ถนนราชพฤกษ์
ถนนราชพฤกษ์ (อักษรโรมัน: Thanon Ratchaphruek) หรือ ทางหลวงชนบท นบ.3021 สายราชพฤกษ์ เป็นถนนที่ทอดยาวจากกรุงเทพมหานครสู่จังหวัดปทุมธานี เป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญสายหนึ่ง โดยสามารถเดินทางจากถนนสาทรถึงอำเภอเมืองปทุมธานีได้โดยไม่ต้องผ่านทางแยกสัญญาณไฟจราจรแม้แต่แห่งเดียว
ทางหลวงชนบท นบ.3021 | |
---|---|
ถนนราชพฤกษ์ | |
ข้อมูลของเส้นทาง | |
ความยาว | 42.320 กิโลเมตร (26.296 ไมล์) |
มีขึ้นเมื่อ | พ.ศ. 2543–ปัจจุบัน |
ทางแยกที่สำคัญ | |
ปลายทางทิศใต้ | ถ.สมเด็จพระเจ้าตากสิน ใน เขตธนบุรี กรุงเทพฯ |
ปลายทางทิศเหนือ | ทล.346 ใน อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี |
ตำแหน่งที่ตั้ง | |
ประเทศ | ไทย |
ระบบทางหลวง | |
ประวัติ
แก้ทางราชการได้ตัดถนนราชพฤกษ์ช่วงตากสิน-เพชรเกษมขึ้นเป็นช่วงแรก ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตภาษีเจริญ เขตจอมทอง เขตธนบุรี และเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 เพื่อลดปัญหาการจราจรและทำให้การคมนาคมขนส่งระหว่างกรุงเทพมหานครกับบริเวณรอบนอกขยายตัวอย่างเป็นระบบ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดการจราจรในปี พ.ศ. 2543 หน่วยงานต่าง ๆ ได้ใช้ชื่อถนนในเบื้องต้นว่า ถนนตากสิน-เพชรเกษม
ถนนราชพฤกษ์ช่วงเพชรเกษม-รัตนาธิเบศร์ตัดขึ้นตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางบัวทอง อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตตลิ่งชัน เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2537 โดยเป็นหนึ่งในโครงการถนนต่อเชื่อมสายติวานนท์-เพชรเกษม-รัตนาธิเบศร์ (แนวเหนือ-ใต้) เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การคมนาคม การขนส่ง และการจราจร แต่เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวได้หมดอายุบังคับใช้ไปก่อนที่กรมโยธาธิการจะสำรวจแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนให้แล้วเสร็จ จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกาเดียวกันอีกครั้งในปี พ.ศ. 2542 หลังจากนั้นจึงเริ่มเวนคืนที่ดินและก่อสร้างเส้นทาง
จนกระทั่งเมื่อการตัดถนนต่อเชื่อมสายติวานนท์-เพชรเกษม-รัตนาธิเบศร์ดังกล่าวแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2546 กรมทางหลวงชนบทผู้รับผิดชอบสายทาง (รับโอนมาจากกรมโยธาธิการ) ได้หารือกับกรมศิลปากรเพื่อตั้งชื่อถนนอย่างเป็นทางการ โดยถนนแนวเหนือ-ใต้นี้ กรมทางหลวงชนบทเสนอชื่อ ถนนราชพฤกษ์ โดยให้เหตุผลว่ามีโครงการจะปลูกต้นราชพฤกษ์ (Cassia fistula) เรียงรายตามแนวถนนสายนี้ และนอกจากนี้ชื่อราชพฤกษ์ยังเป็นชื่อที่ไม่ซ้ำซ้อนกับถนนสายใด ๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอีกด้วย
ต่อมากรมทางหลวงชนบทได้ขอให้กรมศิลปากรพิจารณาชื่อถนนตากสิน-เพชรเกษมใหม่ (พร้อมกับถนนแยกตากสิน-เพชรเกษมไปถนนวงแหวนรอบนอก (ถนนกาญจนาภิเษก) ซึ่งต่อมาใช้ชื่อว่าถนนกัลปพฤกษ์) กรมศิลปากรโดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์จึงพิจารณาโดยใช้หลักการที่กรมทางหลวงชนบทเคยใช้ตั้งชื่อถนนในโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดนครอินทร์และถนนต่อเชื่อมสายติวานนท์-เพชรเกษม-รัตนาธิเบศร์มาแล้ว กล่าวคือ ใช้ชื่อพรรณไม้มงคลตั้งเป็นชื่อถนน ในส่วนของถนนตากสิน-เพชรเกษมให้รวมเป็นสายเดียวกับถนนที่ตัดใหม่จากเพชรเกษมไปรัตนาธิเบศร์ เพราะเป็นถนนขนาดเดียวกัน (6-10 ช่องจราจร) และมีแนวเส้นทางที่ต่อเนื่องกัน ดังนั้นถนนช่วงนี้จึงมีชื่อว่า "ถนนราชพฤกษ์"
ส่วนถนนราชพฤกษ์ช่วงรัตนาธิเบศร์‒ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 สร้างขึ้นตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอบางบัวทอง และอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. 2540 ต่อมาสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์บริเวณแนวเวนคืนนั้นเป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วนเมื่อปี พ.ศ. 2543 อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างก็เสร็จสมบูรณ์และสามารถเปิดให้ใช้คมนาคมได้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2549 โดยในเรื่องชื่อถนนนั้น กรมศิลปากรเห็นด้วยกับที่กรมทางหลวงชนบทจะใช้ชื่อ "ถนนราชพฤกษ์" ด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อจากถนนราชพฤกษ์เดิม
ส่วนถนนช่วงทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345‒อำเภอเมืองปทุมธานี สร้างขึ้นตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลบ้านฉาง ตำบลบางปรอก ตำบลบางหลวง ตำบลบางเดื่อ ตำบลบางคูวัด อำเภอเมืองปทุมธานี ตำบลคูบางหลวง ตำบลคลองพระอุดม อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และตำบลคลองข่อย อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. 2560[1] โดยการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และสามารถเปิดให้ใช้คมนาคมในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2561[2]
รายละเอียดเส้นทาง
แก้ช่วงตากสิน-เพชรเกษม
แก้เริ่มจากถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินที่แยกตากสิน ในพื้นที่แขวงบุคคโล เขตธนบุรี ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ในพื้นที่แขวงบุคคโล (โดยเป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างแขวงบุคคโลกับแขวงบางยี่เรือ จนกระทั่งข้ามคลองบางน้ำชนจึงเป็นเส้นแบ่งแขวงบุคคโลกับแขวงตลาดพลู) ตัดกับถนนรัชดาภิเษกที่สี่แยกรัชดา-ราชพฤกษ์ (อุโมงค์รัชดา - ราชพฤกษ์เปิดเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2565) เข้าพื้นที่แขวงดาวคะนอง (และเป็นเส้นแบ่งแขวงดาวคะนองกับแขวงตลาดพลู) ข้ามคลองบางสะแกเข้าพื้นที่แขวงตลาดพลู มุ่งขึ้นไปทางทิศตะวันตก ตัดผ่านทางรถไฟสายแม่กลอง ตัดกับถนนวุฒากาศ ข้ามคลองด่าน (บางหลวงน้อย) เข้าสู่พื้นที่แขวงบางค้อ เขตจอมทอง ตัดกับถนนกัลปพฤกษ์ที่ทางแยกต่างระดับสวนเลียบ แล้วข้ามคลองตาม่วงเข้าพื้นที่แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ จากนั้นวกขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เลียบคลองสวนเลียบ ตัดผ่านถนนเทอดไท (พัฒนาการเดิม) และข้ามคลองภาษีเจริญไปตัดกับถนนเพชรเกษมที่ทางแยกต่างระดับเพชรเกษม
ช่วงเพชรเกษม-รัตนาธิเบศร์
แก้เขตกรุงเทพมหานคร
แก้เริ่มจากถนนเพชรเกษมในพื้นที่แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ ไปทางทิศเดิม ข้ามคลองบางจากเข้าพื้นที่แขวงคูหาสวรรค์ จากนั้นเข้าพื้นที่แขวงบางจากและแขวงบางแวก โค้งขึ้นไปทางทิศเหนือ ตัดผ่านถนนบางแวก (จรัญสนิทวงศ์ 13) ที่ทางแยกต่างระดับบางแวก ข้ามคลองบางเชือกหนังเข้าพื้นที่แขวงบางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน ข้ามคลองบางน้อยเข้าพื้นที่แขวงบางพรม ตัดผ่านถนนปากน้ำกระโจมทอง ตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดผ่านโครงการถนนพรานนก-พุทธมณฑล สาย 4 และตัดผ่านถนนบางพรม (วัดแก้ว-พุทธมณฑล สาย 1) ข้ามคลองบางพรมเข้าพื้นที่แขวงบางระมาด ตัดผ่านถนนอินทราวาส (วัดประดู่) ข้ามคลองบ้านไทรเข้าพื้นที่แขวงฉิมพลี ก่อนตัดกับถนนบรมราชชนนีที่ทางแยกต่างระดับบรมราชชนนี โค้งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตัดผ่านถนนฉิมพลี ตัดผ่านทางรถไฟสายใต้เข้าพื้นที่แขวงตลิ่งชัน ตรงขึ้นไปทางทิศเหนือและตัดกับถนนสวนผักที่ทางแยกต่างระดับคลองมหาสวัสดิ์-ถนนสวนผัก ก่อนข้ามคลองมหาสวัสดิ์เข้าเขตจังหวัดนนทบุรี
เขตจังหวัดนนทบุรี
แก้เริ่มจากสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ในพื้นที่ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอบางกรวย ตรงไปทางทิศเหนือ ตัดผ่านถนนบางกรวย-จงถนอม ข้ามคลองบางขวาง (บางโคเผือก) เข้าพื้นที่ตำบลบางขนุน จากนั้นเข้าพื้นที่ตำบลบางขุนกอง ก่อนตัดกับถนนนครอินทร์ที่วงเวียนบางขุนกอง (ราชพฤกษ์) ข้ามคลองบางกอกน้อยเข้าพื้นที่ตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองนนทบุรี แนวเส้นทางเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อยก่อนตัดกับถนนบางกรวย-ไทรน้อยและตัดผ่านทางหลวงชนบท นบ.5038 ข้ามคลองอ้อมเข้าพื้นที่ตำบลบางรักน้อย เบี่ยงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดกับถนนรัตนาธิเบศร์
ช่วงรัตนาธิเบศร์-ทางแยกต่างระดับขุนมหาดไทย
แก้เริ่มจากถนนรัตนาธิเบศร์ในพื้นที่ตำบลบางรักน้อย อำเภอเมืองนนทบุรี มุ่งขึ้นไปทางทิศเดิม ข้ามคลองวัดแดงเข้าพื้นที่ตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด ข้ามคลองบางบัวทองเข้าพื้นที่ตำบลอ้อมเกร็ด เบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออีกครั้ง ข้ามคลองบางพลับเข้าพื้นที่ตำบลบางพลับ ตัดกับถนนชัยพฤกษ์ที่แยกต่างระดับสาลีโขฯ (บางพลับ) และไปในทิศเดิมจนกระทั่งข้ามคลองข่อยเข้าพื้นที่ตำบลคลองข่อย จึงโค้งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ก่อนไปบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 ที่แยกต่างระดับขุนมหาดไทย (คลองข่อย) ระยะทางรวม 9.55 กิโลเมตร
ช่วงทางแยกต่างระดับขุนมหาดไทย-ทางแยกต่างระดับปทุมธานี
แก้เขตจังหวัดนนทบุรี
แก้เริ่มจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 ที่ทางแยกต่างระดับขุนมหาดไทยในพื้นที่ตำบลคลองข่อย อำเภอปากเกร็ด แล้วจึงโค้งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือผ่านข้ามคลองพระอุดม ถึงซอยวัดท่าเกวียน เบี่ยงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ก่อนตรงไปบรรจบแนวระวางโฉนดที่ดินระหว่างจังหวัดนนทบุรีกับจังหวัดปทุมธานี เข้าเขตจังหวัดปทุมธานี
เขตจังหวัดปทุมธานี
แก้เริ่มจากแนวระวางโฉนดที่ดินระหว่างจังหวัดนนทบุรีกับจังหวัดปทุมธานี ในพื้นที่ตำบลคลองพระอุดม อำเภอลาดหลุมแก้ว ตรงไปจึงโค้งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือผ่านข้ามคลองเกาะเกรียง บริเวณถนนวัดเกาะเกรียง-คลองพระอุดม จากนั้นตรงไปแล้วเบี่ยงทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือผ่านข้ามคลองตาทรัพย์ เข้าพื้นที่ตำบลบางเดื่อ อำเภอเมืองปทุมธานี จากนั้นข้ามคลองบางเดื่อ บริเวณถนนเลียบคลองบางเดื่อ ไปจนถึงทางแยกต่างระดับไพร่ฟ้า รวมถึงทางหลวงชนบท นบ.1036 จากนั้นซอยวัดไพร่ฟ้า ข้ามคลองบางโพธิ์ใต้ เข้าพื้นที่ตำบลบางหลวง ถึงถนนเลียบคลองบางโพธิ์ใต้-บางหลวง จึงโค้งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จากนั้นข้ามคลองพระยามหาโยธา แล้วตรงไปถึงซอยบางหลวง-เทคโนแหลมทอง ผ่านข้ามคลองบางหลวง เข้าพื้นที่ตำบลบ้านฉาง ก่อนไปบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 346 ที่ทางแยกต่างระดับปทุมธานี หรือแยก อบจ. ปทุมธานีเดิม รวมระยะทาง 10.4 กิโลเมตร โดยแนวเส้นทางเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานีและบางส่วนอยู่ในเขตอำเภอลาดหลุมแก้ว รวมถึงในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
สถานที่สำคัญบนเส้นทาง
แก้- รถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีลม (สถานีโพธิ์นิมิต ตลาดพลู วุฒากาศ และบางหว้า)
- สถานีตำรวจภูธรบางกรวย
- ฝ่ายเวนคืน สำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวงชนบท
- สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย
- โรงเรียนนนทบุรีวิทยาลัย
- ศูนย์บำรุงทางหลวงชนบทราชพฤกษ์
- โรงพยาบาลปากเกร็ด 2
ศูนย์การค้า
แก้- เดอะเซอร์เคิล ราชพฤกษ์
- เดอะวอล์ค ราชพฤกษ์
- เดอะ คริสตัล ราชพฤกษ์
- โลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์
- เซ็นทรัล เวสต์วิลล์ [3]
- โรบินสันไลฟ์สไตล์ ราชพฤกษ์
รายชื่อทางแยก
แก้จังหวัด | อำเภอ/เขต | กม.ที่ | ชื่อจุดตัด | ซ้าย | ขวา | ||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ถนนราชพฤกษ์ (แยกตากสิน–ทางแยกต่างระดับปทุมธานี) | |||||||
กรุงเทพมหานคร | ธนบุรี | 0+000 | แยกตากสิน | เชื่อมต่อจาก: ถนนกรุงธนบุรี ไปสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช | |||
ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ไปแยกมไหสวรรย์, ดาวคะนอง | ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ไปวงเวียนใหญ่ | ||||||
≈1+500 | แยกรัชดา-ราชพฤกษ์ | ถนนรัชดาภิเษก ไปแยกมไหสวรรย์, สะพานกรุงเทพ | ถนนรัชดาภิเษก ไปตลาดพลู, แยกท่าพระ | ||||
≈2+400 | – | ถนนวุฒากาศ ไปแยกจอมทอง | ถนนวุฒากาศ ไปแยกวุฒากาศ (มะลิทอง) | ||||
จอมทอง | ≈3+200 | ทางแยกต่างระดับสวนเลียบ | ถนนกัลปพฤกษ์ ไปทางแยกต่างระดับบางโคลัด,ถนนกาญจนาภิเษก | ไม่มี | |||
ภาษีเจริญ | ≈4+270 | - | ถนนเทอดไท ไปแยกกำนันแม้น | ถนนเทอดไท ไปตลาดพลู | |||
≈4+270 | ทางแยกต่างระดับเพชรเกษม | ถนนเพชรเกษม ไปบางแค, อ้อมน้อย | ถนนเพชรเกษม ไปแยกท่าพระ, วงเวียนใหญ่ | ||||
≈6+520 | ทางแยกต่างระดับบางแวก | ถนนบางแวก ไปถนนพุทธมณฑล สาย 1 | ถนนบางแวก ไปแยกพาณิชยการธนบุรี | ||||
ตลิ่งชัน | ≈8+190 | – | ถนนพรานนก-พุทธมณฑล สาย 4 ไปถนนกาญจนาภิเษก | ถนนพรานนก-พุทธมณฑล สาย 4 ไปแยกไฟฉาย | |||
≈11+600 | ทางแยกต่างระดับบรมราชชนนี | ถนนบรมราชชนนี ไปทางแยกต่างระดับฉิมพลี | ถนนบรมราชชนนี ไปตลิ่งชัน, พระปิ่นเกล้า | ||||
≈12+000 | สะพาน ข้ามทางรถไฟสายใต้ | ||||||
≈13+700 | ทางแยกต่างระดับคลองมหาสวัสดิ์-ถนนสวนผัก | ถนนสวนผัก ไปตลาดกรุงนนท์, ศาลจังหวัดตลิ่งชัน | ถนนสวนผัก ไปแยกสวนผัก | ||||
≈13+800 | สะพาน ข้ามคลองมหาสวัสดิ์ | ||||||
นนทบุรี | บางกรวย | ≈16+710 | วงเวียนราชพฤกษ์ (บางขุนกอง) | ถนนนครอินทร์ ไปทางแยกต่างระดับบางคูเวียง | ถนนนครอินทร์ ไปแยกบางสีทอง, สะพานพระราม 5 | ||
≈17+500 | สะพาน ข้ามคลองบางกอกน้อย | ||||||
เมืองนนทบุรี | ≈18+400 | – | ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ไปวงเวียนการไฟฟ้าบางใหญ่ | ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ไปแยกบางกร่าง, ท่าเรือบางศรีเมือง | |||
≈19+200 | – | ทางหลวงชนบท นบ.5038 ไปวัดโบสถ์ดอนพรหม | ทางหลวงชนบท นบ.5038 ไปสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ | ||||
≈20+500 | สะพาน ข้ามคลองอ้อมนนท์ | ||||||
≈22+500 | ทางแยกต่างระดับบางรักน้อย | ถนนรัตนาธิเบศร์ ไปแยกบางพลู, ทางแยกต่างระดับบางใหญ่ | ถนนรัตนาธิเบศร์ ไปแยกไทรม้า, สะพานพระนั่งเกล้า | ||||
ปากเกร็ด | ≈24+830 | สะพาน ข้ามคลองบางบัวทอง | |||||
≈28+100 | ทางแยกต่างระดับสาลีโข | ถนนชัยพฤกษ์ ไปแยกสามวัง, แยกบางบัวทอง | ถนนชัยพฤกษ์ ไปสะพานพระราม 4 | ||||
≈29+700 | สะพาน ข้ามคลองข่อย | ||||||
≈30+750 | ทางแยกต่างระดับขุนมหาดไทย | ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 ไปทางแยกต่างระดับบางบัวทอง | ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 ไปแยกบางคูวัด, สะพานปทุมธานี 2 | ||||
≈31+950 | สะพาน ข้ามคลองพระอุดม | ||||||
ปทุมธานี | เมืองปทุมธานี | ≈34+100 | สะพาน ข้ามคลองเกาะเกรียง | ||||
≈36+600 | ทางแยกต่างระดับไพร่ฟ้า | ทางหลวงชนบท ปท.1036 บรรจบถนนกาญจนาภิเษก | ทางหลวงชนบท ปท.1036 ไป ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 307 | ||||
≈40+200 | สะพาน ข้ามคลองบางหลวง | ||||||
≈41+200 | ทางแยกต่างระดับปทุมธานี | ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 346 ไปลาดหลุมแก้ว, กำแพงแสน | ถนนปทุมสัมพันธ์ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3035 เดิม) เข้าเมืองปทุมธานี | ||||
ตรงไป: ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 346 ไปรังสิต | |||||||
สะพาน กำลังก่อสร้างหรือโครงการในอนาคต |
อ้างอิง
แก้- ↑ พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลบ้านฉาง ตำบลบางปรอก ตำบลบางหลวง ตำบลบางเดื่อ ตำบลบางคูวัด อำเภอเมืองปทุมธานี ตำบลคูบางหลวง ตำบลคลองพระอุดม อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และตำบลคลองข่อย อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พระราชกฤษฎีกา ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐ สืบค้นเมื่อ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
- ↑ วิ่งได้แล้วบ่ายนี้! (23 ธ.ค.) เชื่อมราชพฤกษ์-กาญจนาภิเษก (แนวเหนือ-ใต้) ผู้จัดการออนไลน์ 23 ธ.ค. พ.ศ. 2561 สืบค้นเมื่อ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
- ↑ เซ็นทรัล เวสต์วิลล์ เปิดให้บริการ 29 พ.ย. 66 พร้อมเจาะกลุ่มไลฟ์สไตล์ระดับบน
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อถนนราชพฤกษ์ เก็บถาวร 2014-12-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- โครงการก่อสร้างทางคู่ขนานถนนราชพฤกษ์ เก็บถาวร 2013-08-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- โครงการก่อสร้างทางลอดบริเวณวงเวียนราชพฤกษ์ เก็บถาวร 2010-01-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ ถนนราชพฤกษ์
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์