ถนนวังเดิม
ถนนวังเดิม (อักษรโรมัน: Thanon Wang Doem) เป็นถนนสายหนึ่งในพื้นที่แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร มีระยะทางยาว 837 เมตร[1] มีจุดเริ่มต้นจากทางแยกโพธิ์สามต้นซึ่งเป็นจุดตัดกับถนนอิสรภาพ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านแนวคูข้างกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ (เดิม) ตัดกับถนนอรุณอมรินทร์ที่ทางแยกวังเดิม ข้ามคลองบ้านหม้อ (คลองวัดท้ายตลาด) จากนั้นโค้งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านกองบัญชาการกองทัพเรือ เลียบกำแพงวัดอรุณราชวราราม ข้ามคลองวัดอรุณ โค้งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไปสิ้นสุดที่ถนนอรุณอมรินทร์บริเวณคลองบ้านหม้อ
ถนนวังเดิมเป็น "ถนนสายที่ 6" ในโครงการตัดและขยายถนน 11 สายในจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนครเพื่อรองรับการก่อสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า) เมื่อปี พ.ศ. 2472 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยถนนสายนี้เป็นหนึ่งในถนนซอย 6 สายที่ตัดจากริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเชื่อมต่อกับถนนหลัก 4 สายแรก มีแนวเส้นทางเริ่มตั้งแต่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านเหนือของกำแพงพระราชวังเดิม ไปผ่านถนนสายที่ 2 (ปัจจุบันคือถนนอรุณอมรินทร์) ไปออกถนนสายที่ 3 (ปัจจุบันคือถนนอิสรภาพ) กว้าง 16 เมตร ยาวประมาณ 830 เมตร ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อตัดและขยายถนนฝั่งจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนคร พ.ศ. 2473
ถนนสายที่ 6 เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2474[2] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตั้งชื่อถนนถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ถนนวังเดิม เพื่อรักษาชื่อพระราชวังครั้งกรุงธนบุรีไว้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อถนนสายนี้ตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเสนอ อย่างไรก็ตาม แนวโครงการถนนสายที่ 6 ช่วงที่ผ่านกำแพงพระราชวังเดิมนั้นอยู่ในเขตกองทัพเรือ แนวถนนวังเดิมที่เป็นทางสาธารณะจึงสิ้นสุดอยู่ที่ปลายถนนอรุณอมรินทร์ตรงหัวมุมหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ ภายหลังทางราชการได้ตัดถนนอรุณอมรินทร์สายใหม่จากใต้วัดเครือวัลย์วรวิหารไปออกถนนประชาธิปก ทำให้ถนนอรุณอมรินทร์สายเก่า (ช่วงที่ผ่านวัดอรุณราชวราราม) ซึ่งมีเขตทางแคบ ๆ กลายเป็นแนวต่อเนื่องกับถนนวังเดิมไป จากนั้นในปี พ.ศ. 2547 กรุงเทพมหานครก็ได้อนุมัติให้สำนักงานเขตบางกอกใหญ่รวมถนนอรุณอมรินทร์สายเก่าเข้าเป็นระยะทางส่วนหนึ่งของถนนวังเดิม[2]