กิจการเพื่อสังคม

(เปลี่ยนทางจาก ธุรกิจเพื่อสังคม)

กิจการเพื่อสังคม (social enterprise) คือหน่วยงานที่ดำเนินงานโดยใช้ยุทธศาสตร์แบบกลไกตลาดเพื่อเป้าหมายทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม

การดำเนินงานของกิจการเพื่อสังคม มุ่งเน้นเป้าหมายทางสังคม สิ่งแวดล้อม และการเงินไปพร้อม ๆ กัน หรือที่เรียกว่า Triple Bottom Line โดยเป้าหมายทางการเงิน เช่นการสร้างรายได้นั้น มีขึ้นเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ของสังคมหรือสิ่งแวดล้อม แทนที่จะเป็นผลประโยชน์ของบริษัทหรือผู้ถือหุ้นเหมือนกิจการทั่วไป

กิจการเพื่อสังคม ต่างจากความรับผิดชอบทางสังคมเชิงบรรษัท (CSR) ตรงที่กิจการเพื่อสังคมมีเป้าหมายทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ในขณะที่ CSR มักจะเป็นกิจกรรมหรือโครงการเพื่อสังคมของกิจการที่แสวงหากำไรตามปกติ

ที่มาของกิจการเพื่อสังคม แก้

กิจการเพื่อสังคมเกิดขึ้นจากแนวคิดที่ว่าเมื่อสังคมก้าวหน้า ขยายขนาด และมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมจึงเกิดขึ้นตามมาโดยทวีความซับซ้อน หลากหลาย และความรุนแรงเช่นเดียวกัน จนยากที่หน่วยงานภาครัฐจะรับมือได้ทั้งหมด ในขณะที่หน่วยงานเอกชนก็มักดำเนินงานเพื่อผลประโยชน์ของหน่วยงานและผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) โดยตรง เช่น ผู้ถือหุ้น เท่านั้น

ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จึงเกิดหน่วยงานที่เรียกว่า องค์การสาธารณประโยชน์ (Non-governmental Organisation - NGO) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคมตั้งแต่ระดับโลกไปจนถึงระดับท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานขององค์กรพัฒนาเอกชนมักต้องพึ่งพาแหล่งทุนจากภายนอก ในลักษะต่างๆ เช่น การรับบริจาค การขอการสนับสนุนแบบให้เปล่า ทำให้ประสบปัญหาความต่อเนื่องในการดำเนินงาน ข้อจำกัดในการขยายขอบเขตและงาน และความยั่งยืนขององค์กร นี่เป็นข้อจำกัดที่เป็นจุดกำเนิดของกิจการเพื่อสังคม ที่ดำเนินงานเพื่อเป้าหมายทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้เพื่อหล่อเลี้ยงการดำเนินงานและขยายงานให้เต็มศักยภาพ

ลักษณะของกิจการเพื่อสังคม แก้

กิจการเพื่อสังคม มักมีลักษณะดังต่อไปนี้

  1. ดำเนินงานเพื่อผลประโยชน์ทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม และมีแนวทางการหารายได้ด้วยตนเองเพื่อหล่อเลี้ยงการดำเนินงานอย่างยั่งยืน โดยที่มาของรายได้สามารถอยู่ในรูปแบบการขายผลิตภัณฑ์และ/หรือบริการ การระดมทุนโดยให้ผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุน จนถึงการขอรับบริจาคหรือการสนับสนุนทางการเงินแบบให้เปล่าเหมือนองค์การสาธารณประโยชน์
  2. เน้นการใช้นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหา นั่นคือการคิดค้นวิธีการใหม่ๆ ที่สามารถแก้ปัญหาที่เป็นเป้าหมายของการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผล ยั่งยืน และสามารถต่อยอดผลลัพธ์ได้ ตัวอย่างเช่น การให้เงินกู้ขนาดย่อมสำหรับแม่บ้านในบังกลาเทศเพื่อลงทุนสร้างกิจการของตนเอง โดย ธนาคารกรามีน ของมูฮัมหมัด ยูนูส, การสร้างปั๊มน้ำที่ใช้พลังงานจากเครื่องเล่นเด็กของบริษัท Playpumps ในประเทศแอฟริกาใต้
  3. การดำเนินงานโดยอาศัยความร่วมมืออย่างกว้างขวาง เพื่อใช้ศักยภาพเฉพาะทางของหน่วยงานต่างๆ ในเครือข่ายเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน

นโยบายรัฐบาลกับกิจการเพื่อสังคม แก้

รัฐบาลของหลากหลายประเทศเห็นความสำคัญของกิจการเพื่อสังคม และมีนโยบายในการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม เช่นในประเทศอังกฤษ มีการก่อตั้งหน่วยงานชื่อ Office of the Third Sector (OTS) ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักคณะรัฐมนตรี โดย OTS มีนโยบายหลัก คือการผลักดันและสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม และยังช่วยเหลือในด้านการให้ข้อมูลและคำปรึกษาที่ดี การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และลดอุปสรรคในการทำงานร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน นอกจากนี้ยังมีคณะทำงานเฉพาะกิจ Social Investment Task Force ซึ่งทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่รัฐบาลในเรื่องการขยายตัวของกองทุน Phoenix (กองทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพของชุมชนโดยการกระตุ้นการลงทุนผ่านทางสังคมและธุรกิจ) การจัดตั้งการให้เครดิตทางภาษีของการลงทุนเพื่อชุมชน การให้ความช่วยเหลือของภาครัฐสู่กองทุนร่วมพัฒนาชุมชน และการสนับสนุนการพัฒนาทางด้านการเงินแก่ชุมชน

ประเทศแคนาดามีเงินกองทุนสนับสนุน Social Enterprise ภายใต้การดูแลของรัฐมนตรีด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และศักยภาพ พร้อมทั้งมีการออกพระราชบัญญัติความร่วมมือขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร โดยลดความแตกต่างของกฎระเบียบสำหรับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและรัฐบาล ปรับปรุงความน่าเชื่อทางการเงิน ทำให้บทบาทและความรับผิดชอบของพนักงานและผู้อำนวยการมีความเข้าใจง่าย และปกป้องสิทธิของสมาชิก นอกจากนั้นยังก่อตั้ง Co-operative Development Initiative (CDI) ในปี 2003 ซึ่งเป็นโครงการ 5 ปี เพื่อช่วยพัฒนา ทำวิจัย รวมถึงทดลองใช้นวัตกรรมกับของโมเดลของสหกรณ์ต่างๆ

ในส่วนภูมิภาคเอเชีย ประเทศสิงคโปร์ มีการจัดตั้งกองทุน Social Enterprise (Social Enterprise Fund - SEF) ซึ่งเป็นผู้ให้เงินทุนสนับสนุนเริ่มต้นสำหรับกิจการเพื่อสังคม และยังมีการจัดตั้งคณะกรรม Social Enterprise Committee (SEC) โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจ สร้างกิจการเพื่อสังคมที่มีความชำนาญด้านสิ่งแวดล้อม และสร้างวัฒนธรรมของการเป็นผู้ประกอบการด้านสังคม

สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม และกำลังเร่งจัดทำแผนแม่บทสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม[1]

ตัวอย่างกิจการเพื่อสังคม[2] แก้

ประเทศไทย แก้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แก้

  • Grassroots Innovation Network (GIN) พัฒนานวัตกรรมการเกษตรที่ต้นทุกต่ำแต่ได้ผลยั่งยืน
  • บริษัท ศูนย์ความรู้พี่จุฬา จำกัด (Phi Chula Knowledge Center co., ltd)พัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาบุคคลากรที่เกี่ยวกับการศึกษาในโรงเรียน ในมิติต่างๆ เช่น ส่งเสริมความสามารถทักษะกระบวนการสอน เพิ่มทักษะการจัดการห้องเรียนผ่านเทคโนโลยีที่มีอยู่ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน สร้างทัศนคติต่อการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพให้กับนักเรียน

ภาคเหนือ แก้

  • Mirror Arts Group (MAG) ดำเนินงานโดยมูลนิธิกระจกเงา ใช้สื่อและจัดกิจกรรมเพื่อการพัฒนาสังคม เช่น การใช้กระบวนการละครและการจัดกิจกรรมค่ายเด็กและเยาวชน การทำโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือชาวเขา
  • Chivalry Silk เป็นบริษัทร่วมทุนที่นำผ้าไหมของชาวบ้านในชนบท จังหวัดลำพูน มาจำหน่ายทางอินเทอร์เน็ต เพื่อและเป็นตัวแทนจำหน่ายในราคาที่เป็นธรรมกับชุมชน
  • TTCRAFTS: Thai Tribal Crafts Fair Trade เป็นองค์กรเพื่อการช่วยเหลือตัวเองของชาวเขาทางภาคเหนือของประเทศไทย ส่งเสริมการผลิตสินค้าหัตถกรรมของชาวเขาและทำเป็นธุรกิจส่งออกกับองค์กรต่างๆ ในต่างประเทศ
  • มูลนิธิโคมลอยเพื่อการพัฒนา เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ให้ความช่วยเหลือผู้อพยพชาวพม่าและชนกลุ่มน้อย ในเขตตำบลแม่ยาวและตำบลห้วยชมพู จังหวัดเชียงราย ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยมีการพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องการเกษตร การเงิน การจัดการน้ำในพื้นที่ สุขภาพอนามัย การศึกษา และงานหัตถกรรมชาวบ้าน เพื่อกระจายรายได้แก่คนในชุมชนกลุ่มน้อย
  • วงษ์พาณิชย์ ให้บริการจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว คัดแยก และรีไซเคิล โดยผ่านกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยอบรม วางแผนและติดตามดูแลผล อีกทั้งยังอบรมให้ความรู้ ฝึกงาน ฝึกอาชีพให้แก่พนักงานในองค์กรและชุมชนเรื่องการคัดแยกขยะและการสร้างรายได้จากขยะ
  • สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน ภายใต้มูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน สร้างและพัฒนาชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนในจังหวัดเชียงใหม่

ภาคใต้ แก้

  • Ecotourism Training Center เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรในเขาหลัก จังหวัดพังงา ช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นให้มีความรู้และทักษะเพียงพอที่จะเป็นไกด์ดำน้ำลึกและสอนความรู้ด้านการดูแลและอนุรักษ์ประการัง รวมไปถึงทักษะการใช้คอมพิวเตอร์และภาษาอังกฤษแก่ชุมชน เพื่อให้มีโอกาสเป็นไกด์ดำน้ำท้องถิ่นและเข้าใจถึงคุณค่าของทรัพยากรทางน้ำ
  • ชุมพร คาบาน่า รีสอร์ต และศูนย์กีฬาดำน้ำ จัดกิจกรรมด้านการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทะเล มีนโยบายชายหาด เช่น ห้ามกีฬาทางน้ำที่ใช้เครื่องยนต์ทุกประเภท ห้ามทิ้งขยะบริเวณชายหาด นอกจากนี้ยังมีการปลูกข้าว ปลูกผักไร้สารเคมี การบำบัดน้ำเสีย การเลี้ยงไก่ การทำปุ๋ยหมัก ตลอดจนการผลิตสบู่เหลว แชมพู น้ำยาล้างรถ ฯลฯ ใช้เองภายในโรงแรม และยังส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรอินทรีย์ และเกษตรแบบผสมผสาน ภายในรีสอร์ต

กัมพูชา แก้

  • Digital Divide Data (DDD) เป็นบริษัทด้าน IT ขนาดใหญ่ที่เปิดโอกาสการทำงานให้กับผู้ขาดโอกาสและผู้พิการ ซึ่งถูกกีดกันออกจากสังคม และมีโอกาสก้าวหน้าน้อยมากในประเทศกัมพูชา

อินเดีย แก้

  • Aravind Eye Hospital and Aurolab เป็นโรงพยาบาลตา ที่มีเป้าหมายคือการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์และบริการด้านสาธารณสุขให้ผู้คนได้เข้าถึงในราคาย่อมเยาแต่องค์กรก็ยังคงมีเสถียรภาพทางการเงิน โดยทุกวันนี้ Aravind เป็นผู้ที่ให้บริการการผ่าตัดดวงตาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินเดีย โดยรักษาดวงตาให้กับผู้ป่วยกว่า 1.4 ล้านคนต่อปี และรักษาฟรีให้กับผู้ป่วยประมาณ 66 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้ป่วยต่อปี เพราะรายได้จากผู้ป่วยที่มีกำลังจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้นั้นครอบคลุมต้นทุนขององค์กรได้
  • SKS India เป็นหน่วยงานให้บริการทางการเงินแก่คนจนในอินเดีย โดยมุ่งหมายจะช่วยให้คนจนสามารถช่วยเหลือตนเองได้ผ่านทางโปรแกรมธนาคารของชุมชน ที่ให้ผู้หญิงยากจนกู้เงินสำหรับการลงทุนทางธุรกิจและสำหรับเรื่องฉุกเฉินอื่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องกู้เงินนอกระบบที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง

บังคลาเทศ แก้

 
มูฮัมหมัด ยูนูส ผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีน
  • ธนาคารกรามีน ก่อตั้งโดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล มูฮัมหมัด ยูนูส ปล่อยเงินกู้ขนาดย่อม (Micro-credit) ให้แม่บ้านชาวบังคลาเทศลงทุนเพื่อตั้งกิจการของตนเอง
  • XayanIT มีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่และแก้ปัญหาการว่างงานของประเทศด้วยการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแก่ชาวบังคลาเทศ โดยจัดให้มีการอบรม การจ้างงานและฝึกสอนเทคโนโลยีสารสนเทศที่เน้นทักษะการสร้างเว็บไซต์ การจัดการ และการพัฒนาซอฟต์แวร์แก่เยาวชน

แอฟริกาใต้ แก้

  • Playpumps เพลย์ปั๊มเป็นม้าหมุนสำหรับเด็กที่ช่วยสูบน้ำสะอาดสำหรับการอุปโภคบริโภคจากบ่อใต้ดินไปที่แทงค์เก็บน้ำ ทุกๆ ครั้งที่เด็กๆ หมุนเล่นและแทงค์น้ำนี้ก็เชื่อมต่อกับท่อน้ำในชุมชนเพื่อให้ทุกคนได้มีน้ำสะอาดใช้ โดยปัจจุบันมีเพลย์ ปั๊มประมาณ 700 เครื่องถูกติดตั้งในแอฟริกาใต้ แหล่งรายได้ของเพลย์ ปั๊มมาจากการขายพื้นที่โฆษณาบริเวณปั๊ม โดยโฆษณาบางส่วนมีเนื้อหารณรงค์เรื่องโรคเอดส์แก่เด็ก

เคนย่า แก้

  • Kickstart ออกแบบและผลิตเทคโนโลยีที่ช่วยคนให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิเช่น ระบบการจ่ายน้ำขนาดเล็กที่ควบคุมได้ด้วยมือและเครื่องบดเมล็ดทานตะวันและงา โดยทางบริษัทขายสินค้าเทคโนโลยีเหล่านี้ให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นในราคาถูก เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและสามารถเปิดกิจการเล็กๆ ของตัวเองได้

อ้างอิง แก้

  1. นายกเล็งสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ “กิจการเพื่อสังคม” เก็บถาวร 2010-02-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เว็บไซต์นายกรัฐมนตรีไทย. เรียกข้อมูลวันที่ 7 กพ. 2553.
  2. ธุรกิจเพื่อสังคมคุณธรรม เก็บถาวร 2011-11-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เอกสารประกอบการประชุมสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม สำนักบริหารและพัฒนาองคความรู้ (องค์การมหาชน) เรียกข้อมูลวันที่ 7 กพ. 2553.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้