ถุงน้ำดี (อังกฤษ: Gallbladder) เป็นอวัยวะในช่องท้องที่ทำหน้าที่ในการเก็บสะสมน้ำดี (bile) เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร โดยจะมีโครงสร้างที่ติดต่อกับตับซึ่งเป็นอวัยวะที่ผลิตน้ำดี และลำไส้เล็กตอนต้น ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการปล่อยน้ำดีออกสู่ทางเดินอาหาร

ถุงน้ำดี
(Gallbladder)
ถุงน้ำดี คือ หมายเลข 5
ถุงน้ำดีและอวัยวะใกล้เคียง
รายละเอียด
คัพภกรรมForegut
ระบบระบบทางเดินอาหาร
หลอดเลือดแดงหลอดเลือดแดงถุงน้ำดี
หลอดเลือดดำหลอดเลือดดำถุงน้ำดี
ประสาทปมประสาทซิลิแอค, เส้นประสาทเวกัส[1]
ตัวระบุ
ภาษาละตินVesica biliaris
MeSHD005704
TA98A05.8.02.001
TA23081
FMA7202
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์
โครงสร้างของถุงน้ำดีและระบบท่อน้ำดี

กายวิภาคศาสตร์

แก้

ถุงน้ำดีจะวางตัวอยู่ทางพื้นผิวด้านหน้าของตับ โดยทั่วไปจะมีความยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร และมีสีเขียวคล้ำซึ่งเป็นสีของน้ำดีที่เก็บสะสมอยู่ภายใน ถุงน้ำดีจะมีทางติดต่อกับตับและลำไส้เล็กตอนต้นโดยระบบท่อน้ำดี (biliary tract) โดยจะมีท่อถุงน้ำดี (cystic duct) เป็นท่อที่ต่อออกมาโดยตรงจากถุงน้ำดี ซึ่งจะไปเชื่อมต่อกับท่อน้ำดีใหญ่ในตับ (common hepatic duct) เพื่อรวมเป็นท่อน้ำดีใหญ่ (common bile duct) ซึ่งท่อน้ำดีใหญ่นี้จะไปเชื่อมรวมกับท่อตับอ่อน (pancreatic duct) แล้วเปิดออกสู่รูเปิดขนาดใหญ่ในลำไส้เล็กตอนต้น ซึ่งเรียกว่า เมเจอร์ ดูโอดีนัล แอมพูลา (major duodenal ampulla)

ระบบไหลเวียนเลือดของถุงน้ำดี

แก้

หลอดเลือดแดงที่นำเลือดออกซิเจนสูงมาเลี้ยงถุงน้ำดี คือหลอดเลือดแดงถุงน้ำดี (cystic artery) ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของหลอดเลือดแดงตับ ส่วนหลอดเลือดดำที่นำเลือดออกจากถุงน้ำดีคือ หลอดเลือดดำถุงน้ำดี (cystic vein) ซึ่งจะเทเข้าสู่หลอดเลือดดำพอร์ทัลต่อไป นอกจากนี้ ทั้งหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำของถุงน้ำดีจะวางตัวขนานไปกับท่อถุงน้ำดีอีกด้วย

เส้นประสาท

แก้

ถุงน้ำดีจะถูกควบคุมโดยการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ โดยมีเส้นประสาทเวกัส (vagus nerve) และปมประสาทซิลิแอค (celiac ganglion) ที่อยู่ในช่องท้อง เป็นโครงสร้างจากระบบประสาทที่มาเลี้ยง

หน้าที่การทำงาน

แก้

ถุงน้ำดีมีหน้าที่ในการเก็บสะสมน้ำดีได้ประมาณ 50 มิลลิลิตร (1.7 ออนซ์)[2] โดยการหลั่งของน้ำดีจะถูกกระตุ้นเมื่ออาหารที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบถูกลำเลียงเข้ามาในลำไส้เล็ก ซึ่งจะทำให้มีการหลั่งของฮอร์โมนคอลิซิสโทไคนิน (cholecystokinin) ทำให้มีการหลั่งน้ำดีออกมา นอกจากนี้ ถุงน้ำดียังมีหน้าที่ในการทำให้น้ำดีที่ผลิตจากตับมีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งอาศัยการดูดซึมน้ำโดยเซลล์เยื่อบุผิวของถุงน้ำดี

โรคของถุงน้ำดี

แก้
  • นิ่วในถุงน้ำดี (gallstone หรือ cholelithiasis) เป็นโรคของถุงน้ำดีที่พบได้บ่อย โดยที่นิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากการตกผลึกของคอเลสเตอรอล เลซิทิน และกรดน้ำดี ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของน้ำดี เมื่อนิ่วผ่านลงมาในท่อน้ำดีก็จะทำให้เกิดการปวดท้อง โดยเฉพาะในช่วงระหว่างมื้ออาหาร ในกรณีที่ก้อนนิ่วไปอุดตันส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบท่อน้ำดี จะทำให้เกิดอาการปวดบิดรุนแรง ที่เรียกว่า ไบเลียรี่ โคลิค (biliary colic) ซึ่งต้องนำส่งโรงพยาบาลทันที ผู้ป่วยที่มีนิ่วในถุงน้ำดียังมีอาการดีซ่าน และอาจเกิดความผิดปกติของตับอีกด้วย
  • ถุงน้ำดีอักเสบ (cholecystitis) เป็นอาการอักเสบที่เกิดขึ้นในถุงน้ำดีและทำให้เกิดอาการปวดท้อง โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากการมีนิ่วในถุงน้ำดีจนเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่บริเวณนั้น
  • มะเร็งถุงน้ำดี (cancer of gallbladder) เป็นโรคที่พบได้ไม่มาก แต่อันตรายถึงชีวิต โดยมักจะมีสาเหตุมาจากนิ่วในถุงน้ำดี การบริโภคแอลกอฮอล์มากๆ หรือโรคอ้วน ผู้ป่วยจะมีอาการของดีซ่าน น้ำหนักลด มีน้ำคั่งในช่องท้อง และมีโอกาสเสียชีวิตสูงมากแม้ว่าจะทำการรักษาโดยการผ่าตัด

อ้างอิง

แก้
  1. Ginsburg, Ph.D., J.N. (2005-08-22). "Control of Gastrointestinal Function". ใน Thomas M. Nosek, Ph.D. (บ.ก.). Gastrointestinal Physiology. Essentials of Human Physiology. Augusta, Georgia, United State: Medical College of Georgia. pp. p. 30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-01. สืบค้นเมื่อ 2007-06-29.
  2. Encyclopædia Britannica Gallbladder Anatomy