ทันฮ็อยเซอร์ (เยอรมัน: Tannhäuser) หรือชื่อเต็มว่า ทันฮ็อยเซอร์กับการประชันนักร้องที่วาร์ทบวร์ค (Tannhäuser und der Sängerkrieg auf Wartburg) เป็นอุปรากรภาษาเยอรมันโดยริชชาร์ท วากเนอร์ แต่งแล้วเสร็จในค.ศ. 1845

การออกแบบฉากประกอบองก์ที่ 3 ในการแสดงรอบปฐมทัศน์
ปราสาทวาร์ทบวร์คในปัจจุบัน

ข้อมูล แก้

ทันฮ็อยเซอร์อุนท์แดร์เซ็งเงอร์ครีคเอาฟ์วาร์ทบวร์ค เป็นอุปรากรภาษาเยอรมันความยาว 3 องก์

ประพันธ์ทำนองและคำร้องโดยริชชาร์ท วากเนอร์ โดยนำเค้าโครงมาจากบทกวี Elementargeister ของไฮน์ริช ไฮเนอ (ค.ศ. 1797–1856) ที่ดัดแปลงมาจากตำนานพื้นบ้านเยอรมนี และเรื่อง The Singer's Contest ของเอ. เท. อา. ฮ็อฟมัน และเรื่องอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง เกี่ยวกับตำนานของวีนัส

เนื้อเรื่อง แก้

ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ชายหนุ่มรูปงามชื่อไฮน์ริช ทันฮ็อยเซอร์ ถูกเทพีวีนัสกักขังไว้ในหุบเขาลึกลับชื่อ วีนัสเบิร์ก วีนัสพยายามยั่วยวนและขอความรักจากทันฮ็อยเซอร์ แต่ตัวเขาปฏิเสธและเรียกร้องหาอิสรภาพ เขาประกาศว่าจิตวิญญาณของเขานั้นมั่นคงต่อพระแม่มารี ด้วยคำประกาศนั้น ทำให้วีนัสเบิร์กและเหล่าบริวารของวีนัสมลายหายไปในทันที ทันฮ็อยเซอร์พบตัวเองอยู่ในแคว้นทือริงเงิน ขณะนั้นลอร์ดแฮร์มัน เจ้าของปราสาทวาร์ทบวร์คแห่งทือริงเงินได้จัดการประกวดประชันร้องเพลง โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับพรหนึ่งประการจากแอร์เฌแบ็ต หลานสาวของลอร์ดแฮร์มัน

การประพันธ์ แก้

วากเนอร์เริ่มร่างเค้าโครงเรื่อง ทันฮ็อยเซอร์ ระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ค.ศ. 1842 และเขียนบทร้องเสร็จในเดือนเมษายนปีถัดมา[1] จากนั้นจึงเริ่มประพันธ์ดนตรีจนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1845 โดยท่อนโอเวอร์เชอร์ที่มีชื่อเสียงได้รับการประพันธ์แยกต่างหาก แล้วเสร็จหลังสุด[2] รอบปฐมทัศน์จัดแสดงเป็นครั้งแรกที่เมืองเดรสเดินในวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1845 แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าเรื่อง รีเอ็นท์ซี ผลงานชิ้นก่อนหน้าของวากเนอร์[3]

วากเนอร์ได้ปรับปรุงผลงานชิ้นนี้ตลอดมาจนถึง ค.ศ. 1860 และได้รับการร้องขอจากจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ให้ดัดแปลงเป็นพิเศษสำหรับจัดแสดงโดยคณะอุปรากรปารีส ที่โรงอุปรากร Salle Le Peletier ปารีส เพื่อเป็นเกียรติแก่เพาลีเนอ ฟ็อน เม็ทเทอร์นิช ภริยาของเอกอัครราชทูตออสเตรียประจำกรุงปารีส การแสดงครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1861 [4]

อ้างอิง แก้

  1. Millington, Barry (ed.) The Wagner Compendium. London 1992 (2nd edition 2001 ISBN 0500282749), page 281.
  2. Guttman, Robert W. Richard Wagner: The Man, his Mind and his Music (2nd edition, London 1990), ISBN 9780156776158. page 103.
  3. สุรพงษ์ บุนนาคดนตรีแห่งชีวิต. กรุงเทพ : สารคดี, พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2549. 655 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-484-175-3
  4. Gregor-Dellin, Martin (1983) Richard Wagner: his life, his work, his Century. William Collins, ISBN 0-00-216669-0. pages 293-303.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้