ตูร์แน

(เปลี่ยนทางจาก ตูร์เน)

ตูร์แน (ฝรั่งเศส: Tournai) หรือ โดร์นิก (ดัตช์: Doornik) เป็นเมืองในจังหวัดแอโน แคว้นวอลลูน และเขตเทศบาลหนึ่งของเบลเยียม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงบรัสเซลส์ไปประมาณ 85 กิโลเมตร ตัวเมืองมีแม่น้ำสเกลต์พาดผ่านกลางเมือง เมืองตูร์แนยังเป็นที่ตั้งของมุขมณฑลตูร์แน (Diocese of Tournai) อีกด้วย

ตูร์แน

(ฝรั่งเศส) Tournai
(ดัตช์) Doornik
มหาวิหารแห่งตูร์แน
ธงของตูร์แน
ธง
ตราอย่างเป็นทางการของตูร์แน
ตรา
ที่ตั้งของตูร์แนในจังหวัดแอโน (สีแดงเข้ม)
ที่ตั้งของตูร์แนในจังหวัดแอโน (สีแดงเข้ม)
ตูร์แนตั้งอยู่ในBelgium
ตูร์แน
ตูร์แน
ที่ตั้งของตูร์แนในประเทศเบลเยียม
พิกัด: 50°36′00″N 3°23′00″E / 50.6°N 3.383333°E / 50.6; 3.383333
ประเทศเบลเยียม เบลเยียม
เขต แคว้นวอลลูน
จังหวัด แอโน
เขตการปกครองท้องถิ่นเขตตูร์แน
การปกครอง
 • นายกเทศมนตรีรูดี เดอมอตต์(PS)
พื้นที่
 • ทั้งหมด213.75 ตร.กม. (82.53 ตร.ไมล์)
ประชากร
 • ทั้งหมด69,593 คน
 • ความหนาแน่น330 คน/ตร.กม. (900 คน/ตร.ไมล์)
เขตเวลาUTC+1 (CET)
 • ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)UTC+2 (CEST)
Postal codes7500-7548
รหัสพื้นที่069
เว็บไซต์www.tournai.be

ตูร์แนเป็นหนึ่งในเมืองที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์แห่งเบลเยียม คู่กับอาร์ลงและตองเคอเรน อันเป็นเมืองสำคัญส่วนหนึ่งของเคาน์ตีฟลานเดอร์ (Comté de Flandre) ตั้งแต่สมัยยุคกลาง[1] โดยเป็นที่ตั้งของหอระฆังที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในเบลเยียม และอาสนวิหารแม่พระแห่งตูร์แน[2] ซึ่งทั้งสองแห่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก โดยมหาวิหารนั้นเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ของยุคกลางที่ผสมผสานกันด้วยสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์และกอทิกอย่างสวยงาม พร้อมทั้งหอคอยขนาดใหญ่จำนวนห้าหออันเป็นเอกลักษณ์สำคัญและเป็นที่มาของชื่อเล่นของตูร์แนว่า "เมืองแห่งหอระฆังทั้งห้า"

ประวัติ

แก้
ความเกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์

ในอดีตนั้นตูร์แนเคยถูกเรียกว่า "ตอร์นาคุม" (Tornacum) ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆในยุคสมัยโรมันซึ่งเป็นสถานที่พักรถบนถนนโรมันซึ่งเริ่มจากโคโลญน์ไปยังบูลอญ-ซูร์-แมร์ โดยตัดข้ามผ่านแม่น้ำสเกลด์ ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 3 ในรัชสมัยของแม็กซีเมียน ได้มีการสร้างปราการขึ้นเพื่อป้องกันการรุกราน[3] ต่อมาเมื่อโรมันได้ลดเขตแดนลงช่วงถนนโรมันสายนี้ทำให้ตกมาอยู่ในการปกครองของชาวซาเลียนแฟรงก์ในปีค.ศ. 432 ในรัชสมัยของพระเจ้าชิลเดอริคที่ 1 (พระบรมศพนั้นได้ฝังอยู่ที่ตูร์แนในปัจจุบัน)[4] ตูร์แนได้กลายเป็นศูนย์กลางอำนาจและเมืองหลวงของราชอาณาจักรแฟรงก์ ต่อมาในปีค.ศ. 486 พระเจ้าโคลวิสที่ 1ได้ย้ายเมืองหลวงจากตูร์แนไปยังปารีสแทน หลังจากการก่อตั้งเขตมุขมณฑลตูร์แนขึ้นมา อะเลอเทรุส ชาวตูร์แนโดยกำเนิดได้รับเลือกเป็นบิชอปองค์แรก ซึ่งปกครองดินแดนบริเวณกว้างของเขตลุ่มแม่น้ำเชลดท์ฝั่งตะวันตก ต่อมาในปีค.ศ. 862 พระเจ้าชาลส์ ผู้เป็นกษัตริย์พระองค์แรกของราชอาณาจักรแฟรงก์ตะวันตก และยังได้รับเลือกเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ทรงมีพระบัญชาให้ตูร์แนเป็นเมืองศูนย์กลางของเคาน์ตีฟลานเดอร์

ต่อมาในภายหลังจากการแบ่งจักรวรรดิแฟรงค์ตามความตกลงในสนธิสัญญาแวร์เดิงและสนธิสัญญาเมอเซน ทำให้ตูร์แนนั้นตกมาอยู่ในการปกครองของจักรวรรดิฝั่งตะวันตก ซึ่งต่อมาในปีค.ศ. 987 ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของฝรั่งเศส ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 11 ในสมัยรุ่งเรืองของเมืองในกลุ่มประเทศต่ำซึ่งมีอาชีพทอผ้าขนสัตว์ที่ใช้วัตถุดิบขนสัตว์จากอังกฤษ ซึ่งทำให้ได้รับความนิยมโดยพ่อค้าร่ำรวยมาติดต่อค้าขายจำนวนมาก อาสนวิหารแห่งใหม่อันใหญ่โตก็ริเริ่มโครงการขึ้นในสมัยนั้นราวปีค.ศ. 1030 ต่อมาในปีค.ศ. 1187 ชาวเมืองตูร์แนได้รวมตัวกันประกาศอิสรภาพต่อเคานต์ซึ่งปกครองในท้องถิ่นอีกต่อหนึ่ง โดยไปขึ้นตรงกับพระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสแทน โดยได้เรียกถึงอาณาเขตนี้ว่า "Seigneurie de Tournaisis" ต่อมาในปีค.ศ. 1290 ได้มีการสร้างปราการทำจากหินพาดผ่านแม่น้ำสเกลท์ โดยมีป้อมขนาบสองฝั่งของแม่น้ำเพื่อใช้ป้องกันภัยรุกรานโดยสร้างแทนที่ของเดิมซึ่งทำจากไม้

ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15 ตูร์แนได้รับความนิยมในฐานแหล่งผลิตสำคัญของพรมแขวนผนัง โดยมีจิตรกรเอกหลายคนของยุคสมัยได้มาจากตูร์แน ได้แก่ ฌัค ดาเร, โรแบร์ต แคมแพง และโรเจียร์ ฟาน เดอ เวย์เด็น ต่อมาในปีค.ศ. 1513 ตูร์แนได้พ่ายให้กับกองทัพของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ จำให้ตูร์แนนั้นกลายเป็นเมืองแห่งเดียวในเบลเยียมซึ่งเคยถูกปกครองโดยกษัตริย์อังกฤษ โดยในปีค.ศ. 1515 ยังมีผู้แทนราษฎรจากตูร์แนในรัฐสภาอังกฤษอีกด้วย ต่อมาตูร์แนได้ถูกยกคืนกลับให้แก่ฝรั่งเศสในปีค.ศ. 1519 จากข้อตกลงในสนธิสัญญาลอนดอนปีค.ศ.​ 1518

ในปีค.ศ. 1521 จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ได้รวมตูร์แนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ ซึ่งก็ได้นำพาให้เกิดกลียุคทางศาสนาและความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 นั้นได้กลายเป็นแหล่งของนิกายโปรเตสแตนท์ลัทธิคาลวิน แต่ต่อมากลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำได้ถูกยึดครองโดยชาวสเปนภายใต้ดยุกแห่งปาร์มาหลังจากการบุกล้อมเมืองครั้งสำคัญในปีค.ศ. 1581 หลังจากที่เมืองได้ถูกยึดแล้วโดยราบคาบ เหล่าชาวเมืองผู้นับถือนิกายโปรเตสแตนท์ได้รับอนุญาตให้ขายสมบัติของตนภายในหนึ่งปีและอพยพไปอยู่ที่อื่น ซึ่งนโยบายนี้ในขณะนั้นถือว่าเป็นวิธีปฏิบัติที่ละมุนละม่อมที่สุด ซึ่งในที่อื่นๆผู้นับถือศาสนาอื่นล้วนถูกฆ่าตายโดยสิ้น

ราวหนึ่งร้อยปีต่อมาในปีค.ศ. 1668 ตูร์แนได้กลับมาอยู่ในการปกครองของฝรั่งเศสอีกครั้งภายใต้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14จากผลพวงของสนธิสัญญาอาเคิน และหลังจากการสิ้นสุดสงครามสืบราชบัลลังก์สเปนในปีค.ศ. 1713 ภายใต้สนธิสัญญายูเทรกต์ให้เนเธอร์แลนด์ของสเปนรวมถึงตูร์แนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิฮับส์บูร์ (ออสเตรีย)

ต่อมาในปีค.ศ. 1815 สืบเนื่องจากสงครามนโปเลียน ตูร์แนได้รวมเข้ากันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ และอีกราวสิบห้าปีต่อมาก็ได้ประกาศอิสรภาพเป็นราชอาณาจักรเบลเยียมในปีค.ศ. 1830

สถานที่น่าสนใจ

แก้
 
"ปงเดทรู" หรือปราการที่พาดผ่านแม่น้ำสเกลท์ โดยมีอาสนวิหารแม่พระแห่งตูร์แนโดดเด่นอยู่บริเวณด้านหลัง

ตูร์แนถือเป็นเมืองที่มีมรดกสำคัญทางวัฒนธรรมแห่งหนึ่งในเบลเยียม [[มหาวิหารตูร์แน|อาสนวิหารแม่พระแห่งตูร์แน]โดดเด่นผสมผสานสถาปัตยกรรมทั้งสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์และกอทิก และหอระฆังที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในเบลเยียม[5] โดยทั้งสองแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยยูเนสโก[6][7] ภายในมหาวิหารนี้ยังพบหีบวัตถุมงคลสมัยศตวรรษที่ 12 ซึ่งเป็นหนึ่งในขุมทรัพย์ที่ประดับประดาอย่างวิจิตรพิศดาร อันแสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของตูร์แนในสมัยยุคกลาง สถานที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งคือ "ปงเดทรู"[8] หรือปราการที่พาดผ่านแม่น้ำสเกลต์ จตุรัสกลางเมือง "กร็อง ปลาส" รายล้อมไปด้วยบ้านเมืองที่เก่าแก่สวยงาม รวมทั้งประตูเมืองเก่าต่างๆ และพิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่ง

บนถนนบาร์-แซ็ง-บรีสยังเป็นที่ตั้งของบ้านโบราณที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป โดยคาดการณ์ว่าสร้างราวปีค.ศ. 1175-1200 ในแบบสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์[9] และบนถนนรูเดเฌซูอิทยังพบบ้านโบราณแบบกอทิกที่สร้างราวศตวรรณที่ 13 นอกจากนี้ยังพบบ้านเรือน และอาคารหลายแห่งที่สร้างในแบบอาร์นูโว

อนุสรณ์สถานสำคัญ

แก้

ศาสนสถาน

แก้

การปกครองคณะสงฆ์ในตูร์แนอยู่ภายใต้มุขนายกกีร์ อาร์ปีญญี (Guy Harpigny) ประจำมุขมณฑลตูร์แน (Diocese of Tournai)

ตูรแนเป็นเมืองที่มีโบสถ์จำนวนมากซึ่งในปัจจุบันโบสถ์สมัยยุคกลางทั้งหมดนี้ได้รับการจดทะเบียนเป็นอนุสรณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งวัลโลเนีย

อาสนวิหารแม่พระ

แก้

อาสนวิหารแม่พระแห่งตูร์แน (ฝรั่งเศส: Cathédrale Notre-Dame de Tournai) เป็นอาสนวิหารเพียงแห่งเดียวในประเทศเบลเยียม ที่ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยยูเนสโก เมื่อปีค.ศ. 2000 ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือมีการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์และกอทิก หรือที่เรียกกันว่า กอทิกแบบตูร์แนเซียง โดยเริ่มก่อสร้างราวปีค.ศ. 1140 และได้รับการเสกขึ้นเป็นอาสนวิหารเมื่อปีค.ศ.​ 1171 โดยอุทิศให้แก่พระแม่มารี

โบสถ์นักบุญก็องแตง

แก้

โบสถ์นักบุญก็องแตง (ฝรั่งเศส: Église Saint-Quentin) เป็นโบสถ์ประจำเขตแพริชที่ตั้งอยู่ในบริเวณกร็อง-ปลัสแห่งตูร์แน สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่นักบุญเควนตินผู้เป็นมรณสักขีซึ่งเป็นที่นับถือทางตอนเหนือของฝรั่งเศสในยุคกลาง

โบสถ์นักบุญมารีย์-แมกดาลีน

แก้

โบสถ์นักบุญมารี-มาเดอแลน (ฝรั่งเศส: Église Sainte-Marie-Madeleine) เป็นโบสถ์ประจำเขตแพริชที่สร้างในแบบสถาปัตยกรรมกอทิก โดยดำริของโกทิเย เดอ มาร์วี มุขนายกแห่งตูร์แน บริเวณร้องเพลงสวดและแขนกางเขนนั้นสร้างในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 ส่วนหอระฆังและด้านหน้าวิหารนั้นเป็นผลงานในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่นักบุญมารีย์ชาวมักดาลา ซึ่งได้มีการถ่ายทอดชีวประวัติของพระนางลงบนฉากประดับแท่นบูชาภายในวิหาร ในปัจจุบันโบสถ์แห่งนี้อยู่ในสภาพทรุดโทรมมาเป็นเวลาหลายสิบปี

โบสถ์นักบุญมาร์เกอริต

แก้

โบสถ์นักบุญมาร์เกอริต (ฝรั่งเศส: Église Sainte-Marguerite) อดีตโบสถ์ประจำเขตแพริชที่ถูกทิ้งร้างลงในปีค.ศ. 1960 และต่อมาขายต่อให้กับเอกชนเมื่อปีค.ศ. 2012 สำหรับทำเป็นโครงการที่พักอาศัยโดยเก็บรูปแบบอาคารเดิมไว้ สร้างขึ้นในสมัยปีค.ศ. 1760 โดยคณะสงฆ์ เพื่อบูรณะแทนโบสถ์เดิมที่ถูกไฟไหม้เสียหายลงมากในปีค.ศ. 1733 จึงทำให้โบสถ์แห่งนี้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมสองแบบอย่างชัดเจน คือ สถาปัตยกรรมกอทิกบริเวณหอระฆังอันเป็นส่วนของวิหารเดิมที่สร้างในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14 กับตัวอาคารหลักรวมทั้งประตูทางเข้าหลักสร้างในแบบสถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิกสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 โบสถ์แห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณปลัส เดอ ลิล (Place de Lille) ซึ่งอยู่ห่างจากกร็อง-ปลัสไปประมาณห้านาที โบสถ์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแก่นักบุญมาร์กาเรตแห่งแอนติออก

โบสถ์นักบุญฌาค

แก้

โบสถ์นักบุญฌาค (ฝรั่งเศส: Église Saint Jacques) เป็นโบสถ์ประจำเขตแพริชที่อุทิศให้แก่นักบุญเจมส์ใหญ่ โดยตูร์แนนั้นตั้งอยู่บนทางผ่านสำหรับผู้แสวงบุญในเส้นทางเซนต์เจมส์จากบรัสเซลส์ไปยังปารีส โบสถ์แห่งนี้สร้างขึ้นราวปีค.ศ. 1190 โดยยังเก็บรักษาโครงหลังคาและโครงสร้างหลักๆไว้ซึ่งเป็นแบบสถาปัตยกรรมกอทิกที่เป็นเอกลักษณ์ของตูร์แน รวมถึงเสาและงานหัวเสาสลักเป็นลายใบไม้ต่างๆ บริเวณร้องเพลงสวดนั้นมีการต่อเติมในปีค.ศ. 1368 โดยขนาบสองข้างด้วยชาเปล เครื่องเรือนและเครื่องตกแต่งส่วนใหญ่ที่เห็นในปัจจุบันนั้นเป็นแบบสมัยฟื้นฟูกอทิก ซึ่งได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยนั้น (ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19) ในปัจจุบันได้มีโครงการบูรณะเพิ่มเติมตั้งแต่ปีค.ศ. 2010 บริเวณพิธีและงานกระจกสีทั้งหมด

โบสถ์นักบุญเปีย

แก้

โบสถ์นักบุญเปีย (ฝรั่งเศส: Église Saint Piat) เป็นโบสถ์ประจำเขตแพริช สร้างขึ้นในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 12 บนที่ตั้งเดิมของบาซิลิกาเดิมซึ่งสร้างในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 6 โบสถ์แห่งนี้อุทิศให้แก่นักบุญเปียตุสแห่งตูร์แนผู้เป็นมรณสักขี (ถูกประหารโดยบัญชาของแม็กซีเมียนโดยผ่าด้านบนของศีรษะออก) ผู้ที่เป็นมิชชันนารีชุดแรกที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ให้แก่ชาวเมืองตูร์แนในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 2

โบสถ์พระมหาไถ่

แก้

โบสถ์พระมหาไถ่ (ฝรั่งเศส: Église des Rédemptoristes) เป็นอดีตโบสถ์ในสังกัดคณะพระมหาไถ่แห่งตูร์แน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสเกลด์ สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1861 ในแบบสถาปัตยกรรมฟื้นฟูโรมาเนสก์ โดยโบสถ์แห่งนี้ได้ถูกยุบลงและขายให้กับเอกชนในปีค.ศ. 2003


ระเบียงภาพ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. DHANENS (Élisabeth) et DIJKSTRA (Jellie), Rogier de le Pasture van der Weyden, La Renaissance du Livre, Collection Références, Tournai, 23 septembre 1999.
  2. http://whc.unesco.org/fr/list/1009 UNESCO World Heritage No 1009
  3. Williams, Stephen. Diocletian and the Roman Recovery. New York: Routledge, 1997:50f.
  4. His tomb was rediscovered in 1655.
  5. "Liste du Patrimoine Mondial: Proposition D'Inscription: Beffrois Flamands" (PDF). World Heritage List (ภาษาฝรั่งเศส). p. 3. สืบค้นเมื่อ 21 May 2015. Selon certaines sources, le beffroi de Tournai, considéré comme le plus ancien en Belgique (1187)
  6. "Notre-Dame Cathedral in Tournai". World Heritage List. สืบค้นเมื่อ 21 May 2015.
  7. "Belfries of Belgium and France". World Heritage List. สืบค้นเมื่อ 21 May 2015.
  8. "The " Pont des Trous"". Tournai Office du Tourisme. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-26. สืบค้นเมื่อ 2015-05-21.
  9. Tourisme Wallonie. "Visite : Monument LES MAISONS ROMANES" (ภาษาฝรั่งเศส). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-23. สืบค้นเมื่อ 21 May 2015.