ทิพานัน ศิริชนะ
ทิพานัน ศิริชนะ (เกิด 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527) ชื่อเล่น อ้น เป็นนักการเมืองชาวไทย และอดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ สมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ
ทิพานัน ศิริชนะ | |
---|---|
ทิพานัน ใน พ.ศ. 2562 | |
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี | |
ดำรงตำแหน่ง 23 สิงหาคม พ.ศ. 2565 – 1 กันยายน พ.ศ. 2566 ดำรงตำแหน่งร่วมกับ ไตรศุลี ไตรสรณกุล, รัชดา ธนาดิเรก | |
นายกรัฐมนตรี | พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา |
ก่อนหน้า | พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค |
ถัดไป | คารม พลพรกลาง รัดเกล้า สุวรรณคีรี เกณิกา อุ่นจิตร์ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 |
พรรคการเมือง | พลังประชารัฐ (2561—2566) รวมไทยสร้างชาติ (2566—ปัจจุบัน) |
ประวัติ
แก้นางสาวทิพานัน ศิริชนะ เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 เป็นบุตรสาวคนเล็กของ นางวรรณะ ศิริชนะ และ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ อดีตปลัดทบวงมหาวิทยาลัย และอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง[1]
ทิพานันจบการศึกษาจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในปี พ.ศ. 2545 เข้าศึกษาต่อคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทด้านกฎหมายธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา (University of Minnesota)[2]
การทำงาน
แก้ทิพานันมีประสบการณ์การทำงานด้านกฎหมายให้กับองค์กรชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชนมากกว่า 10 ปี อาทิ เจ้าหน้าที่กฎหมายตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ปรึกษากฎหมายบริษัทธุรกิจด้านพลังงาน และได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษสอนนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง[2]
ในช่วงปี พ.ศ. 2561–2562 ทิพานันได้ทำงานในคณะทำงานของ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ขณะที่ดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี[2] อีกทั้งเขาได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ด้วย ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เขาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร เขตที่ 23 (เขตจอมทองและเขตธนบุรี) สังกัดพรรคพลังประชารัฐ แต่ไม่ได้รับเลือก โดยได้รับคะแนนทั้งสิ้น 26,105 คะแนน เป็นอันดับที่ 2 ถึงอย่างนั้นทิพานันก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ และมักทำหน้าที่ตอบโต้กับพรรคฝ่ายค้าน[3] ทิพานันดำรงตำแหน่งอยู่ 1 ปี (2563–2564)[4]
จากนั้นในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ทิพานันได้เข้ามาทำงานในทำเนียบรัฐบาลโดยรับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการเมือง ตำแหน่งประจำเลขาธิการนายกรัฐมนตรี[5] ต่อมาได้ลาออกในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2565[6] และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในวันรุ่งขึ้น[7] ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ทิพานันได้ตอบโต้กับพรรคเพื่อไทยหลายครั้งเช่น ในการอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณ 2566 ครั้งที่ผ่านมา เมื่อ นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร และโฆษกพรรคเพื่อไทย อภิปรายโจมตี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทิพานันทำหน้าที่ตอบโต้ว่า “สิ่งสำคัญ อยากให้พรรคเพื่อไทย และ นางสาวธีรรัตน์ ตระหนักคือ รัฐบาลที่ดี ต้องไม่โกงประชาชน รัฐที่ดีต้องไม่ฉวยโอกาสเข้าครอบครัวตัวเอง รัฐที่ดีต้องมีธรรมมาภิบาลซื่อสัตย์สุจริต สุดท้ายผู้นำที่ดีจะไม่ให้ลูกน้องติดคุกแทน ซึ่งรัฐบาลของนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ผ่านไม่เคยมี เพราะหลักฐานปรากฏเด่นชัดว่ามีประวัติการโกงอย่างชัดเจนจนต้องหนีคดีไปต่างประเทศ สิ่งสำคัญ นางสาวธีรรัตน์ ไม่ควรเอารูปนักโทษชายทักษิณ-นักโทษหญิงยิ่งลักษณ์ มาโชว์ในสภาฯอันทรงเกียรติ เป็นเยี่ยงอย่างแบบไม่อายฟ้าอายดิน”[8] ทิพานันมักจะถูกเรียกว่าเป็นหนึ่งใน"ทีมองครักษ์ประยุทธ์"[3]
ทิพานันได้ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2566 ก่อนที่จะมาร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยลงสมัครแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 18 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566[9] แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง
ชีวิตส่วนตัว
แก้ทิพานันมีความชื่นชอบ ธงไชย แมคอินไตย์ และเคยเข้าแข่งขันแฟนพันธุ์แท้ จนได้ตำแหน่งชนะเลิศในหัวข้อดังกล่าวเมื่อปี พ.ศ. 2543[10]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2565 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)[11]
อ้างอิง
แก้- ↑ ทิพานัน ศิริชนะ รทสช.ต้นคิดยิงเลเซอร์ มติชน
- ↑ 2.0 2.1 2.2 "ครม. แต่งตั้ง 'ทิพานัน ศิริชนะ' อดีตผู้สมัคร ส.ส. พลังประชารัฐ นั่งรองโฆษกรัฐบาล". THE STANDARD. 2022-08-23.
- ↑ 3.0 3.1 เปิดประวัติ ทิพานัน ศิริชนะ ทีมองครักษ์ประยุทธ์ รองโฆษกรัฐบาล ประชาชาติ วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 - 15:57 น.
- ↑ "เปิดประวัติ "อ้น ทิพานัน ศิริชนะ" รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี". อมรินทร์ทีวี เอชดี ช่อง 34 - AMARIN TV HD. 2023-05-09.
- ↑ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๑๘๐/๒๕๖๔ เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง [นางสาวทิพานัน ศิริชนะ]
- ↑ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๐๗/๒๕๖๕ เรื่อง ให้ข้าราชการการเมืองออกจากตำแหน่ง [นางสาวทิพานัน ศิริชนะ]
- ↑ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๑๑/๒๕๖๕ เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง [นางสาวทิพานัน ศิริชนะ]
- ↑ หยู (2022-06-03). "เจ็บจี๊ด! 'ทิพานัน' ฉะโฆษกเพื่อไทย ผู้นำที่ดีต้องไม่ให้ลูกน้องติดคุกแทน".
- ↑ "อ้น ทิพานัน ศิริชนะคือใคร เปิดเส้นทางการเมืองสู่ดราม่าสะพานพระราม 8". bangkokbiznews. 2023-05-10.
- ↑ ข่าว“อ้น ทิพานัน” แฟนพันธุ์แท้ “พี่เบิร์ด-ธงไชย” คนแรก ตั้งแต่สมัยคอซอง ปลื้มนักร้องในดวงใจ ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ, สืบค้นเมื่อ 2023-10-31
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๖๕, เล่ม ๑๔๐ ตอนพิเศษ ๑ ข หน้า ๓, ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๖