ธนูยาวอังกฤษ
ธนูยาวอังกฤษ หรือเรียก ธนูยาวเวลส์ เป็นธนูยาวสมัยกลางประเภททรงพลัง ยาวประมาณ 1.83 เมตร ซึ่งชาวอังกฤษและชาวเวลส์ใช้ในการล่าสัตว์และเป็นอาวุธในสงครามสมัยกลาง การใช้ธนูยาวของอังกฤษมีประสิทธิภาพต่อฝรั่งเศสระหว่างสงครามร้อยปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นของสงคราม ในยุทธการเครซี (ค.ศ. 1346) และปัวตีเย (ค.ศ. 1356) และที่มีชื่อเสียงที่สุดที่ยุทธการอาแฌงคูร์ต (ค.ศ. 1415) แต่เริ่มประสบความสำเร็จน้อยลงหลังจากนั้น พลธนูยาวได้รับความสูญเสียที่ยุทธการแวร์เนย (ค.ศ. 1424) และถูกตีแตกพ่ายที่ยุทธการพาเทย์ (ค.ศ. 1429) เมื่อถูกเข้าตีก่อนที่พวกเขาจะจัดตั้งตำแหน่งตั้งรับ คำว่า ธนูยาว "อังกฤษ" หรือ "เวลส์" เป็นคำสร้างใหม่เพื่อแยกแยะธนูเหล่านี้จากธนูยาวอื่น แม้ธนูยาวแบบเดียวกันนี้จะถูกใช้อย่างแพร่หลายในยุโรปเหนือและยุโรปตะวันตก แต่ที่จริงแล้ว ก้านธนูยิวส่วนมากถูกนำเข้าจากสเปนตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมา
ธนูยาวที่เก่าแก่ที่สุดที่รู้จักมาจากอังกฤษ ซึ่งถูกพบที่แอสคอทท์ฮีท (Ashcott Heath) มณฑลซอมเมอร์เซ็ท ซึ่งมีอายุถึง 2665 ปีก่อนคริสตกาล[1] แต่ไม่มีธนูยาวเหลือรอดในช่วงที่ธนูยาวใช้กันอย่างแพร่หลาย (ระหว่าง ค.ศ. 1250-1450)[2] ซึ่งอาจเป็นเพราะ เป็นธรรมชาติของธนูที่จะอ่อนแอลง หัก และถูกเปลี่ยน มากกว่าที่จะส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น[3] อย่างไรก็ตาม มีธนูยาวมากกว่า 130 คันเหลือรอดจากยุคเรเนซ็องส์ มีลูกศรกว่า 3,500 ดอก และธนูยาวทั้งคัน 137 คัน ถูกกู้ขึ้นจากเรือแมรีโรส เรือของกองทัพเรือในสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ซึ่งจมในพอร์ตสมัธ ใน ค.ศ. 1545
ธนูยาวจะต้องยาวพอจะให้ผู้ใช้น้าว (draw) สายธนูถึงจุดบนใบหน้าหรือร่างกาย และดังนั้น ความยาวจึงแตกต่างกันไปขึ้นกับผู้ใช้ ในยุโรปภาคพื้นทวีป โดยทั่วไปมักพบธนูยาวกว่า 1.2 เมตร สมาคมนักสะสมของเก่าระบุว่า ยาว 1.5-1.83 เมตร[4] ริชาร์ด บาร์เทล็อต (Richard Bartelot) แห่งสถาบันปืนใหญ่หลวง ระบุว่า ธนูเป็นไม้ยิว ยาว 1.83 เมตร และใช้ธนูยาว 91.4 เซนติเมตร[5] แกสตัน โฟบัส (Gaston Phoebus) ใน ค.ศ. 1388 เขียนว่าธนูยาวควรจะ "ทำจากไม้ยิวหรือไม้เนื้อแข็ง ยาวเจ็ดสิบนิ้ว [1.78 เมตร] ระหว่างจุดผูกสาย"[6] นักประวัติศาสตร์ จิม แบรดบูรี (Jim Bradbury) ว่า ธนูเหล่านี้ยาวเฉลี่ย 5 ฟุต 8 นิ้ว[7] การประเมินทั้งหมดยกเว้นอันสุดท้าย มีขึ้นก่อนการกู้เรือแมรีโรส ซึ่งพบธนูความยาวระหว่าง 1.87 ถึง 2.11 เมตร ยาวเฉลี่ย 1.98 เมตร[8]
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ Bacon 1971, p. 16
- ↑ Kaiser 1980
- ↑ Levick 1992
- ↑ Kaiser 1980 footnote 5, citing "The Berkhamsted Bow", Antiquaries Journal 11 (London), p. 423
- ↑ Kaiser 1980 footnote 6, citing Major Richard G. Bartelot, Assistant Historical Secretary, Royal Artillery Institution, Old Military Academy, Woolwich, England. Letter, 16 February 1976
- ↑ Longman Walrond, p. 132
- ↑ Bradbury 1985[ต้องการเลขหน้า]
- ↑ Staff (2007). "The Ship - Armament - Page 6 of 10 - Bows". The Mary Rose Trust. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2004-10-10. สืบค้นเมื่อ 2011-08-26.CS1 maint: ref=harv (link)
บรรณานุกรมแก้ไข
- Bradbury, Jim (1985). The Medieval Archer. The Boydell Press. ISBN 0851151949.CS1 maint: ref=harv (link)
- Bacon, Edward (1971). Archaeology: Discoveries in the 1960's. New York: Praeger. ISBN 0304936359.CS1 maint: ref=harv (link)
- Kaiser, Robert E. (1980). "The Medieval English Longbow". Journal of the Society of Archer-Antiquaries. 23. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2008-04-23. สืบค้นเมื่อ 2011-08-26.CS1 maint: ref=harv (link)
- Levick, Ben (1992). "They Didn't Have Bows, Did They?". Regia Anglorum Publications 2002.CS1 maint: ref=harv (link)
- Longman, C.J.; Walrond, H. (1967). Archery. New York: Fiederick Ungar Publishing Co.CS1 maint: ref=harv (link)