ถนนกำแพงเพชร
ถนนกำแพงเพชร (อักษรโรมัน: Thanon Kamphaeng Phet) เป็นถนนที่สร้างขึ้นในเขตการรถไฟแห่งประเทศไทย บ้างขนานกับรางรถไฟ บ้างก็ไม่ขนานเป็นถนนโดด ตั้งชื่อว่าถนนกำแพงเพชร เพื่อระลึกถึง พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน องค์บิดาแห่งกิจการรถไฟไทย ในตอนแรก การรถไฟแห่งประเทศไทย มีความประสงค์ที่จะตั้งชื่อถนนชุดนี้ว่า "ถนนบุรฉัตร" ตามพระนามเดิมใน กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานนามถนนในเขตที่ดินรถไฟชุดนี้ว่า "ถนนกำแพงเพชร"
ถนนกำแพงเพชร | |
---|---|
ชุดถนนกำแพงเพชร 1–7 | |
ทางแยกกำแพงเพชรเป็นจุดตัดระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนกำแพงเพชร | |
ข้อมูลของเส้นทาง | |
ทางหลวงที่เป็น ส่วนประกอบ | ถนนกำแพงเพชร 1–7 |
ถนนกำแพงเพชรสายต่าง ๆ
แก้ถนนกำแพงเพชร
แก้เป็นถนนที่แยกออกมาจากถนนพหลโยธินที่ทางแยกกำแพงเพชร (ย่านพหล) ตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ของตลาดนัดสวนจตุจักร ตัดไปทางตะวันตก สิ้นสุดที่ถนนพระรามที่ 6 ในบริเวณของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งแต่เดิมถนนนี้มีชื่อว่าถนนย่านพหลโยธิน
ถนนกำแพงเพชร 1
แก้เป็นถนนที่ขนานกับถนนพหลโยธินตั้งอยู่ด้านตะวันออกของสวนจตุจักร ตัดแยกออกจากถนนกำแพงเพชรที่ทางแยกกำแพงเพชร ไปบรรจบกับถนนวิภาวดีรังสิต ที่ทางแยกลาดพร้าว เป็นถนนที่เดินรถทางเดียวเป็นขาออก ส่วนถนนพหลโยธินช่วงดังกล่าวจะเดินรถทางเดียวเป็นขาเข้า
ถนนกำแพงเพชร 2
แก้ตัดแยกออกจากถนนกำแพงเพชร บริเวณหน้าองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) ผ่านด้านหน้าสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) ไปบรรจบกับถนนรัชดาภิเษก ที่ทางแยกต่างระดับรัชวิภา
ถนนกำแพงเพชร 3
แก้หรือ ถนนหลังสวนจตุจักร ตัดแยกจากถนนกำแพงเพชร 1 ที่มุมด้านใต้ของสวนจตุจักร อ้อมผ่านด้านหลัง วกขึ้นไปทางเหนือ ผ่านสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สวนวชิรเบญจทัศ ไปจรดกับถนนวิภาวดีรังสิต ที่บริเวณหน้าองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ สำนักงานเอเชียแปซิฟิก
ถนนกำแพงเพชร 4
แก้เป็นถนนสายสั้นๆที่เชื่อมระหว่างถนนกำแพงเพชร 2 และ ถนนกำแพงเพชร 3 ซึ่งแบ่ง สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และตลาดนัดสวนจตุจักรออกจากกัน
ถนนกำแพงเพชร 5
แก้เป็นถนนเลียบทางรถไฟขนานกับถนนสวรรคโลกและถนนเทอดดำริ มีจุดเริ่มต้นแยกจากถนนพระรามที่ 6 บริเวณสามเหลี่ยมจิตรลดา โดยอ้อมไปทางด้านหลังของ อาคารกรมทางหลวง สำนักแผนงาน อาคาร 28 เลียบทางรถไฟขึ้นไปทางเหนือ ตัดกับถนนศรีอยุธยาที่ทางแยกเสาวนี ผ่านสถานีรถไฟจิตรลดาและที่หยุดรถโรงพยาบาลรามาธิบดี ตัดกับถนนราชวิถีที่ทางแยกอุภัยเจษฎุทิศ จากนั้นข้ามคลองสามเสนเข้าสู่เขตพญาไท ตัดกับถนนนครไชยศรีที่ทางแยกสามเสน ผ่านสถานีรถไฟสามเสน ตัดกับถนนเศรษฐศิริ, ซอยพระรามที่ 6 ซอย 37 ตัดกับถนนประดิพัทธ์และที่หยุดรถประดิพัทธ์ ไปบรรจบกับถนนพระรามที่ 6 อีกครั้งที่ทางแยกสะพานดำ ในปัจจุบัน ถนนตั้งแต่ซอยพระรามที่ 6 ซอย 37 ถึงทางแยกสะพานดำ ในบางช่วงจะเป็นพื้นที่จอดรถ และบางช่วงถูกปิดตาย เนื่องจากปรับเป็นเขตทางรถไฟและเป็นเชิงลาดของทางยกระดับรถไฟที่จะเข้าสู่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
ถนนกำแพงเพชร 6
แก้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3508 | |
---|---|
ถนนกำแพงเพชร 6, ถนนชุมชนท้องถิ่นเลียบทางรถไฟสายเหนือ | |
ข้อมูลของเส้นทาง | |
ความยาว | 4.300 กิโลเมตร (2.672 ไมล์) |
ทางแยกที่สำคัญ | |
ปลายทางทิศใต้ | ถ.กำแพงเพชร 6 ในเขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร |
ปลายทางทิศเหนือ | ุถ. รังสิต–ปทุมธานี ใน อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี |
ตำแหน่งที่ตั้ง | |
ประเทศ | ไทย |
ระบบทางหลวง | |
เป็นถนนเลียบทางรถไฟสายเหนือ-อีสาน ในกรุงเทพมหานคร เส้นทางเริ่มต้นจากถนนปูนซิเมนต์ไทยและถนนเทอดดำริที่หน้าสถานีรถไฟชุมทางบางซื่อ และสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์[ต้องการอ้างอิง] ลอดใต้ทางรถไฟสายใต้ ตัดกับถนนเทศบาลสงเคราะห์ ที่หน้าวัดเสมียนนารี จากนั้นจะมีแนวเส้นทางขนานกับถนนวิภาวดีรังสิต ผ่านสถานีรถไฟบางเขน และถนนงามวงศ์วานที่ทางแยกบางเขน สถานีรถไฟหลักสี่และถนนแจ้งวัฒนะที่ทางแยกหลักสี่ และสถานีรถไฟดอนเมือง แล้วเลียบทางรถไฟผ่านที่หยุดรถไฟหลักหก ไปสิ้นสุดเส้นทางที่สถานีรถไฟรังสิต (ถนนรังสิต-ปทุมธานี) ในอดีตถนนสายนี้ใช้ชื่อไม่เป็นทางการว่า ถนนโลคัลโรด และในช่วงเขตจังหวัดปทุมธานีจะเป็นของกรมทางหลวงมีฐานะเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3508 (ถนนชุมชนท้องถิ่นเลียบทางรถไฟสายเหนือ) มีระยะทาง 4.3 กิโลเมตร
แต่เดิมถนนกำแพงเพชร 6 มีจุดเริ่มต้นที่ถนนกำแพงเพชร 2 บริเวณข้างสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) และเลียบทางรถไฟไปทางทิศตะวันออกจนถึงถนนเทศบาลสงเคราะห์ แต่เมื่อมีการก่อสร้างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถนนกำแพงเพชร 6 ในช่วงต้นจึงกลายเป็นทางเข้า - ออกของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และมีถนนนบริการอยู่ทางทิศตะวันออกของทางรถไฟ จากนั้นเลี้ยวขวากลับเข้าสู่ถนนกำแพงเพชร 2 เนื่องจากแนวที่ตรงต่อไปเป็นเขตของศูนย์ซ่อมบำรุงของรถไฟฟ้าสายสีแดง ส่วนระยะทางที่เหลือของถนนกำแพงเพชร 6 เดิมในช่วงนี้ถูกปิดตายและกลายเป็นเขตทางรถไฟทั้งหมดแล้ว
ถนนสายนี้ช่วยแบ่งเบาการจราจรบนถนนวิภาวดีรังสิต และช่วยเปิดพื้นที่ริมทางรถไฟฝั่งตะวันตกเพื่อรองรับการพัฒนา แต่ก็เป็นการเพิ่มจุดตัดกับถนนอื่นๆ ที่ตัดผ่านทางรถไฟ เช่น ถนนเทศบาลสงเคราะห์, ถนนงามวงศ์วาน, ถนนแจ้งวัฒนะ, ถนนเชิดวุฒากาศ, ถนนสรงประภา และถนนเดชะตุงคะ
ถนนกำแพงเพชร 7
แก้เป็นถนนเลียบทางรถไฟสายตะวันออกขนานกับถนนเพชรบุรีตัดใหม่ (ซึ่งขนานกับทางรถไฟฯ ทางฝั่งใต้) เป็นถนนขนาด 2-4 ช่องจราจร เริ่มต้นจากถนนนิคมมักกะสัน บริเวณใกล้กับทางแยกมิตรสัมพันธ์ ไปทางทิศตะวันออก ตัดกับถนนอโศก-ดินแดงและถนนเพชรอุทัย (ช่วงถนนอโศก-ดินแดงถึงถนนเพชรอุทัยจัดการจราจรเดินรถทางเดียวจากถนนเพชรอุทัยมุ่งหน้าถนนอโศก-ดินแดง) จากนั้นแนวเส้นทางจะเบี่ยงไปทางด้านทิศเหนือของทางรถไฟ และมีขนาด 2 ช่องจราจรจนถึงซอยอาร์ซีเอ (เชื่อมต่อกับซอยพระราม 9 ซอย 8) แนวเส้นทางจะเปลี่ยนมาอยู่ด้านทิศใต้ของทางรถไฟอีกครั้งจนถึงซอยเพชรบุรี 47 และเปลี่ยนกลับไปอยู่ด้านทิศเหนือของทางรถไฟ เลียบศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จนถึงถนนเพชรพระราม จากนั้นแนวเส้นทางจะย้ายไปอยู่ด้านทิศใต้ของทางรถไฟและขยายเป็น 4 ช่องจราจรอีกครั้ง ตัดกับถนนรามคำแหง, ซอยพัฒนาการ 25 และถนนจะลดเหลือ 2 ช่องจราจรเมื่อพ้นคลองลาว ข้ามทางรถไฟสายตะวันออกและเปลี่ยนมาขนานกับทางรถไฟในด้านทิศเหนือ ตัดกับท้ายซอยพระราม 9 ซอย 62 จากนั้นจะไปตามซอยมิตรวิถี 2 และไปบรรจ บที่ถนนพระราม 9