ถนนสวรรคโลก (อักษรโรมัน: Thanon Sawankhalok) เป็นถนนสายหนึ่งในพื้นที่เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีจุดเริ่มต้นที่แยกยมราช จุดตัดกับ ถนนหลานหลวง ถนนพิษณุโลก และถนนเพชรบุรี ผ่านแยกเสาวนี จุดตัดกับถนนศรีอยุธยา จากนั้นทอดผ่านแยกอุภัยเจษฎุทิศ จุดตัดกับถนนราชวิถี ทอดผ่านแยกสวรรคโลก จุดตัดกับถนนสุโขทัย และไปสิ้นสุดลงที่แยกสามเสน จุดตัดระหว่างถนนเทอดดำริ และถนนนครไชยศรี

ถนนสวรรคโลก บริเวณที่หยุดรถไฟยมราช

เดิมมีชื่อว่า "ถนนสิ้ว" (อักษรจีน: 寿 หรือสะกด ซิ่ว) ซึ่งมีความหมายถึง "อายุยั่งยืน" อันมาจากชื่อเครื่องลายครามของจีนที่เป็นรูปผลท้อหรือต้นสน ที่เป็นที่นิยมสะสมและครอบครองกันในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และนิยมนำมาตั้งชื่อเป็นชื่อถนนหรือสถานที่ต่าง ๆ ในยุคนั้น โดยเป็นถนนที่ตัดจากสะพานยมราชไปจรดคลองสามเสน ขนานไปกับเส้นทางรถไฟ ต่อมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีประกาศของกระทรวงนครบาล โดยเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นเสนาบดี ลงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๒ ให้เปลี่ยนชื่อถนนรอบพระราชวังสวนดุสิตที่ได้ชื่อตามเครื่องลายครามจีน ๑๕ สาย หนึ่งในนั้นคือ ถนนสิ้ว ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "ถนนสวรรคโลก" ตามพระนามของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี พระธิดาพระองค์หนึ่งในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[1][2]

สถานที่สำคัญที่ถนนสวรรคโลกตัดผ่าน คือ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และสถานีรถไฟจิตรลดา อันเป็นสถานีรถไฟที่สร้างขึ้นสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อมีการเสด็จฯ ทางรถไฟโดยเฉพาะ รวมถึงอาจใช้เป็นสถานที่ต้อนรับพระราชอาคันตุกะในบางโอกาส มีอาคารสถานีที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยงาม [2]

อ้างอิง

แก้
  1. บุนนาค, โรม (2016-03-16). "ยุคนิยมเครื่องลายครามจีนสุดขีด ถึงขั้นตั้งชื่อถนนทั้งชุด ออกกติกาการประกวดเป็น พ.ร.บ.!!!". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-07. สืบค้นเมื่อ 2018-03-01.
  2. 2.0 2.1 pongsakornlovic (2010-12-16). "CHN_ถนนสวรรคโลก (แก้ไข)". ชื่อนั้นสำคัญไฉน ?.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°46′05″N 100°31′30″E / 13.768158°N 100.524970°E / 13.768158; 100.524970