ถนนพิชัย (อักษรโรมัน: Thanon Phichai) เป็นถนนในแขวงดุสิตและแขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นถนนสายสั้น ๆ ที่ตัดเป็นเส้นตรง เริ่มต้นจากถนนราชวิถี บริเวณหน้าประตูประสาทเทวฤทธิ์ อันเป็นประตูหนึ่งของอาคารรัฐสภา จากนั้นทอดผ่านถนนสุโขทัยที่แยกขัตติยานี ผ่านบริเวณหน้าที่ทำการพรรคชาติไทยพัฒนา แล้วจึงข้ามคลองสามเสนที่สะพานเทพหัสดิน จากนั้นตัดกับถนนนครไชยศรีที่สี่แยกพิชัย และไปสิ้นสุดที่สามแยกพิชัยซึ่งตัดกับถนนอำนวยสงคราม

ถนนพิชัยบริเวณสี่แยกพิชัย

ถนนพิชัย เดิมมีชื่อว่า "ถนนพุดตาน" อันเป็นชื่อของเครื่องลายครามจีนที่มีลายดอกพุดตานหรือดอกโบตั๋น เป็นถนนที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เหมือนเช่นถนนสายอื่นที่รอบล้อมเขตพระราชฐาน เนื่องจากความนิยมในเครื่องลายครามจีนกำลังเป็นที่เฟื่องฟูในขณะนั้น โดยแบ่งออกเป็น "ถนนพุดตานใน" จากบริเวณสนามหญ้าหน้าพระที่นั่งอภิเศกดุสิต ไปออกประตูกิเลน (ประตูประสาทเทวฤทธิ์ ในปัจจุบัน) และ "ถนนพุดตานเหนือ" จากคลองสามเสนทางด้านเหนือของพระราชวังดุสิต ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีประกาศของกระทรวงนครบาล โดยเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นเสนาบดี ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2462 ให้เปลี่ยนชื่อถนนรอบเขตพระราชฐานที่ได้ชื่อตามเครื่องลายครามจีน 15 สาย ถนนพุดตานก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยชื่อ "พิชัย" นั้นตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม องค์ผู้ทรงปรีชาในเรื่องดนตรีไทย และเป็นผู้ประพันธ์เพลง ลาวดวงเดือน โดยในระยะแรกถนนพิชัยสะกดว่า "พิไชย" และได้เปลี่ยนมาเป็น "พิชัย" เช่นในปัจจุบันในระยะต่อมา[1] [2]

อ้างอิง แก้

  1. บุนนาค, โรม (2016-03-16). "ยุคนิยมเครื่องลายครามจีนสุดขีด ถึงขั้นตั้งชื่อถนนทั้งชุด ออกกติกาการประกวดเป็น พ.ร.บ.!!!". ผู้จัดการรายวัน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-07. สืบค้นเมื่อ 2018-03-12.
  2. pongsakornlovic (2011-01-31). "CHN 216 Pichai Road". ชื่อนั้น...สำคัญไฉน ?.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

13°46′52″N 100°31′08″E / 13.781052°N 100.518965°E / 13.781052; 100.518965