ท็อปนิวส์

สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมในประเทศไทย

ท็อปนิวส์ (อังกฤษ: TOP NEWS) เป็นสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ผ่านดาวเทียม เคเบิลทีวี และสำนักข่าวผ่านสื่อทุกช่องทางในประเทศไทย ดำเนินการโดย บริษัท ท็อปนิวส์ ดิจิตัล มีเดีย จำกัด ซึ่งก่อตั้งโดยสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม หนึ่งในแกนนำ กปปส. และประกอบด้วยนักข่าวหลายคนที่ลาออกจากเนชั่นทีวีเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ทางช่องมักถูกโจมตีด้านการนำเสนอข่าวสาร แต่ทางช่องยืนยันว่าเสนอความจริงในทุกด้านที่จะ "นำไปสู่การปกป้อง 3 สถาบันหลักของประเทศ"

ท็อปนิวส์
ชื่ออื่นท็อปทีวี
รูปแบบช่องโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่
ประเทศ ไทย
พื้นที่แพร่ภาพประเทศไทย
คำขวัญข่าวจริง เพื่อสังคมที่ดีกว่า
สำนักงานใหญ่333 หมู่ 4 ธนาซิตี้ ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ 10540
แบบรายการ
ภาษาไทย
ระบบภาพ576i (เอสดีทีวี; ทีวีดิจิทัลและทีวีดาวเทียม)
1080p (เอชดีทีวี; ออนไลน์)
ความเป็นเจ้าของ
เจ้าของบริษัท ท็อปนิวส์ ดิจิตัล มีเดีย จำกัด
บุคลากรหลักตระกูล วินิจนัยภาค
ประธานที่ปรึกษา[1]
สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม
ประธานกรรมการบริหาร
ประวัติ
ก่อตั้ง18 ธันวาคม 2563 (2563-12-18)
โดย สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม
เริ่มออกอากาศระบบดาวเทียม (ช่อง 77):
1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 (3 ปี)
ระบบดาวเทียมเคเบิลทีวีและดิจิทัล (ช่อง 18):
18 กันยายน พ.ศ. 2566 (0 ปี)
แทนที่ระบบดาวเทียม (ช่อง 77):
TVD 10 (เช่าสัญญาณ)
ลิงก์
เว็บไซต์topnews.co.th
ออกอากาศ
ภาคพื้นดิน
ดิจิทัลช่อง 18 (มักซ์#4 ไทยพีบีเอส)
ทีวีดาวเทียม
ดาวเทียม/เคเบิลช่อง 18, 77
สื่อสตรีมมิง
กล่องอินเทอร์เน็ต (IPTV)ช่อง 18
แอปพลิเคชันTOP NEWS บน iOS และ Android

ท็อปนิวส์ก่อตั้งในชื่อ ท็อปทีวี เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบันหลังเข้าสู่ พ.ศ. 2564 ระหว่างนี้พวกเขาเจรจากับสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลหลากหลายช่องแต่ไม่สำเร็จ จึงเปิดตัวเป็นสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมในกลางเดือนมกราคม และเริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ออกอากาศโดยการเชื่อมสัญญาณที่เช่าจากช่องทีวีดี 10 ของทีวีไดเร็ค ในกล่องรับสัญญาณพีเอสไอ ช่องหมายเลข 77 เป็นหลัก และออกอากาศคู่ขนานในสื่อสังคมอีกจำนวนหนึ่ง ต่อมาท็อปนิวส์ได้ทำการเปลี่ยนหมายเลขเป็น 210

และในเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 เจเคเอ็นได้ทำข้อตกลงในการผลิตรายการข่าวร่วมกันระหว่างเจเคเอ็น 18 กับท็อปนิวส์ เพื่อให้ท็อปนิวส์ย้ายการออกอากาศรายการทั้งหมดไปอยู่ที่ช่องเจเคเอ็น 18 ก่อนหน้านี้ท็อปนิวส์ตัดสินใจยุติการออกอากาศในระบบดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี ที่เช่าสัญญาณช่อง ทีวีดี 10 ในสิ้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 ตอนนี้ยังมีการออกอากาศต่อไปตามปกติ แต่จะเป็นการออกอากาศรายการแนะนำสินค้า และรายการข่าวของท็อปนิวส์(รีรัน)แทน

ประวัติ

ออกจากเนชั่น

ในการประท้วงขับไล่รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 พบผู้สื่อข่าวของเนชั่นทีวีปกปิดสังกัดและแอบอ้างช่องอื่นในการสัมภาษณ์ผู้ชุมนุม ซึ่งเนชั่นยอมรับว่าเป็นความจริงเนื่องจากถูกกดดันในการทำหน้าที่ในฐานะสื่อที่ถูกผู้ชุมนุมมองว่าลำเอียงอย่างสุดโต่ง จากการนำเสนอข่าวสารเพื่อด้อยค่ากลุ่มผู้ชุมนุมของบุคลากรกลุ่มหนึ่งในเนชั่นทีวี[2] จึงเกิดการดำเนินกิจกรรมของผู้บริโภคเป็นกระแสในทวิตเตอร์ด้วยแฮชแท็ก #แบนสปอนเซอร์เนชั่น เพื่อตัดรายได้และกดดันให้เนชั่นเปลี่ยนแปลงแนวทางการนำเสนอข่าว[3] จึงเริ่มมีผู้สนับสนุนถอนออกจากเนชั่นไป ส่งผลกระทบต่อการหารายได้ของเครือเนชั่นอย่างมาก[4]

จากผลดังกล่าวส่งผลให้เครือเนชั่นต้องปฏิรูปองค์กรในช่วงเดือนพฤศจิกายน เพื่อป้องกันการดำเนินกิจกรรมของผู้บริโภคในอนาคต โดยเริ่มจากการแต่งตั้ง อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งกับบุคลากรกลุ่มหนึ่ง มาเป็นผู้อำนวยการใหญ่ของเนชั่นทีวี ทำให้กลุ่มบุคลากรดังกล่าวลาออกจากเครือเนชั่นไป โดยเริ่มจากสนธิญาณ[5] ที่ไปเคลื่อนไหวในสถาบันทิศทางไทยที่ตนก่อตั้งก่อนหน้านี้[6] ตามด้วยฉัตรชัย ภู่โคกหวาย กรรมการผู้จัดการของเนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น (บริษัทในเครือเนชั่น)[7], สันติสุข มะโรงศรี, อัญชะลี ไพรีรัก[8], สถาพร เกื้อสกุล[9], อุบลรัตน์ เถาว์น้อย[10], วรเทพ สุวัฒนพิมพ์[11], ธีระ ธัญไพบูลย์, กนก รัตน์วงศ์สกุล และ ลักขณา รัตน์วงศ์สกุล[12]

มีการคาดการณ์ว่าบุคลากรดังกล่าวจะไปจัดรายการที่ช่องนิว 18 (ปัจจุบันคือเจเคเอ็น 18) และเริ่มงานในวันที่ 1 ธันวาคม[13] แต่สุดท้ายผังรายการของนิว 18 ในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ก็ยังคงเป็นรูปแบบเดิม[14] ต่อมากนกชี้แจงว่าวันดังกล่าวกลุ่มของตนยังไม่ได้เริ่มงาน[15] และสันติสุขได้ชี้แจงเพิ่มว่าไม่ได้เจรจากับช่องนิวส์วันตามข่าวลืออีกข่าวหนึ่ง แต่มีการเจรจากับสถานีโทรทัศน์ 4 ช่อง[16] และมีกระแสข่าวอีกว่าพวกเขาจะไปร่วมงานที่ช่อง 9 เอ็มคอต เอชดี ตามคำชวนของบุคคลภายในรัฐบาล ทำให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของ บมจ.อสมท เตรียมคัดค้าน[17] แต่อัญชะลีปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว[18]

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม กลุ่มดังกล่าวประกาศว่าได้สถานีโทรทัศน์เรียบร้อยแล้ว และให้รอฟังสนธิญาณแถลง[19] โดยในวันที่ 8 ธันวาคม มีข่าวว่าผู้บริหารช่องนิว 18 ได้ขายใบอนุญาตให้กลุ่มดังกล่าวไปบริหาร และสั่งซื้อโฆษณาจากบริษัทที่มีชื่อเสียงประมาณ 6-7 บริษัท ซึ่งจะทำรายได้รวมกว่า 800 ล้านบาท และเชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรมของผู้บริโภค โดยเริ่มบริหารในวันที่ 21 ธันวาคม[20] แต่เสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการบริหารข่าวของนิว 18 ในขณะนั้นปฏิเสธ[21] เช่นเดียวกับอัญชะลีที่ต่อมาเลื่อนการเปิดตัวทีมข่าวของตนไปเป็นช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2564[22]

ท็อปทีวี

วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2563 สนธิญาณกล่าวว่า ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 จะเปิดตัวทีมงานฝ่ายข่าวของตนในนาม ท็อปทีวี (อังกฤษ: TOP TV) โดยระหว่างนี้ได้เปิดเพจเฟซบุ๊ก Top News Live ไปก่อน[23] และจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ท็อปนิวส์ ดิจิทัล มีเดีย จำกัด เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท เพื่อประกอบกิจการของทีมข่าวท็อปทีวี[24] โดยมีสนธิญาณ, ฉัตรชัย และลักขณา เป็นกรรมการ[25] ทั้งนี้ วอยซ์ทีวีได้มีบทวิเคราะห์ออกมาว่า "TOP" ในที่นี้มาจากชื่อเล่นของบุคลากรในทีมข่าว 3 คน คือ T มาจาก "ต้อย" (สนธิญาณ), O มาจาก "อุ๋ย" (ฉัตรชัย) และ P มาจาก "ปอง" (อัญชะลี)[26] อย่างไรก็ตาม ท็อปทีวีเองก็ได้นิยามคำว่า TOP ว่ามาจากสโลแกนของตนคือ "The Truth of Power" ซึ่งแปลว่า "พลังแห่งความจริง"[27]

ท็อปนิวส์

 
สัญลักษณ์ของท็อปนิวส์ ระหว่างปี 2564 - 2567

ต่อมาเมื่อเข้าสู่ปี พ.ศ. 2564 ท็อปทีวีได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นชื่อปัจจุบันคือ ท็อปนิวส์ (อังกฤษ: TOP NEWS) และเปิดรับสมัครงาน 74 ตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 มกราคม[28] จากนั้นเมื่อวันที่ 11 มกราคม วุฒินันท์ นาฮิม ได้ลาออกจากเนชั่นทีวีมาร่วมงานกับกนกที่ท็อปนิวส์[29] และในวันเดียวกันมีข่าวอีกว่า พีพีทีวี จะดึงกลุ่มท็อปนิวส์มาเช่าเวลาผลิตข่าว ส่งผลให้ฝ่ายข่าวเดิมซึ่งนำโดยเสถียร วิริยะพรรณพงศา ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายข่าวของช่องไม่พอใจ โดยหากกลุ่มท็อปนิวส์เข้ามาจริง ฝ่ายข่าวส่วนหนึ่งรวมถึงเสถียรเองจะลาออกกลับไปร่วมงานกับเนชั่นทีวี และกรุณา บัวคำศรี ผู้ประกาศข่าวคนสำคัญของพีพีทีวีได้เข้าไปเจรจากับผู้บริหารด้วยตัวเองว่าไม่ต้องการให้กลุ่มดังกล่าวเข้ามาผลิตรายการข่าวแต่ไม่สำเร็จ[30] แต่รุ่งขึ้นคือวันที่ 12 มกราคม วรเทพได้ปฏิเสธในรายการโทรทัศน์ของช่องสุวรรณภูมิ ขณะให้สัมภาษณ์กับอัญชลีพร กุสุมภ์ ที่โทรศัพท์เข้ามา โดยกล่าวว่า ข่าวที่ออกมาข้างต้นเป็นข่าวมั่วทั้งหมด[31] เช่นเดียวกับอัญชะลีที่โพสต์เฟซบุ๊กมีใจความว่า "จบช่องสิบแปดไม่มีช่องสามสิบหก" เป็นเชิงปฏิเสธข่าวข้างต้นเช่นกัน และให้รอติดตามในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ในช่องทางใหม่[32]

วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2564 สนธิญาณประกาศเปิดตัว สถานีโทรทัศน์ท็อปนิวส์ อย่างเป็นทางการ โดยยึดมั่นในการนำเสนอความจริงเพื่อปกป้อง 3 สถาบันหลักของประเทศ และกำหนดเริ่มออกอากาศตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ต่อมาสันติสุขได้เปิดเผยช่องทางการออกอากาศว่า ท็อปนิวส์จะออกอากาศในระบบโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม โทรทัศน์ผ่านสายเคเบิล ทางช่องหมายเลข 77 และสื่อสังคมออนไลน์ที่ประชาชนให้ความนิยมอีกจำนวนหนึ่ง[33] ทั้งนี้ อมร แต้อุดมกุล, ศิรวิฑย์ ชัยเกษม และตะวันรุ่ง เตี๋ยประดิษฐ์ ก็ได้ลาออกจากช่องนิว 18 เพื่อมาร่วมงานที่ท็อปนิวส์ด้วย[34]

วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2564 มีกระแสข่าวอีกว่า ช่อง 9 เอ็มคอต เอชดี จะดึงสัญญาณรายการ "เล่าข่าวข้น" ของธีระและกนกจากท็อปนิวส์ มาออกอากาศคู่ขนานตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์[35] ทำให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของ บมจ.อสมท เตรียมคัดค้านอีกครั้ง[36] แต่อัญชะลีและกนกเองปฏิเสธทั้งคู่[37]

วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2564 ผู้บริหารและพนักงานของท็อปนิวส์ได้จัดพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อาคารปฏิบัติการชั่วคราวของช่องท็อปนิวส์ บริเวณถนนวัชรพล แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ซึ่งทีวีไดเร็คให้เช่า[38] จากนั้นผู้บริหารได้ให้โอวาทแก่พนักงานของช่องก่อนเริ่มดำเนินการออกอากาศสถานีข่าว[39]

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เวลา 00:01 น. สถานีโทรทัศน์ท็อปนิวส์ เปิดสถานีอย่างเป็นทางการ โดยส่งสัญญาณภาพความละเอียดสูง ในรูปแบบสตรีมมิ่งออนไลน์ ขึ้นสู่ดาวเทียมไทยคม 6 เพื่อเผยแพร่ในรูปแบบความละเอียดมาตรฐานทางช่องทีวีดี 10 (TVD 10) ซึ่งออกอากาศผ่านทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีทางช่องหมายเลข 77 ของบริษัท เอบีพีโอ จำกัด ในเครือทีวีไดเร็ค ที่ท็อปนิวส์เช่าสัญญาณอีกต่อหนึ่ง[40] และทางเว็บไซต์หลักของช่อง รวมทั้งเฟซบุ๊กและยูทูบในทุกรายการ[41] และได้เริ่มออกอากาศตามผังรายการที่วางไว้[42] โดยมีเอกชัย ชัยเชิดชูกิจ เป็นผู้อำนวยการสถานี[43] นอกจากนั้น รายการ "เช้าข่าวเข้ม" ได้มีการถ่ายทอดเสียงผ่านสถานีวิทยุกรมการพลังงานทหาร เอฟเอ็ม 90.5 เมกะเฮิรตซ์ โดยการออกอากาศเสียงในรูปแบบคู่ขนาน[44]

ในวันเปิดสถานี มีผู้รับชมรายการแรกของท็อปนิวส์เฉพาะการออกอากาศสดในทุกช่องทางสื่อสังคมรวมมากกว่า 10,000 คน[45] และตั้งแต่เริ่มเปิดสถานี สามารถทำเรตติ้งได้เป็นอันดับที่ 2 ของกลุ่มสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมประเภท Non Must-Carry รองจากช่องบูมเมอแรง และยังเป็นอันดับที่ 1 ในหมวดข่าวสารและสาระในบางเดือนอีกด้วย[40]

สำหรับชื่อสถานีโทรทัศน์ ในช่วงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 10 มีนาคม พ.ศ. 2564 ยังคงใช้ชื่อช่องว่า "ทีวีดี 10" ควบคู่กับชื่อ "ท็อปนิวส์" และมีการแสดง 2 โลโก้ควบคู่กัน โดยถัดจากโลโก้ของท็อปนิวส์ทางด้านซ้ายเป็นโลโก้ของช่องทีวีดี 10 โดยเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เวลา 17:09 น. ในรายการผ่าประเด็นร้อน[46] จนกระทั่งในวันที่ 10 มีนาคม ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ท็อปนิวส์ ได้ทำเรื่องไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขออนุญาตในการใช้ชื่อช่องเป็น "ท็อปนิวส์" เพียงชื่อเดียว ซึ่ง กสทช. มีมติอนุญาตในการประชุมครั้งที่ 5/2564 ในวันเดียวกัน[43][40] ท็อปนิวส์จึงนำโลโก้ทีวีดี 10 ออกจากหน้าจอไปเมื่อวันที่ 19 มีนาคม เวลา 17:27 น. ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวกำลังออกอากาศในรายการผ่าประเด็นร้อน (รายการสด) [47]

วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 รายการ "ลายกนก ยกสยาม" ซึ่งมีกนกเป็นพิธีกรหลัก ได้รับงบประมาณจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในการทำรายการเพิ่มจำนวน 4.8 ล้านบาท[48]

วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 ททบ.5 แถลงข่าวเปิดตัวรายการข่าวใหม่ โดยร่วมมือกับบริษัท กาแล็กซี่ มัลติมีเดีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Galaxy Multimedia Corporation : GMC) ซึ่งเป็นคนละนิติบุคคลกับท็อปนิวส์ ในการผลิตข่าว และได้ว่าจ้างผู้ประกาศข่าวจากช่องท็อปนิวส์มาเป็นผู้ประกาศข่าวทาง ททบ.5 วันละ 7 ชั่วโมง รวมถึงทำรายการออกอากาศทาง ททบ.5 อีก 3 รายการ เป็นเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2565[49]

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ท็อปนิวส์ย้ายอาคารปฏิบัติการจากอาคารของทีวีไดเร็ค ย่านวัชรพล ไปยังอาคารใหม่ พื้นที่ 5 ไร่ ภายในหมู่บ้านธนาซิตี้ (ถนนเทพรัตน กิโลเมตรที่ 14) ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยได้มีเปลี่ยนผ่านด้วยการตัดสัญญาณภาพ (Switch Off) จากอาคารทีวีไดเร็ค เพื่อทำการเปิดสัญญาณ (Switch On) ที่สตูดิโอบางพลี ในคืนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ เวลา 00:01 น. (เวลาดังกล่าวอยู่ระหว่างออกอากาศภาพยนตร์ซีรีส์จีน จูเซียน กระบี่เทพสังหาร (The Legend of Chusen) ตามผังรายการปกติของทางสถานีฯ) โดยรายการแรกที่ประเดิมใช้สตูดิโอใหม่คือรายการ "TOP ข่าวเที่ยง เสาร์-อาทิตย์"[50]

วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2565 กาแล็กซี่ มัลติมีเดีย คอร์ปอเรชั่น ได้แจ้งขอยกเลิกสัญญาจากการร่วมผลิตข่าวให้กับ ททบ.5 ทั้งหมด และส่งคืนผู้ประกาศข่าวกลับไปให้ทำรายการที่ท็อปนิวส์ตามเดิม โดยจะออกอากาศรายการของตนเป็นวันสุดท้ายในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 โดยคาดว่าสาเหตุมาจากการตัดสัญญาณของ ททบ.5 ขณะที่ผู้ประกาศข่าวนำเสนอข่าววิกฤตการณ์รัสเซีย–ยูเครน ในรายการ "เที่ยง ททบ.5"[51] แต่ในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 ททบ.5 ได้ออกแถลงการณ์ขออภัยผู้จัดรายการและผู้ชมในความไม่ต่อเนื่องจากการตัดสัญญาณดังกล่าว และจากการตรวจสอบของ ททบ.5 พบว่าเกิดจากความผิดพลาดทางเทคนิคและการสื่อสารของทีมงาน ทั้งนี้ ททบ.5 ได้เปลี่ยนมาเซ็นสัญญาผลิตรายการกับท็อปนิวส์โดยตรง และรายการทั้งหมดที่กาแล็กซี่ มัลติมีเดีย คอร์ปอเรชั่น ผลิตให้กับ ททบ.5 อยู่เดิม ยังคงออกอากาศตามปกติภายใต้สัญญาของท็อปนิวส์ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2565[52] ทว่าการออกอากาศภายใต้สัญญาดังกล่าวดำเนินการได้เพียง 1 เดือนเท่านั้น กนกก็ประกาศทางเพจเฟซบุ๊กของตนว่าท็อปนิวส์ได้ยุติสัญญากับ ททบ.5 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป ตามข้อตกลงที่ทำไว้กับผู้บริหารของ ททบ.5 โดยสนธิญาณได้ชี้แจงว่าการยกเลิกสัญญาดังกล่าวมาจากการที่ ททบ.5 เป็นสถานีโทรทัศน์ของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีข้อจำกัดมากมาย โดยเฉพาะการนำเสนอข่าว ทำให้ช่วงหลัง ๆ เนื้อหาที่ท็อปนิวส์นำเสนอทาง ททบ.5 นั้นมีน้ำหนักที่อ่อนลงผิดปกติ[53] โดยท็อปนิวส์จัดรายการสดของตนในช่อง ททบ.5 เป็นวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2565[54] และรายการสุดท้ายของท็อปนิวส์ที่ออกอากาศใน ททบ.5 คือรายการ "ณ ครับ" เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2565

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางมาร่วมแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 2 ปีของท็อปนิวส์ด้วยตนเอง โดยกำหนดการเดิมเขามอบหมายให้สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไปแสดงความยินดีแทนตน[55]

ผลิตรายการให้เจเคเอ็น 18

วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2566 มีกระแสข่าวว่าท็อปนิวส์ได้เจรจากับจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของเจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป เพื่อเข้าซื้อกิจการสถานีโทรทัศน์เจเคเอ็น 18 ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ช่องเดียวกับที่เคยมีกระแสข่าวว่ากลุ่มบุคลากรของท็อปนิวส์จะย้ายมาทำงานในช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 โดยเข้าซื้อกิจการด้วยมูลค่าประมาณ 500,000,000 บาท ซึ่งหากสำเร็จจะใช้ชื่อช่องว่า ท็อปนิวส์ 18[56] แต่จักรพงษ์ปฏิเสธผ่านการแจ้งข่าวต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 11 กันยายน ว่าเป็นการทำข้อตกลงในการผลิตรายการข่าวร่วมกันระหว่างเจเคเอ็น 18 กับท็อปนิวส์เท่านั้น โดยอยู่ระหว่างการจัดสรรผังเวลาการออกอากาศ ทั้งนี้ บมจ.เจเคเอ็น ยังเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์เจเคเอ็น 18 ตามเดิม[57]

หลังจากดำเนินการเสร็จสิ้น ท็อปนิวส์ประกาศยุติการออกอากาศผ่านดาวเทียมและย้ายไปออกอากาศทางทีวีดิจิทัลช่อง 18 ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน และ เจเคเอ็น 18 ได้ประกาศเลิกจ้างเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวทั้งหมด รวมทั้งยุบแผนกข่าวเจเคเอ็นซีเอ็นบีซี เพื่อเคลียร์ช่วงเวลาข่าวให้กับท็อปนิวส์

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 สนธิญาณได้เขียนจดหมายลาออกจากทุกตำแหน่งในท็อปนิวส์ เนื่องจากมีทิศทางการทำธุรกิจที่ขัดแย้งกับผู้บริหาร แต่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นของท็อปนิวส์อยู่ โดยมีผลในวันที่ 15 พฤศจิกายน

ผู้ประกาศข่าวและผู้รายงานข่าว

ผู้ประกาศข่าวและผู้รายงานข่าวในปัจจุบันที่มีชื่อเสียง

  • กนก รัตน์วงศ์สกุล
  • ธีระ ธัญไพบูลย์
  • ศิศศิญา วิสุทธิปราณี
  • สันติสุข มะโรงศรี
  • ณรงค สุทธิรักษ์
  • อุดร แสงอรุณ
  • สถาพร เกื้อสกุล
  • นิธิตรา เชาว์พยัคฆ์
  • อุบลรัตน์ เถาว์น้อย
  • วรเทพ สุวัฒนพิมพ์
  • วิทเยนทร์ มุตตามระ
  • อมร แต้อุดมกุล
  • รุ่งราตรี สุหงษา
  • วุฒินันท์ นาฮิม
  • ชนุตรา เพชรมูล
  • ศิรวิฑย์ ชัยเกษม
  • พรสวรรค์ จารุพันธ์
  • บุญระดม จิตรดอน
  • ประชา หริรักษาพิทักษ์
  • เถกิง สมทรัพย์
  • ชยธร ธนวรเจต
  • จิรัฏฐ์วัฒน์ ศิริบุตร
  • อรรทิตย์ฌาณ คูหาเรืองรอง
  • ศลิลนา ภู่เอี่ยม
  • ธราวุฒิ ฤทธิอักษร
  • ผดุงสิน ศรีไชโย
  • ลักษิกา แพทอง
  • สุพรทิพย์ เทพจันตา
  • กันตภณ บุ่งหวาย
  • กรสุดา วีระทัต

ผู้ประกาศข่าวและผู้รายงานข่าวในอดีต

  • ตะวันรุ่ง ปริสุทธิธรรม (สกุลเดิม: เตี๋ยประดิษฐ์) (ปัจจุบันอยู่โมโน 29)
  • กิตติมา ธารารัตนกุล (ปัจจุบันอยู่นิวส์วัน)
  • มนัส ตั้งสุข (ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2567)
  • ลภัสปาลิน เลิศธราภัทรวงษ์ (ชื่อ-สกุลเดิม: ถาวรีย์ ตันตราวัฒน์) (ปัจจุบันอยู่ทีเอ็นเอ็น ช่อง 16)
  • สุกันยา บุญซ้วน (ปัจจุบันยังคงทำงานเบื้องหลังในช่องท็อปนิวส์)
  • ปริญญา เกษราธิกุล (ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564)
  • รุ่งนภา สุหงษา (ปัจจุบันเป็นพิธีกรอิสระ)
  • นันทขว้าง สิรสุนทร (ปัจจุบันอยู่อมรินทร์ทีวี)
  • อัญชะลี ไพรีรัก (ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการข่าว แนวหน้าออนไลน์)
  • สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม (ปัจจุบันเป็นสื่อมวลชนอิสระ)

รายการออกอากาศ

รายการทั้งหมดออกอากาศทางเจเคเอ็น 18

รายการข่าวประจำวัน

รายการ ผู้ประกาศข่าว
ข่าวมีคม
วันจันทร์ – วันศุกร์
เวลา 06:10 – 08:10 น.
สันติสุข มะโรงศรี
รุ่งราตรี สุหงษา
อุดร แสงอรุณ
เช้าข่าวเข้ม
วันจันทร์ – วันศุกร์
เวลา 08:20 – 10:00 น.
กนก รัตน์วงศ์สกุล
ธีระ ธัญไพบูลย์
เรื่องลับมาก
วันจันทร์ – วันศุกร์
เวลา 10:10 – 10:55 น.
รองศาสตราจารย์เสรี วงษ์มณฑา
วุฒินันท์ นาฮิม
TOP ข่าวเที่ยง
วันจันทร์ – วันศุกร์
เวลา 11:30 – 13:50 น.
อุบลรัตน์ เถาว์น้อย
นิธิตรา เชาว์พยัคฆ์
สถาพร เกื้อสกุล
ณรงค สุทธิรักษ์ (ลึกจริงเศรษฐกิจ TOP Biz Insight)
เรื่องนี้ต้องเคลียร์
วันจันทร์ – วันพฤหัสบดี
เวลา 14:00 – 14:45 น.
วรเทพ สุวัฒนพิมพ์
TOP Headline
วันศุกร์
เวลา 16:00 – 17:00 น.
อุดร แสงอรุณ
สำราญ รอดเพชร
ข่าวเป็นข่าว
วันจันทร์ – วันศุกร์
เวลา 17:25 – 19:15 น.
สันติสุข มะโรงศรี
อุบลรัตน์ เถาว์น้อย
เล่าข่าวข้น
วันจันทร์ – วันศุกร์
เวลา 19:25 – 21:20 น.
กนก รัตน์วงศ์สกุล
ธีระ ธัญไพบูลย์
ข่าวในพระราชสำนัก
วันจันทร์ – วันศุกร์
เวลา 20:00 – 20:15 น.
วันเสาร์ – วันอาทิตย์
เวลา 20:00 – 20:10 น.
(ดึงสัญญาณจากช่อง 9 เอ็มคอต เอชดี)
TOP ข่าวเที่ยง เสาร์–อาทิตย์
วันเสาร์ – วันอาทิตย์
เวลา 11:55 – 13:30 น.
อมร แต้อุดมกุล
ศิรวิฑย์ ชัยเกษม (วันเสาร์)
พรสวรรค์ จารุพันธ์ (วันอาทิตย์)
ผ่าประเด็นโลก สุดสัปดาห์
วันเสาร์
เวลา 16:05 – 16:35 น.
สถาพร เกื้อสกุล
เล่าข่าวข้น เสาร์–อาทิตย์
วันเสาร์
เวลา 19:00 – 20:00 น.
ศิรวิฑย์ ชัยเกษม
พรสวรรค์ จารุพันธ์
ถอดรหัสการเมือง
วันอาทิตย์
เวลา 17:00 – 17:30 น.
อุบลรัตน์ เถาว์น้อย
รู้ทันคดีโกง
วันอาทิตย์
เวลา 19:00 – 19:50 น.
สันติสุข มะโรงศรี
TOP Ten News
วันเสาร์ – วันอาทิตย์
เวลา 21:10 – 21:20 น.

หมายเหตุ ตัวเอียง หมายถึง รายการที่ออกอากาศคู่ขนานทางสถานีวิทยุกรมการพลังงานทหาร เอฟเอ็ม 90.5 เมกะเฮิรตซ์

รายการข่าวซอฟต์นิวส์ วาไรตี้ ปกิณกะ

รายการ พิธีกร
เรื่องดีทั่วไทย
วันเสาร์ – วันอาทิตย์
เวลา 08:10 – 08:55 น.
ชนุตรา เพชรมูล
วุฒินันท์ นาฮิม
Hot Seats เก้าอี้นี้มีคำตอบ
วันเสาร์
เวลา 08:55 – 09:40 น.
สุพรทิพย์ เทพจันตา
วัยรุ่น 90
วันเสาร์
เวลา 10:05 – 10:25 น.
ชยธร ธนวรเจต
สายัณห์ กรมสาคร
TOP of the World
วันเสาร์ – วันอาทิตย์
เวลา 10:25 – 10:55 น.
เถกิง สมทรัพย์
วิทเยนทร์ มุตตามระ
เล่าเรื่องเมืองจีนกับพรสวรรค์
วันเสาร์
เวลา 11:25 – 11:55 น.
พรสวรรค์ จารุพันธ์
ลูบคมข่าว
วันเสาร์
เวลา 13:40 – 14:10 น.
รองศาสตราจารย์เสรี วงษ์มณฑา
จิรัฏฐ์วัฒน์ ศิริบุตร
Kids D วิถีไทย 4 ภาค
วันเสาร์
เวลา 14:10 – 14:30 น.
ณ ครับ
วันเสาร์
เวลา 20:10 – 21:10 น.
กนก รัตน์วงศ์สกุล
ธีระ ธัญไพบูลย์
สันติสุข มะโรงศรี
Camp Safari วิถีคนแคมป์
วันอาทิตย์
เวลา 08:55 – 09:40 น.
ปรมินทร์ นิลพันธุ์
แสงสว่างในหัวใจ
วันอาทิตย์
เวลา 10:05 – 10:25 น.
ศิรวิฑย์ ชัยเกษม
Follow Me ถ้าชอบก็ตามมา
วันอาทิตย์
เวลา 10:55 – 11:25 น.
บัวขาว บัญชาเมฆ
นราวิชญ์ จิตรบรรจง
สารคดีในหลวง ร.10 โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช
วันอาทิตย์
เวลา 11:25 – 11:55 น.
เรื่องนี้มีดราม่า
วันอาทิตย์
เวลา 13:40 – 14:10 น.
รองศาสตราจารย์เสรี วงษ์มณฑา
วุฒินันท์ นาฮิม
TOP People บันทึกคนสำคัญ
วันอาทิตย์
เวลา 18:10 – 19:00 น.
ธีระ ธัญไพบูลย์
ลายกนกยกสยาม
วันอาทิตย์
เวลา 20:10 – 21:10 น.
กนก รัตน์วงศ์สกุล
อุบลรัตน์ เถาว์น้อย
นิธิตรา เชาว์พยัคฆ์
รุ่งราตรี สุหงษา

อ้างอิง

  1. End Credit Top News, 2021-02-02, สืบค้นเมื่อ 2021-03-12
  2. "แจงปมผู้สื่อข่าวหญิงปกปิดต้นสังกัดรายงานข่าวม็อบ". เนชั่นทีวี. 2020-08-17. สืบค้นเมื่อ 2020-08-17.
  3. "จากใจเนชั่น ขอยืนหยัดทำข่าวบนพื้นฐานจริยธรรม วอนหยุดแบนสินค้า". คมชัดลึก. 2020-08-19. สืบค้นเมื่อ 2020-08-22.
  4. "แห่ถอนโฆษณาเนชั่น หลังม็อบปลดแอกกดดัน ไม่พอใจการนำเสนอข่าว". ผู้จัดการออนไลน์. 2020-08-23. สืบค้นเมื่อ 2021-03-05.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. ""สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม" ลาออกจากเนชั่น มีผล 1 มิ.ย. 63". ผู้จัดการออนไลน์. 2020-05-26. สืบค้นเมื่อ 2021-03-05.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. "สะพัด! "สันติสุข-อัญชะลี" ไขก๊อกเนชั่นซบ "นิว 18" หลังปั้นเรตติ้งมากว่า 2 ปี". ผู้จัดการออนไลน์. 2020-11-03. สืบค้นเมื่อ 2021-03-24.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. "ฉัตรชัย ภู่โคกหวาย ลาออกจาก เนชั่นทีวี". ฐานเศรษฐกิจ. 2020-10-26. สืบค้นเมื่อ 2021-03-05.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. "'สันติสุข-อัญชะลี'อำลาเนชั่น แจงเหตุลาออก-เจอกัน'นิวทีวี'". เดลินิวส์. 2020-11-06. สืบค้นเมื่อ 2021-03-05.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. "'สถาพร' แจงลาออก 'เนชั่น' พร้อมโชว์ 'เรตติ้ง' สัปดาห์สุดท้าย". มติชน. 2020-11-10. สืบค้นเมื่อ 2021-03-06.
  10. "ลาจออีกคน! "หมิว อุบลรัตน์" ไขก๊อกเนชั่นตามรุ่นพี่ แย้มขอเดินตามฝันตัวเองอีกครั้ง". ผู้จัดการออนไลน์. 2020-11-09. สืบค้นเมื่อ 2021-03-06.
  11. "ไหลออกต่อเนื่อง! "ต้น วรเทพ" ลาออกจากเนชั่น ฝากคำสอน "อย่าหนักแผ่นดิน" ไม่จงรักภักดีเสียเอง". ผู้จัดการออนไลน์. 2020-11-10. สืบค้นเมื่อ 2021-03-06.
  12. "ฉาย แถลงปม 'กนก-ธีระ-ลักขณา' ลาออก ย้ำ 'กนก-ธีระ' ตำนานเนชั่น พร้อมต้อนรับกลับ". มติชน. 2020-11-10. สืบค้นเมื่อ 2021-03-06.
  13. "เจ๊ปอง อัดแรง! ผู้บริหารเนชั่น โต้กลับลั่น ฉันไม่เคยบิดเบือน!! ด้านพิธีกรดัง ขยี้เสริม". ข่าวสด. 2020-11-13. สืบค้นเมื่อ 2021-03-06.
  14. "ผังใหม่ NEW18 ไร้ "กนก-อัญชะลี" สะพัด "สนธิญาณ" คุยกับ "คุณแดง" ยังไม่ลงตัว". ผู้จัดการออนไลน์. 2020-11-26. สืบค้นเมื่อ 2021-03-06.
  15. ""กนก" แจง 1 ธ.ค.ยังไม่ได้ออกรายการ ชี้บางช่องติดต่อมากำลังเจรจา". ผู้จัดการออนไลน์. 2020-11-27. สืบค้นเมื่อ 2021-03-06.
  16. ""สันติสุข" แย้มมีคุย 4 สถานีให้อดีตพิธีกรเนชั่นจัดรายการ หลังไร้วี่แววโผล่ช่อง "นิว 18"". ผู้จัดการออนไลน์. 2020-11-30. สืบค้นเมื่อ 2021-03-06.
  17. "สะพัด! บิ๊ก รบ. ทุบโต๊ะ สั่ง "สนธิญาณ-ปอง-กนก" ยกก๊วนไปช่อง 9". มติชน. 2020-12-01. สืบค้นเมื่อ 2021-03-06.
  18. "กลุ่มผู้ประกาศเนชั่นมาช่อง 9 แน่ พนักงาน อสมท สงสัย ทั้งที่เพิ่งเอาคนออกหลายร้อย". ข่าวสด. 2020-12-01. สืบค้นเมื่อ 2021-03-06.
  19. "ปิดดีล! "อัญชะลี" ได้ช่องทีวีไปลงแล้ว รอ "สนธิญาณ" แถลงข่าวดี". ผู้จัดการออนไลน์. 2020-12-04. สืบค้นเมื่อ 2021-03-06.
  20. "สะพัด! สนธิญาณ ซื้อ นิวทีวี 800 ล้าน ใบอนุญาต 8 ปี". ประชาชาติธุรกิจ. 2020-12-08. สืบค้นเมื่อ 2021-03-06.
  21. "ยังไม่จบดีล! พิธีกรทีมสนธิญาณ ยังไม่อยู่ในผังรายการนิวทีวี". ประชาชาติธุรกิจ. 2020-12-10. สืบค้นเมื่อ 2021-03-06.
  22. "อะไรยังไง! 'ปอง อัญชะลี' โพสต์ไม่มีแถลงข่าว ไม่ต้องตามหา มกราคมเจอกัน". มติชน. 2020-12-15. สืบค้นเมื่อ 2020-12-24.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  23. ""สนธิญาณ" แบไต๋แบรนด์ "ท็อปทีวี" ปั้น 7 อดีตผู้ประกาศเนชั่น โวมีเครดิตพอกู้เงิน ม.ค.นี้ได้ดูแน่". ผู้จัดการออนไลน์. 2020-12-16. สืบค้นเมื่อ 2021-03-09.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  24. "ข้อมูล บริษัท ท็อปนิวส์ ดิจิตัล มีเดีย จำกัด". DATA for Thai. สืบค้นเมื่อ 2021-03-09.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  25. isranews (2021-01-14). "สำนักข่าวท็อปนิวส์ 'เสี่ยต้อย' ถือหุ้น 95%". สำนักข่าวอิศรา. สืบค้นเมื่อ 2021-03-12.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  26. "Overview-จอมขวัญย้ายช่อง ถามตรงๆ ถึงจุดเปลี่ยน กนก-อัญชะลี ป้วนเปี้ยนช่องใกล้วอยซ์ จ่อคืนจอ". ยูทูบ. 2020-12-26. สืบค้นเมื่อ 2021-05-09.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  27. "เรากลับมาพร้อมกับ สิ่งที่จะต้องนำเสนอให้ทุกคนได้รู้". เฟซบุ๊ก. 2020-12-17. สืบค้นเมื่อ 2021-06-03.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  28. Sriroengla, Pafun (2021-01-09). "ช่องสนธิญาณ TOP News รับสมัครพนักงานกว่า 70 ตำแหน่ง". ประชาชาติธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 2021-03-09.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  29. "ผู้ประกาศเนชั่นลาออกรายที่ 8 ร่วมงานกับ "กนก" จับมือโปรดิวเซอร์ทำรายการใหม่". ผู้จัดการออนไลน์. 2021-01-11. สืบค้นเมื่อ 2021-03-09.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  30. "ลุ้น "กนก-เจ๊ปอง" จะได้ช่องลง! สะพัด "สนธิญาณ" จ่อขนทีมไป PPTV ช่อง 36 แต่กอง บก.ค้านแหลก". ผู้จัดการออนไลน์. 2021-01-11. สืบค้นเมื่อ 2021-03-09.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  31. ""ผมพูดแค่นี้เลยว่าข่าว 'มั่ว' ทั้งหมด!" คำตอบสั้นๆ ได้ใจความ". ทวิตเตอร์. 2021-01-12. สืบค้นเมื่อ 2021-04-21.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  32. Sriroengla, Pafun (2021-01-13). "วันนี้ ลุ้น "สนธิญาณ" พาทีมลงช่องไหน? "เจ๊ปอง" ใบ้ จบเลข 18". ประชาชาติธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 2021-03-09.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  33. Sriroengla, Pafun (2021-01-13). "สนธิญาณ เล่าความอัดอั้น-ถูกขัดขวาง ช่วง 3 เดือน เจรจาทีวี". ประชาชาติธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 2021-03-09.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  34. "เผยแล้ว! แบนเนอร์ช่องใหม่สนธิญาณ "ท็อปนิวส์" PSI 77 พบดึงผู้ประกาศ "นิว 18" มาด้วย". ผู้จัดการออนไลน์. 2021-01-13. สืบค้นเมื่อ 2021-03-10.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  35. Sriroengla, Pafun (2021-01-28). "สนธิญาณ นำทีมท็อปทีวี ออกอากาศ ช่อง 9 ดีเดย์ 15 ก.พ." ประชาชาติธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 2021-03-10.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  36. Sriroengla, Pafun (2021-01-29). "สหภาพฯ ช่อง 9 แถลงการณ์กรณี "สนธิญาณ" ยกทีมออกอากาศ". ประชาชาติธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 2021-03-10.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  37. "อัญชะลี-กนก ยืนยันชัดเจน! ข่าวลือไป MCOT ไม่จริง ยังอยู่ Top News เหมือนเดิม". ไบรท์ทีวี. 2021-01-30. สืบค้นเมื่อ 2021-05-09.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  38. "2564 ทีวีดาวเทียมยังไม่ตาย?". ผู้จัดการออนไลน์. 2021-02-02. สืบค้นเมื่อ 2021-03-11.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  39. "ประมวลภาพ สนธิญาณ นำทีมงาน TOP News บวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก่อนออนแอร์". ไบรท์ทูเดย์. 2021-01-21. สืบค้นเมื่อ 2021-03-11.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  40. 40.0 40.1 40.2 ดิษฐบรรจง, กฤตนัน (2021-05-14). "TOPNEWS TV : ท็อปนิวส์ในวันที่ทีวีเลือกข้างมีคนดู?". ส่องสื่อ. สืบค้นเมื่อ 2021-05-14.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  41. ต๊อบ วุฒินันท์ นาฮิม บน Facebook Watch, 2021-02-01, สืบค้นเมื่อ 2021-03-11
  42. "'TOP NEWS'ออนแอร์แล้ว 'สันติสุข-ตะวันรุ่ง'ประเดิมจอ". เดลินิวส์. 2021-02-01. สืบค้นเมื่อ 2021-03-11.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  43. 43.0 43.1 "สรุปมติที่ประชุม กสทช. 5/2564". คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ. 2021-04-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-14. สืบค้นเมื่อ 2021-05-14.
  44. "ผังรายการ สถานีวิทยุ 90.5". www.smartbomb.co.th. สืบค้นเมื่อ 2021-03-14.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  45. "TOP News ประเดิมออนแอร์ "ข่าวมีคม" ชมผ่านไลฟ์ถล่มทลายหลักหมื่น". THE TRUTH. 2021-02-01. สืบค้นเมื่อ 2021-03-11.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  46. "ผ่าประเด็นร้อน | 1 ก.พ. 64 | FULL | TOP NEWS". ยูทูบ. 2021-02-01. สืบค้นเมื่อ 2021-05-14.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  47. "ผ่าประเด็นร้อน | 19 มี.ค. 64 | FULL | TOP NEWS". ยูทูบ. 2021-03-19. สืบค้นเมื่อ 2021-05-14.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  48. "กองทุนพัฒนาสื่อฯ ตอบ: ทำไมท็อปนิวส์ได้งบ 4.8 ล้านผลิต "ลายกนก"". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 20 May 2021.
  49. "ชูจุดยืนเสนอข่าวจริง! ช่อง 5 ดึง 4 ผู้ประกาศ Top News ลงจอวันละ 7 ชั่วโมง 'เช้า-ดึก' ประเดิมผัง 3 ม.ค.65". Brand Buffet. 2021-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-30.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  50. "วินาทีประวัติศาสตร์ เวลา 24.00 น. 26 ก.พ. 2565 นับถอยหลังการเชื่อมสัญญาณโทรทัศน์จากสตูดิโอ อาคารโมโม่ ทีวีไดเร็ก ย่านวัชรพล สู่สตูดิโอ TOP News อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ สมบูรณ์แบบครับ ประเดิมสดครั้งแรกในรายการ TOP ข่าวเที่ยง เสาร์-อาทิตย์". เฟซบุ๊ก. สืบค้นเมื่อ 2022-02-26.
  51. "แผ่นดินไหวที่ช่อง 5 สะพัดท็อปนิวส์ถอนตัวผลิตรายการ เหตุตัดสัญญาณข่าวรัสเซีย-ยูเครน". ผู้จัดการออนไลน์. 2022-03-28. สืบค้นเมื่อ 2022-03-30.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  52. "แรงกระเพื่อมรัฐบาล-กองทัพปลั๊กหลุดช่อง 5 เรื่องเทคนิค เรียกท็อปนิวส์เซ็นสัญญาใหม่". ผู้จัดการออนไลน์. 2022-03-31. สืบค้นเมื่อ 2022-04-13.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  53. ""สนธิญาณ" แจงปมท็อปนิวส์ลาช่อง 5 | TopNewsทั่วไทย | TOP NEWS". ยูทูบ ท็อปนิวส์. 2022-05-01. สืบค้นเมื่อ 2022-05-01.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  54. "ท็อปนิวส์ลาจอช่อง5จริงๆแล้ว 'กนก' แจงตามคำขอผู้ใหญ่". สยามรัฐ. 2022-04-30. สืบค้นเมื่อ 2022-05-01.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  55. matichon (2023-02-01). "บิ๊กตู่ ไปอวยพรวันเกิด 'TOP NEWS' เข้าสตูฯออกอากาศสด ชม เป็นสื่อที่เสนอข้อเท็จจริง". มติชนออนไลน์.
  56. "สะพัดท็อปนิวส์ดีลซื้อช่อง JKN 18 รุกผลิตข่าว-ขายสินค้า". ผู้จัดการออนไลน์. 2023-09-09. สืบค้นเมื่อ 2023-09-09.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  57. ""แอน-จักรพงษ์" แจง ตลท.ไม่ได้ขายสถานีช่อง JKN18 ให้กับ TOP NEWS แค่จับมือผลิตรายการข่าว". สยามรัฐรายวัน. 11 กันยายน 2023. สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น