ถนนฉางอาน
ถนนฉางอาน (จีนตัวย่อ: 长安街; จีนตัวเต็ม: 長安街; พินอิน: Cháng'ān Jiē, อังกฤษ: Chang'an Avenue) เป็นชื่อเรียกรวม ๆ ของถนนฉางอานตะวันตก และถนนฉางอานตะวันออกในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในความหมายกว้าง ๆ ยังรวมถึงเส้นทางส่วนต่อขยายไปทางตะวันตกและตะวันออกด้วย ถนนฉางอานเป็นถนนแนวตะวันตก–ตะวันออกสายสำคัญของกรุงปักกิ่ง และถือเป็นหนึ่งในถนนที่สำคัญที่สุดในประเทศจีน สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงราวปี ค.ศ. 1406–1420[1] พร้อม ๆ กับการสร้างพระราชวังต้องห้าม



ฉางอาน (จีนตัวย่อ: 长安; จีนตัวเต็ม: 長安; พินอิน: Cháng'ān) เป็นชื่อเก่าของซีอาน ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ราชวงศ์ถัง และยุคอื่น ๆ ถนนนี้ยังถูกเรียกว่า ถนนสิบลี้ (จีนตัวย่อ: 十里长街; จีนตัวเต็ม: 十里長街; พินอิน: Shílǐ Chǎngjiē) และถนนหมายเลข 1 ของจีน[2][3]
ถนนฉางอานมีจุดเริ่มต้นที่เขตฉือจิ่งชาน ทางตะวันตก และไปสิ้นสุดที่เขตทงโจวทางตะวันออกของกรุงปักกิ่ง มีระยะทางทั้งหมดประมาณ 46 กิโลเมตร (28.6 ไมล์) โดยมีจัตุรัสเทียนอันเหมินคั่นถนนสายนี้ให้แบ่งเป็นถนนฉางอานตะวันตกและตะวันออก[4]
เส้นทางส่วนต่อขยายทอดยาวไปทางทิศตะวันตกและตะวันออกโดยมีจัตุรัสเทียนอันเหมินเป็นศูนย์กลาง ทอดยาวไปทางทิศตะวันตกไปยังพื้นที่โฉ่วกัง แม่น้ำหย่งติ้ง และเนินเขาตะวันตก และทอดยาวไปทางทิศตะวันออกไปยังศูนย์กลางย่อยของเมืองปักกิ่ง คลองใหญ่ และแม่น้ำเฉาไป๋ พื้นที่หลักของถนนฉางอานและส่วนต่อขยายอยู่ระหว่างสะพานกั๋วเม่าของถนนวงแหวนรอบที่สามฝั่งตะวันออก และสะพานซินซิงของถนนวงแหวนรอบที่ฝั่งสามตะวันตก (รวมถึงพื้นที่เทียนอันเหมิน)[5]
เนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันเป็นเอกลักษณ์และมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ ถนนฉางอานจึงเป็นหนึ่งในสรรพนามของกรุงปักกิ่งและแม้แต่การเมืองจีนมาอย่างยาวนาน[6]
ประวัติ แก้
ถนนฉางอานสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง เป็นถนนสายสำคัญที่สุดในระหว่างการก่อสร้างพระราชวังต้องห้าม นครจักรพรรดิ กำแพงเมืองชั้นในและชั้นนอกของปักกิ่ง ตามบันทึกที่เกี่ยวข้อง ถนนฉางอานถูกสร้างขึ้นพร้อมกับนครจักรพรรดิ ระหว่างปีที่ 4 ถึงปีที่ 18 (ค.ศ. 1406–1420) ในรัชสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการก่อสร้างเมืองปักกิ่งในสมัยราชวงศ์หมิงเมื่อ 600 ปีที่แล้ว ถนนฉางอานตั้งชื่อตาม "ฉางอาน" ซึ่งเป็นเมืองหลวงในราชวงศ์ฮั่นและราชวงศ์ถัง มีความหมายว่า "ความสงบสุขชั่วนิรันดร์"[7]
ในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง ถนนฉางอานมีความยาวเพียง 4 กิโลเมตร (8 ลี้) เท่านั้น และเป็นที่รู้จักในชื่อถนนสิบลี้ ในเวลานั้น ถนนจากประตูฉางอานตะวันออกถึงซุ้มประตูตงตานเรียกว่า ถนนฉางอานตะวันออก (จีน: 东长安街; พินอิน: Dōng Cháng'ān Jiē) ส่วนถนนจากประตูฉางอานตะวันตกถึงซุ้มประตูซีตานเรียกว่า ถนนฉางอานตะวันตก (จีน: 西长安街; พินอิน: Xī Cháng'ān Jiē) ในปี ค.ศ. 1912 สมัยสาธารณรัฐจีน ถนนระหว่างประตูฉางอานตะวันออกและตะวันตกได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ถนนจงซาน" เพื่อรำลึกถึงซุน ยัตเซ็น
ในปี ค.ศ. 1940 หลังจากที่ประตูฟู่ซิงและประตูเจี้ยนกั๋วทางด้านตะวันตกและตะวันออกของกำแพงเมืองชั้นในถูกรื้อออก ถนนฉางอานตะวันตกและตะวันออกก็เชื่อมต่อกับถนนฟู่ซิงเหมินและเจี้ยนกั๋วเหมินตามลำดับ กลายเป็นถนนสายหลักที่เชื่อมระหว่างด้านในและด้านนอกของกำแพงเมืองชั้นใน ซึ่งเป็นต้นแบบของถนนฉางอานในยุคต่อมา[7] ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1952 ประตูฉางอานทั้งสองแห่งได้ถูกรื้อถอน เพื่อทำการขยายจัตุรัสเทียนอันเหมิน หลังจากนั้นถนนฉางอานทั้งสองแห่งกับถนนจงซานก็ถูกรวมเข้าด้วยกัน กลายเป็น "ถนนฉางอาน" สายเดียว[8] ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ถนนฉางอานได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ถนนตงฟางหง" เพื่อทำลายสิ่งเก่าทั้งสี่[9]
ระหว่างเหตุการณ์การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี ค.ศ. 1989 กองทัพปลดปล่อยประชาชนได้เข้าไปในจัตุรัสเทียนอันเหมินเพื่อทำการสลายการชุมนุมหลัง 22.00 น. ของวันที่ 3 มิถุนายน การปะทะกันระหว่างทหารและพลเรือนเกิดขึ้นในถนนฉางอาน มู่ซีตี และสถานที่อื่น ๆ ส่งผลให้ผู้ประท้วงได้รับบาดเจ็บสาหัส และทำให้ประเทศต่าง ๆ ประณามการปราบปรามขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของจีน
ในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 2009 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนครบรอบ 60 ปี กรุงปักกิ่งได้เริ่มโครงการบูรณะซ่อมแซมถนนฉางอาน และเสริมสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานตามสองข้างทางให้มีความสะดวกและสวยงามมากยิ่งขึ้น โครงการนี้เสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ถนนฉางอานที่ซ่อมแซมใหม่นี้ได้รับการขยายช่องจราจรจากเดิม 8 ช่อง เป็น 10 ช่องจราจร[1]
ความสำคัญ แก้
ถนนฉางอานเป็นถนนที่ผ่านพลับพลาเทียนอันเหมินและจัตุรัสเทียนอันเหมิน จึงมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญหลายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์จีน เช่น การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี ค.ศ. 1989 (รวมถึงการเผชิญหน้าอันโด่งดังของแทงค์แมน) ขบวนการ 4 พฤษภาคม และขบวนแห่ศพของโจว เอินไหล
ในระหว่างการเฉลิมฉลองที่สำคัญในสาธารณรัฐประชาชนจีน การสวนสนามของทหารจะถูกจัดขึ้นบนถนนฉางอาน โดยจะทหารเดินสวนสนามจากทางจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกไปตามแนวถนน ผ่านพลับพลาเทียนอันเหมิน ด้วยเหตุนี้ ถนนส่วนที่ผ่านจัตุรัสเทียนอันเหมินจึงปูผิวทางด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อป้องกันไม่ให้รถถังและยานพาหนะหนักอื่น ๆ ทำลายพื้นผิว
สถานที่สำคัญที่ตั้งอยู่ที่ถนนฉางอาน เช่น มหาศาลาประชาชน จงหนานไห่ อาคารของรัฐบาลกลาง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีน โรงละครแห่งชาติ ตลาดคนเดินหวังฝูจิ่ง ปักกิ่งคอนเสิร์ตฮอลล์ สำนักงานใหญ่ธนาคารประชาชนจีน และพระราชวังวัฒนธรรมแห่งชาติ ส่วนสถานีรถไฟปักกิ่งและสถานีรถไฟปักกิ่งตะวันตกก็ตั้งอยู่ใกล้กับถนนฉางอาน และรถไฟใต้ดินปักกิ่งสาย 1 ก็วิ่งอยู่ใต้ถนนฉางอานอีกด้วย[10]
เนื่องจากทำเลที่ตั้งมีความละเอียดอ่อน จึงมีการใช้กฎระเบียบพิเศษกับถนนฉางอาน ตัวอย่างเช่น รถบรรทุกและยานพาหนะขนส่งสินค้าถูกห้ามวิ่งบนถนน[11] และไม่อนุญาตให้มีการโฆษณาเชิงพาณิชย์บนถนน[12]
กฎระเบียบ แก้
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ถนนฉางอานและส่วนต่อขยาย แก้
นี่คือรายชื่อถนนและส่วนต่อขยายที่เป็นส่วนหนึ่งของถนนฉางอาน จากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก:
- ถนนจินอาน (金安路)
- ถนนฉือจิ่งชาน (石景山路)
- ถนนฟู่ซิง (复兴路)
- ถนนฟู่ซิงเหมินนอก (复兴门外大街)
- ถนนฟูซิงเหมินใน (复兴门内大街)
- ถนนฉางอานตะวันตก (西长安街)
- ถนนฉางอานตะวันออก (东长安街)
- ถนนเจี้ยนกั๋วเหมินใน (建国门内大街)
- ถนนเจี้ยนกั๋วเหมินนอก (建国门外大街)
- ถนนเจี้ยนกั๋ว (建国路)
- ทางด่วนจิงทง (京通快速公路)
- ถนนปาหลี่เฉียวใต้ (八里桥南街)
- ถนนซินหฺวาตะวันตก (新华西街)
- ถนนซินหฺวาตะวันออก (新华东街)
- ถนนทงหู (通胡大街)
- ถนนทงหู (通胡路)
อ้างอิง แก้
- ↑ 1.0 1.1 http://thai.cri.cn/221/2009/11/02/3s161589.htm
- ↑ 王天淇 (7 November 2020). "长安街沿线环境景观新规施行 建筑应保持原有色调风格". 北京日报. สืบค้นเมื่อ 1 December 2020.
- ↑ 张芽芽 (4 August 2008). ""神州第一街":长安街" (ภาษาจีนตัวย่อ). 新华网. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 August 2008. สืบค้นเมื่อ 27 April 2009.
- ↑ "ถนนฉางอาน -- ถนนสายสำคัญที่สุดของกรุงปักกิ่ิิ่ง - china radio international". thai.cri.cn.
- ↑ 北京市人民政府办公厅 (5 September 2020). Wikisource. (ภาษาจีน). 北京市 – โดยทาง
- ↑ หู เจียเหิง, เจิ้ง ตงหยาง (27 พฤษภาคม 2009). "中国第一政治地标"大修"" (ภาษาจีนตัวย่อ) (第12期). ฟีนิกซ์รายสัปดาห์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2009. สืบค้นเมื่อ 6 สิงหาคม 2020.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ 7.0 7.1 จาง เจิ้ง (17 กุมภาพันธ์ 2006). "600 ปีถนนฉางอาน" (ภาษาจีนตัวย่อ). เป่ย์จิงเดลี. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 พฤษภาคม 2009. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2009.
- ↑ หวัง จฺวิน (5 เมษายน 2009). พงศาวดารเมือง (ภาษาจีนตัวย่อ). เป่ย์จิงซานเหลียน. ISBN 9787108018168. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 พฤษภาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2009.
- ↑ Ifeng.com ประวัติศาสตร์ที่ครอบคลุม (2 มีนาคม 2009). "การปล้นโบราณวัตถุทางวัฒนธรรม: มี "หัวสัตว์" กี่ตัวที่ถูกทำลายโดยยุวชนแดง ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม" (ภาษาจีนตัวย่อ). ifeng.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 มีนาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2009.
- ↑ Welch, Patricia Bjaaland (2008). Chinese art: a guide to motifs and visual imagery. Tuttle Publishing. p. 270.
- ↑ The Current Major Traffic Management Measures of Urban Roads เก็บถาวร 23 กรกฎาคม 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Beijing Traffic Management Bureau. 15 May 2009.
- ↑ Beijing Bans Commercial Ads on Tian'anmen Square, Chang'an Avenue. Xinhua. March 27, 2006
แหล่งข้อมูลอื่น แก้
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ถนนฉางอาน