มูลนิธิอานันทมหิดล
มูลนิธิอานันทมหิดล (อังกฤษ: Anandamahidol Foundation) เป็นมูลนิธิที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น เพื่อมุ่งส่งเสริมสนับสนุนนักศึกษาและบัณฑิตชาวไทยที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการสาขาต่าง ๆ ให้ได้รับโอกาสไปศึกษาต่อเพิ่มเติม ณ ต่างประเทศ ในระดับที่สูงขึ้น เพื่อให้เป็นบุคคลชั้นนำของประเทศในสาขาวิชานั้น ๆ และนำความรู้ความเชี่ยวชาญกลับมารับใช้ประเทศชาติต่อไปหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับสูงสุดแล้ว
ในระยะแรก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งทุนอานันทมหิดล และทรงเริ่มพระราชทานทุนในสาขาแพทยศาสตร์เป็นสาขาแรก ต่อมา ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยให้เปลี่ยนสถานภาพจากทุนเป็นมูลนิธิ ชื่อ มูลนิธิอานันทมหิดล และได้ขยายขอบเขตการพระราชทานทุนเพิ่มขึ้นในหลายสาขา ครอบคลุมทั้งสาขาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ [1]
ประวัติ
แก้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชประสงค์ที่จะทรงสนับสนุนการพัฒนาประเทศ และทรงตระหนักว่าประเทศไทยยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญในวิทยาการต่าง ๆ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันพัฒนาชาติบ้านเมือง จึงมีพระราชดำริที่จะทรงสนับสนุนให้นักศึกษาและบัณฑิตชาวไทยผู้มีความเป็นเลินทางวิชาการสาขาต่าง ๆ ได้ไปเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะความเชี่ยวชาญ ณ ต่างประเทศ จนถึงระดับสูงสุด เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจักได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญนั้นกลับมาพัฒนาประเทศชาติ ดังนั้น ใน พ.ศ. 2498 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งทุนการศึกษาขึ้นและพระราชทานนามว่า ทุนอานันทมหิดล เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรและได้พระราชทานทุนเริ่มแรกจำนวน 20,000 บาท
เมื่อแรกตั้ง ทรงประเดิมด้วยการพระราชทานทุนการศึกษาในสาขาแพทยศาสตร์ เพื่อทรงเจริญรอยตามพระราชปณิธานในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาด้านแพทยศาสตร์ และได้ทรงวางรากฐานด้านการแพทย์สมัยใหม่ขึ้นในประเทศสยาม ทั้งยังเคยทรงเอาพระทัยใส่พระราชทานทุนส่วนพระองค์ให้แก่นักศึกษาแพทย์ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ
ต่อมา ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยให้เปลี่ยนสถานภาพจาก "ทุน" เป็น "มูลนิธิ" ชื่อว่า มูลนิธิอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2502 และได้ขยายขอบเขตการพระราชทานทุนเพิ่มขึ้นในหลายสาขา
ปัจจุบัน มูลนิธิอานันทมหิดล ได้พระราชทานทุนการศึกษาครอบคลุมทั้งสาขาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยแยกเป็นแผนกต่าง ๆ จำนวน 8 แผนก[1] ได้แก่
- แผนกแพทยศาสตร์
- แผนกวิทยาศาสตร์
- แผนกวิศวกรรมศาสตร์
- แผนกเกษตรศาสตร์
- แผนกธรรมศาสตร์
- แผนกอักษรศาสตร์
- แผนกทันตแพทยศาสตร์
- แผนกสัตวแพทยศาสตร์