ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง
ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง (อังกฤษ: Betong International Airport) เป็นท่าอากาศยานแห่งที่ 29 ของกรมท่าอากาศยาน และเป็นแห่งที่ 39 ในประเทศไทย ตั้งอยู่เลขที่ 125 หมู่ที่ 8 ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อยู่ห่างจากตัวเมืองเบตงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 10 กิโลเมตร[4] มีขนาดพื้นที่ 920 ไร่ ทางวิ่งสามารถรองรับเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่ง อาคารที่พักผู้โดยสารสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 300 คนต่อชั่วโมง[4] หรือ 800,000 คนต่อปี[3]
ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง | |||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
![]() | |||||||||||
ข้อมูลสำคัญ | |||||||||||
การใช้งาน | สาธารณะ | ||||||||||
เจ้าของ | กรมท่าอากาศยาน | ||||||||||
พื้นที่บริการ | อำเภอเบตง | ||||||||||
สถานที่ตั้ง | เลขที่ 125 หมู่ที่ 8 ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา | ||||||||||
วันที่เปิดใช้งาน | 28 มกราคม พ.ศ. 2565 (ได้ใบอนุญาต)[1][2] 14 มีนาคม พ.ศ. 2565 (ทางการ)[3] | ||||||||||
พิกัด | 5°47′9″N 101°08′51″E / 5.78583°N 101.14750°Eพิกัดภูมิศาสตร์: 5°47′9″N 101°08′51″E / 5.78583°N 101.14750°E | ||||||||||
เว็บไซต์ | https://minisite.airports.go.th/betong/ | ||||||||||
แผนที่ | |||||||||||
ทางวิ่ง | |||||||||||
|
ท่าอากาศยานนานาชาติเบตงเริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2560[5] ก่อสร้างแล้วเสร็จในต้นปี พ.ศ. 2563[6] และได้เปิดใช้งานสำหรับเที่ยวบินทางราชการ และเที่ยวบินส่วนบุคคลมาอย่างต่อเนื่อง[7] ได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2565[1] มีเที่ยวบินปฐมฤกษ์ในรูปแบบเช่าเหมาลำเพื่อทดลองเที่ยวบินพาณิชย์เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2565[2][8] และได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2565 พร้อมกับเที่ยวบินเชิงพาณิชย์แบบประจำเที่ยวบินแรก[3]
ประวัติแก้ไข
การก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง เริ่มหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) กระทรวงคมนาคม ดำเนินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง ในวงเงิน 1,900 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี (2559 – 2562) ซึ่งเป็นท่าอากาศยานสังกัดกรมท่าอากาศยานลำดับที่ 29 และนับเป็นท่าอากาศยานในประเทศไทยลำดับที่ 39[9] ซึ่งจุดประสงค์ที่ก่อให้เกิดท่าอากาศยานเบตงนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการคมนาคมในพื้นที่อำเภอเบตงที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันไม่สะดวกต่อการเดินทาง และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม การเมือง และจะทำให้การคมนาคมขนส่งภายในจังหวัดยะลา และการเชื่อมต่อสู่ประเทศมาเลเซียที่ด่านเบตงและพื้นที่ใกล้เคียงจะสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น[7]
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2560 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา[5] ซึ่ง อาคารผู้โดยสาร ลานจอดอากาศยาน ทางขับ และทางวิ่ง สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2562[10] และอุปกรณ์อำนวยการเดินอากาศได้ติดตั้งแล้วเสร็จในต้นปี พ.ศ. 2563 แต่เนื่องจากเหตุการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ต้องเลื่อนเปิดท่าอากาศยานอย่างไม่มีกำหนด[6][11]
ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2565 ได้มีการวิพากย์วิจารณ์กันในสื่อโซเชียลว่า ท่าอากาศยานนานาชาติเบตงยังไม่ได้เปิดใช้งาน ทั้งที่ผ่านมา 2 ปีแล้ว โดยระบุว่าเป็นปัญหาทางด้านเครื่องบินที่นำมาลงได้มีน้ำมันไม่พอบินไปกลับ เนื่องจากเป็นเครื่องบินขนาดเล็ก และที่ท่าอากาศยานไม่มีคลังน้ำมัน และการที่จะต้องบินผ่านน่านฟ้าประเทศมาเลเซียในบางทิศทาง[12] ต่อมา นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาล ได้ชี้แจงว่าท่าอากาศยานนานาชาติเบตงได้มีการให้บริการเที่ยวบินทางราชการ และเที่ยวบินส่วนบุคคล ซึ่งได้มีการทำการบินมาอย่างต่อเนื่อง อยู่ระหว่างพัฒนาท่าอากาศยานให้สามารถรองรับการเดินทางทางอากาศของประชาชนได้อย่างเพียงพอ และครอบคลุมทุกความต้องการ รวมถึงเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมของประชาชนให้ทั่วถึง และสำหรับเส้นทางบินและการขึ้นลงของอากาศยาน จะอยู่ในน่านฟ้าของประเทศไทยเท่านั้น ไม่มีล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด[7]
ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง ได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2565[1] และในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2565 เวลา 11.00 น. สายการบินนกแอร์ ได้มีเที่ยวบินพิเศษ ดอนเมือง-เบตง เที่ยวบินที่ DD6260 ด้วยเครื่องบิน Q-400 เกิดจากการร่วมมือกันของกลุ่มสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนวีระราษฎร์ประสาน และชมรมเบตงกรุงเทพมหานคร ที่ร่วมกันเช่าเหมาลำ เพื่อทดลองเที่ยวบินพาณิชย์ เป็นเที่ยวบินการกุศลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว อำเภอเบตง จังหวัดยะลา[2][8]
ในวันที่ 14 มีนาคม 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ เดินทางด้วยสายการบินนกแอร์ เที่ยวบินที่ DD6260 เครื่องบินทะเบียน HS-DQB เพื่อเปิดใช้งานท่าอากาศยานอย่างเป็นทางการ[3]
วันที่ 29 เมษายน 2565 สายการบินนกแอร์บินประจำในเที่ยวบิน DD622 นับเป็นเที่ยวบินแรกที่ไม่ใช่เที่ยวบินเช่าเหมาลำที่ทำการบินปฐมฤกษ์ในวันดังกล่าว
อาคารสถานที่แก้ไข
อาคารผู้โดยสารแก้ไข
- อาคารที่พักผู้โดยสารเป็นอาคาร 2 ชั้น มีพื้นที่ 7,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วนได้ 300 คนต่อชั่วโมง[4] หรือ 800,000 คนต่อปี[3]
- การตกแต่งอาคารผู้โดยสาร มีการใช้เส้นโค้งของภูเขามาเป็นเส้นสายหลักของตัวอาคาร ผสมผสานกับรูปทรงสมัยใหม่ ตัวอาคารมีสีน้ำตาลทอง ลวดลายไม้ไผ่ หินอ่อนที่มีลวดลายสื่อถึงทะเลหมอก และเลือกใช้ไผ่ตงมาประกอบการตกแต่งทั้งภายในและภายนอกอาคาร โดยนำมาจากชื่ออำเภอ ซึ่งภาษามลายูมีความหมายว่าไม้ไผ่ และในอดีตเบตงเป็นเมืองที่มีไม้ไผ่เป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นสนามบินหนึ่งเดียวในเมืองไทยที่มีการนำไม้ไผ่มาเป็นแนวคิดหลักในการตกแต่งสนามบิน ส่วนไม้ไผ่ที่นำมาใช้ประดับตกแต่งอาคารนั้นสั่งผลิตมาจากจังหวัดนนทบุรี[4]
- ลานจอดเครื่องบินขนาดกว้าง 94 เมตร และยาว 180 เมตร สามารถจอดอากาศยานประเภทเอทีอาร์ 72ได้ 3 ลำ[5][13]
ทางวิ่ง (รันเวย์) และทางขับ (แท็กซี่เวย์)แก้ไข
- ทางวิ่งขนาดกว้าง 30 เมตร ยาว 1,800 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่ง (ATR-72/Q-400) ได้มากกว่า 4,000 เที่ยวต่อปี
- ทางขับ ประกอบด้วยทางขับ A ขนาด 18x587 เมตร ทางขับ B ขนาด 18x115 เมตร[13]
แผนการพัฒนาท่าอากาศยานแก้ไข
กรมท่าอากาศยาน มีแผนที่จะขยายทางวิ่งจากความยาว 1,800 เมตร เป็น 2,500 เมตร เพื่อให้สามารถรองรับอากาศยานขนาด 180 ที่นั่งได้ และจะขยายพื้นที่ปลอดภัยปลายทางรันเวย์ทั้งทิศตะวันออก และตะวันตก ทิศละ 240 เมตรตามมาตรฐานสากล พร้อมทั้งขยายทางขับ จากความกว้าง 18 เมตร เป็น 23 เมตร และขยายลานจอดเครื่องบินจากขนาด 94x180 เมตร เป็นขนาด 94x240 เมตร เพื่อทำให้ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง สามารถจอดเครื่องบินขนาด 180 ที่นั่งได้ 3 ลำพร้อมกัน ขณะเดียวกันยังมีการออกแบบงานระบบต่างๆ อาทิ ระบบเครื่องช่วยการเดินอากาศ และระบบระบายน้ำ ตลอดจนมีการปรับปรุงลานจอดรถยนต์ ถนนเข้า-ออก และรั้วสนามบิน[14]
ในส่วนของการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยาน กรมท่าอากาศยานได้มีการหารือแนวทางร่วมกันกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยได้มีการวางแผนการลงทุนและแนวทางในการให้บริการในอนาคต[15]
รายชื่อสายการบินแก้ไข
การบิน | ปลายทาง | หมายเหตุ |
---|---|---|
บางกอกแอร์เวย์ส | หาดใหญ่ (อนาคต) | ภายในประเทศ |
กรุงเทพฯ-สุวรรณภูมิ (อนาคต) | ภายในประเทศ | |
นกแอร์ | กรุงเทพฯ-ดอนเมือง อนาคต | ภายในประเทศ |
การเดินทางสู่ท่าอากาศยานแก้ไข
ทางเข้าท่าอากาศยานนานาชาติเบตงอยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4062/4326 ด้านทิศตะวันออกของอำเภอเบตง ห่างจากวงเวียนหอนาฬิกาอำเภอเบตงไปทางทิศตะวันออกเป็นระยะทาง 11 กิโลเมตร มีลานจอดรถที่รองรับรถยนต์ได้จำนวน 139 คัน[16]
ดูเพิ่มแก้ไข
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง |
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ 1.0 1.1 1.2 "CAAT News 3/2565 : ท่าอากาศยานเบตงเตรียมพร้อมให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ หลังได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะจาก CAAT". สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย. 2022-01-28. สืบค้นเมื่อ 2022-01-29.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 2.0 2.1 2.2 "พร้อมแล้ว! พรุ่งนี้ "สนามบินเบตง" ทดลองเปิดบริการเที่ยวบินพาณิชย์". เดลินิวส์. 2022-01-28. สืบค้นเมื่อ 2022-01-29.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 "'บิ๊กตู่' บินตรงเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ สนามบินเบตง พร้อมดันเป็นฮับโลจิสติกส์ชายแดนใต้". ข่าวสด. 2022-03-14. สืบค้นเมื่อ 2022-03-14.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 ""สนามบินเบตง" เล็กแต่สวยหรู สนามบินน้องใหม่ที่ตกแต่งด้วยไม้ไผ่ หนึ่งเดียวในไทย". ผู้จัดการออนไลน์. 2020-10-20. สืบค้นเมื่อ 2020-10-21.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 ""อาคม" วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างสนามบินเบตงเสร็จปี'62 เชื่อมการเดินทาง-ท่องเที่ยวชายแดนไทย-มาเลย์". ประชาชาติ. 2017-12-08. สืบค้นเมื่อ 2020-05-06.
- ↑ 6.0 6.1 "เลื่อนเปิดท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา ไม่มีกำหนด". ช่อง 7HD. 2021-03-10. สืบค้นเมื่อ 2022-01-29.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 "รัฐบาลยัน"สนามบินเบตง"ไม่ติดขัด อยู่ระหว่างพัฒนารับเที่ยวบินพาณิชย์". โพสต์ทูเดย์. 2022-01-05. สืบค้นเมื่อ 2022-01-29.
- ↑ 8.0 8.1 "เที่ยวบินแรกเบตง! นกแอร์นำร่องทดลองบินไฟลต์แรกดอนเมือง-เบตง-ดอนเมือง". กรุงเทพธุรกิจ. 2022-01-29. สืบค้นเมื่อ 2022-01-30.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ผุดสนามบินเบตง". เดลินิวส์. 2015-10-06. สืบค้นเมื่อ 2020-05-06.
- ↑ "อวดโฉมอาคารผู้โดยสาร 'สนามบินเบตง' คอนเฟิร์มเปิดใช้ มิ.ย. ปีหน้า". The Bangkok Insight. 2019-11-28. สืบค้นเมื่อ 2020-05-22.
- ↑ "เลื่อนเปิด "สนามบินเบตง" หลัง COVID-19 กระทบสายการบิน". ไทยพีบีเอส. 2020-05-14. สืบค้นเมื่อ 2020-05-22.
- ↑ "ชาวเน็ตโวย! "สนามบินเบตง" เปิด 2 ปีใช้งานไม่ได้จริง เสียดายเงิน 1,900 ล้านบาท". ผู้จัดการออนไลน์. 2022-01-04. สืบค้นเมื่อ 2022-01-29.
- ↑ 13.0 13.1 "ทย.ถือฤกษ์ดีวางศิลาฤกษ์สนามบินเบตงแล้ว". บ้านเมือง. 2017-12-08. สืบค้นเมื่อ 2020-05-06.
- ↑ "เริ่มแล้ว! เปิดเวทีฟังเสียงชาวบ้าน เติมความยาวรันเวย์ "สนามบินเบตง" 2,500 เมตร". เดลินิวส์. 2021-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-01-29.
- ↑ "ทย.แจงยิบสร้าง 'สนามบินเบตง' มีการศึกษาทุกด้านก่อนทำโครงการ". ไทยโพสต์. 2022-01-04. สืบค้นเมื่อ 2022-01-30.
- ↑ แบบรูปรายการละเอียด, vol. โครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารและอาคารประกอบ ท่าอากาศยานเบตง (เลขที่โครงการ : 60016233456), 2017-02-01, p. 86