ธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ
ธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (อังกฤษ: Bank for International Settlements) หรือ BIS เป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศ[2]อันมีธนาคารกลางของประเทศต่างๆเป็นหุ้นส่วน มีหน้าที่ดูแลระบบเงินตราระหว่างประเทศ เป็นนายธนาคารของบรรดาธนาคารกลาง ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือและเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างธนาคารกลางและสถาบันทางการเงินระหว่างประเทศต่างๆ[3] มีธนาคารกลางกว่า 60 แห่งทั่วโลกเป็นสมาชิกสถาบันนี้ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมีสำนักงานผู้แทน 2 แห่งในฮ่องกงและเม็กซิโกซิตี
อาคารสำนักงานใหญ่ในบาเซิล | |
ก่อตั้ง | 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1930 |
---|---|
ประเภท | สถาบันการเงินระหว่างประเทศ |
วัตถุประสงค์ | ความร่วมมือระหว่างธนาคารกลาง |
ที่ตั้ง | |
พิกัด | 47°32′53″N 7°35′31″E / 47.54806°N 7.59194°E |
สมาชิก | ธนาคารกลาง 60 แห่ง |
องค์กรแม่ | คณะกรรมการธนาคาร[1] |
พนักงาน | 1300 |
เว็บไซต์ | www |
ผู้บริหารสูงสุดของ BIS คือตำแหน่งประธานกรรมการและผู้อำนวยการ โดยจะถือเอาผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศสมาชิกหนึ่งมาดำรงตำแหน่งนี้ และจะดำรงตำแหน่งในบีไอเอ็สไปจนกระทั่งเขาพ้นจากการเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางในประเทศของตน ประธานกรรมการและผู้อำนวยการบีไอเอ็สคนปัจจุบันคือ เยินส์ ไวด์มันน์ (Jens Weidmann) ผู้ว่าการธนาคารธนาคารกลางเยอรมัน
ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกใน BIS เมื่อค.ศ. 2000 ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยถือครองหุ้นใน BIS เป็นจำนวน 3,211 หุ้น (0.6% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด) และในฐานะผู้ถือหุ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับเชิญให้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมทุก 2 เดือนที่เมืองบาเซิล[4]
ประวัติ
แก้ธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1930 โดยข้อตกลงระหว่างรัฐบาลระหว่าง เยอรมนี, เบลเยียม, ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร, อิตาลี, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์[5][6] เมื่อแรกก่อตั้งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นองค์กรที่ดูแลการเรียกร้องค่าปฏิกรรมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจากเยอรมนี ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายสัมพันธมิตรเรียกร้องไม่ให้ธนาคารแห่งนี้รับฝากสินทรัพย์ใดๆจากนาซีเยอรมนี โดยอ้างว่าทองคำและสินทรัพย์เหล่านั้นเป็นของที่ถูกยึดมาจากชาวยิวและธนาคารกลางในประเทศที่ถูกยึดครองโดยเยอรมัน อย่างไรก็ตาม จากการที่ธนาคารแห่งนี้มีกรรมการบริหารเป็นนักอุตสาหกรรมและนายทุนชาวเยอรมัน ทำให้ธนาคารแห่งนี้รับฝากเงิน ทองคำ และสินทรัพย์จากนาซีเยอรมนีจำนวนมหาศาลโดยไม่สนใจข้อเรียกร้องของฝ่ายสัมพันธมิตร
การประชุมเบรตตันวูดส์ของฝ่ายสัมพันธมิตรใน ค.ศ. 1944 ผู้แทนนอร์เวย์ได้เสนอหลักฐานว่าธนาคารแห่งนี้มีความผิดร่วมฐานอาชญากรรมสงคราม ผู้แทนนอร์เวย์เสนอให้ยุบธนาคารนี้และนำสินทรัพย์ของธนาคารชำระหนี้เป็นค่าปฏิกรรมสงคราม ซึ่งที่ประชุมก็มีมติเห็นชอบตามนั้นโดยไม่คัดค้านใดๆ[7] อย่างไรก็ตาม หลังการอสัญกรรมของประธานาธิบดีสหรัฐ แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1945 แผนการนี้ก็จางหายไป รัฐบาลของประธานาธิบดีคนใหม่ แฮร์รี เอส. ทรูแมน เห็นควรให้คงธนาคารแห่งนี้ไว้ ในที่สุด แผนการยุบธนาคารแห่งนี้ก็เป็นอันแท้งไปในค.ศ. 1948[8]
พันธกิจ
แก้เมื่อ BIS ถูกวางตัวให้เป็นสถาบันธนาคารกลาง ได้กำหนดพันธกิจไว้ดังนี้:
- ผลักดันให้เกิดการหารือตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือกันของธนาคารกลาง
- สนับสนุนการแลกเปลี่ยนความเห็นกับหน่วยงานซึ่งรับผิดชอบการส่งเสริมเสถียรภาพทางการเงิน
- วิจัยและวิเคราะห์นโยบายต่างๆที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเงินตราและการเงิน
- เป็นองค์กรกลางในการทำธุรกรรมระหว่างธนาคารกลาง
- เป็นตัวแทนหรือผู้จัดการดูแลทรัพย์สินอันเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ
สมาชิก
แก้ธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ มีสมาชิกเป็นธนาคารกลาง 60 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นธนาคารกลาง 35 แห่งในทวีปยุโรป, 13 แห่งในทวีปเอเชีย, 5 แห่งในทวีปอเมริกาใต้, 2 แห่งในโอเชียเนีย และ 2 แห่งในแอฟริกา
อ้างอิง
แก้- ↑ "Board of Directors". www.bis.org/. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 April 2011. สืบค้นเมื่อ 2011-04-14.
- ↑ "About BIS". www.bis.org. 2005-01-01. สืบค้นเมื่อ 2016-03-17.
- ↑ "About BIS". Web page of Bank for International Settlements. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 May 2008. สืบค้นเมื่อ May 17, 2008.
- ↑ Bank for International Settlements[ลิงก์เสีย] ทีมการเงินระหว่างประเทศ สายนโยบายการเงิน. ธนาคารแห่งประเทศไทย
- ↑ "UNTC". treaties.un.org.
- ↑ "About the BIS - overview". www.bis.org. 1 January 2005.
- ↑ Schuler and Rosenberg, The Bretton Woods Transcripts, p. 566.
- ↑ "BIS Archive Guide", section "A brief history of the BIS, 1930-2005," p. 3.
บทความนี้อาจขยายความได้โดยการแปลบทความที่ตรงกันในภาษาBelarusian (Taraškievica orthography) (2023-09) คลิกที่ [ขยาย] เพื่อศึกษาแนวทางการแปล
|