ทางรถไฟสายปากน้ำ

ทางรถไฟสายปากน้ำ ต่อมาเรียก รถไฟสายกรุงเทพ–สมุทรปราการ เป็นทางรถไฟเอกชนที่เดินรถระหว่างสถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพมหานคร กับสถานีรถไฟปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ[2] เป็นระยะทาง 21.3 กิโลเมตร ตั้งแต่ พ.ศ. 2436 ถึง พ.ศ. 2503 เป็นทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย[3] ที่ก่อตั้งขึ้นก่อนการเดินรถของรถไฟหลวงสายกรุงเทพ-อยุธยาถึงสามปี[4]

ทางรถไฟสายปากน้ำ
สถานีต้นทาง สถานีรถไฟหัวลำโพง
ข้อมูลทั่วไป
สถานะยกเลิก
เจ้าของบริษัทรถไฟปากน้ำทุนจำกัด (2429–2479)[1]
การรถไฟแห่งประเทศไทย (2479–2503)
ที่ตั้งกรุงเทพมหานคร
จังหวัดสมุทรปราการ
ปลายทาง
จำนวนสถานี12
การดำเนินงาน
รูปแบบรถไฟระหว่างเมือง
ระบบรถไฟทางไกล
ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ประวัติ
เปิดเมื่อ11 เมษายน พ.ศ. 2436
ปิดเมื่อ1 มกราคม พ.ศ. 2503
ข้อมูลทางเทคนิค
ระยะทาง21.3 กม. (13.24 ไมล์)
แผนที่เส้นทาง

km
0.00
หัวลำโพง
สะพานสว่าง
สะพานเหลือง
สามย่าน
สถานเสาวภา
2.30
ศาลาแดง
วิทยุ
จุดตัดสายมักกะสัน–แม่น้ำ
ตลาดคลองเตย
5.20
คลองเตย
7.10
บ้านกล้วย
กล้วยน้ำไท
คลองพระโขนง
8.90
พระโขนง
คลองสวนอ้อย
พระโขนงวิทยาลัย
คลองเจ๊ก
10.50
บางจาก (คลองบางจาก)
โรงกลั่นน้ำมันบางจาก
12.00
บางนา
คลองบางนา
14.80
สำโรง
คลองสำโรง
17.30
ศีรษะจระเข้ (หัวจระเข้)
18.80
บางนางเกร็ง
โรงเรียนชุมพลทหารเรือ
20.00
มหาวงศ์
คลองมหาวงศ์
ศาลากลาง
21.30
ปากน้ำ

แต่เดิมทางรถไฟสายดังกล่าวเป็นสัมปทานของบริษัทรถไฟปากน้ำทุนจำกัด[1] โดยมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำพิธีเริ่มการก่อสร้าง และได้เสด็จไปในพิธีเปิดด้วย แต่เดิมทางรถไฟสายปากน้ำมีทั้งหมด 10 สถานี ต่อมาจึงเพิ่มเติมเป็น 12 สถานี

หลังสิ้นสุดสัมปทานในเวลา 50 ปี เส้นทางรถไฟดังกล่าวตกอยู่ในการบริหารกิจการของกรมรถไฟต่อ ครั้นในรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยกเลิกเส้นทางรถไฟสายปากน้ำเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 โดยได้มีการสร้างถนนแทน ปัจจุบัน คือ ถนนพระราม 4 และถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ

ประวัติ

แก้

ทางรถไฟสายปากน้ำดำเนินการโดย กอมปานีรถไฟ หรือ บริษัทรถไฟปากน้ำทุนจำกัด[1] บริหารงานโดยพระยาชลยุทธโยธินทร์ (อองเดร ดู เปลซี เดอ ริเชอลิเออ) ชาวเดนมาร์ก[3] และพระนิเทศชลธี (แอลเฟรด ยอนลอบเตอด เยฟอานีเอช) ได้รับสัมปทานตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2429 เป็นเวลา 50 ปี สิ้นสุด พ.ศ. 2479 เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2434 [5] มีวิศวกรเดินรถชื่อ ที.เอ. ก็อตเช่ (Captain T.A. Gottsche) ชาวเดนมาร์ก ต่อมาได้รับราชทินนามเป็น ขุนบริพัตรโภคกิจ ต้นสกุล คเชศะนันทน์ ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำพิธีเริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2434[4]

เมื่อทางรถไฟสายปากน้ำแล้วเสร็จเปิดเดินขบวนรถครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2436[3] (ร.ศ. 112) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดบริการ และเสด็จขึ้นประทับโดยสารขบวนรถไฟพระที่นั่ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์[6] ในพิธีเปิดการเดินรถครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว​มีพระราชดำรัส ปรากฏความตอนหนึ่งว่า[7]

"...เรามีความยินดี ที่ได้รับน่าที่อันเปนที่พึงใจ คือจะได้เปนผู้เปิดรถไฟสายนี้ ซึ่งเปนที่ชอบใจแลปรารถนามาช้านานแล้วนั้นได้สำเร็จสมประสงค์ลงในครั้งนี้ เพราะเหตุว่า เปนรถไฟสายแรกที่จะได้เปิดในบ้านเมืองเรา แล้วยังจะมีสายอื่นต่อ ๆ ไปอีกเปนอันมากในเร็ว ๆ นี้ เราหวังใจว่าคงจะเปนการเจริญแก่ราชการ แลการค้าขายในบ้านเมืองเรายิ่งนัก..."

25 ธันวาคม พ.ศ. 2453 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานอำนาจพิเศษแก่บริษัทรถไฟสายปากน้ำทุนจำกัด[8][9]

หลังสิ้นสุดสัมปทาน การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ซื้อเส้นทางรถไฟสายดังกล่าวมาดำเนินกิจการระยะหนึ่ง[10] และท้ายที่สุดได้มีการยกเลิกทางรถไฟสายนี้ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 ในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีคำสั่งให้รื้อทางรถไฟและถมคลองสร้างเป็นถนนพระราม 4 และถนนทางรถไฟสายเก่า[4]

การเดินรถ

แก้
 
ตัวขบวนรถรางไฟฟ้าชนิด EMU จอดอยู่ที่สถานีปากน้ำ

สถานีต้นทางรถไฟ คือ สถานีหัวลำโพง ตั้งอยู่ริมคลองหัวลำโพง [11] ปัจจุบันคือบริเวณถนนพระราม 4 ตรงข้ามกับสถานีรถไฟกรุงเทพในปัจจุบัน สถานีปลายทางคือ สถานีปากน้ำ ปัจจุบันเป็นถนนหน้าทางเข้าท่าเรือข้ามฟากไปฝั่งพระสมุทรเจดีย์[11] ระหว่าง พ.ศ. 2436 ถึง พ.ศ. 2459 มีสถานีรายทางทั้งสิ้น 10 สถานี และเพิ่มเป็น 12 สถานีจนสิ้นสุดการเดินรถ

ค่าโดยสารไปกลับราคา 1 บาท ส่วนรายสถานีคิดค่าโดยสารระยะสถานี สถานีละ 1 เฟื้อง มีขนาดราง 1.00 เมตร ขบวนรถโดยสารหนึ่งขบวนจะประกอบไปด้วยตู้โดยสารสี่ตู้ และโบกี้ห้ามล้ออีกหนึ่งโบกี้ มีระดับชั้นที่นั่งสองระดับคือชั้นสองและชั้นสามเท่านั้น ทั้งนี้ตลอดหนึ่งชั่วโมงของการเดินทางจะต้องผ่านสะพานข้ามคูคลองจำนวนมากซึ่งสะพานส่วนใหญ่ทำจากไม้ มีเพียงบางส่วนที่เป็นไม้กับเหล็ก[10]

การเดินรถในระยะแรก ใช้หัวรถจักรไอน้ำ ผลิตโดยบริษัท Krauss & Co of Munich[10] จากเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี[11] จนกระทั่ง พ.ศ. 2468 จึงได้เปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าเช่นเดียวกับรถรางในกรุงเทพฯ[4] อย่างไรก็ตามกิจการทางรถไฟสายปากน้ำต้องประสบกับการขาดทุนด้านทางราชการจึงให้เงินกู้ยืม ถือเป็นครั้งแรกที่ให้บริษัทต่างชาติกู้ยืมเงิน ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาทางรถไฟสายแรกของไทยให้ดำเนินกิจการต่อไปได้[4]

ในปี พ.ศ. 2492-3 ทางรถไฟสายปากน้ำได้มีการใช้รถไฟฟ้าจากบริษัทนิปปอนชาเรียวของญี่ปุ่นแทนการใช้รถจักรไอน้ำด้วยมีประสิทธิภาพกว่าประกอบกับกำลังได้รับความนิยม[10] โดยได้เปิดการเดินรถพร้อมกับรถไฟฟ้าของโตเกียว[12] ลุมาจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รถรางสายปากน้ำได้รับความเสียหายเนื่องจากสายเคเบิลไฟฟ้าถูกตัดขาดที่บริเวณบางจาก แต่ก็ยังคงเปิดดำเนินการอยู่ตามปกติ โดยพนักงานรถรางจะต้องปีนขึ้นไปบนหลังคารถแล้วบังคับแหนบรับไฟให้สามารถรับกระแสไฟฟ้าได้โดยตลอด ในขณะที่รถผ่านบริเวณจุดที่เกิดความเสียหายเพื่อให้รถรางสามารถวิ่งต่อได้จนถึงปลายทาง[10]

เหตุการณ์สำคัญ

แก้
 
อนุสาวรีย์รถไฟสายปากน้ำ หน้าตลาดปากน้ำในปัจจุบัน

ช่วงเหตุการณ์ ร.ศ. 112 เมื่อคราที่ฝรั่งเศสส่งเรือรบสองลำฝ่าการป้องกันของป้อมพระจุลจอมเกล้าเข้ามาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 รถไฟขบวนสุดท้ายในคืนนั้นถูกลูกหลงจากการโจมตีไม่ทราบฝ่ายเป็นเหตุให้มีผู้โดยสารเสียชีวิตหนึ่งราย บาดเจ็บหนึ่งราย และมีหญิงชราหัวใจวายตายไปอีกหนึ่งคน[4] พระยาชลยุทธโยธินทร์ (อองเดร ดู เปลซี เดอ ริเชอลิเออ) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการป้องกันปากแม่น้ำจึงขึ้นรถไฟสายนี้ตามเรือรบฝรั่งเศสเข้ามา หวังจะเอาเรือพระที่นั่งมหาจักรีพุ่งชน แต่ทางการไทยเกรงว่าจะเกิดปัญหากับฝรั่งเศสอีกจึงใช้วิธีเจรจาแทน[4]

รายชื่อสถานี

แก้

ทางรถไฟสายปากน้ำ มีความยาวตลอดทั้งสาย 21.3 กิโลเมตร แต่เดิมมีสถานีทั้งหมด 10 สถานี และต่อมาได้มีการเพิ่มเติมขึ้นเป็น 12 สถานี โดยรายชื่อจะสะกดด้วยอักขรวิธีเก่าปรากฏดังต่อไปนี้[13]

 


ชื่อสถานี / ที่หยุดรถ ระยะจาก
หัวลำโพง
(กม.)
ตำแหน่งที่ตั้ง (โดยประมาณ) [14] สถานีรถไฟฟ้าในปัจจุบันตามแนวเส้นทาง
สถานีหัวลำโพง 0.0 ถนนพระรามที่ 4 ตรงข้ามสถานีรถไฟกรุงเทพ สายสีน้ำเงิน สถานีหัวลำโพง
สายสีแดงเข้ม สถานีหัวลำโพง (โครงการ)
ที่หยุดรถสะพานสว่าง จุดตัดระหว่างถนนพระรามที่ 4 กับถนนบรรทัดทอง และทางขึ้นทางพิเศษศรีรัช
ที่หยุดรถสะพานเหลือง ถนนพระรามที่ 4 บริเวณปากซอยจุฬาฯ 9
ที่หยุดรถสามย่าน ถนนพระรามที่ 4 ใกล้กับวัดหัวลำโพง และแยกสามย่าน สายสีน้ำเงิน สถานีสามย่าน
ที่หยุดรถสถานเสาวภา ถนนพระรามที่ 4 หน้าสถานเสาวภา (สวนงู)
สถานีศาลาแดง 2.3 ถนนพระรามที่ 4 หน้าโรงแรมดุสิตธานี สายสีลม สถานีศาลาแดง
สายสีน้ำเงิน สถานีสีลม
ที่หยุดรถวิทยุ จุดตัดระหว่างถนนพระรามที่ 4 กับถนนสาทรใต้ (หน้าอาคารคิวเฮาส์ ลุมพินี) สายสีน้ำเงิน สถานีลุมพินี
สายสีเทา สถานีลุมพินี (โครงการ)
ที่หยุดรถคลองเตย หน้าสำนักงานการไฟฟ้านครหลวง เขตคลองเตย สายสีน้ำเงิน สถานีคลองเตย
สายสีเทา สถานีคลองเตย (โครงการ)
สถานีตลาดคลองเตย 5.2 บริเวณจุดตัดระหว่างถนนพระรามที่ 4 กับถนนทางรถไฟสายเก่า ใกล้ตลาดคลองเตย สายสีน้ำเงิน สถานีศูนย์ฯ สิริกิติ์
สายสีเทา สถานีพระราม 4 (โครงการ)
สถานีบ้านกล้วย 7.1 ถนนทางรถไฟสายเก่า บริเวณปากซอยบ้านกล้วยใต้
ที่หยุดรถกล้วยน้ำไท จุดตัดระหว่างซอยกล้วยน้ำไท (สุขุมวิท 42) กับถนนอาจณรงค์ ใต้ทางพิเศษเฉลิมมหานคร สายสุขุมวิท สถานีเอกมัย
สายสีเทา สถานีกล้วยน้ำไท (โครงการ)
สถานีพระโขนง 8.9 ถนนทางรถไฟสายเก่า ระหว่างสะพานข้ามคลองพระโขนง กับซอยสุขุมวิท 50 สายสุขุมวิท สถานีอ่อนนุช
ที่หยุดรถพระโขนงพิทยาลัย จุดตัดระหว่างซอยสุขุมวิท 62 กับถนนทางรถไฟสายเก่า ใกล้โรงเรียนพระโขนงพิทยาลัย สายสุขุมวิท สถานีบางจาก
สถานีบางจาก 10.5 ด้านทิศตะวันตกของโรงกลั่นน้ำมันบางจาก สายสุขุมวิท สถานีปุณณวิถี
สถานีบางนา 12.0 ด้านทิศใต้ของถนนสรรพาวุธ ใกล้วัดบางนานอก สายสุขุมวิท สถานีบางนา
สถานีสำโรง 14.8 ด้านหลังอิมพีเรียลเวิลด์ สำโรง สายสุขุมวิท สถานีสำโรง
สายสีเหลือง สถานีสำโรง
สถานีจอรเข้ (จระเข้) 17.3 บริเวณทางแยกต่างระดับต่างระดับปากน้ำ (ถนนสุขุมวิท ตัดกับ ทางพิเศษกาญจนาภิเษก) สายสุขุมวิท สถานีช้างเอราวัณ
ที่หยุดรถบางนางเกรง (บางนางเกร็ง) 18.8 ถนนสุขุมวิท บริเวณปากซอยทางเข้าวัดบางนางเกรง
ที่หยุดรถโรงเรียนชุมพลทหารเรือ ุถนนสุขุมวิท ใกล้โรงเรียนนายเรือ สายสุขุมวิท สถานีโรงเรียนนายเรือ
ที่หยุดรถมหาวง (มหาวงศ์) 20.0 ถนนสุขุมวิท หน้าวัดมหาวงษ์ สายสุขุมวิท สถานีปากน้ำ
ที่หยุดรถศาลากลาง บริเวณจุดตัดระหว่างถนนสุขุมวิท กับถนนประโคนชัย
สถานีปากน้ำ 21.3 ถนนศรีสมุทร ใกล้ท่าเรือข้ามฟากไปพระประแดง

เส้นทาง

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 "หนังสือกำหนดอำนาจ ของบริษัทรถไฟปากน้ำทุนจำกัด" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 (ก): 75. 25 ธันวาคม 2453.
  2. "ข่าวพระราชดำเนินกลับจากเกาะสีชังแลการเปิดรถไฟปากน้ำ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 10 (3): 17. 16 เมษายน 2436.
  3. 3.0 3.1 3.2 สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ มาจากไหน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548, หน้า 186
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 โรม บุนนาค. ชุดบันทึกแผ่นดิน ตอน เรื่องเก่าเล่าสนุก ๒. กรุงเทพฯ:สยามบันทึก. 2552, หน้า 103-105
  5. "รถไฟสายปากน้ำ". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-09-19. สืบค้นเมื่อ 2006-09-19.
  6. "ตามรอย หัวจักรรถไฟสายปากน้ำ ทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-12. สืบค้นเมื่อ 2009-06-02.
  7. "พระบรมราชโองการ พระราชดำรัสตอบในการเปิดรถไฟปากน้ำ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 10 (3): 19. 16 เมษายน 2436.
  8. "พระบรมราชโองการ ประกาศ พระราชทานอำนาจพิเศษแก่บริษัทรถไฟสายปากน้ำทุนจำกัด" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 (ก): 58. 25 ธันวาคม 2453.
  9. "แจ้งความกระทรวงเกษตราธิการ เรื่อง บริษัทรถไฟสายปากน้ำทุนจำกัด ได้จดทะเบียนไว้ที่กระทรวงเกษตราธิการ ตามความในข้อ 5 แห่งประกาศพระราชทานอำนาจพิเศษแล้ว" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 (0 ง): 2766. 25 ธันวาคม 2453.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 "รถไฟสายปากน้ำ". โครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-10. สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. 11.0 11.1 11.2 ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
  12. "แท่นอนุสรณ์ และรถรางสายปากน้ำ". ปราการนิวส์ออนไลน์. 22 มีนาคม 2557. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. รายชื่อสถานีรถไฟสายปากน้ำ จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ[ลิงก์เสีย]
  14. "โผรายชื่อสถานีรถไฟสายปากน้ำ จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ". รถไฟไทยดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)