ธงชัย ใจดี ชื่อเล่น ช้าง เป็นนักกอล์ฟชาวไทย เล่นในรายการเอเชี่ยนทัวร์ และพีจีเอยูโรเปี้ยนทัวร์ และเป็นคนไทยคนแรก ที่ได้ลงแข่งขันในรายการ ยูเอส โอเพ่น

ธงชัย ใจดี
ข้อมูลส่วนตัว
ฉายาโปรช้าง
เกิด8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512 (54 ปี)
จังหวัดลพบุรี ประเทศไทย
ส่วนสูง170 ซม.
น้ำหนัก63 กก.
สัญชาติ ไทย
การเล่นอาชีพ
เริ่มเล่นอาชีพพ.ศ. 2542
ทัวร์ล่าสุดยูโรเปียนทัวร์
เอเชียนทัวร์
ชนะเลิศอาชีพ24 (8 ยูโรเปียนทัวร์, 13 เอเชียนทัวร์, อื่นๆ 3)
ผลงานที่ดีที่สุดในเมเจอร์แชมเปียนชิป
มาสเตอส์ทัวร์นาเมนต์T37 (พ.ศ. 2557)
พีจีเอ แชมเปียนชิปT36 (พ.ศ. 2552)
ยูเอสโอเพนT47 (พ.ศ. 2553)
ดิ โอเพน แชมเปียนชิปT13 (พ.ศ. 2552)

ประวัติ แก้

นายธงชัย เกิดวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512 ที่ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จบการศึกษาชั้นประถมศึกษา จากโรงเรียนชุบศร จังหวัดลพบุรี จบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี และจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จาก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร (หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน) และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้านครอบครัว สมรสกับ น้ำฝน ใจดี (นามสกุลเดิม ลาดกระโทก) เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2542

นายธงชัย เริ่มเล่นกอล์ฟ เมื่อปี พ.ศ. 2525 ขณะมีอายุได้ 16 ปี แต่กลับเข้ารับราชการทหาร ที่ศูนย์บัญชาการสงครามพิเศษ จังหวัดลพบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2530 ต่อมา ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมทีมชาติไทย เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2538 โดยได้ศึกษาวิธีการเล่นกอล์ฟ จาก นายเคร็ก วิทนี่ย์ โค้ชจากพีจีเอทัวร์ จนถึง พ.ศ. 2540 และได้พัฒนาประสบการณ์ในการเล่นกอล์ฟ โดยเข้าแข่งขันร่วมกับนักกอล์ฟระดับโลก

ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่เชียงใหม่ ลงแข่งขันกอล์ฟ ในนามทีมชาติไทย ที่สนามเชียงใหม่-ลำพูน กอล์ฟ คลับ และได้รับเหรียญทองในประเภททีม ต่อมา เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2540 เป็นแชมป์ ปุตรา คัพ เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน และในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่กรุงเทพฯ ลงแข่งขันกอล์ฟ ในนามทีมชาติไทย ที่สนาม อัลไพน์ กอล์ฟ คลับ และเป็นอันดับที่ 6 ในประเภททีม และผ่านการทดสอบคัดเลือกเป็นนักกอล์ฟอาชีพในเอเชียนทัวร์ เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2542 จากนั้น ในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2543 เป็นแชมป์ครั้งแรกในเอเชียนทัวร์ ในรายการ โคลอน โคเรียน โอเพ่น ที่ประเทศเกาหลีใต้

ในปี พ.ศ. 2544 ได้เข้าอบรมกับนักจิตวิทยา ของสถาบัน เดวิด เลดเบทเทอร์ ซึ่งให้การฝึกอบรมนักกอล์ฟ ในระดับสากล ถึง 2 ครั้ง และในวันที่ 14 มิถุนายน ปีเดียวกัน ก็กลายเป็นคนไทยคนแรก ที่ได้ลงแข่งขันในรายการ ยูเอส โอเพ่น ที่สนาม เซาท์เทิร์น ฮิลล์ส สหรัฐอเมริกา นอกจากนั้น ในวันรุ่งขึ้นนั้นเอง ก็ได้ผ่านรอบตัดตัวในรายการนี้ ต่อมา วันที่ 1 ธันวาคม ปีดังกล่าว ก็ได้เป็นคนไทยคนแรก ที่สามารถทำเงินรางวัลสูงสุดใน เอเชียนทัวร์ คือ 353,060 ดอลลาร์สหรัฐ และยังครองตำแหน่งนี้อีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2547 (12 ธันวาคม) ด้วยจำนวนเงินรางวัลที่เพิ่มขึ้นจากเดิม เป็น 381,929 ดอลลาร์สหรัฐ

22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 เป็นคนไทยคนแรก ที่เป็นแชมป์ รายการยูโรเปี้ยน พีจีเอ ทัวร์ คาร์ลสเบอร์ก มาเลเชียน โอเพ่น ณ สนาม เซาท์ จาน่า กอล์ฟ แอนด์ คันทรี คลับ ซึ่งสามารถป้องกันแชมป์ได้อีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2548 ต่อมา ในวันที่ 12 สิงหาคม ปีเดียวกัน เป็นคนไทยคนแรก ที่ได้ลงแข่งขัน รายการ พีจีเอ แชมเปี้ยนชิพ ที่สนาม วิสลิง สเตรทส์

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ยังเป็นคนไทยคนแรก ที่ผ่านรอบตัดตัว รายการ บริติช โอเพ่น ที่สนาม เซนต์ แอนดรูว์ส ประเทศสกอตแลนด์

เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2549 เป็นคนไทยคนที่สองที่ลงเล่น รายการ มาสเตอส์ทัวร์นาเมนต์ ต่อจากสุกรี อ่อนฉ่ำที่ลงเล่นเมื่อ พ.ศ. 2513-14 ที่สนาม ดิ ออกัสตา กอล์ฟ คลับ ส่งผลให้กลายเป็นคนไทยคนแรก ที่ลงเล่น รายการเมเจอร์ ครบทั้ง 4 รายการ

และเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2549 เป็นคนไทยคนแรก ที่คว้าแชมป์ใน เอเชียนทัวร์ อย่างน้อย 1 รายการ ทุกฤดูกาล โดยเป็นมาทั้งหมด 8 รายการ คือ โคลอน คัพ โคเรียน โอเพ่น 2000, เวลส์ อินเดียน โอเพ่น 2001, เมียนมาร์ โอเพ่น 2002, วอลโว่ มาสเตอร์ส ออฟ เอเชีย ไทยแลนด์ 2003, เมียนมาร์ โอเพ่น 2004, คาร์ลสเบอร์ก มาเลเชียน โอเพ่น 2004, คาร์ลสเบอร์ก มาเลเชียน โอเพ่น 2005 และ วอลโว่ มาสเตอร์ส ออฟ เอเชีย ไทยแลนด์ 2006

ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เป็นคนไทยคนแรก ที่คว้าแชมป์ใน พีจีเอทัวร์ รายการ อเมริกัน แฟมิลี่ อินชัวแรนซ์ แชมเปี้ยนชิพ[1]ที่สนามยูนิเวอร์ซิตี้ ริดจ์ กอล์ฟ คลับ เมืองแมดิสัน, วิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา

ชนะเลิศรายการระดับมืออาชีพ (22) แก้

พีจีเอทัวร์ (2) แก้

ลำดับ วันที่ การแข่งขัน คะแนน ระยะห่าง รองชนะเลิศ
1 12 มิถุนายน 2022 อเมริกัน แฟมิลี่ อินชัวแรนซ์ แชมเปี้ยนชิพ −14 (69-65-68=202) 1 สโตรก   ทอม เพอร์นิซ จูเนียร์
2 24 กันยายน 2023 เพียว อินชัวแรนซ์ แชมเปี้ยนชิพ[2] −14 (70-65-67=202) เพลย์ออฟ   จัสติน เลียวนาร์ด

อันดับมือวาง แก้

  • อันดับ 54 ของโลก อันดับ 1 ของเอเชีย (การจัดอันดับอย่างเป็นทางการเมื่อ ก.พ. พ.ศ. 2556)[3]
  • อันดับ 46 ของโลก Official World Golf Ranking, Mar 16, 2014[4]
  • อันดับ 37 ของโลก Official World Golf Ranking, May 2, 2014
  • อันดับ 28 ของโลก Official World Golf Ranking, August 2, 2014

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. โปรช้าง-ธงชัย ใจดี กลายเป็นคนไทยคนแรกที่คว้าแชมป์ PGA Tour Champions
  2. ธงชัย แชมป์ที่ 2 พีจีเอ ทัวร์ แชมเปี้ยนส์ ดวลเดือด จัสติน เลียวนาร์ด เพลย์ออฟ 4 รอบ ฟันเงิน 11.38 ล้าน
  3. "อันดับโลกของ ธงชัย ใจดี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-10. สืบค้นเมื่อ 2006-12-23.
  4. Stat – Official World Golf Ranking - PGA Tour
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-05-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๒๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙

แหล่งข้อมูลอื่น แก้