราการรอดเท่า ๆ กันกับในพื้นที่ชุ่มน้ำ คู่นกที่ทำรังช้าในฤดูกาลมีโอกาสการเลี้ยงลูกนกให้รอดตายต่ำกว่าปกติ แต่ถ้าในอาณาเขตมีพื้นที่ชุ่มน้ำมากอัตราการรอดจะดีขึ้น[46]

เรื่องโรคและปรสิตของนกกระเรียนไทยเป็นที่รู้น้อยมาก รวมถึงผลกระทบที่มีต่อนกป่า จากการศึกษาที่สวนสัตว์โรมระบุบว่านกทนต่อโรคระบาด[51] ปรสิตภายในที่มีการระบุบก็มี พยาธิตัวแบน Opisthorhis dendriticus จากตับของนกในกรงเลี้ยงที่สวนสัตว์ลอนดอน[52] และปรสิตหนอนตัวแบน (Allopyge antigones) จากนกในประเทศออสเตรเลีย[53] นกกระเรียนไทยมีแมลงปรสิตเหมือนกับนกทั่ว ๆ ไป ชนิดที่มีการบันทึกไว้ก็มี Heleonomus laveryi และ Esthiopterum indicum[54]

ในกรงเลี้ยง นกกระเรียนไทยมีอายุยาวถึง 42 ปี[note 3][55][56] การตายของนกกระเรียนที่ยังไม่โตเต็มที่บ่อยครั้งเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ มีอุบัติเหตุกับนกกระเรียนที่เกิดจากสารพิษอย่างโมโนโครโตฟอส (monocrotophos) และดีลดริน (dieldrin) ในพื้นที่เกษตรกรรมบันทึกไว้[57][58] เท่าที่ทราบ มีนกที่โตเต็มที่บินชนสายไฟและโดนไฟดูดตาย ซึ่งมีอัตราการตายจากสาเหตุนี้ประมาณร้อยละ 1 ของประชากรนกในพื้นที่ต่อปี[59]

การอนุรักษ์

แก้
 
นกกระเรียนปกติจะอยู่เป็นคู่หรือฝูงขนาดเล็ก

มีนกกระเรียนไทยเหลืออยู่ในธรรมชาติประมาณ 15,000–20,000 ตัวจากการประเมินในปี ค.ศ. 2009[1] ประชากรชนิดย่อย นกกระเรียนอินเดีย เหลือน้อยกว่า 10,000 ตัวแต่ก็ถือว่ายังดีกว่าอีก 2 ชนิดย่อยที่เหลือ อาจเป็นเพราะได้รับความเคารพและธรรมเนียมที่สืบทอดกันมาทำให้นกไม่ได้รับอันตราย[47] และในหลาย ๆ พื้นที่ นกกระเรียนไม่เกรงกลัวมนุษย์ นกกระเรียนไทยเคยพบในประเทศปากีสถานแต่ยังไม่พบอีกเลยตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 ประชากรนกกระเรียนในอินเดียมีการลดจำนวนลง[1] จากการประมาณประชากรโดยรวมบนพื้นฐานของหลักฐานที่สะสมมาแสดงว่าประชากรในปี ค.ศ. 2000 ดีที่สุดคือร้อยละ 10 และเลวร้ายที่สุดคือร้อยละ 2.5 ของจำนวนทั้งหมดในปี ค.ศ. 1850[60] เกษตรกรหลายคนในอินเดียเชื่อว่านกกระเรียนนั้นเป็นตัวทำลายพืชผล[10] โดยเฉพาะข้าว แม้ว่าจากการศึกษาแสดงว่าการจิกกินเมล็กข้าวโดยตรงนั้นมีการสูญเสียจำนวนน้อยกว่าร้อยละหนึ่งและการเหยียบย่ำทำให้สูญเสียเมล็ดประมาณ 0.4–15 กิโลกรัม[61] ทัศนคติของเกษตรกรมีแนวโน้มเป็นบวกในเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้น และนี่เองเป็นการช่วยอนุรักษ์นกกระเรียนภายในพื้นที่เกษตรกรรม และการชดเชยความเสียหายความเสียหายแก่เกษตรกรตามความเป็นจริงอาจจะช่วยได้[48] ทุ่งนาอาจมีบทบาทที่สำหรับสำคัญในการช่วยอนุรักษ์นกชนิดนี้ เพราะพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาตินั้นถูกคุกคามมากขึ้นด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์[62] ประชากรนกกระเรียนในประเทศออสเตรเลียมีประมาณ 5,000 ตัวและอาจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ[7] อย่างไรก็ตาม นกกระเรียนอินโดจีนกลับลดลงเป็นจำนวนมากจากสงครามและการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย (เช่นการเกษตรแบบเร่งรัดและการระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุ่มน้ำ) และเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 นกกระเรียนอินโดจีนได้หายไปจากพื้นที่การจายพันธุ์ส่วนใหญ่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยแผ่ไปถึงตอนใต้ของประเทศจีน มีประชากรเหลือประมาณ 1,500–2,000 ตัวกระจายตัวเป็นกลุ่มประชากรเล็ก ๆ ประชากรในประเทศฟิลิปปินส์นั้นรู้น้อยมากและสูญพันธุ์ไปในตอนปลายของคริสต์ทศวรรษ 1960[1]

 
ฝูงนกกระเรียน ประกอบไปด้วยนกโตเต็มที่ 2 ตัวและนกวัยอ่อน 1 ตัว

นกกระเรียนไทยจัดอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ[1] และไซเตสจัดอยู่ในบัญชีอนุรักษ์ที่ 2[63] การคุกคามประกอบไปด้วยภัยคุกคามทำลายถิ่นที่อยู่หรือทำให้เสื่อมลง การล่าและดักจับ เช่นเดียวกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษ โรค และการแข่งขันในสปีชีส์ ผลของการผสมพันธุ์กันในเชื้อสายที่ใกล้เคียงกันมากในประชากรของประเทศออสเตรเลียยังต้องศึกษาต่อไป[7]

นกกระเรียนไทยสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้วในประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย มีโครงการนำนกกระเรียนกลับสู่ธรรมชาติในประเทศไทยโดยนำนกมาจากประเทศกัมพูชา[64]

ประเทศไทย

แก้

นกกระเรียนไทยเป็นสัตว์ป่าสงวนหนึ่งใน 20 ชนิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 สถานะภาพปัจจุบันจัดเป็นสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้ว[65] ประเทศไทยพบนกกระเรียนในธรรมชาติครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2511 ที่บริเวณชายแดนติดกับกัมพูชา[66]

โดยในอดีต ปี พ.ศ. 2448 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ว่า ทรงพบเห็นฝูงนกกระเรียนไทยจำนวนนับพันนับหมื่นตัว ทำรังวางไข่ที่ทุ่งมะค่า และเมื่อปี พ.ศ. 2488 มีรายงานการพบเห็นฝูงนกกระเรียนไทยบินผ่านท้องฟ้าบริเวณจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ นั่นนับเป็นการพบเห็นนกกระเรียนไทยบินรวมตัวเป็นฝูงครั้งสุดท้ายในประเทศไทย[67]

ด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับมูลนิธิอนุรักษ์นกกระเรียนสากล (ICF) ได้ร่วมกันจัดทำโครงการนำนกกระเรียนคืนถิ่น (G. a. sharpii) โดยเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2525 ในปี พ.ศ. 2527 มูลนิธิฯ ได้ส่งลูกนกกระเรียนมาจำนวน 6 ตัว แต่ตายไป 1 ตัว ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2532 มูลนิธิฯ ได้ส่งลูกนกมาให้อีก 6 ตัว นกทั้งหมดนำมาเลี้ยงดูอยู่ที่ศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าบางพระ และเนื่องจากพ่อแม่พันธุ์มีน้อยเกินไป ทางโครงการต้องจัดหาเพิ่มจากแหล่งอื่นอีก[68] ต่อมาสวนสัตว์โคราชได้ลูกนกมาจากการได้รับบริจาคจากประชาชนในบริเวณชายแดนไทย ลาว และกัมพูชา ระหว่างปี พ.ศ. 2532-2540 จำนวนหลายตัว ทางโครงการจึงได้มีการติดต่อกับสวนสัตว์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน[69]

สวนสัตว์โคราชจัดเป็นสถานที่เพาะขยายพันธุ์นกกระเรียนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย[40] โดยได้เริ่มขยายพันธุ์ทั้งแบบธรรมชาติและการผสมเทียม มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน จากประชากรเริ่มต้นจำนวน 26 ตัว จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552 มีลูกนกที่เกิดมารวม 100 ตัว ขณะที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว และสถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ สามารถขยายพันธุ์ได้อีกไม่ต่ำกว่า 50 ตัว[70] ทางสวนสัตว์จึงมีโครงการปล่อยนกกระเรียนกลับคืนสู่ธรรมชาติใน 6 แหล่งด้วยกันคือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบงคาย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด เขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยตลาดและห้วยจระเข้มาก เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน และ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว[71] ซึ่งในอดีต ประเทศไทยเคยปล่อยนกกระเรียนสามตัวกลับสู่ธรรมชาติที่ทุ่งกะมังในปี พ.ศ. 2540 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ[66]

ปี พ.ศ. 2554 ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม คณะทำงานโครงการทดลองปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่พื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติ (ประเทศไทย) และสวนสัตว์นครราชสีมาได้มีการทดลองปล่อยนกกระเรียนไทย อายุ 5–8 เดือน จำนวน 10 ตัว กลับคืนสู่ธรรมชาติที่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ จากการติดตามพบว่านกกระเรียนดังกล่าวสามารถดำรงชีวิตอยู่ในธรรมชาติได้ตามปกติ ในปีถัดมา ได้ปล่อยนกกระเรียนไทยกลับคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง จำนวน 9 ตัว ที่อ่างเก็บน้ำสนามบิน อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์[72] เมื่อถึงปี พ.ศ. 2562 มีการปล่อยนกกระเรียนไทยคืนสู่พื้นที่ธรรมชาติแล้วถึง 105 ตัว สามารถมีชีวิตรอดในธรรมชาติ 71 ตัว และมีลูกนกเกิดในธรรมชาติไม่น้อยกว่า 15 ตัว[73][74]

นกกระเรียนในวัฒนธรรม

แก้
 
The Floating Feather : วาดโดยแม็ลคียอร์ โดนเดอกุเตอร์ (Melchior d'Hondecoeter) (ราวปี ค.ศ. 1680) นกในโรงเลี้ยงสัตว์ของสมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งอังกฤษที่พระราชวังแฮ็ตโล (Het Loo Palace) มีนกกระเรียนไทยอยู่ในฉากหลัง

นกกระเรียนไทยเป็นที่เคารพในประเทศอินเดียและมีตำนานที่ว่ามหาฤๅษีวาลมีกิ (Valmiki) ได้สาปแช่งผู้ที่ฆ่านกกระเรียนและได้แรงบันดาลใจจากนกกระเรียนในการเขียนมหากาพย์รามายณะ[75][76] นกกระเรียนยังเป็นคู่แข่งของนกยูงอินเดียในการคัดเลือกนกที่จะเป็นนกประจำชาติอินเดีย[77] ในชนเผ่าโคนที (Gondi) ซึ่งสักการะพระเจ้า 5 พระองค์ถือว่านกกระเรียนเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์[78] เนื้อนกกระเรียนถือว่าเป็นอาหารต้องห้ามในคัมภีร์ฮินดูโบราณ[79] เป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่านกกระเรียนจะมีคู่เพียงตัวเดียวตลอดชีวิต ถ้าเกิดตัวใดตัวหนึ่งตายลง อีกตัวหนึ่งจะตรอมใจตายตาม นกกระเรียนเป็นสัญลักษณ์คุณงามความดีศีลธรรมในชีวิตแต่งงานและในรัฐคุชราตมีประเพณีให้คู่แต่งงานใหม่ดูคู่นกกระเรียนเป็นตัวอย่าง[11][10] ในที่ราบน้ำท่วมขังของแม่น้ำคงคา ได้มีการสังเกตการทางชีววิทยาของนกกระเรียนโดยจักรพรรดิโมกุล จาฮันกีร์ (Jahangir) ประมาณช่วงปี ค.ศ. 1607 เขาบันทึกว่านกกระเรียนวางไข่สองใบห่างกัน 48 ชั่วโมงและใช้เวลาฟัก 34 วัน[6]

 
ภาพวาดโดยโยฮันน์ มิชาเอล เซลิจมันน์ (Johann Michael Seligmann) ตีพิมพ์ในช่วงปี ค.ศ. 1749-1776 ในงานของจอร์จ เอ็ดเวิดส์ (George Edwards)

แม้ว่านกจะเป็นที่เคารพและได้รับการปกป้องจากชาวอินเดีย แต่นกกระเรียนยังคงถูกล่าในช่วงที่อินเดียเป็นอาณานิคม มีบันทึกว่าการฆ่านกจะทำให้คู่ของมันแผดเสียงไปหลายวัน และเชื่อกันว่าหลังจากนั้นมันจะตรอมใจตายตามคู่ไป แม้แต่ในคู่มือการล่านกเพื่อการกีฬายังไม่เห็นด้วยที่จะยิงนกชนิดนี้[80] ตามที่นักสัตววิทยาชาวอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทอมัส ซี. เจอร์ดอน (Thomas C. Jerdon) กล่าวไว้ว่า นกวัยอ่อนกินอร่อย ขณะที่นกโตเต็มที่ "ไร้ค่าที่จะวางบนโต๊ะ"[81] ไข่ของนกกระเรียนไทยใช้ในการรักษาแบบพื้นบ้านในบางส่วนของประเทศอินเดีย[11][82]

ในสมัยก่อน บ่อยครั้งที่นกวัยอ่อนจะโดนจับและนำไปเลี้ยงไว้ในโรงเลี้ยงสัตว์ทั้งในประเทศอินเดียและทวีปยุโรป มีการขยายพันธุ์สำเร็จในกรงเลี้ยงในช่วงตอนต้นของคริสต์ทศวรรษ 1600 โดยจักรพรรดิจาฮันกีร์[83] และในยุโรปและในสหรัฐอเมริกาในตอนต้นของคริสต์ทศวรรษ 1930[84][36]

... นกวัยอ่อนเลี้ยงง่ายด้วยการป้อนอาหารด้วยมือ นกจะเชื่องและติดคนป้อนอาหารมากโดยเดินตามอย่างกับสุนัข มันเป็นนกที่ตลกมากด้วยท่าเต้นที่พิสดารและแสดงท่าทางน่าตลกขบขัน ซึ่งคุ้มค่าที่จะเลี้ยงไว้ นกกระเรียนตัวหนึ่งที่ฉันเลี้ยง เมื่อให้ขนมปังกับนมแก่มัน มันจะนำขนมปังออกจากนมและล้างในอ่างน้ำของมันก่อนจะกินเข้าไป นกตัวนี้นำมาจากพระราชวังที่ลัคเนา (Lucknow) ซึ่งมันจะดุร้ายกับคนแปลกหน้าและสุนัขมาก โดยเฉพาะถ้าพวกเขามีท่าทีกลัวมัน มันส่งเสียงดังหนวกหูมากซึ่งเป็นข้อเสียเพียงข้อเดียวของมัน

— Irby, 1861[85]

เครื่องบินใบพัด 14 ที่นั่งของอินเดียได้รับการตั้งชื่อตามนกกระเรียนนี้ว่า Saras[86][87]

ในประเทศไทย เรื่องของนกกระเรียนปรากฏอยู่ใน "เล่าเรื่องกรุงสยาม" ของสังฆราชปาเลอกัวซ์ และ "ลานนกกระเรียน " ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นอกจากนั้นยังปรากฏอยู่ในกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดงของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ดังนี้[44]

นกกระเรียนเวียนว่ายน้ำ เลงแล
ลงย่องร้องแกร๋แกร๋ แจ่มจ้า
ริมทุ่งกระทุงลอยแพ ลงล่อง
บินกลาดกลุ้มท้องฟ้าร่อนร้อง เหลือหลาย

เชิงอรรถ

แก้
  1. Meine & Archibald (1996) p. 126
  2. Johnsgard (1983) p. 239
  3. Flower (1938) บันทึกเพียงแค่ 26 ปีสำหรับนกเลี้ยง

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 BirdLife International (2016). "Antigone antigone". IUCN Red List of Threatened Species. 2016: e.T22692064A93335364. doi:10.2305/IUCN.UK.2016-3.RLTS.T22692064A93335364.en. สืบค้นเมื่อ 20 February 2022.
  2. Blanford, W.T (1896). "A note on the two sarus cranes of the Indian region". Ibis. 2: 135–136.
  3. 3.0 3.1 Wood, T.C. & Krajewsky, C. (1996). "Mitochondrial DNA sequence variation among the subspecies of Sarus Crane (Grus antigone)" (PDF). The Auk. 113 (3): 655–663. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-10-15. สืบค้นเมื่อ 2010-04-16.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  4. Vyas, Rakesh (2002). "Status of Sarus Crane Grus antigone antigone in Rajasthan and its ecological requirements" (PDF). Zoos' Print Journal. 17 (2): 691–695.
  5. 5.0 5.1 Rasmussen, PC & JC Anderton (2005). Birds of South Asia: The Ripley Guide. Vol. 2. Smithsonian Institution and Lynx Edicions. pp. 138–139.
  6. 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 6.11 6.12 Johnsgard, Paul A. (1983). Cranes of the world. Indiana University Press, Bloomington. ISBN 0-253-11255-9.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 Jones, Kenneth L.; Barzen, Jeb A.; Ashley, Mary V. (2005). "Geographical partitioning of microsatellite variation in the sarus crane". Animal Conservation. 8 (1): 1–8. doi:10.1017/S1367943004001842. S2CID 85570749.
  8. Azam, Mirza Mohammad & Chaudhry M. Shafique (2005). "Birdlife in Nagarparkar, district Tharparkar, Sindh" (PDF). Rec. Zool. Surv. Pakistan. 16: 26–32.[ลิงก์เสีย]
  9. Choudhury, A. (1998). "Mammals, birds and reptiles of Dibru-Saikhowa Sanctuary, Assam, India". Oryx. 32 (3): 192–200. doi:10.1017/S0030605300029951.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 Sundar, K.S.G.; Kaur, J.; Choudhury, BC (2000). "Distribution, demography and conservation status of the Indian Sarus Crane (Grus a. antigone) in India". Journal of the Bombay Natural History Society. 97 (3): 319–339.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 11.6 11.7 Sundar, KSG; Choudhury, BC (2003). "The Indian Sarus Crane Grus a. antigone: a literature review". Journal of Ecological Society. 16: 16–41.
  12. 12.0 12.1 Archibald, G.W.; Sundar, KSG; Barzen, J. (2003). "A review of the three subspecies of Sarus Cranes Grus antigone". J. Ecol. Soc. 16: 5–15.
  13. Marchant, S.; Higgins, P.J. (1993). Handbook of Australian, New Zealand & Antarctic birds. Oxford University Press, Melbourne.
  14. Vigne, GT (1842). Travels in Kashmir, Ladak, Iskardo. Vol. 2. Henry Colburn,London.
  15. Sundar, KSG (2009). "Are rice paddies suboptimal breeding habitat for Sarus Cranes in Uttar Pradesh, India?". The Condor. 111 (4): 611–623. doi:10.1525/cond.2009.080032.
  16. 16.0 16.1 Borad, C.K.; Mukherjee, A.; Parasharya, B.M. (2001). "Nest site selection by the Indian sarus crane in the paddy crop agrosystem". Biological Conservation. 98 (1): 89–96. doi:10.1016/s0006-3207(00)00145-2.
  17. Sundar, KSG; Choudhury, BC (2006). "Conservation of the Sarus Crane Grus antigone in Uttar Pradesh, India". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 103 (2–3): 182–190.
  18. Gmelin, JF (1788). Systema Naturae. 1 (13 ed.). p. 622.
  19. Blyth, Edward (1881). The natural history of the cranes. R H Porter. pp. 45–51.
  20. 20.0 20.1 20.2 Sarus Crane Birding in India and South Asia
  21. Meine, Curt D. and George W. Archibald (Eds) (1996). The cranes: Status survey and conservation action plan. IUCN, Gland, Switzerland, and Cambridge, U.K. ISBN 2831703263.
  22. หนังสือธรรมชาตินานาสัตว์ เล่ม 2 นายแพทย์ บุญส่ง เลขะกุล
  23. Yule, Henry, Sir. (1903). Hobson-Jobson: A glossary of colloquial Anglo-Indian words and phrases, and of kindred terms, etymological, historical, geographical and discursive. New ed. edited by William Crooke, B.A.. J. Murray, London.
  24. Stocqueler, JH (1848). The Oriental Interpreter. C. Cox, London.
  25. Livesey,TR (1937). "Sarus flocks". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 39 (2): 420–421.
  26. Prasad, SN; NK Ramachandran; HS Das & DF Singh (1993). "Sarus congregation in Uttar Pradesh". Newsletter for Birdwatchers. 33 (4): 68.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  27. 27.0 27.1 27.2 Ramachandran, NK; Vijayan, VS (1994). "Distribution and general ecology of the Sarus Crane (Grus antigone) in Keoladeo National Park, Bharatpur, Rajasthan". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 91 (2): 211–223.
  28. Acharya,Hari Narayan G (1936). "Sarus flocks". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 38 (4): 831.
  29. Hartert, Ernst & F Young (1928). "Some observations on a pair of Sarus Cranes at Tring". Novitates Zoologicae. 34: 75–76.
  30. Law,SC (1930). "Fish-eating habit of the Sarus Crane (Antigone antigone)". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 34 (2): 582–583.
  31. Sundar, KSG (2000). "Eggs in the diet of the Sarus Crane Grus antigone (Linn.)". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 97 (3): 428–429.
  32. Chauhan, R; Andrews, Harry (2006). "Black-necked Stork Ephippiorhynchus asiaticus and Sarus Crane Grus antigone depredating eggs of the three-striped roofed turtle Kachuga dhongoka". Forktail. 22: 174–175.
  33. Fitch, WT (1999). "Acoustic exaggeration of size in birds via tracheal elongation: comparative and theoretical analyses" (PDF). J. Zool., Lond. 248: 31–48. doi:10.1111/j.1469-7998.1999.tb01020.x.
  34. Mukherjee, A. (2002). "Observations on the mating behaviour of the Indian Sarus Crane Grus antigone in the wild". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 99 (1): 108–113.
  35. Whistler, Hugh (1949). Popular Handbook Of Indian Birds. 4th edition. Gurney and Jackson, London. หน้า 446–447.
  36. 36.0 36.1 Walkinshaw, Lawrence H. (1947). "Some nesting records of the sarus crane in North American zoological parks" (PDF). The Auk. 64 (4): 602–615. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-06-07. สืบค้นเมื่อ 2010-04-16.
  37. 37.0 37.1 Mukherjee, A; Soni, V.C.; Parasharya, C.K. Borad B.M. (December 2000). "Nest and eggs of Sarus Crane (Grus antigone antigone Linn.)" (PDF). Zoos' Print Journal. 15 (12): 375–385.
  38. 38.0 38.1 Sundar, KSG & BC Choudhury (2005). "Effect of incubating adult sex and clutch size on egg orientation in Sarus Cranes Grus antigone" (PDF). Forktail. 21: 179–181. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-10-11. สืบค้นเมื่อ 2010-04-16.
  39. Ricklefs RE, DF Bruning * G W Archibald. "Growth rates of cranes reared in captivity" (PDF). The Auk. 103 (1): 125–134. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-06-09. สืบค้นเมื่อ 2010-04-16.
  40. 40.0 40.1 มิ่งขวัญ วัตพนาศรัย, นกกระเรียนคืนถิ่น, Advanced Thailand Geographic ฉบับที่ 136 พ.ศ. 2555, ISSN 0859-5356
  41. 41.0 41.1 Sundar, K.S.G.; Choudhury, B.C. (2003). "Nest sanitation in Sarus Cranes Grus antigone in Uttar Pradesh, India" (PDF). Forktail. 19: 144–146. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 11 October 2008.
  42. นกกระเรียนในประเทศไทย เก็บถาวร 2010-07-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ อ.ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้, bknowledge.org
  43. Ali, S (1957). "Notes on the Sarus Crane". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 55 (1): 166–168.
  44. 44.0 44.1 นกกระเรียน[ลิงก์เสีย] สัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  45. Sundar, KSG (2005). "Observations of mate change and other aspects of pair-bond in the Sarus Crane Grus antigone". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 102 (1): 109–112.
  46. 46.0 46.1 Sundar, KSG (2009). "Are rice paddies suboptimal breeding habitat for Sarus Cranes in Uttar Pradesh, India?". The Condor. 111 (4): 611–623.
  47. 47.0 47.1 Kaur, J.; Choudhury, B.C.; Choudhury, B.C. (2008). "Conservation of the vulnerable Sarus Crane Grus antigone antigone in Kota, Rajasthan, India: a case study of community involvement". Oryx. 42 (3): 452–455. doi:10.1017/S0030605308000215.
  48. 48.0 48.1 Mukherjee, A; C. K. Borad & B. M. Parasharya (2002). "Breeding performance of the Indian sarus crane in the agricultural landscape of western India". Biological Conservation. 105 (2): 263–269. doi:10.1016/S0006-3207(01)00186-0.
  49. Kaur J & Choudhury, BC (2005). "Predation by Marsh Harrier Circus aeruginosus on chick of Sarus Crane Grus antigone antigone in Kota, Rajasthan". Journal of the Bombay Natural History Society. 102 (1): 102.
  50. Borad, CK; Mukherjee, Aeshita; Parasharya, BM & S.B. Patel (2002). "Breeding performance of Indian Sarus Crane Grus antigone antigone in the paddy crop agroecosystem". Biodiversity and Conservation. 11 (5): 795–805. doi:10.1023/A:1015367406200.
  51. Ambrosioni P & Cremisini ZE (1948). "Epizoozia de carbonchi ematico negli animali del giardino zoologico di Roma". Clin. Vet. (ภาษาอิตาลี). 71: 143–151.
  52. Lal, Mukund Behari (1939). "Studies in Helminthology-Trematode parasites of birds". Proceedings of the Indian Academy of Sciences. Section B. 10 (2): 111–200.
  53. Johnston, SJ (1913). "On some Queensland trematodes, with anatomical observations and descriptions of new species and genera". Quarterly Journal of Microscopical Science. 59: 361–400.
  54. Tandan, BK. "The genus Esthiopterum (Phthiraptera: Ischnocera)" (PDF). J. Ent. (B). 42 (1): 85–101.
  55. Flower, M.S.S. (1938). "The duration of life in animals - IV. Birds: special notes by orders and families". Proc. Zool. Soc. London: 195–235.
  56. Ricklefs, R. E. (2000). "Intrinsic aging-related mortality in birds" (PDF). J. Avian Biol. 31: 103–111. doi:10.1034/j.1600-048X.2000.210201.x.
  57. Pain, D.J., Gargi, R., Cunningham, A.A., Jones, A., Prakash, V. (2004). "Mortality of globally threatened Sarus cranes Grus antigone from monocrotophos poisoning in India". Science of the Total Environment. 326 (1–3): 55–61. doi:10.1016/j.scitotenv.2003.12.004. PMID 15142765.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  58. Muralidharan, S. (1993). "Aldrin poisoning of Sarus cranes (Grus antigone) and a few granivorous birds in Keoladeo National Park, Bharatpur, India". Ecotoxicology. 2 (3): 196–202. doi:10.1007/BF00116424.
  59. Sundar, KSG & BC Choudhury (2005). "Mortality of sarus cranes (Grus antigone) due to electricity wires in Uttar Pradesh, India". Environmental Conservation. 32: 260–269. doi:10.1017/S0376892905002341.
  60. BirdLife International (2001). Threatened birds of Asia: the BirdLife International Red Data Book (PDF). BirdLife International, Cambridge, UK. ISBN 0946888426. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-02-10. สืบค้นเมื่อ 2010-04-16.
  61. Borad, C.K.; Mukherjee, A.; Parasharya, B.M. (2001). "Damage potential of Indian sarus crane in paddy crop agroecosystem in Kheda district Gujarat, India". Agriculture, Ecosystems and Environment. 86 (2): 211–215. doi:10.1016/S0167-8809(00)00275-9.
  62. Sundar, KSG (2009). "Are rice paddies suboptimal breeding habitat for Sarus Cranes in Uttar Pradesh, India?". The Condor. 111 (4): 611–623. doi:10.1525/cond.2009.080032.
  63. นกกระเรียน เก็บถาวร 2010-03-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน แฟ้มสัตว์โลก โลกสีเขียว
  64. Tanee T, Chaveerach A, Anuniwat A, Tanomtong A, Pinthong K, Sudmoon R & P., Mokkamul (2009). "Molecular Analysis for Genetic Diversity and Distance of Introduced Grus antigone sharpii L. to Thailand" (PDF). Pakistan Journal of Biological Sciences. 12 (2): 163–167. doi:10.3923/pjbs.2009.163.167. PMID 19579938.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)[ลิงก์เสีย]
  65. นกกระเรียนไทย ฐานข้อมูลชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามในประเทศไทย
  66. 66.0 66.1 นกกระเรียน ชีวิตในตำนาน[ลิงก์เสีย] สารคดี
  67. หน้า 122-129, โฮป : ความหวังบนลานนกกระเรียน โดย พงษ์ชัย มูลสาร. นิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟิก ฉบับภาษาไทย ฉบับที่ 173: ธันวาคม 2558
  68. พรทิพย์ อังคปรีชาเศรษฐ์ นกกระเรียนคืนถิ่น[ลิงก์เสีย] สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
  69. โครงการนกกระเรียนคืนถิ่น เก็บถาวร 2009-10-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน บุบผา อ่ำเกตุ
  70. "นกกระเรียนไทย"ที่สวนสัตว์ดุสิตขยายพันธุ์สำเร็จ ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
  71. กษมา หิรัณยรัชต์. ฉลองนกกระเรียนตัวที่ 100 พันธุ์ไทยแท้-แท้ ที่โคราช. มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2552 หน้า 21
  72. เตรียมปล่อย “กระเรียนไทย”ใกล้สูญพันธุ์ สู่ธรรมชาติที่บุรีรัมย์อีก 9 ตัว เก็บถาวร 2016-02-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 27 มีนาคม 2555
  73. องค์การสวนสัตว์เปิดศูนย์อนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย แหล่งเรียนรู้ใหม่บุรีรัมย์, ไทยโพสต์, 05 สิงหาคม พ.ศ. 2562
  74. เปิดแหล่งเรียนรู้ "นกกระเรียนพันธุ์ไทย" ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ, Thai PBS, 5 สิงหาคม 2562
  75. Leslie, J. (1998). "A bird bereaved: The identity and significance of Valmiki's kraunca". Journal of Indian Philosophy. 26 (5): 455–487. doi:10.1023/A:1004335910775.
  76. Hammer, Niels (2009). "Why Sārus Cranes epitomize Karuṇarasa in the Rāmāyaṇa". Journal of the Royal Asiatic Society. 19: 187–211. doi:10.1017/S1356186308009334.
  77. Sundar, KS Gopi (2006). "Conservation of the Sarus Crane Grus antigone in Uttar Pradesh, India". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 103 (2–3): 182–190.
  78. Russell, RV (1916). The tribes and castes of the Central Provinces of India. Volume 3. Macmillan and Co., London. p. 66.
  79. The Sacred Laws of the Aryas. Parts 1 and 2. แปลโดย Bühler, Georg. New York: The Christian Literature Company. 1898. p. 64. LCCN 32034301.
  80. Finn, F (1915). Indian sporting birds. Francis Edwards, London. pp. 117–120.
  81. Jerdon, TC (1864). Birds of India. Vol. 3. George Wyman & Co, Calcutta.
  82. Kaur, J & BC Choudhury (2003). "Stealing of Sarus crane eggs". Current Science. 85 (11): 1515–1516.
  83. Ali, S (1927). "The Moghul emperors of India as naturalists and sportsmen. Part 2". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 32 (1): 34–63.
  84. Rothschild D (1930). "Sarus crane breeding at Tring". Bull. Brit. Orn. Club. 50: 57–68.
  85. Irby,LH (1861). "Notes on birds observed in Oudh and Kumaon". Ibis. 3 (2): 217–251. doi:10.1111/j.1474-919X.1861.tb07456.x.
  86. Norris, Guy (2005). "India works to overcome Saras design glitches". Flight International. 168 (5006): 28.
  87. Mishra, Bibhu Ranjan (16 November 2009). "After IAF, Indian Posts shows interest for NAL Saras". Business Standard. สืบค้นเมื่อ 13 January 2010.

แหล่งที่มาอื่น

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้